ชีวิตของผมนอกจากหน้าที่การงานที่ต้องรับผิดชอบแล้ว เรื่องการศึกษาก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของผมเช่นกัน เพราะอีกสถานะหนึ่ง ยังศึกษาในภาควิชาสื่อสารมวลชน คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ควบคู่ไปด้วย ตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงฤดูการสอบไล่ เพราะฉะนั้นโดยส่วนตัวอาจจะรู้สึกเครียดและกดดันไปบ้าง เพราะต้องแบ่งวันทำงานกับวันสอบ และต้องหาเวลาอ่านหนังสือสอบอีกด้วย ซึ่งผมก็ภาวนากับตัวเองว่าขอให้ผ่านไปได้ด้วยดี
อันที่จริงผมเคยสมัครเรียนรามคำแหงมาก่อน แต่ก็เรียนๆ หยุดๆ เพราะปัญหาส่วนตัวบางประการ อีกทั้งยังใจจดใจจ่อกับกิจกรรมนักศึกษา และกิจกรรมทางการเมืองในช่วงปี 2549 เป็นต้นมา กระทั่งเมื่อถึงจุดที่ผมมาทำงานประจำภายใต้ชายคาบ้านพระอาทิตย์แห่งนี้ ซึ่งถือว่ามีรายได้แน่นอนพอจะส่งตัวเองเรียนหนังสือต่อได้ จึงตัดสินใจสมัครใหม่และเทียบโอนหน่วยกิต ก่อนที่จะเรียนต่อในวิชาที่เหลือ ซึ่งตอนนี้เหลือเพียงสิบกว่าหน่วยกิต ก็จะสำเร็จการศึกษาแล้ว
เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา เพื่อนรุ่นน้องผมคนหนึ่งวัย 22 ปี ที่เคยทำกิจกรรมด้วยกันสมัยที่น้องเขาเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย สำเร็จการศึกษาศิลปศาสตรบัณฑิต สาขารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยเพิ่งจะรับพระราชทานปริญญาบัตรมาหมาดๆ อันที่จริงขณะนี้น้องเขากำลังศึกษาในคณะคุรุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้นปีที่ 4 ซึ่งคณะนี้ต้องเรียน 5 ปี เพราะฉะนั้นถือว่าเป็นปริญญาใบแรกของเขา
ผมถามน้องเขาว่าจบรามคำแหงมาได้อย่างไร ก็ได้ความว่า ในช่วงที่เรียนอยู่ระดับชั้นมัธยมศึกษา ก็ได้สมัครเป็นนักศึกษาแบบรายกระบวนวิชา นับตั้งแต่ชั้น ม.4 ถึงชั้น ม.6 เขาสะสมหน่วยกิตได้มากถึง 136 หน่วยกิต แต่ภายหลังเมื่อสอบติดที่จุฬาฯ แล้วกลับไม่มีเวลาเรียนต่อ เพราะช่วงนั้นต้องเรียนหนักมาก จึงเลือกที่จะเรียนแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยรักษาสถานภาพนักศึกษาไปก่อน แล้วค่อยๆ ลงทะเบียนเรียนกระทั่งสำเร็จการศึกษาในที่สุด
เป็นที่น่าสังเกตว่า รุ่นน้องผมบางคนเลือกที่จะเรียนรามคำแหง ควบคู่กับมหาวิทยาลัยปิด ขณะเดียวกัน เพื่อนผมคนหนึ่งทราบข่าวมาว่า สำเร็จการศึกษาทั้งมหาวิทยาลัยปิด และที่รามคำแหง รับปริญญา 2 ใบ ได้ยินได้ฟังแล้วก็อดภูมิใจแทนไม่ได้ และที่เห็นด้วยตาตัวเอง เวลาที่ผมไปสอบนั้น ผมสังเกตเห็นพี่ๆ น้องๆ หลายคนแต่งตัวในเครื่องแบบสถาบันอื่นมาสอบ บางคนก็เรียนทหาร-ตำรวจ เห็นแล้วก็ต้องนับถือในความพยายามที่จะแบ่งเวลาควบคู่กัน
พูดถึงมหาวิทยาลัยที่มีนโยบายสถานศึกษาเปิด รับนักเรียนหรือผู้เข้าศึกษาต่อไม่จำกัด อาจมีคนเข้าใจว่า มหาวิทยาลัยรามคำแหงกับมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) นั้นเป็น “มหาวิทยาลัยเปิด” เหมือนกัน แต่ในแง่มุมทางวิชาการจะพบว่า ในประเทศไทยมีมหาวิทยาลัยเปิดของรัฐเพียงแห่งเดียว คือ มสธ. ส่วนรามคำแหงนั้นจัดเป็น “มหาวิทยาลัยตลาดวิชา” ซึ่งในขณะนี้มีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย
ความแตกต่างในการจัดเรียนการสอนก็คือ มหาวิทยาลัยเปิดใช้ระบบการจัดการเรียนการสอนแบบทางไกล ที่ผู้เรียนไม่ต้องมาเข้าชั้นเรียน เพราะไม่ได้จัดชั้นเรียนเอาไว้ แต่จะมีตำราเรียนที่เรียกว่า “ชุดวิชา” ให้ไปศึกษา ในขณะที่มหาวิทยาลัยตลาดวิชาจะมีการเรียนการสอนในชั้นเรียน เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยปิด แต่ไม่บังคับเข้าชั้นเรียน ซึ่งหากใครไม่สะดวกก็มีทางเลือกทั้งหาซื้อตำราเรียนอ่าน รับชมบรรยายย้อนหลัง หรือซื้อชีทสรุปบทเรียนและข้อสอบเก่ามาอ่าน
ที่ มสธ. เมื่อไม่ได้จัดชั้นเรียนเอาไว้ก็ไม่ต้องมาเรียนที่มหาวิทยาลัย ทุกคนต่างก็ใช้เวลาว่างอ่านชุดวิชา หรือศึกษาเพิ่มเติมจากสื่อของ มสธ. จนกว่าจะถึงวันสอบในช่วงปลายเดือนตุลาคม ซึ่งพบว่าในแต่ละจังหวัดจะใช้โรงเรียนเป็นสนามสอบ โดยจัดการสอบเพียง 2 วัน คือวันเสาร์และวันอาทิตย์ แบ่งออกเป็น 4 คาบ แม้จะใช้เวลาน้อยกว่าแต่ก็มีวิชาสอบนับร้อยวิชา การที่กำหนดให้นักศึกษาอนุญาตให้เข้าสอบได้เพียงคาบละ 1 ชุดวิชาเท่านั้น ทำให้ง่ายต่อการจัดสอบ
ส่วนที่รามคำแหงนอกจากส่วนกลางจะบรรยายและสอบไล่ที่วิทยาเขตหัวหมาก และวิทยาเขตบางนาแล้ว ส่วนภูมิภาคยังมีสาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ 23 แห่ง และศูนย์สอบส่วนภูมิภาคเกือบทุกจังหวัด เปิดสอนชั้นปริญญาตรี 4 สาขาวิชาที่นิยม ได้แก่ คณะนิติศาสตร์ สาขาวิชานิติศาสตร์, คณะมนุษยศาสตร์ สาขาวิชาสื่อสารมวลชน คณะบริหารธุรกิจ สาขาวิชาการจัดการ และคณะรัฐศาสตร์ แผนการบริหารรัฐกิจ (แผน ซี)
เพราะฉะนั้นระบบจัดการเรียนการสอนของ มสธ. จึงเหมาะสำหรับผู้ที่เรียนแบบค่อยเป็นค่อยไป มีชุดวิชาให้อ่าน โดย 1 ชุดวิชามี 6 หน่วยกิต ลงทะเบียนได้สูงสุด 3 ชุดวิชาในภาคปกติ และ 1 ชุดวิชาในภาคพิเศษ ส่วนรามคำแหงจะเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการความประหยัด เพราะหน่วยกิตของที่นี่คิด 25 บาท นับว่าถูกที่สุด ส่วนใหญ่วิชาละ 3 หน่วยกิต โดยลงทะเบียนได้สูงสุด 24 หน่วยกิตในภาคปกติ และ 12 หน่วยกิตในภาคฤดูร้อน ส่วนตำราเรียนจะซื้อหรือไม่ก็ได้
ใครที่สนใจสมัครเข้าเป็นศึกษา ผมเห็นร้านเซเว่นอีเลฟเว่นหลายสาขา นำหนังสือระเบียบการสมัครเป็นนักศึกษา มสธ. วางจำหน่ายกันแล้ว ราคาเล่มละ 150 บาท โดยภายในนั้นจะมีใบสมัครแทรกอยู่ด้วย และยังวางจำหน่ายที่ไปรษณีย์ไทยไปพร้อมกัน ซึ่งถือว่าเป็นข้อดีที่หาซื้อได้ง่ายที่สุด ส่วนรามคำแหงสามารถสั่งซื้อทางไปรษณีย์โดยส่งธนาณัติไปที่มหาวิทยาลัย หรือหากไม่สะดวกสมารถสมัครทางอินเทอร์เน็ต ชำระเงินและส่งเอกสารมายังมหาวิทยาลัยก็ได้เช่นกัน
ผมลองเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายในการสมัครของทั้งสองมหาวิทยาลัย พบว่ารามคำแหง มีค่าธรรมเนียมแรกเข้าเป็นนักศึกษา 900 บาท ค่าขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษา 800 บาท ค่าบำรุงมหาวิทยาลัย 500 บาท ค่าบัตรประจำตัวนักศึกษา 60 บาท ค่าสมาชิกหนังสือพิมพ์ข่าวรามคำแหง 100 บาท รวม 2,360 บาท และค่าหน่วยกิตสูงสุด 600 บาท เบ็ดเสร็จค่าใช้จ่ายในการสมัครสูงสุด 2,960 บาท ซึ่งอาจจะลดหลั่นไปตามจำนวนหน่วยกิต แต่ตำราเรียนต้องหาซื้อเองต่างหาก
ส่วน มสธ. ค่าใช้จ่ายในการสมัคร มีค่าธรรมเนียมแรกเข้าเป็นนักศึกษา 800 บาท ค่าบำรุงการศึกษา 500 บาท ค่าธรรมเนียมการเปลี่ยนแปลงทะเบียนประวัตินักศึกษา ตลอดเวลาของการเป็นนักศึกษา 100 บาท รวมค่าธรรมเนียมมหาวิทยาลัย 1,400 บาท ส่วนค่าหน่วยกิตจะอยู่ในรูปแบบของค่าชุดวิชา ราคาเริ่มต้นที่ 1,000 บาทต่อชุด รวม 3 ชุดเริ่มต้นที่ 3,000 บาทขึ้นไป เบ็ดเสร็จค่าใช้จ่ายในการสมัครสูงสุดอยู่ที่ 2 พัน ถึง 4 พันกว่าบาท แล้วแต่ชุดวิชาที่ซื้อ
หากจะพูดถึงความได้เปรียบเสียเปรียบของทั้งสองมหาวิทยาลัย คงจะไม่มีประโยชน์ กลายเป็นการชวนทะเลาะเปล่าๆ เพราะทั้งสองมหาวิทยาลัยต่างมีจุดแข็งในเรื่องการจัดการเรียนการสอนต่างกัน แต่ถึงกระนั้นผมถือว่าผู้ที่สำเร็จการศึกษาของทั้งสองมหาวิทยาลัยอย่างแท้จริง ต่างก็มีศักดิ์และสิทธิ์ไม่ต่างไปจากสถาบันอื่นๆ เพราะต่างก็ได้ชื่อว่าเป็นนักศึกษาเหมือนกัน ผ่านการศึกษาเล่าเรียนและทดสอบเหมือนกัน ซึ่งเข้มงวดในการให้คะแนนไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
อาจมีข่าวคราวถึงศิษย์เก่ารามคำแหงบางคนที่ไม่ค่อยจะสู้ดีอยู่บ้าง เช่น นักการเมืองรุ่นใหญ่บางคนจบด็อกเตอร์ที่รามคำแหง แต่มักถูกมองกลายเป็นตัวตลกเพราะการใช้ภาษาอังกฤษแบบงูๆ ปลาๆ หรือนักการเมืองอีกคนจบออกมาด้วยวิธีพิเศษเพราะใช้เส้นสายทางการเมือง แต่ผมเชื่ออยู่ลึกๆ ว่า คนที่จบออกไปโดยไม่ใช้ความพยายามด้วยตัวเองย่อมไม่มีความภูมิใจในการเป็นบัณฑิตได้เต็มภาคภูมิ เมื่อเทียบกับคนที่ค่อยๆ เรียน ค่อยๆ สอบเก็บหน่วยกิตจนจบมาได้
มีประโยคที่คนเรามักชอบพูดกันติดปากว่า “รามคำแหงเข้าง่าย แต่ออกยาก” ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบกับมหาวิทยาลัยปิดที่ต้องสอบเข้า แต่ความหมายที่ซ่อนอยู่ในคำนี้ก็คือ ที่นี่ไม่ได้มีกฎระเบียบเข้มงวดเหมือนมหาวิทยาลัยทั่วไป ไม่มีใครบังคับให้เรียน หรือบังคับให้ต้องไปสอบ ทุกอย่างต้องขึ้นอยู่กับความรับผิดชอบของนักศึกษาเอง หากขาดความรับผิดชอบ ไม่เรียนตามแผน เก็บหน่วยกิตให้หมดก็ไม่มีวันจบได้
บอร์ดติดประกาศที่โถงนิทรรศการชั้นล่าง ตึกคนที (KTB) รามคำแหง 2 วิทยาเขตบางนา ถึงขนาดขึ้นข้อความเพื่อเตือนสตินักศึกษาทุกคนว่า “ที่รามคำแหง ถ้าตั้งใจเรียน จบทุกคน คนไม่จบคือ ไม่เรียนไม่ตั้งใจ” พร้อมกับคำว่า “บัณฑิตรามต้องมีความรู้คู่คุณธรรม” คงมีนัยยะเพื่อขยายความต่อความเชื่อที่ว่า “เข้าง่าย แต่ออกยาก” ให้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่า ขึ้นอยู่กับความตั้งใจของตัวนักศึกษาเอง
ส่วนตัวผู้เขียนเอง จากประสบการณ์เรียนๆ หยุดๆ กระทั่งมาเอาจริงเอาจังในช่วง 2-3 ปีหลังมานี้ ที่นี่สอนอะไรหลายอย่าง ทั้งการรู้จักวางแผนกับวิชาที่ลงทะเบียนเรียน ซึ่งต้องดู มร.30 ว่าวิชานั้นเปิดสอนหรือไม่ และจัดสอบวันไหนเพื่อไม่ให้ชนกัน นานวันเข้าเราก็ได้พิสูจน์ตัวเอง วิชาที่เรียนเริ่มยากขึ้น เริ่มมีหนทางที่ท้าทายมากขึ้นกับวิชาโท การวางแผนว่าเทอมนี้จะเรียนอะไร คาดการณ์อนาคตว่าเราจะจบเมื่อไหร่ ช่วยให้เรามีความหวังมากขึ้น
นอกจากเรื่องการเรียนแล้ว ที่นี่ยังทำให้ผมได้กล้าแสดงความคิดเห็นเพื่อประโยชน์แก่นักศึกษาทุกคน ครั้งหนึ่งในช่วงที่เปลี่ยนรหัสวิชาจาก 5 หลักเป็น 7 หลัก ผมเคยยื่นหนังสือเสนอให้ ผศ.วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ให้ทำระบบขอบาร์โค้ดรหัสวิชา 7 หลัก เพื่อเป็นอีกทางเลือก กระทั่งเมื่อรับข้อเสนอแล้ว วันนี้นักศึกษาทุกคนสามารถสั่งพิมพ์บาร์โค้ด เพื่อนำไปใช้ลงทะเบียนเรียนแทนการเสียบบาร์โค้ดในสมุดลงทะเบียนได้แล้ว
แม้วันนี้ผมยังเป็นเพียงแค่นักศึกษา แต่ผมก็รู้สึกว่ารามคำแหงให้อะไรมากกว่าที่คิด ผมภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของที่นี่ และอยากจะบอกน้องๆ มัธยมที่พลาดหวังจากการสอบแอดมิชชันไว้ล่วงหน้าว่า ขอฝากรามคำแหงและ มสธ. เป็นอีกตัวเลือกให้เราได้ค้นหาตัวเอง แม้จะแตกต่างจากที่อื่น แต่ความพยายาม ความรับผิดชอบ และความอดทนจะทำให้แข็งแกร่งขึ้น กระทั่งจบออกมาเป็นบัณฑิตได้อย่างภาคภูมิใจ