ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ม.อ.ปัตตานีใช้ระบบออนไลน์เลือกตั้งผู้นำนักศึกษา เผยเป็นสถาบันแรกในไทย ระบุทราบผลเร็ว ประหยัดกระดาษ ตรวจสอบสถานภาพนักศึกษาได้ เตรียมเผยแพร่ให้ทุกมหาวิทยาลัยใช้ พร้อมหนุนใช้กับการเลือกตั้งทั่วประเทศ ยันตรวจสอบได้ โกงยาก ส่วนฝ่ายไม่เห็นด้วยชี้ประชาชนยังไม่พร้อม หวั่นนักเลือกตั้งหาช่องเจาะระบบแก้ไขผลเลือกตั้งได้
วานนี้ (30 ม.ค.) ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี มีการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารองค์การนักศึกษา สภานักศึกษา และนายกสโมสร โดยใช้ระบบออนไลน์ หรือระบบอิเล็กทรอนิกส์อย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก
โดยระบบดังกล่าว ให้นักศึกษานำบัตรประจำตัวนักศึกษา หรือบัตรประจำตัวประชาชนไปลงทะเบียนที่หน้าอาคารกองกิจการนักศึกษา เพื่อตรวจสอบสถานภาพความเป็นนักศึกษา โดยมีคณะกรรมการการเลือกตั้งนักศึกษาเป็นผู้อธิบายวิธีการ และขั้นตอนการลงคะแนน จากนั้นให้นักศึกษาไปลงคะแนนในคูหาเลือกตั้งภายในศูนย์คอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัย ซึ่งปรับเป็นห้องลงคะแนนเสียงเลือกตั้งออนไลน์ โดยมีเครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งอยู่ภายในคูหา และหลังจากนักศึกษาลงคะแนนแล้ว นักศึกษาจะต้องลงชื่อเพื่อบันทึกเป็นชั่วโมงกิจกรรมของนักศึกษาตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด
ผศ.นิฟาริด ระเด่นอาหมัด รองอธิการบดี ฝ่ายพัฒนานักศึกษาและวัฒนธรรม ม.อ.วิทยาเขตปัตตานี เปิดเผยว่า ระบบนี้เริ่มทดลองใช้เมื่อปีที่แล้ว และผลการทดลองประสบความสำเร็จอย่างดี จึงนำมาใช้จริงในการเลือกตั้งปีนี้ ซึ่งถือว่าเป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกในประเทศไทยที่ใช้ระบบการเลือกตั้งในรูปแบบออนไลน์ ทั้งนี้ ทางมหาวิทยาลัยจะนำการเลือกตั้งในระบบออนไลน์ไปนำเสนอต่อที่ประชุมของกลุ่มเครือข่ายกิจกรรมนักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย เพื่อให้มหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศนำระบบนี้ไปใช้ เนื่องจากเป็นระบบที่สามารถตรวจสอบได้
ผศ.นิฟาริด กล่าวว่า เห็นด้วยถ้าจะนำระบบนี้ไปใช้ในการเลือกตั้งทั่วไปของประเทศ เนื่องจากระบบการเลือกตั้งออนไลน์สามารถตรวจสอบได้ และไม่สามารถทุจริตได้ แต่ต้องมีการเตรียมความพร้อมแก่ประชาชนเสียก่อน “ปัจจุบันนี้ ระบบนี้สามารถใช้ได้สำหรับเมืองใหญ่ๆ เช่น กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ และขอนแก่น เป็นต้น” ผศ.นิฟาริด กล่าว
ด้านนายวันสุไลมาน เจะแวมาแจ เจ้าหน้าที่กองกิจการนักศึกษา เปิดเผยว่า เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ทางองค์การบริหารองค์การนักศึกษาได้เสนอต่อมหาวิทยาลัยให้ใช้ระบบเลือกตั้งออนไลน์ เพื่อประหยัดทรัพยากร เนื่องจากแต่ละปีมหาวิทยาลัยต้องพิมพ์บัตรเลือกตั้งประมาณ 8,000 ใบ แต่ปรากฏว่า มีนักศึกษามาใช้สิทธิเลือกตั้งประมาณ 4,000 คน ทำให้สิ้นเปลืองกระดาษ
นายวันสุไลมาน เปิดเผยต่อไปว่า การเลือกตั้งระบบออนไลน์ยังทำให้สามารถทราบผลการเลือกตั้งได้อย่างรวดเร็ว และสามารถตรวจสอบได้ ทำให้ยากต่อการทุจริต โดยสามารถตรวจสอบทั้งผลการเลือกตั้ง และตรวจสอบสถานภาพของนักศึกษา
นายนูรุดดีน มูลทรัพย์ นักศึกษาชั้นปี 4 คณะวิทยาการสื่อสาร ม.อ.ปัตตานี กล่าวว่า ข้อดีของการใช้ระบบการเลือกตั้งออนไลน์คือ สามารถรับรู้ผลการเลือกตั้งได้อย่างรวดเร็ว และในการลงคะแนนสามารถเห็นรูปภาพของผู้สมัครอย่างชัดเจน ซึ่งต่างจากระบบบัตรเลือกตั้งที่ไม่มีภาพของผู้สมัคร ซึ่งจะเป็นผลเสียกรณีที่นักศึกษาบางคนจำชื่อผู้สมัครไม่ได้แต่จำหน้าตาได้ ส่วนข้อเสียคือ ระบบคอมพิวเตอร์ทุกระบบมีช่องโหว่ต่อการที่จะโดนเจาะฐานข้อมูลได้
“ผมไม่เห็นด้วยหากจะนำระบบการเลือกตั้งออนไลน์ไปใช้กับการเลือกตั้งของนักการเมือง ทั้งระดับท้องถิ่น และระดับประเทศ เพราะจะเป็นปัญหาต่อผู้สูงอายุที่ไม่เข้าใจระบบเทคโนโลยี นอกจากนี้ ประเทศเราเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา ระบบอินเทอร์เน็ตยังเข้าไม่ถึงทุกภาคส่วน ที่สำคัญส่วนใหญ่ผู้ที่มีตำแหน่งสูงๆ มักมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง และการเลือกตั้งมีการแข่งขันกันสูง จึงมีความเป็นไปได้สูงที่อาจจะเจาะระบบคอมพิวเตอร์ และแก้ไขข้อมูลการเลือกตั้งได้” นายนูรุดดีนกล่าว
มูฮำหมัด ดือราแม สำนักข่าวประชาไท
ฮัสซัน โตะดง, ฟาอิซะ อาแว โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ)