xs
xsm
sm
md
lg

แฉนโยบาย ศธ.ต้นเหตุการศึกษาไทยตกต่ำ! ครูอยากเติบโตเลื่อนวิทยฐานะ “จ่าย 2 เด้ง” (ตอนที่ 1)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แฉเรื่องเน่าๆ ในวงการการศึกษาของไทย ล้วนเป็นต้นเหตุให้ “เด็ก” จบการศึกษาคุณภาพต่ำลง! ชี้ปัญหาใหญ่สุดอยู่ที่กระบวนการผลิต “ครู” และนโยบาย ศธ.ในการเพิ่มวิทยฐานะครู ผิดพลาด เพราะข้อเท็จจริงครูประถม-มัธยมทำงานวิจัยไม่เป็น ต้องจ้างทำฉบับละ 6 หมื่น-1 แสนบาท แถมยังถูกวิชามารจากกรรมการพิจารณารีดเงินอีกคนละ 3 หมื่น สุดช้ำกว่า 90% ผลงานปลอม! วันนี้ระบบการศึกษาไทย กำลังนำไปสู่ “ระบบกินตัวเอง” เชื่อไม่รีบจัดการ การศึกษาของไทยจะดิ่งเหว

คนไทยอ่านหนังสือวันละ 7 บรรทัด
ระบบการศึกษาไทยห่วย
ประชาธิปไตยไทยไม่ไปไหนเพราะการศึกษาเรายังไม่ดีเพียงพอ
ยิ่งเรียนยิ่งโง่ ฯลฯ
เมื่อพูดถึงระบบการศึกษาไทย อย่าแปลกใจที่เรามักจะได้ยินคำกล่าวเหล่านี้อยู่เสมอ แม้ประเทศไทยจะมีการปฏิรูปการศึกษามาแล้ว 2 ครั้งใหญ่ คือการปฏิรูปการศึกษา พ.ศ. 2542 ที่มี พ.ร.บ.การศึกษา 2542 ได้มีการแบ่งขั้วอำนาจการบริหารงานใหม่ในกระทรวงศึกษาธิการเป็น 5 แท่ง ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวง สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา แท่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และครั้งที่สองกับการปฏิรูปการศึกษาในชื่อเรียกว่า การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2 (2552-2561) โดยมีประเด็นหลัก 4 ประเด็น ได้แก่ กระบวนการเรียนรู้ใหม่, ครูยุคใหม่/ครูพันธุ์ใหม่ และครูสาขาขาดแคลน, สถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ใหม่ และการบริหารจัดการใหม่

แต่การปฏิรูปการศึกษาไทยเดินมาถูกทางหรือยัง หรือนับวันยิ่งก้าวเข้าสู่วังวนที่ทำให้การศึกษาไทยเดินหน้าไม่ถึงไหน?

เร่งผลิตครู-คุณภาพตก

ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ นักวิจัยสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า หลังจากที่ได้เข้าไปเก็บข้อมูลและทำวิจัยเกี่ยวกับการศึกษาไทยก็พบว่าประเทศไทยมีปัญหาเรื่องของระบบการศึกษาอย่างมาก โดยเฉพาะในเรื่องของ “ปัญหาครู” ที่ถือเป็น “จุดบอด” ที่แก้ยากที่สุด ยิ่งแก้ ยิ่งเข้าสู่วังวน

ปัญหาแรกเป็นปัญหาเรื่องจำนวนครู ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องยอมรับว่ารัฐบาลไทยปล่อยปละละเลยดูแลครูมานานมาก และนานกว่า 20 ปี

“เดิมเราต้องยอมรับว่ามหาวิทยาลัยปิดจะเป็นแหล่งที่ผลิตครูที่มีคุณภาพอย่างมาก โดยเฉพาะในคณะศึกษาศาสตร์ ครุศาสตร์ ซึ่งอาจารย์ของมหาวิทยาลัยปิดเหล่านี้ก็จบการศึกษาจากต่างประเทศ เช่น คุรุศาสตร์ จุฬาฯ เป็นคณะที่มีการเรียนการสอนที่ทันสมัย และมีคุณภาพมาก แต่ท้ายที่สุดแล้วมีคำถามว่าเด็กที่มีคุณภาพเหล่านั้นมีสักกี่เปอร์เซ็นต์ที่เลือกที่จะประกอบอาชีพครู ความจริงคือมีน้อยมาก นอกนั้นไปทำอาชีพอื่น”

ปัญหานี้ทำให้รัฐบาลที่ผ่านมาเลือกแก้ปัญหาครูขาดแคลนด้วยการผลิตครูอย่างไม่อั้น เพื่อขยายฐานครู แต่ต้องยอมรับเลยว่าในขั้นตอนนี้ทำให้คุณภาพการศึกษาของครูตกลง

“ครูรู้แค่ไหน ก็จะสอนแค่นั้น หลักการมันมีอยู่แค่นั้น ถ้าได้ครูที่เรียนรู้มากๆ โดยเฉพาะมีโอกาสไปเรียนต่างประเทศ หรือมีโอกาสได้เรียนจากอาจารย์ที่เรียนจบมาจากต่างประเทศ ก็จะมีมุมมองด้านการศึกษาที่กว้างขวางกว่า แต่ถ้าครูเรียนจากครูที่ไม่ได้จบมาจากต่างประเทศ ซ้ำยังไม่ได้เรียนกับครูที่มีมุมมองกว้างขวาง ครูก็จะมีความรู้เท่าที่ครูของครูถ่ายทอดมาแค่นั้น เมื่อมาสอนนักเรียน ความรู้ที่สอนก็มีแค่ความรู้ที่ได้รับมา หรือบางทีอาจน้อยกว่า”

“ครู” ระบบกินตัวเอง!

ดร.ยงยุทธกล่าวต่อว่า กระทรวงศึกษาธิการนั้นมีครูอยู่จำนวนมาก และตัวกระทรวงศึกษาธิการก็มีงบประมาณบริหารมาก คิดเป็น 4.5-4.8% ของ GDP แต่ปรากฏว่าคุณภาพครูตกลงไปเรื่อยๆ เหมือนระบบที่กำลังกินตัวเอง อย่างที่กล่าวไปว่า การเร่งผลิตครูทำให้ครูที่มีความรู้กว้างขวางนั้นน้อยลง ครูที่จบจากต่างประเทศก็มีองค์ความรู้ใหม่ๆ มาถ่ายทอดให้ลูกศิษย์ แต่ลูกศิษย์ไม่มีเวลาเพิ่มเติมความรู้ ก็ใช้ความรู้เท่าที่เก็บเกี่ยวจากอาจารย์มาให้ส่งต่อไปให้เด็กอีกรุ่น ความรู้ก็ไม่ทันสมัย เพราะความรู้ต้องเพิ่มเติมอยู่ตลอด ความรู้ก็จะหดหายไปเรื่อยๆ และโดยเฉพาะในทุกวันนี้ที่ครูมีภารกิจจำนวนมากมาย ทั้งภารกิจที่กระทรวงมอบหมายให้ และการเลื่อนวิทยฐานะ ยิ่งทำให้ครูห่างไกลต่อการสอน คุณภาพของการสอนหนังสือก็ตกลงไปเรื่อยๆ อย่างน่าเสียดาย

“life long learning คือหลักการเรียนรู้ตลอดอายุขัยของคนเรา ตอนนี้เราอยู่ศตวรรษที่ 20 แล้ว ก็ต้องพยายามเรียนรู้นวัตกรรมใหม่ๆ เพิ่มเติมตลอดเวลา แต่ทุกวันนี้ไม่ใช่ ครูที่เพิ่มเติมความรู้ให้ตัวเองเหลือน้อยลงทุกที”

วิธีการคัดเลือกคนเป็น “ครู”

ปัญหาต่อเนื่องที่ตามมาจากการเร่งผลิตครู คือครูเกือบทั้งหมดจะเป็นครูที่จบในประเทศไทย ทำให้องค์ความรู้ด้านการศึกษาไทยไม่ได้ยกระดับแล้ว และเนื่องจากปัญหาการขาดแคลนครู ก็ทำให้กระทรวงศึกษาธิการไม่มีเวลาคัดกรองครู ทั้งด้านความสามารถและจริยธรรมที่เข้มข้นเพียงพอ

“กระทรวงศึกษาธิการ แค่ต้องการให้คนมาสอบ ไม่ได้มีการกลั่นกรองอย่างแท้จริง ดังนั้นไม่แปลกใจที่มีการประกาศรับสมัครครูให้ไปรวมกันอยู่ตรงกลาง ดูแค่วิทยฐานะว่าเป็นครู แต่ไม่เคยกำหนดคุณสมบัติที่เชี่ยวชาญ เช่น ครูภาษาอังกฤษ ต้องเป็นครูที่จบเอกด้านภาษาอังกฤษ เป็นต้น”

ดร.ยงยุทธกล่าวด้วยว่า ในพื้นที่ที่ห่างไกลจะยิ่งพบปัญหานี้ คือครูสอนวิชาคณิตศาสตร์ อาจไม่ได้เป็นครูที่จบคณิตศาสตร์มา เมื่อไม่ได้จบสาขาที่สอนมาโดยตรง ไม่มีความเชี่ยวชาญที่แท้จริง การศึกษาของครูไทยจำนวนไม่น้อยจึงเป็นไปในรูปแบบการสอนแบบ “งูๆ ปลาๆ”

เมื่อเป็นเช่นนี้ในการเรียนการสอนที่ครูไม่มีความเชี่ยวชาญในสาขานั้นอย่างแท้จริง ทำให้การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนค่อนข้างมีน้อย ส่วนใหญ่จึงใช้การสอนแบบท่องจำเพราะเป็นวิธีการสอนที่ง่ายที่สุด ทักษะความคิดของเด็กจึงไม่มี

“ประเทศไทยพึ่งพาครูอาจารย์สูงมาก แม้แต่คำพูด ครูเว้นวรรคตรงไหน เด็กก็เว้นวรรคตรงนั้น ครูก็เลยสอนตามตำราเป๊ะ แต่ลองนึกภาพดู ถ้าครูคนไหนเว้นวรรคตรงไหนผิด เด็กก็ผิดตามด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย”

จุดนี้เป็นจุดสำคัญที่ทำให้ปัญหาคุณภาพการศึกษาไทยต่ำลงไปเรื่อยๆ

ปัญหาก.ศธ.ขาดการบริหารเป็นองค์รวม

ปัญหาจากส่วนกลางเป็นอีกปัญหาหนึ่ง ที่กระทบเรื่องของคุณภาพครูด้วย ตั้งแต่ระดับการบริหารงาน และระดับปฏิบัติการ

ระดับการบริหารงาน ปัญหาเกิดหลายระดับ ตั้งแต่ตัวผู้นำกระทรวงศึกษา หรือรัฐมนตรีก็มีการเปลี่ยนผู้นำ หรือรัฐมนตรีบ่อยมาก ลักษณะกิจกรรมก็จะเปลี่ยนตามนวัตกรรมของแต่ละคนที่เข้ามา ซึ่งไม่ได้เป็นการสานงานต่อกัน ข้าราชการก็มีหน้าที่ในการปรับตัวให้ทัน

“การวางนโยบายที่ดีจะต้องวางนโยบายที่ชัดเจน มีแผนการทำงานที่ต่อเนื่อง ดังนั้นไม่แปลกใจที่ปฏิรูปการศึกษารอบแรกในปี 2542 ถึงสอบตก และการปฏิรูปการศึกษารอบ 2 ทำมา 3 ปีแล้ว ก็ไม่ไปถึงไหน เพราะคนที่มาใหม่ก็ไม่ได้สานต่อ ไม่ได้ให้ความสนใจ”

จากนั้นการแบ่งงานในกระทรวงศึกษาธิการก็เป็นปัญหา เพราะการแบ่งงานเป็น 5 แท่งใหญ่ ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวง, สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา, สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา, แท่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.), สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)

โดยปัญหาเกิดขึ้นเมื่อแต่ละแท่งมีการบริหารงานที่เป็น พ.ร.บ.ของตัวเอง โดยเฉพาะ สพฐ., อาชีวะ และ สกอ. ซึ่งเป็นแท่งที่มีขนาดใหญ่ แต่ละแท่งไม่ต้องพึ่งพากัน ซึ่งตรงจุดนี้เองที่เป็นปัญหาเพราะไม่เกิดการทำงานแบบบูรณาการกัน คือมีแต่ “แท่ง” แต่ไม่มี “ท่อ”

“นายกฯ ยิ่งลักษณ์ เพิ่งขอข้อมูลเรื่องอุปสงค์-อุปทานว่าจะเตรียมการศึกษาอย่างไรเพื่อให้ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม ปัญหาคือ พอนายกฯ เรียกข้อมูลขึ้นมา ไม่มีข้อมูลให้นายกฯ ได้เลย ต่างคนต่างมีข้อมูลที่ไม่สามารถนำมาเชื่อมต่อกันได้ ดังนั้นเรื่องของการ management information system เรียกว่าไม่มี และไม่ใช่ประชุมครั้งเดียว ประชุมไปสองครั้งแล้ว ข้อมูลก็ไม่สามารถหาให้นายกฯ ได้”

การที่นายกรัฐมนตรีต้องการข้อมูลดังกล่าวเป็นเพราะว่ารัฐบาลต้องการดูว่าคนในประเทศมีเพียงพอต่อตลาดแรงงานหรือไม่ ทั้งคนจบปริญญาตรี และคนจบ ปวช.ปวส. เพื่อจะเตรียมรับการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

“จริงๆ หลังจากนายกฯ ออกนโยบาย 4 ประสาน พัฒนา 4 เรื่อง ก็อยากได้ข้อมูลด้วยว่า การทำรถไฟระบบราง ก็ต้องใช้คน 5 แสนคน ยังพบว่างานวิจัยก็ไม่พอที่จะสนับสนุนข้อมูล เพราะแต่ละแท่งต่างคนต่างทำงาน แต่ตอนนี้ต้องปรับ เพราะต้องเป็นแหล่งผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพ เช่น เด็กชั้น ม.3 ต้องส่งเข้าไปเรียนอาชีวศึกษาเท่าไร เข้าระบบสามัญเท่าไร ต้องชัดเจน”

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในกระทรวงศึกษาธิการในขณะนี้กลับพบว่าแต่ละแท่งต่างแย่งชิงเด็กเข้าเรียนแท่งของตัวเองมากกว่า แทนที่จะแบ่งสันปันส่วนตามสัดส่วนที่รัฐบาลได้วางแผนไว้เพื่อให้สอดคล้องกับตลาดแรงงานหรือการพัฒนาประเทศ

“ที่แย่งจำนวนเด็กกันมากเพราะรัฐบาลมีงบรายหัว ดังนั้นใครมีเด็กมากก็จะได้เงินมาก ซึ่งจริงๆ ไม่ถูกต้อง เลยกลายเป็นว่าต่อไป สพฐ.จะมาสอนอาชีวะเองอีก ปลัดกระทรวงศึกษาธิการก็ต้องจัดการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างนี้ให้ได้ก่อน”

ขณะเดียวกันเมื่อย้อนมาดูแผนปฏิรูปการศึกษารอบ 2 ก็ยิ่งเห็นได้ชัดว่า แต่ละแท่งไม่มีศาสตร์ที่จะมาบูรณาการงานกันอยู่ดี แถมยังมีการแย่งค่าใช้จ่ายรายหัว หรือ per head ที่หนักขึ้น แต่ละแท่งแข่งกันเอง ไม่เหมือนการบริหารงานในพื้นที่ ที่จะมีการช่วยเหลือกัน และบูรณาการกันที่ดีกว่า


ผู้บริหาร รร.ต้องรับผิดชอบ A net-O net

นอกจากนี้จากการศึกษาในระดับผู้บริหารโรงเรียน จะพบว่าปัญหาการบริหารงานระดับโรงเรียนก็มีไม่น้อย โดยดูได้จากผลการทดสอบ A-net O-net ของเด็กในแต่ละโรงเรียนเป็นอย่างไร ควรจะมีการเก็บเป็นสถิติ เพื่อดูว่าผู้บริหารโรงเรียนนั้นทำให้เด็กมีอัตราของคะแนนเพิ่มขึ้นได้หรือไม่ ถ้าอัตราไม่เพิ่มขึ้นเลย ผู้บริหารก็ควรจะต้องมีการรับผิดชอบ ไม่เหมือนปัจจุบันนี้ที่ไม่มีการเก็บข้อมูลสถิติตรงนี้เลย แล้วผู้บริหารก็ไม่คิดว่าจะต้องรับผิดชอบอะไร ซึ่งไม่ถูกต้อง

“ต้องยอมรับนะว่า จะให้ทุกโรงเรียนมีอัตราหรือค่าเฉลี่ยของคะแนนที่สอบสูงเท่ากันคงไม่ได้ แต่ว่าอย่างน้อยแต่ละโรงเรียนต้องมีการพัฒนาขึ้นมา อย่างน้อยต้องให้อยู่ในระดับค่าเฉลี่ยของประเทศ ค่อยๆ พัฒนาให้ค่าเฉลี่ยของคะแนนขึ้นไป”

โดยผู้บริหารจะต้องรับผิดชอบคุณภาพของเด็ก, การจัดการการศึกษาจะต้องเน้นที่ประสิทธิผลที่เพิ่มขึ้นด้วยอย่าเดิมพันแต่ตำแหน่ง แต่ขาดการวิจัยทางวิชาการ หรือขาดการพัฒนาวิชาการ และให้มีการโยกย้ายผู้บริหารโรงเรียนให้น้อยลง เพราะคนเก่ากำลังทำงานได้ดี แต่พอคนใหม่มาก็ต้องเริ่มทำโครงการใหม่ วัสดุครุภัณฑ์ที่จัดมาแล้วก็สูญเปล่า

โครงสร้างเงินเดือนครู-ไม่จูงใจ

นอกจากนี้กระบวนการจัดการเรื่องเงินเดือนครูก็เป็นอีกหนึ่งปัญหา

ดร.ยงยุทธกล่าวว่า เรื่องเงินเดือนครูเป็นเรื่องใหญ่เกี่ยวกับแรงบันดาลใจการเป็นครู ทุกวันนี้คนที่ไม่ควรได้เงินเดือนมาก แต่ได้มาก มีจำนวนไม่น้อย เพราะขั้นวิ่งมีมาก ดังนั้นมองว่าหลักการควรจะเปลี่ยนโครงสร้างเงินเดือน เป็นให้เงินเดือนครูสูง และขั้นวิ่งไม่มาก

“เงินเดือนแรกเข้า สมมติ 10,000 บาท ทำงานไป 30 ปีเกษียณ เงินเดือนอยู่ที่ 45,000-50,000 บาท ตรงนี้เสนอว่าควรย่นให้ขั้นวิ่งไม่ต้องสูง ให้เงินเดือนสูงตั้งแต่แรก จะทำให้เกิดแรงจูงใจให้ครูที่มีคุณภาพเข้ามาประกอบอาชีพครูมากขึ้นได้”

ภารกิจของครู-กันครูออกจากนักเรียน

เมื่อมาดูที่ภารกิจครู ก็พบว่า ครู 1 คนมีภาระมากกว่าที่คิด โดยเฉพาะครูในต่างจังหวัด จะพบว่างานราชการจากส่วนกลางที่กระจายลงในพื้นที่นั้น ไม่ว่าจะเป็นงานของกระทรวงศึกษาธิการ หรืองานจากกระทรวงอื่นๆ ล้วนแต่กำหนดให้ครูในพื้นที่เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการชุดต่างๆ มากมาย ซึ่งเป็นระบบที่ทำให้ครูห่างจากการสอนอย่างมาก

ซ้ำร้าย กระทรวงศึกษาธิการยังออกระเบียบเกี่ยวกับการสร้างผลงานวิชาการเพื่อให้ได้ค่า “วิทยฐานะ” ยกระดับตัวครูเอง ทำให้ครูหลายคนมุ่งเน้นที่จะได้วิทยฐานะที่เพิ่มขึ้น แต่ปัญหาคือประสิทธิผลไม่ได้เกิดขึ้นจริง เพราะหลายคนจ้างคนอื่นทำงานให้ แล้วครูคนอื่นที่ทำงานให้ก็ไม่มีเวลาสอนหนังสือเด็กนักเรียน

ส่วนครูคนไหนทำงานวิชาการเองก็มักจะมีการบังคับเด็กให้มาทำตามงานวิจัยของครูคนนั้นๆ ซึ่งไม่ได้พุ่งเป้าไปที่การให้เด็กเป็นศูนย์กลางการเรียนการสอนตามวัตถุประสงค์ของการปฏิรูปการศึกษาแต่อย่างใด

“วิทยฐานะทุกวันนี้ก็เหมือนกับการซื้อใบปริญญา ตรงนี้เป็นจุดอ่อนของนโยบายที่มองว่าต้องแก้ในส่วนของวิชาการ แต่ลืมในเรื่องของจรรยาบรรณ และความรับผิดชอบในเนื้องานของครูผู้สอน”

นอกจากนี้คนประเมินให้วิทยฐานะก็ยังเป็นคนกันเอง เกิดคำถามเรื่องความโปร่งใสขึ้นมากมายอีก

“ตรงนี้ต้องแก้โดยการเข้าไปดู work process 1. ขั้นตอนการได้มา การเลื่อนขั้นแต่ละขั้นเป็นอย่างไร 2. ใครเป็นคนพิจารณา แต่งตั้งโดยใคร คณะกรรมการคือใคร ควรเป็นกลาง โปร่งใส และ 3. มีการทำวิจัยเรื่องอะไรบ้าง มีคุณค่าต่อระบบการศึกษาหรือไม่”

สำหรับปัญหาการเลื่อนวิทยฐานะนี้ ดร.สมยงค์ แก้วสุพรรณ อดีตประธาน อ.ค.ก.ศ. (อนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา) เขตพื้นที่การศึกษา และรองประธานเครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูแห่งประเทศไทย ซึ่งมีหน้าที่ในการตรวจจับการทุจริตในกระบวนการเลื่อนวิทยฐานะในเขตขอนแก่น กล่าวว่า ปัญหาการเลื่อนวิทยฐานะของครูเป็นปัญหาใหญ่มาก และพบว่ามีขบวนการหากินกับทั้งรับจ้าง และการให้ผ่านงานวิจัยของครูด้วย โดยเฉพาะในภาคอีสาน

“ครูประถม ครูมัธยม เขาเรียกว่าให้มาเป็นครู เน้นทำการสอนมาตลอด พอกระทรวงศึกษาธิการ และ ก.ค.ศ. (คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา) ให้มีการเลื่อนวิทยฐานะขึ้นมา ด้วยการที่ครูต้องทำการวิจัยแบบพิจารณาจากเอกสาร บอกได้เลยว่าเมื่อครูทำไม่เป็นก็ต้องจ้าง”

ฉะนั้นพูดได้เลยว่า กว่า 90% ของเอกสารเหล่านั้นไม่ใช่ผลงานของครูที่แท้จริง!

แล้วขบวนการหากินในการรับจ้างทำงานเพื่อให้ครูเลื่อนวิทยฐานะก็ทำกันเป็นอาชีพเสริมหากินกันเป็นล่ำเป็นสัน

ตั้งแต่ขั้นตอนของการเลือกคณะกรรมการเพื่อมาอ่านผลงาน ซึ่งจะมีหน้าที่ในการชี้งานชิ้นนั้นๆ ว่าผ่านหรือไม่ผ่าน ขั้นตอนนี้จะมีคณะ อ.ค.ก.ศ. หรือ อนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่จะทำการประสานอาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ให้มาเป็นกรรมการอ่านผลงาน ซึ่งจะมีคนหนึ่งที่ทำหน้าที่เป็นนายหน้าในการติดต่ออาจารย์จากมหาวิทยาลัยมา ซึ่งอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเหล่านี้ เรียกได้ว่าส่วนใหญ่มักจะมีการเรียกเงินค่าอ่านผลงาน หรือนายหน้าจะเป็นคนเสนอค่าอ่านผลงานให้ ตกราคาต่อราย รายละ 3 หมื่นบาท ซึ่งจะมีการเรียกครูเจ้าของผลงานนั้นๆ มาคุยก่อนวันที่จะอ่านผลงานเพียงไม่กี่วัน สุดท้ายผลงานของครูในกระบวนการนี้ก็จะได้ประเมิน “ผ่าน”

ส่วนในขั้นตอนการทำผลงานของครู ขั้นตอนนี้จะมีขบวนการรับจ้างทำผลงานเลื่อนวิทยฐานะ โดยเมื่อมาเป็นครูครั้งแรก มักจะได้เป็นครูผู้ช่วย ก็ยังไม่มีสิทธิเลื่อนวิทยฐานะ แต่เมื่อทำงานไป 2 ปี และเป็นครูได้ 6 ปีสำหรับคนที่จบปริญญาตรีมา 4 ปีสำหรับคนที่จบปริญญาโทมา และ 2 ปีสำหรับคนที่จบปริญญาเอกมา ก็จะสามารถทำผลงานเพื่อขอเลื่อนขั้นได้ การเลื่อนขั้นตรงนี้จะได้วิทยฐานะชำนาญการ ซึ่งจะมีรายได้เพิ่มจากเงินเดือนอีกเดือนละ 3,500 บาท หลังจากนั้นจะมีการขอเลื่อนขั้นเป็นผู้ชำนาญการพิเศษ ซึ่งจะต้องมีการทำวิจัย

“ปัญหามันเกิดตรงนี้ ในขั้นการทำวิจัย ครูที่จบปริญญาตรีมามักจะทำไม่เป็น จะต้องจ้างครูด้วยกันที่จบปริญญาโท หรือปริญญาเอก หรือจ้างอาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ มาทำให้”

สนนราคาค่าจ้างทำวิจัยเพื่อเลื่อนขั้นในการเป็นผู้ชำนาญการพิเศษนี้จะอยู่ที่ 60,000-100,000 บาททีเดียว!
“คนที่ได้วิทยฐานะเป็นผู้ชำนาญการพิเศษนี้จะได้เงินเพิ่มเติมจากเงินเดือนอีกเดือนละ 12,000 บาท ตรงนี้ทำให้ครูพยายามทำทุกทางที่จะเลื่อนขั้นมาอยู่จุดนี้ ซึ่งตอนนี้ก็มีครูที่อยู่ระดับชำนาญการพิเศษมากที่สุด”

ส่วนวิทยฐานะในลำดับต่อไป คือเชี่ยวชาญ และเชี่ยวชาญพิเศษนั้น มีครูที่ได้วิทยฐานะขั้นนี้น้อย เพราะว่างานวิจัยที่ทำจะต้องมีฐานะเทียบเท่าวิทยานิพนธ์ ซึ่งยาก แต่ถ้าใครทำได้ก็เท่ากับมีฐานะเท่าข้าราชการซี 9

ปัญหาครูเงินเดือนน้อย พอมีค่าวิทยฐานะให้ ก็กลายเป็นการทำอย่างไรก็ได้ให้ตนเองมีผลงาน แม้จะไม่ได้ทำเอง และแม้จะต้องเสียเงินเสียทองซื้อมาก็ตาม!

ที่ผ่านมาครูจำนวนมากจึงดิ้นรนหาเงินมาจ่ายเพื่อการเลื่อนวิทยฐานะทั้ง 2 ขั้นตอน คือขั้นตอนของการจ้างทำผลงานวิชาการ และขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการเพื่อประเมินให้ “สอบผ่าน” ได้ จึงนับว่าคุ้มค่ากับสิ่งที่ได้มาอย่างยิ่ง!
ดังนั้น นโยบายในการเลื่อนวิทยฐานะของกระทรวงศึกษาธิการครั้งนี้จึงกลายเป็นการแก้ปัญหาหนึ่ง นำมาสู่อีกปัญหาหนึ่งที่รุนแรงกว่าเดิม เพราะก่อให้เกิดการทุจริตในการนำเสนอผลงานของครูทั้งประเทศ

ที่สำคัญสุด ครูเหล่านี้เมื่อได้เลื่อนวิทยฐานะสูงขึ้น จะช่วยในการพัฒนาคุณภาพของการศึกษาได้หรือไม่

ถึงเวลาหรือยังที่กระทรวงศึกษาธิการควรจะต้องรื้อทั้งระบบและจัดระบบใหม่ครั้งใหญ่

ถ้าไม่ผ่าตัดและปล่อยให้ปัญหาต่อเนื่องไปเรื่อยๆ แล้ว จะเขียนนโยบายและแผนการปฏิรูปการศึกษาอีกกี่ฉบับ ก็แก้ไขได้ยาก เพราะต้นตอของคุณภาพการศึกษาของเด็กไทยจะพัฒนาไปได้หรือไม่อยู่ที่ “ครู” และผู้บริหารของกระทรวงศึกษาธิการเป็นหลัก!!


กำลังโหลดความคิดเห็น