หน.ปชป.ชี้ รมว.กห.ทำถูกปัดข้อเสนอบีอาร์เอ็น เหตุไร้หลักประกันความปลอดภัย ไม่แสดงความจริงใจ งงไม่คุยบนโต๊ะต้องผ่านแต่มาเลย์ ตอก “เหลิม” เปลี่ยนกลุ่มคุยเหมือนเปลี่ยนวงเหล้า บี้ สมช.สวนจ้อผ่านยูทิวบ์ละเมิดกติกา แนะวางจุดยืนให้ชัด ย้อนแนวคิด “แม้ว” ทำปัญหา ข้องใจ ครม.มีอำนาจดันโยน กขช.ทบทวนลดราคาจำนำข้าว จวกนายกฯ อ้าง 4 สมดุล แต่ไม่ตอบสาเหตุปรับลดราคา
วันนี้ (26 มิ.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวในรายการฟ้าวันใหม่ทางบลูสกายชาแนล ถึงกรณีที่รัฐบาลไม่ยอมรับ 7 ข้อเสนอของตัวแทนบีอาร์เอ็นว่า ที่ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหมพูดถูกแล้ว เพราะการยื่นข้อเสนอเช่นนี้แทนที่จะมีการหารือลดความรุนแรง แต่กลับมายื่นข้อเสนอให้ถอนทหารในพื้นที่ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะไม่มีหลักประกันเรื่องความปลอดภัย รวมทั้งเรื่องความรุนแรงจะลดลง ในอดีตเป็นการปรึกษากันภายใน ทำความเข้าใจกันว่าการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่และกลุ่มที่ก่อความไม่สงบจะช่วยกันอย่างไรไม่ให้เกิดความรุนแรง ซึ่งก็ได้ผลในระดับหนึ่ง แต่การยื่นข้อเสนอเช่นนี้ทำให้หลายคนวิจารณ์ว่าเพื่อให้รับข้อเสนอไม่ได้ จะได้ไม่มีข้อตกลงในการลดความรุนแรง การที่จะเสนออะไรโดยให้ผ่านประเทศมาเลเซีย เอาคลิปขึ้นในเว็บไซต์ยูทิวบ์ก็แสดงว่าไม่มีจริงใจในเรื่องนี้
นายอภิสิทธิ์กล่าวต่อว่า ตนยังสงสัยว่าเหตุใดถึงไม่มีการคุยกันบนโต๊ะ หรือจะหารือกันภายในโดยไม่ต้องผ่านมาเลเซีย และการที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่าจะไปเจรจากลุ่มอื่นก็พูดง่ายเหมือนเปลี่ยนวงดื่มเหล้า ดังนั้น ฝ่ายเราโดยเฉพาะสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ควรมีการทบทวนการเจรจา เพราะตั้งแต่ครั้งแรกที่มีการเสนอข้อเรียกร้องผ่านเว็บไซต์ยูทิวบ์ การทำแบบนี้ถือว่าละเมิดกติกา เนื่องจากการพูดคุยต้องมีกรอบและกติกา การจะไปออกแถลงการณ์ว่าจะลดความรุนแรงก็ต้องมีคณะทำงานว่าขั้นตอนจะลดอย่างไร ไม่อย่างนั้นถือว่าไม่จริงใจในการร่วมกันแก้ไข ทั้งนี้ สมช.ต้องประชุมโดยให้ทุกหน่วยงานร่วมรับรู้เป็นนโยบายเช่นกันว่าเราจะมีท่าทีต่อการพูดคุยกันอย่างไร จำเป็นต้องมีจุดยืนวางเงื่อนไขที่ชัดเจน
“ครั้งนี้เป็นเรื่องที่ พ.ต.ท.ทักษิณคิด และพรรคเพื่อไทยที่ทำให้เราไปพึ่งพาทางมาเลเซียและสันติบาลมาเลเซียเพื่อบังคับให้คนเหล่านี้มาพูดคุย พอตั้งต้นกระบวนการผิด ปัญหาที่ตามมาจึงแก้ยาก” นายอภิสิทธิ์กล่าว
นายอภิสิทธิ์กล่าวถึงการลดราคาจำนำข้าวว่า ปรากฏการณ์ที่เกษตรกรหรือชาวนามาเรียกร้องไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะการลดราคาจำนำไปตันละ 3,000 บาท จาก 15,000 บาทเหลือ 12,000 บาทนั้นกระทบต่อเขาโดยตรง แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือท่าทีของรัฐบาล แล้วก็คำชี้แจงของรัฐบาลที่ยังมีความพยายามจะให้เกิดความสับสน ความหวังลมๆ แล้งๆ โดยบอกว่าให้เป็นเรื่องคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) กลับไปทบทวน ซึ่งจริงๆ แล้วนโยบายนี้เป็นนโยบายหลักของรัฐบาล และคณะรัฐมนตรีก็เป็นองค์กรสูงสุดที่จะตัดสินเรื่องนี้ ทั้งนี้ การทบทวนการปรับราคานั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เคยพูดว่าต้องให้สมดุล 4 ด้าน แต่ไม่มีคำอธิบายว่ารัฐบาลเอาเกณฑ์อะไรมามาปรับลดตัวเลขให้เหลือ 12,000 บาทต่อตัน สิ่งที่นายกฯ อ้างความสมดุล 4 ข้อ คือ 1. เรื่องความเป็นอยู่ของชาวนา 2. การพัฒนาให้สัมพันธ์กับพันธุ์ข้าว หรือคุณภาพข้าว 3. สะท้อนไปถึงราคาตลาดโลก และ 4. การรักษาวินัยการเงินการคลังให้สมดุล ซึ่งตนสงสัยว่าตกลงอะไรกันแน่ที่เป็นสาเหตุให้ต้องปรับลดราคาจำนำ ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลไม่ยอมพูด
“ถ้านายกฯ ดู 4 ข้อจริงๆ แล้ว ข้อสรุปง่ายที่สุดคือยกเลิกการจำนำข้าว แล้วไปช่วยเกษตรกรโดยตรงในเรื่องของรายได้รูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง แต่ปัญหาก็คือรัฐบาลไม่ยอมพูดความจริงว่าตัวเองคิดผิดทำผิด คิดแล้วมันเสียหาย เงินไปไม่ถึงชาวนา ทุจริตกว้างขวาง” นายอภิสิทธิ์กล่าว