xs
xsm
sm
md
lg

15 ปีท่อก๊าซไทย-พม่า ทำไมไม่ประเมิน?

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

เผลอแป๊บเดียว โครงการท่อส่งก๊าซไทย-พม่าที่เคยเป็นปัญหาในหลายด้านของสังคมไทยก็ได้ผ่านมาครึ่งทางของอายุสัญญา 30 ปี โดยที่วันเริ่มต้นสัญญาที่ก๊าซจะผ่านท่อคือ วันที่ 1 กรกฎาคม 2541 ภายหลังจากประเทศเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งไปแล้วหนึ่งปี

ปัญหาดังกล่าวมีทั้งเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ป่าของทั้งสองประเทศ การละเมิดสิทธิมนุษยชนของชนกลุ่มน้อยในสหภาพพม่าโดยบริษัทยูโนแคลจนเป็นคดีฟ้องร้องและโด่งดังในระดับโลก แต่บทความนี้จะสนใจเฉพาะปริมาณการรับซื้อก๊าซจากประเทศพม่าของประเทศไทยเรา ว่ามีความใกล้เคียงแค่ไหนกับแผนการที่ได้ระบุไว้ในสัญญาที่ได้ทำไว้

วัตถุประสงค์ในการนำเรื่องนี้มาเขียนก็เพื่อประเมินโครงการด้านพลังงานของรัฐที่ผมได้สนใจมาเป็นเวลานาน การประเมินผลเป็นโอกาสให้เราสามารถปรับปรุงตนเองให้ดียิ่งขึ้น แต่ในวงการราชการและการเมืองไทยมีข้อด้อยที่สำคัญมากคือ มักจะไม่ทำ ผ่านแล้วก็ผ่านเลยไป ถ้าจะมีการระลึกถึงกันบ้างในโอกาสครบรอบต่างๆ ก็มักจะเป็นแค่การจัดงานรื่นเริงเพื่อเฉลิมฉลองกันเท่านั้น แต่หารู้ไหมว่าแท้จริงแล้วเป็นการฉลองบนความล้มเหลวของตนเอง

ผมเข้าใจครับว่า ในขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเสนอโครงการนี้คงไม่มีใครคาดว่าจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นในเวลาต่อมา ซึ่งมีผลให้การใช้ก๊าซธรรมชาติที่คาดหมายไว้ต้องต่ำกว่าความเป็นจริง แต่จากประสบการณ์ที่คนไทยเราได้รับและพบเห็นเสมอมาก็คือ ความไม่ชอบมาพากลและฉ้อฉลของนักการเมืองและข้าราชการระดับสูง อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากอะไร แต่ความจำเป็นในการประเมินก็ยังต้องมีอยู่

ก่อนจะติดตามประเมินผล ผมต้องขอทำความเข้าใจในความหมายและกติกาทั่วไปของโครงการกันก่อน กล่าวคือ ในวงการซื้อ-ขายก๊าซธรรมชาติ เพื่อให้เกิดความมั่นใจของทั้งผู้ขายหรือผู้ผลิตว่าเมื่อผลิตก๊าซขึ้นมาแล้วต้องขายได้ และความมั่นใจของผู้ซื้อด้วยว่าจะสามารถนำก๊าซมาใช้งานได้ตลอดโครงการ ไม่ขาดๆ หายๆ ดังนั้น สัญญาการซื้อ-ขายก๊าซธรรมชาติจึงต้องมีลักษณะคล้ายกับการผูกอาหารปิ่นโต คือ ผู้ส่งต้องส่งอาหารทุกวัน โดยที่วันไหนผู้รับซื้อไม่กินก็ต้องจ่ายตามข้อตกลงเป็นรายเดือน

ในวงการซื้อ-ขายก๊าซธรรมชาติเขามีสัญญาที่เรียกว่า “ไม่ซื้อก็ต้องจ่าย (Take or Pay)” ซึ่งอาจจะดีกว่าการผูกอาหารปิ่นโตอยู่บ้าง กล่าวคือ ผู้ขายต้องส่งก๊าซตามจำนวนที่ได้ให้ไว้ในสัญญา ส่วนผู้ซื้อถ้ามีความจำเป็นต้องใช้ในจำนวนที่น้อยกว่าในสัญญาก็สามารถทำได้ แต่ต้องจ่ายเงินในจำนวนที่อยู่ในสัญญาไปก่อน โดยที่ในปีต่อๆไป ถ้าผู้ซื้อสามารถเรียกรับก๊าซคืน (Make Up) ส่วนที่ได้จ่ายเงินไปแล้ว (เมื่อปีก่อน) ก็ไม่ต้องจ่ายเงินอีก แต่ทั้งนี้ต้องรับก๊าซตามจำนวนเดิมที่ได้ระบุไว้ในสัญญาให้ครบถ้วนด้วย โดยสรุปก็คือจะรับก๊าซส่วนที่ไม่ได้ใช้คืนได้ก็ต้องพยายามใช้ก๊าซในปีถัดๆ มาให้ได้มากกว่าที่ได้ระบุไว้ในแผนเท่านั้น

คำถามที่คนไทยในฐานะเป็นเจ้าของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ซึ่งถูกได้แปรรูปเป็นบริษัท ปตท. จำกัด มหาชน) ก็คือ (1) ตลอด 15 ปีที่ผ่านมา เราได้เสียค่าไม่ซื้อก็ต้องจ่ายไปแล้วเป็นจำนวนเท่าใด รวมทั้งค่าดอกเบี้ยด้วย (2) ยังมีก๊าซเหลือในสองแหล่งนี้คือแหล่งยาดานาและเยตากุนอีกจำนวนเท่าใด (3) ต้องใช้เวลาอีกกี่ปีจึงจะหมด และ (4) ถ้าอายุของโครงการต้องยืดออกไปนานกว่า 30 ปี ความปลอดภัยของท่อส่งก๊าซจะมีมากน้อยแค่ไหน เป็นต้น

ปริมาณก๊าซตามสัญญากับการใช้ในความเป็นจริง

ก๊าซทั้งสองแหล่งมีปริมาณที่สำรวจได้รวมกันจำนวน 11.92 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต จากข้อมูลที่รวบรวมได้จากกระทรวงพลังงาน (eppo) พบว่านับตั้งแต่เริ่มต้นโครงการจนถึงเดือนเมษายน 2556 มีการใช้ไปแล้วรวมทั้งสิ้น 3.49 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต คิดเป็น 81% ของปริมาณที่ได้ตกลงกันไว้ในสัญญาเท่านั้น

ดังนั้น ถ้าใช้ก๊าซในอัตราเฉลี่ยของ 5 ปีสุดท้าย คือ 827 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ก๊าซจากสองแหล่งนี้จะหมดในอีก 28 ปี ในขณะที่ได้เปิดใช้มาก่อนแล้ว 15 ปี (หมายเหตุ แหล่งยาดานามีการใช้ในปี 2541 แต่แหล่งเยตากุนเริ่มใช้ปี 2543)

โดยปกติ การออกแบบอายุท่อก๊าซที่ปลอดภัยจะอยู่ที่ประมาณ 30 ปี นั่นหมายว่า ท่อก๊าซนี้จะถูกฝืนทนใช้ไปจนถึงอายุ 43 ปี ดังนั้นความปลอดของท่อก๊าซก็ยิ่งน่าเป็นห่วงมากขึ้นอีก

อนึ่ง แหล่งก๊าซในอ่าวไทยที่ชื่อเอราวัณ เดิมทีเดียวมีการประเมินกันว่าจะใช้ก๊าซหมดภายใน 17 ปี แต่เมื่อเวลาผ่านไป 30 ปี ทั้งๆ ที่มีการใช้ในอัตราตามแผนทุกอย่าง ก๊าซก็ยังไม่หมด และมีการประเมินใหม่จะหมดในอีก 7 ปีข้างหน้า

ในทำนองเดียวกันกับกรณีแหล่งเอราวัณ มีความเป็นไปได้ว่าปริมาณก๊าซในทั้งสองแหล่งของพม่าจะมีมากกว่าที่ได้ประเมินกันไปแล้ว หากเป็นอย่างนี้จริง เนื่องจาก 2 ปัจจัย คือ (1) มีการใช้ก๊าซน้อยกว่าที่ได้สัญญา และ (2) ปริมาณก๊าซมีมากกว่าที่ประเมิน ดังนั้น มีความเป็นไปได้ว่า ท่อก๊าซนี้จะถูกใช้ต่อไปจากวันนี้อีก 35-40 ปี

ดังนั้น มีความเป็นไปได้ 2 ทางสำหรับผู้เป็นเจ้าของท่อ ก็คือเปลี่ยนท่อใหม่เมื่ออายุเกิน 30-35 ปี หรือทนใช้ต่อไปจนท่อมีอายุถึง 45 – 55 ปี

ผมจำได้ว่า ท่อก๊าซในสหรัฐอเมริกาซึ่งอยู่ในเขตป่าเคยระเบิดเพราะนักท่องเที่ยวไปตั้งแคมป์และจุดไปประกอบอาหารจนท่อก๊าซระเบิดเป็นหลุมขนาดใหญ่ ผลการสอบสวนส่วนหนึ่งพบว่าเพราะท่อก๊าซอายุมากเกินไป ถ้าผมจำไม่ผิดก็ประมาณ 40 ปี

เราได้เสียค่าไม่ซื้อก็ต้องจ่ายไปแล้วเป็นจำนวนเท่าใด

ประเด็นนี้มีปัญหาเชิงมูลที่ไม่ค่อยจะตรงกันระหว่างข้อมูลที่เจ้าของโครงการได้เผยแพร่ไปแล้วกับข้อมูลที่ได้จากรายงานการตรวจสอบบัญชีโดยสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน

ผมเองได้เก็บข้อมูลเหล่านั้นไว้เป็นไฟล์ แต่ไม่ได้เก็บเอกสารที่เป็นกระดาษ บางครั้งก็จดอ้างอิงที่มาที่ไปไว้ไม่ครบถ้วน และได้นำข้อมูลการรับก๊าซตามสัญญาของแต่ละแหล่งมารวมกัน (เพราะความสะดวกในการนำเสนอ) แต่ลืมคิดไปว่าการทำสัญญาเขาทำแยกกันทีละแปลง ผลที่ตามมาก็คือทำให้ผมคิดค่าไม่ซื้อก็ต้องจ่ายเป็นรายแปลงไม่ได้ แต่สามารถคิดทั้งสองแหล่งได้แต่ก็จะคลาดเคลื่อนไปจากความจริงเล็กน้อย

นอกจากนี้ ผมยังได้เก็บเอกสารนำเสนอ (ในรูปเพาว์เวอร์พอยต์) ของข้าราชการระดับสูงบางคนไว้ ซึ่งดูคร่าวๆ ก็พบว่าข้อมูลในสัญญาซื้อขายก็ตรงกับตัวเลขที่ผมได้เก็บไว้แล้ว แต่ที่เป็นปัญหาของผมก็คือ ข้อมูลของผู้ตรวจเงินแผ่นดินมีแต่เรื่องเงิน ไม่มีปริมาณก๊าซ ส่วนข้อมูลของผมก็มีแต่ปริมาณก๊าซแต่ไม่ทราบเรื่องเงิน

ผมขอนำเสนอผลการศึกษาเรื่องปริมาณก๊าซสะสมตามสัญญา ปริมาณก๊าซที่ได้รับไปใช้จริงและปริมาณก๊าซที่ได้จ่ายเงินไปแล้วแต่ยังไม่ได้รับ เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจ (ท่านที่ไม่คุ้ยเคยกรุณาอย่ากลัวครับ ดูๆ ไปสักพักก็เจ้าใจได้เอง)

กราฟเส้นบนสุด (สีฟ้า) คือปริมาณก๊าซสะสมตามสัญญาตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2541 ถึง 30 เมษายน 2556 เส้นถัดมาคือปริมาณก๊าซที่ได้ใช้สะสมตั้งแต่เริ่มโครงการ เราจะเห็นว่าในช่วง 2-3 ปีแรก เราแทบจะไม่ได้ใช้ก๊าซเลย (เพราะการก่อสร้างโรงไฟฟ้าและท่อก๊าซล่าช้ากว่ากำหนด)

ถ้าเราใช้ก๊าซได้ตามแผนในสัญญาจริง กราฟสองเส้นนี้จะทับกันสนิท แต่อย่างที่สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่าว่า ยิ่งนานวันความห่างของทั้งสองเส้นนี้ค่อยๆ กว้างขึ้นกว่าเดิม นั่นหมายความว่าประมาณก๊าซที่ถูกเรียกว่า “ไม่ซื้อก็ต้องจ่าย” นั้นได้เพิ่มขึ้นมาทีละนิดๆ

ส่วนกราฟเส้นล่างสุด (สีเขียว) คือปริมาณก๊าซส่วนที่เรียกว่า “ไม่ซื้อก็ต้องจ่าย” เราจะเห็นว่า ความสูงของกราฟจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น

สิ่งที่ผมแปลกใจมากก็คือ ตลอด 15 ปีที่ผ่านมา ส่วนที่ “ไม่ใช้ก็ต้องจ่าย” เพิ่มขึ้นตลอด มีเพียงไม่ถึง 10 เดือนเท่านั้นที่การใช้จริงจะสูงกว่าที่ได้ระบุไว้ในสัญญา แต่ก็ไม่ครบทั้งปี (ที่จะเปิดให้มีการเรียกคืนหรือ make up) แต่จากรายงานประจำปี 2555 ของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) (หน้า 114) ระบุว่า ได้จ่ายค่า Take or Pay ให้กับทั้งสองแหล่ง แต่ได้รับก๊าซคืนในส่วนที่ Make Up จากแหล่งเยตากุนครบแล้ว ยังคงเหลือแต่จากแหล่งยาดานา

แต่จากการศึกษาของผมซึ่งใช้ข้อมูลของทางราชการล้วน (แต่ผิดพลาดตรงที่นำทั้งสองแหล่งมาคิดรวมกัน) พบว่าไม่น่าจะมีการเรียกคืนได้ (ในภาพรวม) ผมก็ไม่เข้าใจครับ

ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมเวทีเสวนาระหว่างส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มนักวิชาการที่คัดค้านโครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย (จัดโดยที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีหรือกลุ่ม 53 นายพล) เมื่อต้นปี 2545 ผมได้เก็บเอกสารไว้จึงขอนำมาเสนอในที่นี้

พบว่าในช่วง 3 ปีแรก ค่าไม่ซื้อก็ต้องจ่ายจาก 2 แหล่งในพม่าคิดเป็นจำนวน 31,054 ล้านบาท นั่นเป็นการคิดถึงสิ้นปี 2543 เท่านั้น หลังจากนั้นก็เกิดขึ้นทุกปี (ตามกราฟข้างต้น)

เอกสารในวันนั้นได้ระบุชัดเจนว่า ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเรียกก๊าซส่วนที่ได้จ่ายเงินไปแล้วคืนมาให้หมด (โดยใช้ก๊าซให้ได้มากกว่าแผน)

แต่ตอนนี้ผ่านมาแล้ว 15 ปี ก็ยังไม่สำเร็จตามที่ได้ให้คำมั่นสัญญากับที่ประชุม

ผมได้พยายามค้นหาค่าไม่ใช้ก็ต้องจ่ายให้ครบทุกปี แต่ก็ได้มาจากรายงานประจำปีของบริษัท ปตท. จำกัด ดังสรุปในตาราง

จากตารางพบว่า ค่าไม่ใช้ก็ต้องจ่ายได้เพิ่มถึงระดับสูงสุดที่ 36,074 ล้านบาทในปี 2544 อย่างที่ได้เรียนมาแล้วว่า ผมไม่เข้าใจว่า ทำไม ค่าไม่ใช้ก็ต้องจ่ายจึงลดลง ทั้งๆที่ทั้งสองแหล่งมีการใช้จริงต่ำกว่าในสัญญาเกือบทั้งหมด

เช่น ในเดือนมีนาคม เรามีสัญญาจะใช้ก๊าซในอัตรา 925 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แต่เรารับมาได้จริงเพียง 900 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เท่านั้น

ถ้าคิดในปี 2555 เราสัญญาจะรับ 925 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แต่รับได้จริงเพียง 820 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน คำถามก็คือ เราจะรับส่วนที่เรียกว่า “เรียกคืน” หรือ Make Up ได้อย่างไร ผมไม่เข้าใจ หรือว่าสัญญาได้เปลี่ยนไปโดยที่ผมไม่ทราบ

สิ่งที่จะต้องเรียกร้องกันต่อไปก็คือ ขอความรับผิดชอบและความโปร่งใสของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องครับ อ้อ รวมถึงสื่อต่างๆ ด้วยโปรดสนใจติดตามกันหน่อย

ขอบคุณครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น