xs
xsm
sm
md
lg

เชื่อโจรใต้หลอก-ไม่หยุดยิง แนะรุกปลดอาวุธหยุดล้างสมอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (26 มิ.ย.) พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวถึงกรณี นายฮัสซัน ตอยิบ ตัวแทนกลุ่มบีอาร์เอ็น ได้ออกมายื่นข้อเสนอ 7 ข้อ ผ่านทางเว็บไซต์ยูทูบ โดยเรียกร้องให้ทางการไทย ถอนทหารออกจากพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า บีอาร์เอ็นได้ยื่นเอกสารรายละเอียดการปฏิบัติเพื่อลดความรุนแรงในช่วงรอมฎอน ผ่านทางเจ้าหน้าที่มาเลเซีย ในฐานะที่เป็นผู้อำนวยความสะดวก และส่งถึงตนเรียบร้อยแล้ว ในช่วงบ่ายวานนี้ (26 มิ.ย.) โดยเอกสารลายลักษณ์อักษร ที่ส่งมามี 3 ภาษาคือ ไทย อังกฤษ และมาเลเซีย ความยาว 2 หน้ากระดาษ ซึ่งเอกสารที่ส่งมา มีข้อเสนอ 7 ข้อ ที่มีรายละเอียด และข้อเรียกร้องให้ถอนทหารเหมือนกับที่ได้ยื่นข้อเสนอผ่านยูทูบ เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. โดยหัวเอกสารระบุว่า เป็นเอกสารของบีอาร์เอ็น และมีการลงชื่อ นายฮัสซัน ตอยิบ อย่างเป็นทางการด้วย
ส่วนข้อเรียกร้อง 5 ข้อเดิม ที่ได้เสนอมาก่อนหน้านี้ ยังแปลไม่เสร็จ ซึ่งหลังจากที่เราได้รับเอกสารมาแล้ว จะต้องพิจารณาร่วมกับฝ่ายความมั่นคง อาทิ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ผอ.ศอ.บต. เพื่อนำไปพิจารณา และหารือว่า จะดำเนินการกันอย่างไร โดยทุกอย่างต้องเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญไทย
" ตอนนี้อยู่ในกระบวนการหารือของฝ่ายเรา ซึ่งต้องหารือกับฝ่ายความมั่นคง เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารในพื้นที่ ศอ.บต. และประชาชน โดยใช้เวลาประมาณ 3-4 วัน จึงจะได้คำตอบจากฝ่ายเรา จากนั้นเราจะส่งผ่านกลับไปทางมาเลเซีย ว่า ทั้ง 7 ข้อเราโอเคแค่ไหน และเรามีข้อเสนออย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไม่ได้สั่งการอะไรเป็นพิเศษ เพียงแต่รับทราบ เพราะคณะทำงานพูดคุยเพื่อสันติภาพของเรามีอำนาจพิจารณาเรื่องนี้ เนื่องจากนายกฯได้มอบอำนาจให้แล้ว
ส่วนการที่ รมว.กลาโหม ประกาศจุดยืนไม่ยอมรับข้อเสนอทั้ง 7 ข้อนั้น เป็นการสะท้อนให้ บีอาร์เอ็น ได้รับรู้ว่า เราไม่ยอมรับข้อเสนอของเขา เพราะที่ผ่านมามีการตกลงกันแล้วว่า การดำเนินการต้องผ่านมาเลเซีย โดยยืนยันว่า ต้องดำเนินการไปตามรัฐธรรมนูญของไทย ส่วนกระแสข่าวว่า บีอาร์เอ็น ได้ส่งข้อเสนอ 7 ข้อนั้นให้สถานทูตประเทศต่างๆในประเทศไทยแล้วนั้น จากการตรวจสอบ ยืนยันว่า ไม่พบตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด

** "เหลิม"เฉ่งทีมเจรจาไม่เคยรายงานผลพูดคุย

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.กปต.) กล่าวว่า ยังไม่ได้กำหนดว่าจะมีการประชุม ศปก.กปต. อีกครั้งเมื่อไร แต่ในความเห็นของตน ข้อเรียกร้องดังกล่าว ไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ที่ ศปก.กปต.จะรับได้ ไม่เป็นไปตามหลักนิติรัฐ และนิติธรรม ตนเชื่อว่าที่กลุ่มบีอาร์เอ็น เรียกร้องมาเขาก็ทราบว่าเป็นไปไม่ได้ โดยเฉพาะการที่ต้องให้นายกฯ ลงนามโดยความเห็นชอบของรัฐสภา แต่ที่เขาต้องทำ เพราะต้องการหาคะแนนเสียงจากมวลสมาชิกของเขาในภาคใต้ อย่างไรก็ตาม ตนไม่อยากแสดงความคิดเห็นมาก เพราะต้องรอให้ ทาง ศอ.บต. -สมช. และผู้ที่ไปพูดคุยกับกลุ่มบีอาร์ เอ็นสรุปมาก่อน
" เขาไม่ได้บอกผมว่าไปคุยอะไรบ้าง ไม่เคยมาบอก ศปก.กปต. เพราะไม่มีเงื่อนไขว่า เขาต้องมารายงานเราเมื่อไร สรุปแล้ว 3–4 ครั้งที่เขาไปพูดคุยมายังไม่ได้รายงานมาเลย" ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า เหตุใดข้อเสนอของเรา จึงไม่มีในเชิงรุกบ้าง ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า พูดยาก เพราะต่างคนต่างทำ เมื่อถามว่า มองว่าการพูดคุยรอบหน้าควรชะลอไว้ก่อนหรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า “แล้วผมจะได้อยู่กับเขาหรือเปล่าล่ะ”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงบ่ายวานนี้ พล.ท.ภราดร พร้อมด้วย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ผอ.ศอ.บต. ได้เข้าพบ ร.ต.อ.เฉลิม ที่ห้องทำงานตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล คาดว่าเป็นการหารือถึงข้อเสนอ 7 ข้อ ของแกนนำ บีอาร์เอ็น

**เหน็บ"ทักษิณ"ติดผิดมาตั้งแต่ต้น

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า บีอาร์เอ็น แทนที่จะมีการหารือลดความรุนแรง แต่กลับมายื่นข้อเสนอให้ถอนทหารในพื้นที่ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะไม่มีหลักประกันเรื่องความปลอดภัย รวมทั้งเรื่องความรุนแรงจะลดลง ในอดีตเป็นการปรึกษากันภายใน ทำความเข้าใจกันว่าการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่และกลุ่มที่ก่อความไม่สงบจะช่วยกันอย่างไร ไม่ให้เกิดความรุนแรง ซึ่งก็ได้ผลในระดับหนึ่ง แต่การยื่นข้อเสนอเช่นนี้ ทำให้หลายคนวิจารณ์ว่า เพื่อให้รับข้อเสนอไม่ได้ จะได้ไม่มีข้อตกลงในการลดความรุนแรง การที่จะเสนออะไรโดยเอาคลิปขึ้นในเว็บไซต์ยูทูป ก็แสดงว่าไม่มีจริงใจในเรื่องนี้
นายอภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า ตนยังสงสัยว่าเหตุใดถึงไม่มีการคุยกันบนโต๊ะ หรือจะหารือกันภายใน โดยไม่ต้องผ่านมาเลเซีย และการที่ ร.ต.อ.เฉลิม ระบุว่าจะไปเจรจากลุ่มอื่น ก็พูดง่ายเหมือนเปลี่ยนวงดื่มเหล้า ดังนั้นฝ่ายเราโดยเฉพาะ สมช. ควรมีการทบทวนการเจรจา เพราะตั้งแต่ครั้งแรกที่มีการเสนอข้อเรียกร้องผ่านเว็บไซต์ยูทูป การทำแบบนี้ถือว่าละเมิดกติกา
"ครั้งนี้เป็นเรื่องที่ พ.ต.ท.ทักษิณคิด และพรรคเพื่อไทยที่ทำให้เราไปพึ่งพาทางมาเลเซีย และสันติบาลมาเลเซีย เพื่อบังคับให้คนเหล่านี้มาพูดคุย พอตั้งต้นกระบวนการผิด ปัญหาที่ตามมาจึงแก้ยาก " นายอภิสิทธิ์ กล่าว

** ไฟใต้เหมือนไข้เลือดออกรักษาไม่ถูกถึงตาย

พล.ท.สุรพล เผื่อนอัยกา อดีตเลขาฯสมช. กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า การพูดคุยถือเป็นแนวทางที่เดินมาถูกต้องแล้ว เพราะทำให้สังคมมีความกระจ่าง ว่า เขามีแนวคิดแบ่งแยกดินแดน ดังนั้นการพูดคุยจะทำให้เกิดการปรากฏตัวตน และสังคมได้ตระหนักถึงความเป็นจริง ถ้าเราเดินตามสิ่งที่บีอาร์เอ็น ยื่นขอมา อาจเป็นเรื่องที่ไม่เท่าเทียมกัน เขาอาจรวมตัวกันหยุดก่อเหตุในช่วงเดือนรอมฎอนได้ แต่เมื่อไม่พอใจ ก็กลับมาก่อเหตุใหม่ เพราะเขามีแต่ได้กับได้ เขาอาจเล่นละครหลอกเราก็ได้ และตนเชื่อว่า ถ้าเขาสามารถหยุดก่อเหตุในช่วงเดือนรอมฎอนได้ สังคมก็พร้อมที่จะให้อภัยเขา แต่หากเขาได้พื้นที่เป็นเขตปกครองพิเศษ ต่อไปอาจขยายเพื่อแบ่งแยกดินแดนได้
"ผมมั่นใจว่า การที่รัฐบาลไทยออกมาปฏิเสธข้อเรียกร้อง ทางกลุ่มบีอาร์เอ็นจะไม่ล้มโต๊ะการพูดคุย การที่เรายอมตามข้อเสนอของเขา โดยที่เขายังอยู่เฉยๆ มันยังไม่พอ เพราะเราจะไม่ได้อะไรเลย มีแต่เสียมาก หรือเสียน้อย ขั้นตอนต่อไปไม่ใช่แค่เพียงเรียกร้องให้เขาหยุดก่อเหตุ แต่จะต้องทำให้เขากลับคืนสู่สังคมไทยในปกติ มีการส่งมอบอาวุธ และหยุดการอบรมทางศาสนาที่ไม่ถูกต้อง ผมคิดว่าทางรัฐบาลเองจะต้องนำไปสู่จุดนี้ เรื่องนี้ไม่ได้เป็นเรื่องผิด เดินมาถูกต้องแล้ว เปรียบเหมือนกับการนั่งรถเมล์ หากต้องการไปสู่จุดหมายปลายทาง บางครั้งต้องมีการเปลี่ยนสายรถเมล์บ้าง ถ้านั่งเพียงสายเดียวจะไปไม่ถึงที่หมาย ต้องหาโอกาสเปลี่ยนสายในจังหวะที่เหมาะสม เพื่อรักษาทิศทางที่เราต้องการไป ทั้งนี้ผมแนะนำให้ผู้เกี่ยวข้องไปอ่านวิทยานิพนธ์ของ ดร.วันกาเดร์ เจ๊ะมาน ประธานกลุ่มเบอร์ซาตู ได้ศึกษาและเปรียบเทียบอย่างละเอียดเกี่ยวกับขบวนการก่อความไม่สงบบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า มีลักษณะอย่างไร ใช้ประเด็นอะไรในการระดมคน รวมถึงการสร้างความสนใจจากนานาชาติ และมีวัตถุประสงค์สุดท้ายอย่างไร จากรายงานจะเห็นว่า ขบวนการของเขาไม่มีความเป็นเอกภาพ แต่ถ้าเมื่อไรมีความเป็นเอกภาพ และมีตัวแทนขึ้นมา การพูดคุยต่อรอง หรือการให้ผลประโยชน์ทุกอย่างก็จะจบ ถ้าไม่ศึกษาจะกลายเป็นเหยื่อของโฆษณาชวนเชื่อ เนื่องจากเรื่องภาคใต้เปรียบเสมือนการเป็นไข้เลือดออก ไม่ใช่ไข้ธรรมดา การรักษาโดยการใช้ยาลดไข้ ที่ดูเหมือนว่าจะหายนั้น แต่อาจจะเกิดปฏิกิริยากลับทำให้เราตายในที่สุด" อดีตเลขา สมช. กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น