สสค.เผยผลสำรวจ “ชีวิตเด็กไทยใน 1 วัน” พบ เด็กไทยใช้ชีวิตอยู่กับมือถือมากขึ้น ตัวเลขเด็กใช้มือถือพุ่ง 2-3 เท่าใน 1 ปี และเด็กเกือบครึ่งมีนิสัยต้องใช้โทรศัพท์เล่นเฟซบุ๊ก หรือไลน์ หลังและก่อนตื่นนอน โดยเฉพาะเด็กหญิงมีพฤติกรรมดังกล่าวมากกว่าเด็กชาย นอกจากนี้ เด็กร้อยละ 40 ใช้ชีวิตอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีมือถือ และการติดมือถือของเด็กดึงการใช้เวลาในครอบครัวให้ลดลง ระบุพบเด็กส่วนใหญ่ลอกการบ้าน
วันนี้ (6 มิ.ย.) ที่โรงแรมปริ้นซ์พาเลซ มหานาค สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดประชุมสัมมนา “ทิศทางการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในอนาคต” โดย นายอมรวิชช์ นาครทรรพ ที่ปรึกษาวิชาการสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) กล่าวในการเสวนา ว่า สสค.ได้ทำการสำรวจในโครงการติดตามสภาวการณ์เด็กในหัวข้อ “1 วันในชีวิตเด็กไทย” เมื่อเดือนมกราคม 2556 ที่ผ่านมา จากกลุ่มตัวอย่าง 3,058 คน ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด พบสิ่งที่น่าสนใจ ว่า พฤติกรรมเด็กไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก และเปลี่ยนแปลงเร็วเกินกว่าที่ระบบการศึกษาไทยจะไล่ตามทัน โดยวงจรชีวิตของเด็กไทยใน 1 วันจะเริ่มตื่นนอนตั้งแต่เวลา 06.18 น.และเข้านอนในเวลา 22.21 น.วันหยุดจะนอน 23.39 น.เฉลี่ยเด็กไทยมีเวลานอนเฉลี่ย 7-8 ชั่วโมง ถือว่าเด็กไทยมีเวลานอนไม่น้อยมาก
ที่น่าสนใจ คือพบว่า สิ่งแรกที่เด็กส่วนใหญ่ ร้อยละ 51.1 ทำหลังตื่นนอน คือ การเช็กโทรศัพท์มือถือ เช่นเดียวกับสิ่งสุดท้ายที่เด็กร้อยละ 35 ทำก่อนนอน คือ ใช้โทรศัพท์มือถือเล่นเฟซบุ๊ก (Facebook) และ ไลน์ (Line) ทั้งนี้ เพราะปัจจุบันเด็กไทยอยู่กับสื่อมากขึ้น โดยตัวเลขเด็กที่ใช้โทรศัพท์มือถือ พุ่งพรวด 2-3 เท่าใน 1 ปี เพราะในโทรศัพท์มือถือมีทุกสิ่งที่เด็กต้องการทั้งอินเทอร์เน็ต เฟซบุ๊ก ไลน์ กล้องถ่ายรูป โดยเด็ก ร้อยละ 75.7 เล่นโซเชียลเน็ตเวิร์กบ่อยจนถึงประจำ ซึ่งนักเรียนหญิงจะเล่นโซเชียลเน็ตเวิร์กมากกว่านักเรียนชาย และยังพบเด็กร้อยละ 20.3 ใช้มือถือระหว่างคาบเรียนบ่อยถึงประจำ เด็กร้อยละ 42.5 รู้สึกทนไม่ได้ถ้าอยู่คนเดียวโดยไม่มีโทรศัพท์ และเด็กร้อยละ 28.7 โดยเฉพาะเด็กชาย ระบุว่าเคยถูกคุกคามทางเพศจากคนเพื่อนใหม่ที่รู้จักกันทางโซเชียลมีเดีย
นายอมรวิชช์ กล่าวต่อว่า เมื่อเด็กติดโทรศัพท์มือถือมากขึ้น ก็ไปดึงเวลาที่เด็กอยู่กับครอบครัวให้น้อยลง ขณะที่เด็กไทยใช้เวลาอยู่กับโซเชียลมีเดียนานถึง 8 ชั่วโมงแต่มีเด็กเพียง ร้อยละ 34.5 ที่ยังทานมื้อเย็นกับครอบครัวเป็นประจำโดยเด็ก มัธยมศึกษาตอนต้นมีโอกาสทานมื้อเย็นกับครอบครัวมากกว่าระดับอุดมศึกษา โดยมีเด็กระดับอุดมศึกษา เพียงร้อยละ 17.5 ที่ทานมื้อเย็นกับครอบครัว นอกจากนั้น ยังพบข้อมูลที่น่าสนใจว่าเด็กจำนวนมากถึงร้อยละ 45.7 ลอกการบ้านเพื่อน ที่น่าสนใจ คือ เด็กที่ผลการเรียนดี ลอกการบ้านมากกว่าเด็กที่ผลการเรียนต่ำกว่า โดยเด็กที่เกรดเฉลี่ยมากกว่า3.5 ลอกการบ้านมากถึง ร้อยละ 52.9 แต่เด็กที่เกรดเฉลี่ยน้อยกว่า 2.5 ลอกการบ้าน ร้อยละ 41.7 ขณะที่ ม.ต้น ลอกการบ้าน ร้อยละ 38.9 แต่นักเรียน ม.ปลาย ลอกการบ้าน ถึงร้อยละ 51.7 ชี้ให้เห็นว่า อีกหน่อยเราจะผลิตคนซึ่งเรียนแบบไม่รู้เยอะมาก ยังมีข้อมูลระบุด้วยว่า เด็กที่เกิดปีเดียวกัน 8 แสนคน เรียนจบระดับอุดมศึกษาเพียง 2-3 แสนคนเท่านั้น ที่เหลือมีวุฒิแค่ ม.6 ม.3 หรือต่ำกว่านั้น จะเห็นได้ว่า การสอนที่เน้นแต่วิชาการมันตอบโจทย์เด็กแค่ 3 ใน 10 คนเท่านั้น จึงถึงเวลาแล้วที่โจทย์การศึกษาต้องถูกยกระดับ และเปลี่ยนไปเป็นโจทย์เพื่อการมีชีวิต และการมีงานทำ ซึ่งในเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันทั้งภาครัฐ เอกชน และท้องถิ่น จะปล่อยให้กระทรวงศึกษาธิการทำเพียงลำพังไม่ได้
“มีเหตุผล 3 เรื่องหลักที่ทำให้ระบบการศึกษาไล่ไม่ทันเด็ก เริ่มจากภูมิหลังเด็กมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ครอบครัวไทยประมาณ 20 ล้านครอบครัวนั้น 1 ใน 4 เป็นครอบครัวไม่สมบูรณ์ ขณะที่รูปแบบการใช้ชีวิตของเด็กไทยในขณะนี้เปลี่ยนไปมาก เด็กจึงต้องการครูเป็นพ่อแม่คนที่ 2 เด็กไทยอยู่ในภาวะที่ต้องการความรัก ความใส่ใจจากครูมากขึ้น แต่เมื่อดูจากความเป็นจริงจะพบว่า ระบบการศึกษาไทยทำให้ครูมีเวลาให้แก่เด็กน้อยลง เพราะครูต้องยุ่งอยู่กับภาระงานที่ไม่ใช่เรื่องการสอนค่อนข้างมาก เด็กจึงขาดที่พึ่ง และต้องอยู่ในภาวะเสี่ยงรุ่มเร้าหลายเรื่อง ขณะที่ระบบการศึกษาไทยก็มีปัญหาโดยเฉพาะในเรื่องการสอนทักษะชีวิตนั้น ถือว่าไม่ทันสถานการณ์” นายอมรวิชช์ กล่าว
ด้าน นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) กล่าวในการเสวนาหัวข้อ “ทิศทางการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในอนาคต” ซึ่งมีผู้บริหารสถานศึกษา นักวิชาการ และผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา จำนวน 150 คนเข้าร่วม ว่า สพฐ.ถือเป็นองค์กรหลักขนาดใหญ่ที่ดูแลรับผิดชอบเด็กกว่า 7 ล้านคน และบุคลากรครูอีก 4 แสนคน ดังนั้น การขับเคลื่อนการศึกษาจึงจำเป็นต้องมีความเข้าใจถึงวิธีการและเป้าหมาย เพราะหากการทำงานเป็นแบบต่างคนต่างทำการศึกษาคงไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานต้องมีการพลิกโฉมการศึกษาไทยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อนำไปสู่การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนด้วย โดยในการจัดการศึกษานั้นอยากให้มีการดำเนินการตามนโยบายของนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศึกษาธิการ ที่ต้องการให้มีการนำรูปแบบการจัดการศึกษาของแต่ละพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จไปขยายผลในพื้นที่อื่นๆ เพราะเชื่อว่าจะทำให้การศึกษาไปสู่เป้าหมายที่สูงขึ้นได้
ขณะเดียวกันจะทำอย่างไรให้การจัดการเรียนการสอนในห้องเรียนนั้นลดเนื้อหาลงแต่เพิ่มการคิดวิเคราะห์ของเด็กให้มากขึ้น รวมถึงการส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรมยังไม่มีการปฎิบัติอย่างชัดเจน ซึ่งจะทำอย่างไรให้เรื่องนี้เกิดขึ้นเป็นแนวปฎิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากมีตัวชี้วัดว่าปัญหาอาชญากรรม ยาเสพติด และพฤติกรรมความรุนแรงของเด็กกลับเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจากนี้ไปจะมีการพิจารณาด้วยว่าการปฏิรูปการศึกษาจะต้องดูความสำเร็จจากตัวชี้วัดทางสังคมด้วย อย่างไรก็ตาม จากการประชุมคณะกรรมาธิการการศึกษาสภาผู้แทนราษฎร เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมยังได้เสนอควรมีการกระจายภาระการจัดการศึกษาให้สมดุลมากขึ้น ทั้ง สพฐ.สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และท้องถิ่น นอกจากนี้ควรมีการปรับเปลี่ยนบทบาทหน้าที่ของ สพฐ.จากหน่วยงานที่จัดการศึกษาเองเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ส่งเสริมและพัฒนาการเป็นต้นแบบของการจัดการศึกษา ควรมีการพัฒนาอบรมครูควรคิดระบบของการพัฒนาครูในเชิงสมรรถนะที่ความก้าวหน้าต้องควบคู่ไปกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็ก เพราะจะเห็นได้ว่าปัจจุบันครูมีความก้าวหน้าในหน้าที่การงานแต่ผลการเรียนของเด็กกลับย่ำอยู่กับที่