ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-คงไม่เกินเลยไปนักถ้าจะกล่าวว่า คำสั่งของ “นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ให้ยุบ “โรงเรียนขนาดเล็ก” 14,186 แห่ง คือบทสะท้อนความล้มเหลวของระบบการศึกษาไทยภายใต้การชี้นำของนักการเมืองไทย(บางคน) และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่(บางคน) ในกระทรวงศึกษาธิการได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ นโยบายดังกล่าวได้รับการเปิดเผยจากนายพงศ์เทพภายหลังประชุมผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศว่า ได้มอบนโยบายเกี่ยวกับการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กให้ ผอ.เขตพื้นที่การศึกษา นำไปดำเนินการ ถ้าโรงเรียนขนาดเล็กแห่งใดอยู่ในข่ายไม่จำเป็นต้องคงอยู่ ก็ให้ยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็กแห่งนั้น โดยโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ในข่ายควรยุบรวมนั้น มีจำนวนนักเรียนน้อยมากและด้อยคุณภาพ แต่ต้องมีโรงเรียนใกล้เคียงที่มีคุณภาพรองรับ ทั้งนี้ การยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็กบางแห่ง จำเป็นต้องมีการทำความเข้าใจกับชุมชนเพื่อลดการต่อต้านด้วย ซึ่งต้องชี้แจงให้ชุมชนเข้าใจว่า รัฐบาลไม่มีกำลังและงบประมาณจะพัฒนาโรงเรียนทุกแห่งและไม่สามารถนำงบประมาณจากเงินภาษีมาดูแลทุกโรงเรียนได้เท่าเทียมกัน แม้แต่ประเทศพัฒนาแล้ว
“การยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็กนั้น จะไม่ส่งผลกระทบต่อนักเรียน เพราะ สพฐ.ได้จัดระบบรับส่งนักเรียนไว้รองรับแล้ว โดยได้เตรียมงบไว้จัดซื้อรถตู้รับส่งนักเรียน 1,000 คัน หากเด็กย้ายไปโรงเรียนใหม่ซึ่งอยู่ไม่ไกลมาก อาจจะจัดงบจัดซื้อจักรยานให้เด็ก ส่วนโรงเรียนขนาดเล็กที่ยังคงอยู่นั้น จะต้องมีการบริหารจัดการใหม่ ใช้วิธีรวมกลุ่มกันจัดการเรียนการสอน นำครูและทรัพยากรที่แต่ละโรงเรียนมีอยู่มาใช้ร่วมกันเพื่อให้สามารถจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพขึ้น” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการประกาศนโยบายชัดเจน
ทั้งนี้ โรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนนักเรียนน้อยกว่า 60 คน ซึ่งเข้าข่ายที่จะถูกยุบนั้น จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่ามีอยู่ทั้งหมด 14,186 แห่ง จากโรงเรียนทั่วประเทศกว่า 30,000 แห่ง
คำถามมีอยู่ว่า การยุบโรงเรียนขนาดเล็กเกิดประโยชน์ต่อระบบการศึกษาไทยจริงหรือไม่ การแก้ปัญหาดังกล่าวจะมิใช่ยิ่งทำให้การปฏิรูปการศึกษาถอยหลังเข้าคลองหรือไม่ เพราะแทนที่จะมีการกระจายโอกาสทางการศึกษา กลับกลายเป็นการรวมอำนาจมากระจุกตัวในโรงเรียนขนาดกลางและขนาดใหญ่
และคำถามมีอยู่ว่า การยุบโรงเรียนขนาดเล็กแล้วนำงบประมาณไปซื้อรถตู้รับส่งนักเรียนจำนวน 1,000 คันนั้น ใครได้ประโยชน์จากงบประมาณก้อนนี้
แล้วทำไมรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ที่กู้เงินงบประมาณไปใช้ในอภิมหาโครงการประชานิยมจำนวนมหาศาลถึงไม่เจียดเศษเงินเพื่ออุปถัมภ์ค้ำชู โรงเรียนขนาดเล็กบ้าง แถมยังมาอ้างอย่างหน้าด้านๆ ว่า เพื่อประหยัดงบประมาณ ซ้ำร้ายจากกระทำดังกล่าวยังถือเป็นการ “พรากโรงเรียนออกจากชุมชน” ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้วมิใช่การแก้ปัญหาให้กับเด็กนักเรียนหากแต่แก้ปัญหาของครูและกระทรวงศึกษาธิการมากกว่า
นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ เลขาธิการสภาการศึกษาทางเลือก ให้ความเห็นว่า การยุบโรงเรียนขนาดเล็กเป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุ ทั้งที่ต้นเหตุของปัญหามาจากการที่ ศธ.บริหารจัดการไม่มีประสิทธิภาพ จัดการศึกษาที่มีคุณภาพได้ไม่ทั่วถึงจากโรงเรียนในมือกว่า3 หมื่นโรงทำไปมาจนกลายเป็นขนาดเล็กไปกว่า 1.7 หมื่นโรง เพราะให้ความสำคัญแต่การดูแลพัฒนาเด็กโรงเรียนในเมือง แต่หลงลืมโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ชายแดนต่าง ๆ สะท้อนให้เห็นความไม่เป็นธรรมทางการศึกษาที่โรงเรียนขนาดเล็กต้องเผชิญอย่างชัดเจน ดูได้จากเงินอุดหนุนรายหัว จำนวนครูที่น้อยมีไม่ครบชั้นแต่ภาระงานการสอนกลับต้องสอนเท่ากับโรงเรียนใหญ่ ๆ ที่มีพร้อม ทั้งยังถูกมองว่าไม่มีคุณภาพการศึกษาโดยไปยกตัวอย่างจากคะแนนโอเน็ต ซึ่งในความจริงภาพรวมคะแนนโอเน็ตของเด็กทั้งประเทศอยู่ในเกณฑ์ต่ำ แต่ขณะที่ตนได้คุยกับผู้บริหารโรงเรียนขนาดเล็กหลายแห่งกลับพบว่า เด็กของโรงเรียนเหล่านี้ทำคะแนนโอเน็ตได้ดีกว่าเด็กโรงเรียนขนาดใหญ่ เพราะฉะนั้น ปัญหาไม่ใช่ที่คุณภาพ แต่เป็นการบริหารงานที่ไร้ประสิทธิภาพจนทำให้โรงเรียนขนาดเล็กกลายเป็นแพะรับบาป
ดังนั้น ศธ.ควรพิจารณาปัญหาและสาเหตุที่แท้จริง นั่นคือการบริหารงานของ ศธ.ที่กระจุกตัวส่วนกลางไม่กระจายอำนาจ กลายเป็นเตี้ยอุ้มค่อม สุดท้ายก็ดูแลไม่ได้ทั่วถึง ทั้งที่ใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 หรือแม้แต่คณะกรรมการปฏิรูปการศึกษาทศวรรษที่ 2 ก็ระบุชัดเจนว่า ศธ.จะต้องกระจายอำนาจ และลดบทบาทของตัวเองจากผู้จัดการศึกษามาเป็นผู้สนับสนุนให้ท้องถิ่นมาร่วมจัดการศึกษา ไม่ใช่บริหารผิดแล้วก็มาจัดประชุมสั่งยุบโรงเรียนแบบนี้ คือ การทำงานแบบผิดทิศผิดทาง แล้วเดี๋ยวพอนานเข้ามีปัญหาก็สั่งยุบอีกเป็นแบบนี้ไปเรื่อย ๆ
“ ร.ร.ขนาดเล็กควรจะปรับพัฒนาให้เป็น ร.ร.ของชุมชน กระจายอำนาจออกไปให้ท้องถิ่นมาช่วยดูแลแบบนี้จึงจะเป็นการสร้างความเป็นธรรมทางการศึกษาให้แก่โรงเรียนขนาดเล็ก เพราะต้องไม่ลืมว่าโรงเรียนเหล่านี้เกิดจากชาวบ้านที่เขาร่วมระดมทุน ร่วมสร้างมีความผูกพัน พอเด็กเหลือน้อยก็แก้ปัญหายุบทิ้งย้ายไปเรียนรวมที่อื่นเช่นนี้ผมมองว่าเป็นการซ้ำเติมชาวบ้าน ต้องคิดถึงใจชาวบ้านด้วย ขณะที่ สพฐ.ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดแม้ที่ผ่านมาจะพูดมาหลายรอบว่าการยุบจะต้องสำรวจก่อน แต่ปัญหาคือพอฝ่ายการเมืองมีทิศทางว่าจะยุบ ข้าราชการก็ตอบสนองนักการเมือง ตั้งธงยุบเป็นหลักตามเพราะฉะนั้น การจะทำอะไรต้องคุยกับผู้รู้ คนในพื้นที่เพื่อจะได้แก้ปัญหาตรงจุด โดยทางกลุ่มไม่ได้นิ่งนอนใจมีการหารือเพื่อกำหนดท่าทีหาก ศธ.ไม่ยุติหรือทบทวนเรื่องนี้ใหม่ ก็จะมีการเคลื่อนไหวใหญ่แน่นอน”
นายชัชวาลย์ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาทางสภาการศึกษาทางเลือก เคยพยายามติดต่อเพื่อขอเข้าพบ นายพงศ์เทพ แต่ก็ได้รับการเลื่อนนัดมา 2-3 ครั้งและเร็วนี้ ๆ จะพยายามประสานเพื่อขอพบและชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโรงเรียนขนาดเล็กต่อไป
ความเห็นของเลขาธิการสภาการศึกษาทางเลือก ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า ก่อนที่กระทรวงศึกษาธิการจะตัดสินใจยุบโรงเรียนขนาดเล็กนั้น ได้เคยมีการสำรวจความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่หรือไม่ เพราะหากย้อนดูประวัติศาสตร์การศึกษาไทยโรงเรียนในยุคแรกๆ ของไทย คือ โรงเรียนประชาบาล ก็จะพบว่าเกิดจากประชาชน ชุมชน เห็นความสำคัญของการศึกษาร่วมกับรัฐจัดตั้งขึ้น โดยโรงเรียนประถมศึกษาแห่งแรกเกิดขึ้นใน พ.ศ.2464 ชื่อ โรงเรียนวัดหรรณพาราม และในอดีตโรงเรียนประถมส่วนใหญ่ในประเทศจะเกิดขึ้นจากกำลังทรัพย์ความร่วมมือของประชาชนร่วมกับรัฐทั้งนั้น ที่สำคัญในอดีตไมได้เน้นวิชาการศึกษาตามหนังสือ แต่มุ่งส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ความรักในรากเง้าวัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่น
ทว่า ในเวลาต่อมา โรงเรียนขนาดเล็กถูกทำให้ด้อยคุณค่า เพราะไปเอาระบบประเมินมาตรฐานที่ดำเนินการโดยสำนักงานรับรองมาตรฐานและ ประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) มาใช้ตัดสิน และโรงเรียนขนาดเล็กส่วนใหญ่จะไม่ค่อยผ่านการประเมิน แต่คำถามก็คือ โรงเรียนขนาดเล็กด้อยคุณภาพจริงหรือ
นายสมบูรณ์ รินท้าว ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหัวเวียงเหนือ จ.น่าน
ประธานชมรมเครือข่ายโรงเรียนขนาดเล็ก ให้ความเห็นว่า การที่กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) จะยุบโรงเรียนขนาดเล็กโดยยกประเด็นเรื่องคุณภาพ ทั้งที่ผ่านมาไม่เคยสนับสนุนทรัพยากรทางการศึกษา ทรัพยากรด้านการบริหารให้โรงเรียนขนาดเล็กไม่ว่าจะเป็น ครู อุปกรณ์สื่อการเรียนการสอน โดยเฉพาะการนำผลคะแนนทดสอบการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต)มาเป็นตัวตัดสินยิ่งใช้ไม่ได้ในเวลานี้ เพราะหากมาติดตามผลการทำงานของโรงเรียนขนาดเล็กเป็นรายโรงไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือ หรือตะวันออกเฉียงเหนือ จะพบว่าในปีการศึกษา 2555 นี้คะแนนโอเน็ตของเด็ก ป.6 ดีขึ้นติดอันดับต้น ๆ ของจังหวัดด้วยซ้ำ เฉพาะวิชาคณิตศาสตร์บางโรงเรียนทำได้สูงขึ้นถึง 40% และหลายวิชาก็ได้ค่าเฉลี่ยสูงกว่า5% ที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กำหนดด้วย หรือแม้การรับรองคุณภาพภายนอกจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(สมศ.) รอบที่ 3 ปัจจุบันก็มีโรงเรียนขนาดเล็กได้รับการรับรองด้วย เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าแต่ขณะนี้โรงเรียนขนาดเล็กหลายแห่งได้ทำให้เห็นแล้วว่าคุณภาพของเด็กดีขึ้น แม้จะไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควรก็ตาม
ที่สำคัญคือเมื่อยกเหตุผลเรื่องไร้คุณภาพเพื่อยุบโรงเรียนขนาดเล็ก และยังปัญหางบประมาณที่มีจำกัดอีก แต่เสนอการแก้ปัญหาด้วยการซื้อรถตู้เพื่อรับส่งนักเรียน ถามว่าการซื้อรถตู้กรณีนี้ปัญหาที่จะตามมา คือ ค่าน้ำมัน ค่าคนขับ ค่าซ่อมแซม ค่าเสื่อมราคา เหล่านี้ใครจะมาเป็นคนรับผิดชอบ แล้วจะช่วยลดงบประมาณได้จริงไหมก็ไม่จริง แล้วถามต่อว่าเงินค่าน้ำมันจะเอามาจากที่ไหน ถึงบอกว่าจะให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มาจ่าย แต่เอาเข้าจริง อปท.ก็ไม่ได้มีรายได้นอกเหนือจากงบประมาณอุดหนุนเพียงอย่างเดียว แล้วจะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายมาสนับสนุนค่าน้ำมันรถรับส่งนักเรียนได้ เพราะฉะนั้น เหตุผล และวิธีการแก้ไขปัญหาไม่ได้ช่วยให้โรงเรียนขนาดเล็กมีคุณภาพดีขึ้น
“กลุ่มของพวกผมรวมตัวกันมาแต่ปี 2554 เคยยื่นเรื่องขอกับทางต้นสังกัด สพฐ.เพื่อบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก มีเป้าหมายจะพัฒนาให้เป็นโรงเรียนชุมชน เราเสนอของบประมาณ 200,000 บาทต่อปีนำมาบริหารจัดการทั้งจ้างครูให้เพียงพอต่อการสอนเด็กแต่ก็ไม่เคยได้รับอนุมัติ แต่การจะจ่ายเงินซื้อรถตู้คันเป็นล้านบาทกลับซื้อได้ โดยที่ผ่านมาผมเคยไปรอพบ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศึกษาธิการ ที่ทำเนียบรัฐบาล ก็ไม่มีโอกาสได้พบ ล่าสุดเมื่อเกิดประเด็นนี้ขึ้นเช้าวันพฤหัสบดีที่ 9 พ.ค.ที่ผ่านมาได้โทรศัพท์ติดต่อไปยังหน้าห้อง รมว.ศึกษาธิการ เพื่อขอได้ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโรงเรียนขนาดเล็ก เพราะผมมีความเชื่อว่าถ้า นายพงศ์เทพ ได้ฟังข้อเท็จจริงจะเข้าใจปัญหาและไม่สั่งยุบโรงเรียนแต่ก็ไม่ได้พูดคุยแต่อย่างใด”ประธานชมรมเครือข่ายโรงเรียนขนาดเล็ก ให้ความเห็น
ด้านนายปัญญา แพงเหล่า ผู้อำนวยการกลุ่มอำนวยการ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 29 จ.อุบลราชธานี แสดงความไม่เห็นด้วยกับการยุบโรงเรียนขนาดเล็กเข้าด้วยกันเพราะทำให้เสียเสาหลักของบ้านเมืองคือ บ้าน วัด โรงเรียนที่สืบทอดกันมานานเป็นร้อยปี และเป็นการทำร้ายจิตใจผู้ปกครองของนักเรียนอย่างรุนแรง เพราะโรงเรียนตามหมู่บ้าน ถือเป็นที่เชิดหน้าชูตาของชุมชนนั้น การไม่มีโรงเรียนเหลืออยู่ในหมู่บ้าน จึงเป็นเรื่องที่ผู้ปกครองรับไม่ได้แน่นอน
ที่สำคัญคือ วัตถุประสงค์ของการยุบโรงเรียนขนาดเล็กเป็นเรื่องของนักการเมืองที่มองมุมเดียว ต้องการให้มีแต่โรงเรียนขนาดใหญ่ เพื่อบริหารจัดการเงินงบประมาณได้ง่าย ทั้งที่ความจริงโรงเรียนขนาดเล็กชุมชนเป็นผู้ดูแลเรื่องค่าน้ำค่าไฟมานานแล้ว ไม่ต้องใช้จ่ายงบประมาณที่รัฐจัด ให้ด้วยซ้ำไปดังนั้น การอ้างค่ารายหัวของนักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็ก ไม่คุ้มกับค่าใช้จ่ายที่รัฐจัดให้ จึงไม่ใช่เรื่องจริง แต่เป็นเกมของนักการเมือง เหมือนการยุบเขตการศึกษาทั่วประเทศมารวมกันกว่า2 ปี แต่คุณภาพการศึกษาไม่ได้ดีขึ้นเหมือนที่พูดไว้ ตรงข้ามกลับแย่ลงเรื่อยๆ
อย่างไรก็ตาม นโยบายการยุบโรงเรียนขนาดเล็กมิใช่เพิ่งเกิดขึ้น หากแต่ดำรงอยู่มาโดยตลอด แม้กระทั่งในยุคที่มีนายชิณวรณ์ บุณยเกียรติ แห่งพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการก็เคยหยิบยกเรื่องดังกล่าวมานำเสนอ และก็เคยมีม็อบออกมาต่อต้านเช่นกัน
ที่สำคัญคือ กระทรวงศึกษาธิการมั่นใจได้อย่างไรว่า หลังยุบรวมโรงเรียนแล้วจะพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนให้ดีกว่าเดิมได้มากน้อยแค่ไหน ไม่ใช่ยุบรวมกันแล้วการเรียนการสอนยังเหมือนเดิม งบพัฒนาครู งบจัดซื้ออุปกรณ์เสริมทักษะเด็กไม่ได้เพิ่มขึ้น
ถึงตรงนี้ คำถามที่ย้อนกลับไปถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและเลขาธิการ กพฐ.ก็คือ จริงๆ แล้ว การยุบโรงเรียนขนาดเล็กเป็นนโยบายที่ถูกต้องหรือไม่ เพราะถ้าจะว่าไปแล้ว กระทรวงศึกษาธิการมิใช่หรือคือปัญหาที่ต้องแก้ไข เพราะเหตุที่ระบบการศึกษาไทยและคุณภาพของเด็กไทยต่ำเตี่ยเรี่ยดินทุกวันนี้ มิใช่เป็นเพราะการบริหารงานที่ล้มเหลวของกระทรวงศึกษาธิการหรอกหรือ
ดังนั้น แทนที่จะเสนอแนวคิดยุบโรงเรียนขนาดเล็ก ลองเปลี่ยนเป็นเสนอแนวคิดยุบกระทรวงศึกษาธิการไม่ดีกว่าหรือ เพราะไม่แน่นักว่า อาจจะทำให้คุณภาพของเด็กไทยดีวันดีขืนก็เป็นได้
ล้อมกรอบ//
เสียงค้านยุบ ร.ร.เล็ก
ดังกระหึ่มทั้งแผ่นดิน
นายวิทยา พันธุ์เพ็ง
ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลโนนคูณ จ.ศรีสะเกษ
รองประธานชมรมครูประชาบาลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ข่าวเรื่องการยุบโรงเรียนขนาดเล็กได้สร้างความรู้สึกเจ็บปวดและหวั่นวิตกให้กับ ครู อาจารย์ ชาวบ้านทั่วประเทศ และจะให้เกิดผลกระทบอย่างมากมาย ที่สำคัญนโยบายปิดโรงเรียนขนาดเล็กเป็นการฉีกกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพในการจัดการศึกษา ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศชาติ ซึ่งในมาตรา 49 กล่าวไว้ว่า บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการได้รับการศึกษาไม่น้อยกว่า 12 ปี ที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ผู้ยากไร้ ผู้พิการ ผู้ทุพลภาพ หรือผู้ที่อยู่ในภาวะยากลำบากต้องใช้รับสิทธิตามวรรค1และได้รับการสนับสนุนจากรัฐเพื่อให้ได้รับการศึกษาโดยทัดเทียมกับบุคคลอื่น ซึ่งตามกฎหมายมาตรานี้รัฐได้จัดให้โรงเรียนทั่วประเทศเพียงพอหรือยัง
เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมานักเรียนจากจังหวัดหนองคายที่เข้ามาเรียนในโรงเรียนดังแห่งหนึ่งในกรุงเทพ(มหิดลวิทยานุสรณ์)เกิดความเครียดจากการเรียน จุดไฟเผาห้องวิทยาศาสตร์มูลค่า130 ล้านบาท นี่คือโรงเรียนที่มีคุณภาพ แต่ถ้าไปเปรียบเทียบกับโรงเรียนบ้านโคกอีแล้งมีนักเรียน20 คน ได้เงินรายหัวแค่เล็กน้อย ตรงนี้เป็นปัญหาเรื่องความเสมอภาค นี่คือการฉีกกฎหมายรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกันก็ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายพ.ร.บ.การศึกษาภาคบังคับ พ.ศ.2545 มาตราที่ 4ว่าด้วยการศึกษาภาคบังคับด้วย
นายมงคล ชูทิพย์
ผู้อำนวยโรงเรียนมโนบุเรศรบำรุงการ จ.เลย
โรงเรียนนั้นผูกพันกับชุมชนมาช้านาน ยิ่งโรงเรียนนี้แล้ว ชาวบ้านมีความภาคภูมิใจในชื่อโรงเรียน ซึ่งโรงเรียนนี้ก็มีนักเรียนต่ำกว่า 60 คน โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนที่ชื่อพระราชทาน จากสมเด็จย่า
ชาวบ้านหวงแหนและถือเป็นประวัติศาสตร์ของจังหวัดเลย มีความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้าน กับสถาบันพระมหากษัตริย์ ชาวบ้านในหมู่บ้านสามารถร่วมแก้ปัญหาในชุมชนและโรงเรียนได้ เป็นจุดบริการชุมชนในด้านวิชาการต่างๆ ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โรงเรียนเป็นเหมือนสถาบันในหมู่บ้าน
นางอรทัย มีชนะ
ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดมะม่วงสองต้น อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช
โรงเรียนแห่งนี้เป็นโรงเรียนดีประจำตำบล ชาวบ้านมีความรู้สึกรัก และผูกพัน ไม่เชื่อว่าจะสามารถยุบได้จริง เพราะก่อนหน้านี้โรงเรียนขนาดเล็กกว่านี้มากมีนักเรียนไม่ถึง 10 คนยังไม่สามารถยุบได้ และเชื่อว่าหากยุบจริงชาวบ้านคงไม่ยอม
นางดารี ประหยัดทรัพย์
ครูโรงเรียนบ้านท่าโพธิ์ อ.สะเดา จ.สงขลา
ไม่เห็นด้วยกับการยุบโรงเรียนขนาดเล็กว่า จะทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณ รัฐบาลน่าจะช่วยเหลือในเรื่องนี้ รู้สึกสงสารเด็กในชุมชนที่จะต้องย้าย หรือหาโรงเรียนใหม่ที่ไกลจากบ้าน และมีค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งอาจส่งผลทำให้เด็กบ้างคนไม่ได้เล่าเรียนต่อ อาจจะต้องอยู่บ้านแทน ถ้าหากโรงเรียนขนาดเล็กเปิดสอนปกติจะเปิดโอกาสให้เด็กที่ด้อยโอกาสในการเรียนได้มีการศึกษา พนักงาน และข้าราชการครูจะได้สอนในโรงเรียนเดิมไม่ต้องโยกย้ายไปตามโรงเรียนต่างๆ