xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เมกะโปรเจกลงโคราช จังหวัดเดียวเกือบ2 แสนล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-วันก่อนวิปฝ่ายค้านออกมาจับพิรุธการที่รัฐบาลรีบเร่ง ชงร่างพ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลัง กู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ “ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท” ขึ้นมาพิจารณาทันที เร่งด่วน! ตามปฏิทินการประชุมสภาสมัยสามัญทั่วไป ในเดือนสิงหาคมนี้

ฝ่ายค้านมองว่ารัฐบาลกลัว! หากพิจารณากฎหมายนิรโทษกรรม ฉบับ ส.ส.วรชัย เหมะ ที่ตอนแรกจะมีการเสนอเป็นอันดับแรก ก่อน อาจนำไปสู่อุบัติเหตุทางการเมืองได้ สุดท้ายก็ไม่ได้กู้เงิน

แถมฝ่ายค้านยังตั้งข้อสังเกตว่า หลายคนกังวลจะเป็นการกู้มาโกง และเริ่มมีกลิ่นว่าจะมีการแบ่งเค้กชิ้นเล็กๆ ให้กับ ส.ส.บางส่วน

ประธานวิปฝ่ายค้าน “จุรินทร์ ลักษณะวิศิษฐ” ถึงกลับออกมาขู่ว่า “ถ้าเป็นจริงขอความกรุณาอย่าทำ”

มีกระแสข่าวว่า มีการพยายามตกลงกันนอกรอบว่าจะให้ ส.ส.ที่เป็นกรรมาธิการ (กมธ.) ทุกพรรครวมทั้งฝ่ายค้านด้วย มีสิทธิที่จะตั้งงบในส่วนที่เป็นโครงการในพื้นที่ 1-3 โครงการที่เกี่ยวข้องกับระบบการคมนาคม ในวงเงินรายละไม่เกิน 100 ล้านบาท

“ซึ่งหาก กมธ.คนใดมีกิจการรับเหมาเอง ก็จะได้กำไรเต็มเม็ดเต็มหน่วยไม่เกิน 30% หรือ 30 ล้านบาทขึ้นไป หรือไม่ก็สามารถไปบอกผู้รับเหมาในพื้นที่ว่าเป็นโครงการที่ตนเสนอ และสามารถมารับงานได้โดยถูกต้อง เพื่อกินส่วนแบ่งค่าหัวคิว ข้อเสนอนี้กระทำขึ้นเพื่อหวังให้ พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทดังกล่าวผ่านการพิจารณาได้สะดวกขึ้น ทั้งนี้ กมธ.ทั้งสิ้น 30 กว่าคนเท่ากับผันงบในส่วนนี้ประมาณ 3,000 ล้านบาท โดยเฉพาะสัดส่วนของ กมธ.พรรคประชาธิปัตย์จะได้ช่วยสนับสนุน โดยอาจไม่มีการสงวนความเห็นต่างมากมายนัก เพื่อให้ พ.ร.บ.กู้เงินผ่านได้ง่ายขึ้น”

หลายวันก่อน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม กับ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รมช.คมนาคม

พูดในงานเสวนา “การขับเคลื่อนโคราชสู่มหานคร” ว่า รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 438,694 ล้านบาท ในพ.ร.บ. เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท โดย จ.นครราชสีมา มีโครงการที่ต้องดำเนินการก่อสร้างอยู่หลายโครงการ เช่น โครงการรถไฟทางคู่ 2 เส้นทาง รถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพ - นครราชสีมา - หนองคาย การก่อสร้างสะพานจุดตัดรถไฟ 6 โครงการ และโครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน -สระบุรี- นครราชสีมา ซึ่งอยู่ระหว่างรอออกพ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน และคาดว่า จะเป็นโครงการแรก ที่ดำเนินการได้ทันทีหากพ.ร.บ. 2 ล้านล้านบาทผ่านสภา ฯ

สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ - นครราชสีมา คาดว่า เดือน ก.ค.จะเสนอให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมพิจารณาได้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างหารือว่า จะตั้งสถานีบริเวณจุดใดบ้าง อาจจะต้องขยับให้เกิดความเหมาะสม ส่วนเรื่องของราคาค่าโดยสารรถไฟความเร็วสูง ยังไม่ได้ข้อสรุปเช่นกัน เพราะการกำหนดอัตราค่าโดยสารจะพิจารณาจากจำนวน และรายได้ของผู้ใช้บริการเป็นหลัก

ส่วนของจังหวัดนครราชสีมา ได้มีการศึกษาและจะนำระบบรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ (บีอาร์ที) มาใช้ในการแก้ไขปัญหาการจราจรในเมืองด้วย ซึ่งคาดว่าจะสรุปเสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาได้ภายในปีนี้

“สิ่งสำคัญคือต้นทุนเวลาในการพัฒนาโครงการต่างๆ เพราะที่ผ่านมา เราเสียเวลามามาก หากเราสามารถเดินหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-โคราชได้ก่อน จะช่วยย่นระยะทางและประหยัดเวลาในการเดินทางจากปกติ 5 ชม. เป็น ชั่วโมงครึ่งเท่านั้นโดยจะต้องจัดเก็บค่าโดยสารไม่แพงและจะต้องสามารถแข่งขันกับรถบขส.หรือรถยนต์ได้ในระดับหนึ่ง”

ด้านนายประเสริฐ ก็บอกว่า ขณะนี้จังหวัดนครราชสีมาขยายตัวอย่างมาก ดังนั้น จึงมีการศึกษาถึงแผนรองรับการขยายตัวของเมือง ไปพร้อมกับแผนรองรับโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง เบื้องต้นจะทำระบบบีอาร์ที

ขณะที่กรมทางหลวงชนบท(ทช.) มีแผนจัดทำถนนวงแหวนรอบตัวเมืองนครราชสีมา ระยะทาง109 กม. วงเงิน 4,600 ล้านบาท โดยใช้งบประมาณประจำปี 57

ย้อนกลับมาดูความคืบหน้าเรื่อง “โครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-โคราช” กันก่อน

ต้นเดือนมิถุนายน 56 สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ยกคณะไปจัดการประชุมการมีส่วนร่วมของประชาชน ครั้งที่ 2 ต่อโครงการศึกษาและออกแบบรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ - หนองคาย ระยะที่ 1 กรุงเทพฯ - นครราชสีมา

มี นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ รองผู้อำนวยการ สนข. เป็นประธาน และมีตัวแทนหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมทั้งประชาชนในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ร่วมประชุมกว่า 500 คน ทั้งที่ นครราชสีมาหรือโคราชมีประชาชนไม่น้อยกว่า 2 ล้านคนในขณะนี้

สนข.ได้นำเสนอผลสรุปผลการศึกษาเกี่ยวกับแนวเส้นทาง โครงสร้างที่เหมาะสม สถานี รูปแบบการให้บริการ ตลอดจนผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มาตรการบรรเทาและแก้ไขผลกระทบ โดยเฉพาะข้อมูลเจาะลึกของพื้นที่ย่อยที่ 3 ช่วงสถานีกลางดง - สถานีนครราชสีมา

ตามข่าว สนข.อ้างว่า ประชาชนชาวโคราช ร้อยละ 85 เห็นด้วยกับโครงการนี้ และคาดว่าโครงการจะสร้างเสร็จ และเปิดให้บริการได้ในปี 2562

ตามข้อมูลของ สนข.โครงการแนวเส้นทางเฟสแรก (รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา) จุดเริ่มต้นอยู่ที่สถานีบางซื่อ ผ่านสถานีดอนเมือง สถานีพระนครศรีอยุธยา จนมาถึงชุมทางบ้านภาชี จากนั้นแนวจะเข้าสู่เส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายอีสาน จากบ้านภาชีมุ่งหน้าเข้าสู่จังหวัดสระบุรี ผ่านสถานีปากช่อง จากนั้นเส้นทางจะเลียบอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำตะคองไปยังสถานีนครราชสีมา

โดยมี 3 สถานี แต่ตำแหน่งที่ตั้งยังไม่สามารถกำหนดได้ชัดเจน ประกอบด้วย

1.สถานีสระบุรี มี 2 ทางเลือกคือ อยู่สถานีรถไฟสระบุรีในปัจจุบัน หรือสร้างบนที่ดินเอกชนติดถนนเลี่ยงเมือง ซึ่งจะเยื้องกับศูนย์การค้าเซ็นทรัล สระบุรี

2.สถานีปากช่อง มี 2 ทางเลือกว่า จะอยู่ที่สถานีรถไฟปากช่องเดิม หรือสร้างบนที่ดินของกรมธนารักษ์ กรณีที่ดินกรมธนารักษ์ปัจจุบันใช้ประโยชน์เป็นโรงงานที่ 5 สายพลาธิการ

3.สถานีนครราชสีมา ทางเลือกคือจะอยู่ที่เดิมสถานีรถไฟนครราชสีมา หรือเวนคืนที่ดินเอกชนเพิ่มย่านสถานีภูเขาลาด

ตามแผนช่วงบริเวณอ่างเก็บน้ำลำตะคอง จะสร้างทางวิ่งเป็นทางยกระดับเลียบอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำตะคอง และยกระดับข้ามทางรถไฟเดิม จากนั้นแนวเส้นทางจะเลียบอ่างเก็บน้ำ ก่อนจะข้ามทางรถไฟเดิมอีกครั้ง แล้วจึงกลับมาขนานกับแนวทางรถไฟเดิม ระยะทางบริเวณนี้ประมาณ 17 กิโลเมตร

โดยมีเงินลงทุนในเฟสแรกจะอยู่ที่ประมาณ 170,450 ล้านบาท แยกเป็นค่าเวนคืนกว่า 8,000 ล้านบาท เนื่องจากจะต้องมีการเวนคืนที่ดินตั้งแต่ช่วงภาชี-นครราชสีมา รวมพื้นที่ประมาณ 1,500-1,600 ไร่

เป็นค่าก่อสร้างประมาณ 140,855 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาประมาณ 3,000 ล้านบาท และระบบรถไฟฟ้าอีกประมาณ 31,700 ล้านบาท ส่วนเฟสสอง (นครราชสีมา-หนองคาย) ประเมินเบื้องต้นค่าก่อสร้างน่าจะอยู่ที่ประมาณ 108,245 ล้านบาท

อีกโครงการหนึ่งที่อยู่ในงบประมาณ 2 ล้านล้านบาท เช่นกัน

ความคืบหน้าของ โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) เส้นทางบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา วงเงินรวม 84,600 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าก่อสร้าง 77,970 ล้านบาท ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 6,630 ล้านบาท ดำเนินการ 4 ปี (2556-2559) รับผิดชอบโดยกรมทางหลวง

เบื้องต้นมีกลุ่มคนโคราช-ปากช่อง ตั้งแฟนเพจในเฟสบุ๊คชื่อ “กลุ่มปกป้องเขาใหญ่จากมอเตอร์เวย์”แม้จะมีแนวร่วมในเฟซบุ๊คไม่มากนัก แต่เชื่อว่ามีกลุ่มที่ออกมาคัดค้านที่แสดงตัวตนและไม่แสดงตัวตนอีกเยอะ

โดยเฉพาะประชาชนในเขต ต.หนองน้ำแดง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ถือว่าเข้มแข็งมากที่สุด

เพราะที่ผ่านมานับตั้งแต่สมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ก็มีการเสนอให้ปรับรูปแบบการก่อสร้างด้วยการทำเป็นทางยกระดับในย่านที่มีประชาชนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่จะเกิดขึ้น

ขณะที่ทางสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ได้ทำหนังสือถึงกระทรวงคมนาคม ขอให้ตระหนักถึงการก่อสร้างโครงการลงทุนใดๆ ก็ตาม ที่จะต้องรับฟังความเห็นจากประชาชน ต้องทำให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ในโครงการตามพ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท

อีกเรื่องเป็นแค่ข่าวลือหรือไม่ แต่ก็ต้องจับตาดูสัปดาห์หน้าที่มีข่าวว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี อาจจะทูลเกล้าฯ “ครม.ปู5”ในวันศุกร์ที่ 28 มิถุนายนนี้ ข่าวลือที่มีมีชื่อของคนใหญ่คนโตในจ.นครราชสีมา มาร่วมครม.ชุดนี้ด้วย

เมื่อไม่กี่วันนี้ ก็เพิ่ง พาคนโคราชทำลายสถิติโลก “โอลิมปิค เดย์รัน” ได้งบประมาณจากโอลิมปิคไทย จากองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา ภาคเอกชนในเมืองโคราช จัดทำเสื้อแจกๆๆๆ ไปไม่กี่แสนตัว

ไม่กี่วันก่อนก็ ไอเดียกระฉูด! อยากให้โคราช เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันรถยนต์ระดับโลก ฟอร์มูล่า เอฟวัน แทนกรุงเทพฯที่ค่อนข้างแน่ชัดแล้วว่า คนจัดเขาจะจะไม่ใช้พื้นที่กรุงเทพฯแล้ว แต่ดีหน่อยกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา และคนจัดเขามองไปที่ศักยภาพของจ.ภูเก็ตแล้ว แต่ก็ไม่แน่ คนโตคนนี้ร่วม ครม.จริง

“โคราช “อาจส้มหล่น ได้จัด “ฟอร์มูล่าวัน”


กำลังโหลดความคิดเห็น