รายงานการเมือง
ดูเหมือนกันว่าโต๊ะพูดคุยระหว่าง “รัฐไทย” กับ “กลุ่มบีอาร์เอ็น” จะไร้วี่แววความสำเร็จที่จะนำพาให้เกิดสันติภาพขึ้นที่ปลายด้ามขวานไทย
เมื่อ “ฮัสซัน ตอยิบ” ตัวแทนคณะพูดคุยสันติภาพของบีอาร์เอ็น เลือกที่จะใช้ช่องทางผ่านสังคมออนไลน์ยื่นข้อเสนอมาถึงฝ่ายไทยอีกครั้ง แทนที่จะนำไปคุยกันบนโต๊ะที่ทางการมาเลเซียจัดการให้
แถมครั้งนี้ยังดูเป็นการ “ยอกย้อน” เงื่อนไขที่ฝ่ายไทยได้ยื่นข้อเสนอให้กลุ่มบีอาร์เอ็นหยุดก่อเหตุความไม่สงบในช่วงเดือนรอมฎอน โดย “ฮัสซัน” ใช้คำว่ารับในหลักการมาตรการลดการปฏิบัติทาง “ทหาร” ของทั้งสองฝ่าย และจะแจ้งรายละเอียดในการปฏิบัติให้ “ทางการไทย” ทราบในวันที่ 24 มิ.ย.
ซึ่งฝ่ายไทยเข้าใจว่าจะเป็นการยื่นผ่านทางการมาเลเซีย แต่ “ฮัสซัน” กลับเลือกแถลงการณ์ผ่านเว็บไซต์ยูทิวบ์
มองเป็นการ “เล่นนอกเกม” และไม่ให้ความสำคัญกับโต๊ะพูดคุยแม้แต่น้อย
เมื่อสังเกตดูการใช้ถ้อยคำของ “ฮัสซัน” ด็ดูจะแตกต่างจาก “เสธ.แมว” พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะหัวหน้าคณะฝ่ายไทย ที่ออกมาคุยโม้ก่อนแล้วว่า “กลุ่มบีอาร์เอ็น” เห็นพ้องในการลดเหตุความรุนแรงในช่วงเดือนรอมฎอน
โดย 7 เงื่อนไขของ “กลุ่มบีอาร์เอ็น” ในการลดความรุนแรงในช่วงเดือนรอมฎอนมีดังนี้
1.ให้ถอนกำลังทหารและทหารพรานจากกองทัพภาค 1, 2 และ 3 รวมทั้งตำรวจที่มาจากส่วนกลางออกจากดินแดนปาตานี คือ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) และ 5 อำเภอของ จ.สงขลา
2.แม่ทัพภาคที่ 4 ต้องถอนทหารและทหารพรานออกจากเขตหมู่บ้านในปาตานี (3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และ 5 อำเภอของ จ.สงขลา) ให้อยู่ค่ายใหญ่ของแต่ละหน่วย
3.ให้ถอนกำลังตำรวจและตำรวจตระเวนชายแดนออกจากเขตหมู่บ้านในปาตานี
4.ปล่อยบรรดา อส.(อาสารักษาดินแดน) ที่นับถือศาสนาอิสลาม ไม่ให้ประจำการตลอดช่วงเดือนรอมฎอน เพื่อที่พวกเขาจะได้สามารถปฏิบัติศาสนกิจและสามารถใช้ชีวิตกับครอบครัวได้อย่างสมบูรณ์
5.นักล่าอาณานิคมสยามไม่สามารถทำการโจมตี การสกัดถนน และการจับหรือควบคุมตัวอย่างเด็ดขาด
6.นักล่าอาณานิคมสยามไม่สามารถจัดกิจกรรมทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับเดือนรอมฎอนได้
และ 7.ขอบเขตและเงื่อนไขดังกล่างต้องมีการลงนามของนายกรัฐมนตรีของฝ่ายนักล่าอาณานิคมสยาม (รัฐสยาม) และต้องทำการประกาศในวันที่ 3 ก.ค.56
นอกจากนี้ “ฮัสซัน” ยังประกาศกร้าวอีกว่า การเจรจาสันติภาพระหว่าง “กลุ่มบีอาร์เอ็น” กับ “รัฐบาลไทย” จะไม่เกิดขึ้นตราบใดที่ไทยยังไม่ดำเนินและให้คำตอบต่อข้อเรียกร้อง 5 ข้อของ “กลุ่มบีอาร์เอ็น” ที่เสนอมาก่อนหน้านี้ ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจาก “รัฐสภาไทย”
พร้อมยกระดับการเจรจาสันติภาพเป็น “วาระแห่งชาติ” โดยจะไม่มีการ “เจรจาลับ” อีก และต้องกำหนด “สถานะ” ของ “หัวหน้าคณะตัวแทนไทย” ให้เป็น “สถานะ” ที่มั่นคงด้วย
ถือเป็นการเปิดเกมรุกครั้งสำคัญของทางบีอาร์เอ็น ซึ่งฟันธงล่วงหน้าได้เลยว่า “ทางการไทย” ไม่อาจจะดำเนินการตามข้อเสนอได้อย่างแน่นอน
เพราะการถอน “ทหาร-ทหารพราน-ตำรวจ-อาสาสมัคร” ออกจากพื้นที่ ก็ไม่ต่างกับการสูญเสียอธิปไตยดีๆนี่เอง และยังเหมือนเป็นการเปิดช่องโหว่ให้ “กลุ่มบีอาร์เอ็น” และกลุ่มผู้ไม่หวังดีอื่นๆเข้าปฏิบัติการได้ง่ายกว่าเดิม
อย่างที่ “ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง” รองนายกรัฐมนตรี ก็พูดอยู่บ่อยๆว่า คนพวกนี้เป็นโจร เชื่อคำพูดไม่ได้ แล้วอย่างนี้ใครจะกล้ารับรองว่า “กลุ่มบีอาร์เอ็น” จะหยุดก่อความรุนแรง หรือหาก “กลุ่มบีอาร์เอ็น” หยุดแล้ว แต่ “กลุ่มอื่น” อาจจะไม่หยุด
ที่สำคัญไปกว่านั้นคือจะเป็นการเปิดพื้นที่ให้ “กลุ่มบีอาร์เอ็น” เข้าไปยุยงปลุกปั่นสร้างกระแสข่าวกับประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้เกิดความเข้าใจผิดได้ง่ายมากขึ้นอีกด้วย
หากอ่านเกม ดูเจตนาของ “กลุ่มบีอาร์เอ็น” ที่รู้ดีว่าฝ่ายไทยไม่มีทางทำตามข้อเสนอได้อย่างแน่นอน แต่การเลือกชิงจังหวะข้อเงื่อนไข “สุดโต่ง” ที่เกินจะรับได้นี้มาให้ มองได้ว่าต้องการ “หยุด” การพูดคุยสันติภาพเอาไว้แค่นี้
เพราะหากย้อนกลับจุดเริ่มต้นของการพูดคุยสันติภาพ ไม่มีใครใน “กลุ่มบีอาร์เอ็น” มาด้วยความสมัครใจ แม้แต่ตัว “ฮัสซัน” เองก็ตาม ทั้งหมดถูก “มาเลเซีย” ภายใต้การนำของ “นาจิบ ราซัค” หักคอให้ขึ้นเวทีลงนามพูดคุยสันติภาพเกือบทั้งหมด
เราจึงเห็นภาพท่าทีของ “ฝ่ายการเมือง” กับ “ฝ่ายปฏิบัติการทางทหาร” ของ “กลุ่มบีอาร์เอ็น” ดำเนินการสวนทางกันทั้งหมด และที่ “พล.ท.ภราดร” ออกมาอ้างว่าการพูดคุยสันติภาพผ่านความเห็นชอบจาก “สภาบีอาร์เอ็น” จึงไม่เป็นความจริง
และในระยะหลังมีข่าวลับๆว่า “นาจิบ” เริ่มตีตัวออกห่างฝ่ายไทย เพราะเจ้าตัวสมหวังได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งให้นั่งเก้าอี้ “นายกฯมาเลเซีย” อีกครั้ง
อารมณ์หมดประโยชน์ก็ทางใครทางมัน
คณะฝ่ายไทยตั้งความหวังว่าให้ “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี จะสามารถพูดคุยกับ “นาจิบ” ให้ช่วยบีบให้ท่าทีที่แข็งกร้าวของ “กลุ่มบีอาร์เอ็น” อ่อนลง แต่ “มาเลเซีย” ไม่ได้ตอบสนอง “ไทย” เท่าที่ควร
สายสัมพันธ์ “แม้ว - นาจิบ” ดูเหมือนจะลดน้อยลงกว่าช่วงก่อนการเลือกตั้งของมาเลเซีย ผนวกข้อเสนอของ “กลุ่มบีอาร์เอ็น” ที่รุนแรงจน “ทางการไทย” ไม่มีทางที่จะปฏิบัติตามข้อเสนอได้
การพูดคุยสันติภาพก็มีหวังต้องรูดม่านปิดฉากลงในไม่ช้า ต่างฝ่ายต่างถอยเข้าที่ตั้ง วัดกำลังภายในต่อสู้กันในพื้นที่อย่างเต็มรูปแบบ
และรัฐบาลไทยต้องทบทวนบทบาทของตัวเองว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ไม่ใช่มาตกอยู่ในเกมการเมืองของใคร หรือเล่นเกมการเมืองตีกินไปวัน เพราะนั่นไม่ใช่ทางออก ไม่ใช่วิธีการแก้ไขปัญหา
บทสรุปของการ “พูดคุยสันติภาพ” เสมือนละครฉากหนึ่ง ที่ต่างฝ่ายต่างเขียนบทสมมุติตัวละครกันเล่น เป็นเรื่องราว “กำมะลอ” ที่ “คนไทย” ควรจำไว้เป็นบทเรียน