xs
xsm
sm
md
lg

นักการศึกษาชี้ปฏิรูปหลักสูตรไม่ใช่คำตอบสุดท้าย ปัจจัยสำคัญคือ ”ครู”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักการศึกษาชี้ปฏิรูปหลักสูตรใหม่ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย ย้ำผู้บริหาร ครูคือปัจจัยสำคัญในการพัฒนา ร.ร. ขณะที่สภาคณบดีครุ/ศึกษา เตรียมจัดประชุมระดมสมองหัวข้อ หลักสูตรใหม่ : วิกฤตหรือโอกาส 3 ก.ค.นี้

วันนี้ (18 มิ.ย.) ที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สภาคณบดีครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (กลุ่ม 16) ได้ประชุมหารือกันเกี่ยวกับการปฏิรูปหลักสูตรใหม่ โดยรศ.ดร.ชนิตา รักษ์พลเมือง คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า หลักสูตรการศึกษาควรต้องมีการปรับปรุงอยู่ตลอดเวลา ที่ผ่านมาคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์จากสถาบันต่างๆ ไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมปฏิรูปหลักสูตรตั้งแต่ต้น และบุคลากรทางด้านการศึกษายังเข้าไปมีบทบาทในเรื่องนี้น้อยมาก ทั้งที่เป็นผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง การปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องคุณลักษณะเด็กไทยที่ต้องการให้เป็น ควรมีผู้เกี่ยวข้องเข้าไปร่วมทำในแง่ผู้ผลิต ผู้ใช้ เชื่อว่าหากผู้บริหารประเทศเปิดโอกาสให้นักวิชาการในส่วนสภาครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทยเข้าไปมีส่วนร่วม จะนำไปสู่ความเข้าใจที่ตรงกันและเป็นการศึกษาที่เป็นไปรูปแบบเดียวกัน

ขณะที่ ผศ.ดร.พัทธนันท์ หรรษาภิรมย์โชค อดีตรองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) วิทยาเขตกำแพงแสน กล่าวว่า จากผลการวิจัยเรื่องแนวทางการพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กในชุมชน พบว่า ปัจจัยสำคัญในการพัฒนาโรงเรียน คือ ครูและผู้บริหาร หากมีครูที่เก่ง ดี มุ่งมั่นในการจัดการเรียนการสอนแม้ว่าโรงเรียนจะไม่มีความพร้อม ไม่มีงบประมาณหรือหลักสูตรจะมีลักษณะอย่างไร ก็สามารถพัฒนาเด็กได้อย่างมีคุณภาพ ดังนั้นการปรับโครงสร้างหลักสูตรใหม่ของรัฐบาลอาจไม่ใช่คำตอบสุดท้าย

รศ.ดร.วาสนา คุณาอภิสิทธิ์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) กล่าวว่า ตนมีคำถามว่าทำไมต้องปฏิรูปหลักสูตรใหม่มีฐานการคิด การวิจัย ข้อมูลอย่างไรที่สนับสนุนว่าของเดิมไม่เหมาะสม แล้วหลักสูตรใหม่มีลักษณะเป็นสากลผสานความเป็นไทยอย่างไร อะไรคือเป้าหมายในการพัฒนาเด็ก ต้องการให้เด็กมีคุณภาพในลักษณะใด คณะทำงานพัฒนาหลักสูตรใหม่คือใครบ้าง และเป็นผู้เชี่ยวชาญหลักสูตรจริงหรือไม่ ครูและโรงเรียนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงและยอมรับหรือไม่ ครูพร้อมรับการพัฒนาหรือไม่ เป็นต้น

ด้าน รศ.ดร.ประพันธ์ศรี สุเสารัจ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มศว กล่าวว่า การปฏิรูปหลักสูตรครั้งนี้ ควรต้องมีความรอบคอบและศึกษาข้อมูลให้รอบด้าน ควรมาจากการมีส่วนร่วมของบุคคลหลายฝ่าย เพราะหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานของชาติ มีผลกระทบกับการศึกษาของชาติทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ หากผู้ดำเนินการปฏิรูปหลักสูตรไม่มีพื้นฐาน ความรู้เกี่ยวกับการศึกษาของชาติที่เกี่ยวโยงสัมพันธ์กัน และไม่มีความรู้เกี่ยวกับกระบวนการพัฒนาหลักสูตร ความเสียหายจะเกิดขึ้นอย่างใหญ่หลวงและยาวนานต่อประเทศชาติได้

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การปฏิรูปหลักสูตรใหม่ สามารถตอบโจทย์และเกิดประโยชน์วงการศึกษาไทยอย่างสูงสุด สภาคณบดีครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (กลุ่ม 16) จะจัดประชุมระดมความคิดเห็นหัวข้อ หลักสูตรใหม่: วิกฤตหรือโอกาส ในวันพุธที่ 3 กรกฎาคม 2556 เวลา 09.00-12.00 น.ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์กิตติคุณ คุณดวงเดือน พิศาลบุตร (ห้องประชุม 101 เดิม) อาคารประชุมสุข อาชวอำรุง คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ขอเชิญชวนนักการศึกษาและผู้สนใจร่วมแสดงความคิดเห็น สนใจสอบถามได้ที่ โทร. 0-2218-2417


กำลังโหลดความคิดเห็น