xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่ม 16 สถาบันผลิตครู จ่อชง “จาตุรนต์” ชะลอปรับหลักสูตร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กลุ่มคณบดีครุ-ศึกษาจาก 16 สถาบันเก่าแก่ จ่อชง “จาตุรนต์” ชะลอปรับหลักสูตร อ้างเร่งรีบเกินไป ขาดการมีส่วนร่วมและขาดคนที่มีส่วนร่วมรับผิดชอบดำเนินการ พร้อมติงจะยกเครื่องใหม่แต่ทำแค่ 5-6 คนแถมใช้เวลา 6 ด.เร่งรีบเกินไปเมื่อเปรียบเทียบกับตอนปรับหลักสูตรพื้นฐาน ปี 51 ต้องใช้เวลากว่า 5-6 ปี

รศ.ดร.ประพันธ์ศิริ สุเสารัจ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) เปิดเผยถึงผลการว่า เสวนาเสวนา “หลักสูตรใหม่ : วิกฤติหรือโอกาส” ซึ่งที่ประชุมคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย กลุ่ม 16 สถาบันเก่าแก่ จัดขึ้นพร้อมเชิญนักวิชาการด้านการศึกษาเข้าร่วม ได้แก่ รศ.ดร.พฤทธิ์ ศิริบรรณพิทักษ์ อดีตคณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.ดร.สุรวาท ทองบุ คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม (มรม.) ในฐานะประธานสภาคณบดีครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ส.ค.ศ.ท.) ประเทศไทย ดร.พัทธนันท์ หรรษาภิรมย์โชค คณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) เข้าร่วมเมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ในเวทีเสวนาดังกล่าวมีการสอบถามความเห็นเกี่ยวกับการปรับหลักสูตรที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กำลังดำเนินการอยู่ซึ่ง 99% มีความเห็นร่วมกันว่า ควรชะลอการปรับหลักสูตรครั้งนี้ไปก่อน อย่างน้อย 2-3 ปี เพื่อให้การดำเนินการเกิดประสิทธิผลสูงสุดต่อผู้ที่เกี่ยวข้องในการจัดการการศึกษาและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการศึกษา
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
นอกจากนี้ ยังเห็นว่าคณะกรรมการในการพัฒนาหลักสูตรควรมาจากผู้ที่มีส่วนร่วมผิดชอบ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ นั่นคือ ควรมีผู้แทนจากนักวิชาการด้านหลักสูตร/เนื้อหาที่มาจากคณะครุศาสตร์/คณะศึกษาศาสตร์ หน่วยงานทางการศึกษา สถานศึกษาฯ, ผู้แทนจากกลุ่มผู้เรียน, ผู้แทนจากกลุ่มผู้ใช้บัณฑิต, ผู้แทนจากกลุ่มผู้ปกครอง, ผู้แทนจากองค์กรวิชาชีพ/สมาคมที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น ทั้งนี้ควรไปวิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็ง อุปสรรค ควรมีการวิจัยเพื่อประเมินผลการใช้หลักสูตรทั้งระบบให้เห็นชัดเจนว่า ปัญหาว่าเกิดจากสาเหตุอะไร เช่น จำนวนกลุ่มสาระการเรียนรู้ เนื้อหาการเรียนการสอน วิธีการจัดการเรียนการสอน ครูผู้สอน นักเรียน หรือผลการเรียนรู้ที่ตกต่ำว่าแท้จริงแล้วมาจากหลักสูตรจริงหรือไม่ เป็นต้น

เมื่อครั้งมีการปรับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานเมื่อพ.ศ. 2551 ใช้เวลาในการวิเคราะห์ข้อดี ข้อเสีย และผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องจนตกผลึกมาถึง 6 ปี แต่ครั้งนี้ ยังไม่มี การวิเคราะห์ และที่สำคัญเป็นการปรับหลักสูตรของคนกลุ่มเล็ก ๆ เพียง 5-6 คนเท่านั้นในเวลาเพียง 6 เดือน ถือว่าเร่งรีบเกินไป ดังนั้น ทางกลุ่มครุฯ/ศึกษาฯ จึงเห็นว่าศธ.ควรชะลอเรื่องนี้ไปก่อน โดย คณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย กลุ่ม 16 สถาบัน เก่าแก่ และ ส.ค.ศ.ท.จะเสนอเรื่องดังกล่าว ให้ นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ พิจารณา ” รศ.ดร.ประพันธ์ศิริ กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม การเสนอขอให้ชะลอเพราะต้องการเห็นการเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ เพื่อรองรับกระบวนการนำหลักสูตรไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยวิเคราะห์ความเสี่ยงเชิงผลกระทบในการนำหลักสูตรไปใช้ใหม่ในทุกๆ มิติที่เกี่ยวข้อง


กำลังโหลดความคิดเห็น