xs
xsm
sm
md
lg

โกงสอบก็อื้อ แก้ปัญหาก็ไม่คืบ..ใครเล่าจะอยากเรียนครู!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ที่ผ่านมา ดูเหมือนว่า วิชาชีพครูจะเป็นหนึ่งในอาชีพที่ใครหลายคนเลือกเรียน ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะอาชีพครู ยังให้ความรู้สึกถึงความมั่นคง เป็นอาชีพของผู้ให้ผู้เสีย สละ และมีหน้ามีตาในสังคม รวมไปถึงกระแสข่าวการยกเลิกอัตรากำลังสายครูไปมาก ตลอดจนข้าราชการครูที่เกษียณอายุราชการก่อนกำหนด หรือเออลี่รีไทร์

ไม่แปลกที่นักเรียนจะเลือกเรียนคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์มากขึ้น นั่นเพราะเล็งเห็นความหวังว่า เมื่อจบการศึกษาแล้วจะได้งานทำ มีอาชีพรองรับที่แน่นอน ยิ่งมีโครงการครูพันธุ์ใหม่ที่ให้ทุนการศึกษา และรับประกันว่าจะได้บรรจุเป็นครูด้วยแล้ว ยิ่งเป็นอีกแรงจูงใจหนึ่งที่ทำให้นักเรียนหันมาเรียนครูจำนวนมาก

ทว่า ล่าสุด กลับมีกระแสข่าวที่สร้างความสั่นคลอนต่อวิชาชีพครู เมื่อเด็กเก่ง คะแนนสูงๆ สละสิทธิ์การเข้าเรียนครูจำนวนมาก เป็นเหตุให้หลายฝ่ายเกิดความกังวลถึงอนาคตครูไทยในการผลิตคนออกสู่สังคม ยิ่งมีข่าวคุณภาพการศึกษาของเด็กไทยตกฮวบลงเรื่อย ๆ วิชาชีพครูก็ยิ่งตกเป็นจำเลยของสังคมมากขึ้น

เมื่อ "เด็กเก่ง" สละสิทธิ์เรียนครู!

เป็นคำถามที่ชวนให้ตกใจปนกังวลไม่น้อย สำหรับกระแสข่าวที่เกิดขึ้น เพราะก่อนหน้านี้ กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เพิ่งออกมาเปิดเผยถึงผลการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ระบบรับตรงผ่านเคลียริ่งเฮาส์ ประจำปีการศึกษา 2556 ว่า คณะยอดนิยมของมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่สนใจเข้าเรียนมากที่สุด คือ คณะศึกษาศาสตร์ ซึ่งมีสัดส่วนการแข่งขันประมาณ 1 ต่อ 30

"ที่เด็กๆ นิยมเรียนคณะศึกษาศาสตร์ ถือเป็นทิศทางที่ดี เพราะจะทำให้ประเทศไทยได้ครูเก่งๆ อย่างการรับตรงของ มข.เอง พบว่าคนที่สอบเข้าได้ ที่สุดท้ายของคณะศึกษาศาสตร์ ยังมีคะแนนสูงกว่าเด็กสอบติดคณะวิศวกรรมศาสตร์ และแม้แต่คนที่คะแนนสูงพอที่จะเลือกคณะทันตแพทยศาสตร์ได้สบายๆ ก็ยังเลือกที่จะเรียนครู" อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เผย

แต่เมื่อมาดูมหาวิทยาลัยหลาย ๆ แห่ง โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยราชภัฏ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาบุคลากรโดยเฉพาะด้านการผลิตครูให้แก่ประเทศชาติ กลับพบว่า นักเรียนที่มีผลการเรียนดีและได้คะแนนแอดมิสชั่นสูง ๆ ในปีนี้ สละสิทธิ์เรียนครูจำนวนมาก เพราะส่วนใหญ่เลือกไปเรียนคณะและมหาวิทยาลัยที่ต้องการ

เห็นได้จากข้อมูลที่ ผศ.ดร.สุรวาท ทองบุ คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม (มรม.) ในฐานะประธานสภาคณบดีครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ส.ค.ศ.ท.) ออกมาเปิดเผยว่า จากการสำรวจจำนวนผู้สมัครเข้าศึกษาต่อในคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ปีการศึกษา 2556 ในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง มีนักเรียนชั้น ม.6 ที่สมัครเข้าเรียนคณะดังกล่าวได้สละสิทธิ์เป็นจำนวนมาก บางแห่งคิดเป็นร้อยละ 30 ของจำนวนนักเรียนที่เข้าใหม่ เช่น คณะครุศาสตร์ มรม. เดิมมีนักเรียนสมัครเรียนประมาณ 700 คน แต่ขณะนี้ได้สละสิทธิ์ไปมากกว่า 200 คนแล้ว

"ตอนนี้ มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ได้เรียกนักเรียนลำดับท้าย ๆ มาเรียนแทนนักเรียนเก่ง คะแนนสูงๆ ที่ได้สละสิทธิ์ไป นับว่าน่าเสียดายที่ประเทศน่าจะได้คนดี คนเก่งมาเรียนครูเหมือนเช่นประเทศอื่นเขา" ประธานสภาคณบดีครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ส.ค.ศ.ท.) เผย

ต่อกรณีดังกล่าว ไพฑูรย์ สินสารัตน์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ในฐานะประธานกรรมการคุรุสภา อีกผู้หนึ่งที่ศึกษาปัญหาของวงการการศึกษาไทยมานาน ให้สัมภาษณ์ว่า ส่วนตัวไม่แน่ชัดเรื่องตัวเลข และไม่สามารถฟันธงได้ว่า เด็กเก่งสละสิทธิ์เรียนครูมากขึ้น แต่ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงๆ สาเหตุที่ทำให้เด็กเลิกสนใจเรียนครู อาจมาจากความต่อเนื่องของทุน และความคืบหน้าของโครงการครูมืออาชีพ

"เท่าที่สังเกตดู ส่วนตัวมองว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ความสนใจของคนที่เรียนครูมีมากขึ้น โดยเฉพาะตอนที่มีทุนให้เด็กเรียนครู และเมื่อจบแล้วมีงานให้ทำทันที ทำให้คนสนใจเรียนครูกันมาก แต่ในช่วงหลัง ๆ อาจจะเป็นปีนี้ หรือปีที่แล้ว เรื่องทุนที่มีให้แก่คนที่เรียนครู รู้สึกว่ายังไม่แน่นอน รวมไปถึงโครงการครูมืออาชีพที่ยังไม่ค่อยชัดเจน ซึ่งนี่อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่เด็กบางคนไม่เชื่อมั่นกับวิชาชีพนี้ และสละสิทธิ์ไป" ประธานเลขาธิการคุรุสภาให้มุมมอง

โกงสอบก็อื้อ แก้ปัญหาก็ไม่คืบ

หากจะวิเคราะห์ให้ลึกลงไปอีก ผศ.ดร.สุรวาท ในฐานะประธาน ส.ค.ศ.ท.ได้วิเคราะห์ถึง 3 สาเหตุหลัก ๆ ที่เป็นปมล้มเหลวไว้ว่า

1. ไม่มีความคืบหน้าโครงการครูมืออาชีพ สภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ส.ค.ศ.ท.) ได้เสนอ ไปนานแล้วเรื่องก็เงียบหายไป

2. การทุจริตการสอบบรรจุครูผู้ช่วย ที่เชื่อว่ามีโกงล้านเปอร์เซ็นต์ แต่ไม่มีผู้ใดได้รับการลงโทษ ขาดความเด็ดขาดในการจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น นักเรียนเหล่านี้ไม่มั่นใจว่าเป็นคนดี คนเก่งแล้วจะสอบบรรจุได้ ถ้าไม่โกง

3. การประกาศยุบโรงเรียนขนาดเล็กของกระทรวงศึกษาธิการ ทำให้เชื่อว่าจะมีอัตราการบรรจุน้อยลงตามไปด้วย

"นับว่าประเทศเสียโอกาสอย่างมาก เพราะเหตุว่า ประเทศควรจะถือโอกาสสร้างครูใหม่ จากคนดีคนเก่งมาเรียนครู ทดแทนครูที่จะเกษียณอายุ กว่าสองแสนคนในอีก 7-8 ปีนี้ ผมคิดว่า กระทรวงใช้เวลาที่มีน้อยอยู่แล้วกับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เรื่องปลายเหตุ เรื่องที่ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน แทนที่จะคิดแก้ปัญหาที่ต้นทาง" ประธาน ส.ค.ศ.ท.ให้ทัศนะ

พร้อมกันนี้ ยังจี้ไปถึงตัวผู้นำประเทศด้วยว่า ควรจะมีความจริงใจในการดูแลการศึกษาชาติให้มากกว่าที่เป็นอยู่ และนี่คือคำพูดประธานส.ค.ศ.ท. ที่อยากสะกิดไปถึงรัฐบาลชุดนี้

"ส่วนตัวอยากเสนอให้พรรคเพื่อไทย ส่งทีมที่มีความเข้าใจเรื่องการศึกษามาช่วย เพราะเวลานี้ ทีมที่ปรึกษายุ่งอยู่กับการปรับหลักสูตร ทั้งที่การแก้ปัญหาการศึกษานี้จะต้องแก้หลายอย่างไปพร้อม ๆ กัน โดยเฉพาะ นโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา เรื่อง การปฏิรูปครู ทั้งการพัฒนาครูและระบบการผลิต นอกจากไม่มีความคืบหน้าแล้ว ผมรู้สึกว่าถอยหลัง ติดลบด้วยซ้ำไป เพราะโครงการดี ๆ อย่างโครงการครูพันธุ์ใหม่ซึ่งยอมรับกันว่าเป็นโอกาสของประเทศ รัฐบาลนี้ก็ยกเลิกไป และนำโครงการครูมืออาชีพเข้ามาแทนซึ่งเป็นเสี้ยวหนึ่งเท่านั้นของโครงการเดิม แถมยังทำให้บิดเบี้ยวผิดหลักการและไม่มีอะไรคืบหน้า นักศึกษาที่จะเข้าโครงการรอจนจะจบปีสุดท้ายแล้ว"

ดังนั้น ในฐานะประธานสภาคณบดีครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ส.ค.ศ.ท.) จึงอยากย้ำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พิจารณาเพื่อดำเนินการเปลี่ยนแปลงใดๆ ให้ ศธ.ดำเนินงานให้ดีขึ้นได้แล้ว ไม่เช่นนั้น ประเทศชาติจะขาดแคลนครูที่มีคุณภาพ

อนาคตครู อนาคตประเทศชาติ

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้ว่า สังคมไทยมีการตั้งคำถามถึงวิชาชีพครูกันมากขึ้นเรื่อย ๆ ถึงกับมีหลาย ๆ คนเปิดบอร์ดตั้งกระทู้วิพากษ์วิจารณ์ถึงสายอาชีพนี้ว่า เป็นแหล่งรวมพลคนไม่เก่ง เนื่องจากทุกวันนี้ เปิดโอกาสให้คนที่ไม่ได้จบครู มาเป็นครูจำนวนมาก เหตุนี้เอง ทำให้อาชีพครูถูกมองว่า จะเอาใครก็ได้มาเป็นครู! ยิ่งมีกระแสข่าวว่าเด็กเก่งสละสิทธิ์เรียนครูอีกจำนวนไม่น้อยด้วยแล้ว อนาคตชาติยิ่งน่าเป็นห่วง

เรื่องนี้ ประธานกรรมการคุรุสภา ให้แนวทางว่า ถ้าหากมีทุนให้เด็กอย่างต่อเนื่อง ก็อาจจะช่วยดึงเด็กเก่ง มีความสามารถ เลือกเรียนในวิชาชีพครูกันมากขึ้น

"ผมอยากจะฝากรัฐบาลในประเด็นว่าด้วยเรื่องของทุนที่ควรมีให้อย่างต่อเนื่อง ถ้าไม่มีทุนให้เรียน ก็หาทุนให้งานก็ยังดี เพราะถ้าสร้างความเชื่อมั่นให้เด็ก ผมเชื่อว่า ประเทศชาติจะได้คนเก่งมีความสามารถมาเรียนครูกันมากขึ้น แต่ถ้าไม่สร้างความเชื่อมั่น ไม่มีทุนเข้ามาช่วยเด็ก จบออกมาแล้วก็ยังไม่รู้จะมีงานทำหรือไม่ ส่วนตัวคิดว่า ยากมากที่เด็กเก่ง ๆ มีความสามารถจะเข้ามาเรียนครู" ประธานกรรมการคุรุสภาฝาก

นอกจากนี้ ยังมีหลาย ๆ ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นครู หรือนักวิชาการ ออกมาพูดถึงอาชีพครูที่ไม่อาจทำหน้าที่ครูได้อย่างเต็มตัว หนึ่งในนั้นคือ รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อฉบับหนึ่งไว้อย่างน่าสนใจว่า ปัจจุบันมีคนเก่งๆ หรือคนที่อยากเป็นครูจริงๆ เข้ามาเรียนในคณะครุศาสตร์หรือศึกษาศาสตร์มากขึ้น แต่สิ่งที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ คือต้องผลักดันให้ครูกลับไปสู่ห้องเรียน ไม่ใช่อยู่กับอย่างอื่นแทนการสอน

"เรื่องหนี้สินครูท่านไม่ต้องไปแก้ กี่รัฐบาลแล้ว มันก็แก้ไม่ได้ แต่ท่านต้องไปแก้สิ่งที่เรียกว่าภาระงาน ที่มันไม่ได้เกี่ยวข้องกับครู ไม่งั้นครูทำอะไรไม่ได้ เดี๋ยวคนโน้นสั่ง เดี๋ยวกระทรวงนี้สั่ง กลายเป็นครึ่งหนึ่งของเวลาครู แล้วพอผลสัมฤทธิ์ต่ำ ก็ไม่เห็นเป็นไร ก็ยังได้เป็นครูชำนาญการเหมือนเดิม ไม่เห็นมีใครต้องรับผิดชอบ ไม่มีใครรู้ร้อนรู้หนาวเลยว่า วันนี้การศึกษาไทยมันต่ำติดเพดานล่างแล้ว

"ใครก็ไม่รู้พูดว่า ปฏิรูปการศึกษาทุกคนได้หมด ครู ผู้บริหาร เลขาธิการ ทุกคนได้หมด ยกเว้นเด็ก ถ้าจะปฏิรูปการศึกษา เราชูประเด็นว่าเด็กจะได้อะไร อย่างเดียวเลย ว่าเด็กจะได้อะไรจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ คนอื่นเขาได้หมดแล้ว แต่เด็กยังไม่ได้อะไรเลย ดังนั้นต้องลดภาระครูในการทำเอกสาร ส่วนหนี้สินปล่อยเขาเถอะครับ เขาอยากเป็นหนี้ก็ให้เขาเป็นไป วันนี้ครูรวยนะครับ เงินเดือนสี่ห้าหมื่น ดีกว่าอาจารย์มหา’ลัยอีก" รศ.ดร.สมพงษ์ให้ความเห็น

ปฏิเสธไม่ได้ว่า เรื่อง "ครู" เรื่องใหญ่ ถ้ารัฐบาลไม่จริงใจ และจริงจังกับการแก้ปัญหาให้ตรงจุด ตลอดจนพัฒนาครูให้มีคุณภาพ และสร้างความเชื่อมั่นในวิชาชีพครู แล้วใครเล่าจะอยากมาเรียนครู เมื่อเป็นเช่นนี้ คงพอจะคาดเดากันได้ไม่ยากว่า อนาคตแม่พิมพ์-พ่อพิมพ์ของชาติจะเป็นเช่นไร?

อย่างกรณีที่เกิดขึ้น แม้จะมีเด็กเก่ง คะแนนสูง ๆ จำนวนหนึ่งสละสิทธิ์เรียนครูในหลาย ๆ สถาบัน ก็ยังไม่ใช่ตัวเลขจากการสำรวจในภาพใหญ่ทั่วประเทศ แต่แค่นี้ก็อาจจะบอกเป็นลางได้แล้วว่า วิชาชีพครู และการศึกษาไทยในอนาคตจะดีหรือร้าย

..คงต้องติดตามด้วยใจระทึกกันต่อไป

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE




กำลังโหลดความคิดเห็น