xs
xsm
sm
md
lg

ระลึกถึง…นายแพทย์ สงวน นิตยารัมภ์พงศ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ
โดย..ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการสำนักเลขาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

วันพฤหัสที่ 18 มกราคม 2551 นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ผู้มีส่วนสำคัญในการบุกเบิกระบบหลักประกันสุขภาพ และเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติคนแรก ได้จากไปอย่างสงบ ทิ้งไว้แต่ผลงานมีคุณค่าต่อเพื่อนมนุษย์และแรงบันดาลใจในการขับเคลื่อนสิ่งที่ยิ่งใหญ่ให้กับคนรุ่นหลัง

จากกลุ่มคนรุ่นหนุ่มสาวที่ถูกเพาะบ่มจิตสำนึกต่อสังคมในช่วงที่กิจกรรมนักศึกษาเฟื่องฟู ทำให้เกิดกระบวนการทางสังคมที่หล่อหลอมให้คิดที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่สังคมที่มีการแบ่งปัน จากภายในรั้วมหาวิทยาลัยออกไปสู่ชีวิตการทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมอุดมการณ์จากหลากหลายวิชาชีพ ทั้งแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัช พยาบาล เทคนิคการแพทย์ ฯลฯ ก่อให้เกิดเครือข่ายอันกว้างขวางและเป็นพลังในการขับเคลื่อนสังคมไทยในเวลาต่อมา

ผลงานชิ้นสำคัญของนายแพทย์ สงวน คือ การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการเปลี่ยนแนวคิดและวิธีการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศครั้งใหญ่ แต่วิธีการขับเคลื่อนให้ประสบความสำเร็จก็เป็นสิ่งที่น่าศึกษาและเรียนรู้ไม่แพ้กัน นายแพทย์ สงวน บันทึกไว้ในหนังสือ “บนเส้นทางสู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ตอนหนึ่งว่า

“นพ.ประเวศ วะสี ได้เสนอว่า การผลักดันงานยากๆ ในประเทศให้บรรลุผลสำเร็จได้จะต้องคิดถึงเหลี่ยมสามด้านด้วยกัน ซึ่งหากมีเหลี่ยมทั้งสามนี้ครบก็จะมีพลังถึงขั้นเขยื้อนภูเขาได้ คือแก้ไขปัญหาที่ยากๆ ต่างๆ ได้นั่นเอง ทฤษฎีนี้เรียกว่า ทฤษฎีสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา ทั้งนี้เหลี่ยมทั้ง 3 ด้าน จะประกอบด้วย

เหลี่ยมที่หนึ่ง คือ เหลี่ยมด้านปัญญา ได้แก่ ความรู้จริงในเรื่องที่จะแก้ไข ถือเป็นเหลี่ยมเบื้องต้นที่สำคัญที่สุด เหลี่ยมที่สอง คือ เหลี่ยมด้านการเคลื่อนไหวในสังคม ได้แก่ การมีส่วนร่วม การเป็นเจ้าของของผู้คนในสังคมที่ต้องการการแก้ไขและร่วมแรงร่วมใจในการเปลี่ยนแปลงแก้ไขปัญหา เหลี่ยมสุดท้าย คือ เหลี่ยมทางการเมือง ได้แก่ การติดสินใจทางการเมือง เพราะเป็นเหลี่ยมที่ให้พลังทางด้านนโยบาย ทางด้านทรัพยากรที่จะช่วยทำให้การแก้ไขปัญหานั้นเกิดเป็นจริงได้”

นพ.สงวน ยังได้เขียนไว้ในคำนำของหนังสือเล่มเดียวกันว่า “สามเสาหลักที่สำคัญในการเคลื่อนให้เรื่องยากๆ ในสังคมให้เกิดขึ้น ได้แก่ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ผู้แทนเสาหลักทางปัญญาในสังคมไทย อดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ผู้นำรัฐบาล อันเป็นเสาหลักนโยบายของชาติ และ ส.ว.จอน อึ้งภากรณ์ สมาชิกวุฒิสภา ผู้แทนเสาหลักทางด้านการมีส่วนร่วมของประชาคมต่างๆ”

และแม้ว่าพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะเกิดขึ้นแล้ว แต่หากความสำเร็จยั่งยืนอาจไม่เกิดขึ้น หากคนในสังคมไม่มีส่วนร่วมในการผลักดันอย่างต่อเนื่อง หรือขาดการประเมินศึกษาให้มีปัญญา เพื่อให้ระบบเกิดการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งขาดการสนับสนุนงบประมาณ หรือทรัพยากรอื่นๆ จากการตัดสินใจทางการเมืองที่จะสร้างสภาพแวดล้อมให้กฎหมายได้รับการปฏิบัติจริง
ศุกร์ที่ 18 มกราคม 2556 เป็นวันครบรอบ 5 ปี การจากไปของ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ตลอด 5 ปีของการจากไป การเขยื้อนภูเขายังคงได้รับการสานต่อจากคนร่วมอุดมการณ์ อย่างต่อเนื่องโดยมีเป้าหมายอยู่ที่ขุนเขา 3 ลูกใหญ่ตามที่นายแพทย์สงวนกล่าวไว้ คือ
ประชาชนได้รับบริการที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง เพราะคุณภาพคือปัจจัยชี้ขาดสุดท้ายที่สำคัญที่สุดในการประเมินความยั่งยืนของการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

ผู้ให้บริการมีความสุข เพราะผู้ให้บริการ ไม่ว่าจะเป็นสถานพยาบาลหรือวิชาชีพ มีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการสร้างระบบนี้ให้ยั่งยืนและเป็นส่วนหนึ่งที่ได้เสียสละจน 30 บาทยืนยัดมาได้จนถึงปัจจุบัน
การบริหารจัดการที่ดี การบริหารจัดการที่ใช้งบประมาณน้อย แต่ให้ผลลัพธ์ที่สูง มีความฉับไวทันต่อการแก้ไขเหตุการณ์ ประชาชนมีส่วนร่วมในการผลักดัน และที่สำคัญที่สุด คือ มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้

นพ.สงวน ได้สรุปไว้ในย่อหน้าหนึ่ง เสมือนการฝากฝังเพื่อนร่วมอุดมการณ์ว่า

“ขุนเขาสามลูกใหญ่นี้จะเป็นหลักที่สำคัญที่จะค้ำจุนให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเดินหน้าไปอย่างยั่งยืน ขาดซึ่งขุนเขาลูกใดลูกหนึ่งก็จะส่งผลกระทบต่อขุนเขาลูกอื่น ๆ และทำให้ระบบโดยรวมล้มครืนลงได้”
กำลังโหลดความคิดเห็น