xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

จำนำข้าว ฉิบหายตายเห็นๆ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-คงไม่มีคำจำกัดความหรือนิยามใดเหมาะสมไปกว่า “ฉิบหายตายเห็นๆ” อีกแล้วสำหรับโครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ดในราคาเกวียนละ 15,000 บาทของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรอีกแล้ว

ความฉิบหาย ได้ปรากฏให้เห็นแล้วกับตัวเลขการขาดทุนระดับแสนล้านบาทที่กดดันกระทั่ง ฯพณฯ ปูเน่าจำต้องประกาศลดราคาจำนำเหลือเพียงเกวียนละ 12,000 บาท และจำกัดวงอยู่ที่รายละ 500,000 บาทอย่างกะทันหันโดยไม่ประกาศให้ทราบล่วงหน้าจนชาวหน้าทั่วประเทศลุกขึ้นมาประท้วงเพราะการที่รัฐบาลประกาศเปลี่ยนนโยบายในช่วงฤดูทำนากระทบโดยตรงต่อต้นทุนการผลิตที่ถูกเจ้าของร้านขายปุ๋ยและเคมีภัณฑ์ทางการเกษตรคิดในราคารับจำนำเดิม

ส่วน “ตายแห็นๆ” ก็มีตัวอย่างให้เห็นทั้งที่ตายจริงๆ ดังเช่นที่เกิดขึ้นกับชาวนาเมืองโอ่ง จังหวัดราชบุรีและตายทั้งเป็นโดยที่ไม่รู้จะหันหน้าแก้ปัญหาด้วยวิธีไหน

ไหนจะผู้บริโภคที่ไม่รู้ว่า ข้าวค้างสต็อกที่ถูกระบายออกมาขายนั้นจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือไม่จากผลพวงของการใช้ยาหรือสารเคมีในการรักษาข้าวไม่ให้เน่าเสีย ไหนจะการทุจริตนำเข้ามาเวียนเทียนรับจำนำหรือขนข้าวจากต่างประเทศมาสวมสิทธิโดยการสมรู้ร่วมคิดของนักการเมือง ข้าราชการและนักธุรกิจชั่วๆ บางคน

แล้วอย่างนี้จะไม่ให้บอกว่าฉิบหายตายเห็นๆ ได้อย่างไร

เชื่อว่า สุดท้ายแล้วความฉิบหายของโครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ดจะกลายเป็นนโยบายที่เป็นหมัดเด็ดในการคว่ำรัฐบาลยิ่งลักษณ์ให้ล้มกลาง กระดานได้ในอีกไม่ช้าไม่นานนี้

ไปที่เรื่องดีๆ กันบ้าง เริ่มจากกลุ่มอาสาสมัครภายใต้ชื่อ Save the Planet Associate หรือ SPA ร่วมกับนกแอร์และเชฟรอนประเทศไทย จัดโครงการโครงการอนุรักษ์ทางทะเล Clean up Our Sea หรือ “เก็บขยะ ตัดอวน คืนชีวิตให้ทะเลของเรา”ผนึกกำลังนำความสดใสกลับคืนสู่ท้องทะเลสีครามของหมู่เกาะชุมพรและเกาะเต่า ด้วยการกำจัดขยะและสิ่งปฏิกูล รวมถึงซากอวนลากปลาที่ปกคลุมปะการังและกองหินใต้น้ำ ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเล และถือเป็นภัยคุกคามต่อระบบนิเวศทางทะเลอีกด้วย โดยเฉลี่ยในแต่ละปีทางกลุ่ม SPAมีการตัดและรวบรวมอวนลากปลาขึ้นมาโดยเฉลี่ย300-700 กิโลกรัม อีกทั้งยังพบลอบดักปลา ขวดน้ำ เศษซากและขยะอื่นๆ อีกมากมายติด ขึ้นมาด้วย

ตามต่อด้วยผลงานสุดเจ๋งจาก “กิตติชาติ โหมาศวิน” อาจารย์นักวิจัยจากคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ที่เดินหน้าลุยวิจัยและใช้เส้นใยปาล์มน้ำมันเพื่อนำมาใช้เป็นแผ่นเป็นฉนวนดูดซับ เสียง ซึ่งผลการทดสอบปรากฏว่าแผ่นปาล์มน้ำมันสามารถดูดซับเสียงได้สูงสุดที่ร้อยละ29.42ที่ความหนาแน่น400 กิโลกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ความหนา20 มม.ขณะที่ฉนวนดูดซับเสียงตามท้องตลาดสามารถดูดซับเสียงได้สูงสุดที่ร้อยละ26.46 ส่วนผลการทดสอบคุณสมบัติการดูดซับเสียงแยกย่านความถี่(Hz)พบว่าแผ่นฉนวนดูดซับเสียงจากใยปาล์มน้ำมันสามารถดูดซับเสียงได้ดีที่ย่านความถี่ ระดับกลางถึงระดับสูง ( 500 Hz-2,000 Hz) ผู้ในสนใจไอเดียดีๆ นี้สามารถติดต่อขอทราบรายละเอียดได้ที่ 081-866-4540

และปิดท้ายกับ นางนินนาท ชลิตานนท์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ที่ไปเป็นประธานในพิธีเปิด “บ้านหนังสือ” แห่งที่ 162 ชุมชนริมคลองพลับพลา เขตวังทองหลาง บนพื้นที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เพื่อเดินหน้าส่งเสริมให้กรุงเทพมหานคร เป็น “มหานครแห่งการอ่านและการเรียนรู้” สมกับที่ปี 2556 นี้ กรุงเทพมหานคร ได้รับคัดเลือกจากองค์การ UNESCO ให้เป็นเมืองหนังสือโลก (World Book Capital 2013) โดยมี นายดนุช อิศรเสนา ณ อยุธยา หัวหน้าฝ่ายบริหารงานชุมชน สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ร่วมในพิธี
พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ...

คอลัมน์// หนังสือน่าอ่าน

สนุกกับนก

“นก” เป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่มีเสน่ห์และมีความงดงามที่ผิดแผกแตกต่างกันไปในแต่ละสายพันธุ์ ยิ่งเป็นนกที่อยู่ในธรรมชาติ ไม่ใช่นกที่ถูกคนจับมาขังและเลี้ยงไว้ในกรงด้วยแล้ว ยิ่งมีเสน่ห์จนหลายคนถอนตัวไม่ขึ้น กระทั่งกลายสภาพเป็น “นักดูนก” ไปในที่สุด

ทั้งนี้ ต้องบอกว่า การดูนกเป็นกิจกรรมง่ายๆที่ทุกคนสามารถเรียนรู้และเก็บเกี่ยวความสุขได้ด้วยตัวเอง เป็นกิจกรรมที่ให้ความสุข ความเพลิดเพลิน รวมทั้งช่วยสร้างความเข้าใจถึงความสัมพันธ์ของสรรพชีวิตในธรรมชาติอีกด้วย

ถ้าไม่มีเวลาหรือเพิ่งหัดดูใหม่ๆ ก็สามารถเริ่มต้นจากดูในเมือง อาจจะเป็นที่บ้านของคุณเองหรือตามสวนสาธารณะต่างๆ แต่ถ้าเริ่มสนุกก็ค่อยขยับขยายออกไปดูในสถานที่ธรรมชาติซึ่งมีให้เลือกมากมาย เช่น อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม สำหรับมือใหม่ที่อาจมีความกังวลว่า เป็นเรื่องยาก ขอแนะนำว่า ให้ทดลองไปหาหนังสือที่มีชื่อว่า “สนุกกับนก” ผลงานของ “รุ่งโรจน์ จุกมงคล” จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์สารคดีมาอ่านชิมลางกัน เพราะหนังสือเล่มนี้ถือเป็นคู่มือที่ดีอีกเล่มหนึ่งสำหรับผู้สนใจดูนกด้วยตนเอง โดยให้คำแนะนำตั้งแต่การเลือกซื้ออุปกรณ์ในการดูนก หนังสือคู่มือดูนก แหล่งดูนก ฯลฯ นอกจากนี้ ยังเผยเทคนิคในการดึงดูดนกเข้าบ้านด้วยการจัดแต่งสวนให้เหมาะแก่การดำรงชีวิตของนก การทำที่ใส่อาหาร และการติดตั้งรังเทียมไว้ในบริเวณบ้านเพื่อให้บ้านของคุณเป็นแหล่งพักพิงของนกอีกด้วย

และเมื่อมั่นใจแล้วว่า จะมุ่งหน้าในเส้นทางสายนักดูนก แล้วจึงค่อยขยายไปหาซื้อหนังสือที่นักดูนกเมืองไทยจำเป็นต้องมี นั่นคือ A Guide to the Birds of Thailand ผลงานของนพ.บุญส่ง เลขะกุลและฟิลิป ดี.บราวน์ เพราะได้รับการยอมรับว่าเป็นคู่มือดูนกในเมืองไทยฉบับสมบูรณ์ที่สุด

ลุงอ้วน
managerweekend@yahoo.com




กำลังโหลดความคิดเห็น