xs
xsm
sm
md
lg

ปปช.พบช่องโหว่เพียบ! แจงครม.ต่อราคาเมกะน้ำได้แค่ 6.1พันล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้(18 มิ.ย.56)ที่ทำเนียบรัฐบาล นายธีรัตถ์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า นายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกคัดเลือกโครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย ได้รายงานต่อที่ประชุมถึงเรื่องการต่อรองกับกลุ่มบริษัทที่ยื่นซองประมูลโครงการบริหารจัดการน้ำ วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท ว่า สามารถเจรจาต่อรองให้ลดราคามาได้ 6,100 ล้านบาท และจากนี้จะเป็นขั้นตอนของการพิจารณาเรื่องของการร่างสัญญา ส่วนการเซ็นสัญญาน่าจะเกิดขึ้นได้ในช่วงเดือนสิงหาคม หรือกันยายน 2556 ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้กำชับในเรื่องของความเข้มงวดการจ้างที่ปรึกษาโครงการให้เป็นไปอย่างโปร่งใส และให้ประชาชนนั้นมีส่วนร่วมในการตรวจสอบโครงการ
นายปลอดประสพ สุรัสวัสดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย หรือ กบอ. เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม. เห็นชอบตามที่มีนายธงทองเสนอ รวมถึงเห็นชอบตามที่ กบอ. และรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงเสนอ ขออนุมัติกรอบวงเงินกู้ 304,000ล้านบาท เพื่อเดินหน้าดำเนินโครงการดังกล่าว หลังคณะกรรมการคัดเลือกให้ 4 บริษัทเข้ามาดำเนินการ
ซึ่งขั้นตอนหลังจากนี้จะเป็นขั้นตอนของการทำสัญญา โดยจะใช้เวลาในการร่างสัญญา 1-2 วัน ซึ่งการทำสัญญาได้แยกย่อยออกเป็นแต่ละโมดูล ซึ่งเป็นไปตามคำแนะนำหรือคิดเหมือน สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ปปช. ส่วนวงเงินที่ขอต่อรองราคาคือได้ สามารถขอลดได้ในวงเงิน 6 พันล้าน หรือคิดเป็น 2 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหลังจากนี้แล้วขั้นตอนของคณะกรรมการคัดเลือกก็จะสิ้นสุดลง แล้วเข้าสู่กระบวนการร่างสัญญา เซ็นสัญญา การคัดเลือกที่ปรึกษาโครงการ พร้อมๆ กับการตั้งคณะกรรมการกำกับโครงการ จากนั้นก็เข้าสู่ขั้นตอนของการสำรวจ ศึกษา ทำอีไอเอ ต่อไป
นายปลอดประสพ กล่าวถึงการต่อรองราคากับบริษัทที่ร่วมประมูล ว่าขณะนี้ทั้ง 4 บริษัท ได้แก่ 1. บริษัท โคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชั่น (เค วอเตอร์) 2. กลุ่มบริษัท ไอทีดี-เพาเวอร์ไชน่า เจวี (อิตาเลียนไทย) 3. กิจการร่วมค้าซัมมิท เอสยูที และ 4. กลุ่มบริษัทร่วมค้าล็อกซเล่ย์ได้ต่อรองราคาลดลง 6.1 พันล้านบาท ซึ่งได้แจ้งนายกรัฐมนตรีในที่ประชุม ครม.เรียบร้อยแล้ว
“ขั้นต่อไปคือการร่างสัญญา ซึ่งก็พร้อมที่จะดำเนินการต่อ โดยนายธงทอง ในฐานะประธานฯ จะจ้างผู้เชี่ยวชาญเข้ามาเพื่อร่างสัญญา คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือน โดยที่สัญญาฉบับไหนที่เสร็จก่อนก็จะได้ดำเนินการทำโครงการก่อน และการทำสัญญาจะเป็นสัญญาในรูปแบบที่ทาง ป.ป.ช.คิดเห็นตรงกันกับ กบอ. คือจะมีสัญญาชุดใหญ่ของโครงการในแต่ละโมดูล และมีสัญญาในชุดเล็กในโครงการที่แยกออกมา
นายปลอดประสพ กล่าวว่า เรื่องของการดำเนินการในเรื่องเงินกู้ จะมีการดำเนินการจ้างที่ปรึกษา 2 กลุ่ม ทั้งหมด 9 บริษัท ที่จะเข้ามาช่วยดูแลกำกับประสานตัวแบบว่าหลังจากที่บริษัททั้ง 4 ได้สร้างแบบขึ้นมาแล้ว มีการทำตามแบบขึ้นมาหรือไม่ ในส่วนนี้นายกฯ แนะนำมา ทั้งนี้การทำสัญญาจะมีการแยกรูปแบบสัญญา เช่น สัญญาเรื่องเขื่อน,สัญญาฟลัดเวย์ และสัญญาที่รวมกันโดยนายธงทองจะเริ่มร่างสัญญาภายใน 2 วัน ซึ่งหลังจากนี้ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับโครงการขึ้นมา โดยที่คณะกรรมชุดนี้จะมาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้โครงการได้ดำเนินการไปทั้งสิ้น 16 วัน ซึ่งช้ากว่ากำหนด 14 วันเท่านั้น และจากนี้ต้องดำเนินงานตามขั้นตอนต่อไป
ขณะนี้โครงการได้มีการใช้เงินไปทั้งสิ้นจำนวน 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากไม่มีการนำเงินออกมาใช้ก็จะยังไม่เสียดอกเบี้ย และสำหรับการกู้เงินในโครงการนี้จะไม่มีการนำเงินออกมาจนกว่าจะมีการใช้เงินเพื่อดำเนินการ โดยเงิน 6 พันล้านบาทที่ต่อรองได้ จะนำมาใช้ในส่วนของการพัฒนาเทคโนโลยีและองค์ความรู้และนวัตกรรมทางด้านน้ำ
ช่วงเช้า นายปลอดประสพ ยืนยันว่า โครงการนั้น มีความโปร่งใส และไม่ได้มีการเร่งรัดการดำเนินการแต่อย่างใด เพราะเป็นไปตามแผนที่วางไว้ทุกขั้นตอน และจะเห็นเป็นรูปธรรม ภายใน 2-3 เดือนนี้ ส่วนกรณีที่ ศาลปกครองกลาง เตรียมอ่านคำพิพากษาโครงการดังกล่าว วันที่ 27 มิ.ย.นี้ นั้น คงต้องปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ขอเรียกร้องให้ผู้ที่ต่อต้าน อย่าใช้เหตุผลทางการเมืองคัดค้าน
มีรายงานว่า คณะรัฐมนตรี ยังมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ แผนงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ ประกอบด้วย 4 แผนงาน คือ 1. แผนงานพัฒนาภาคการเกษตรและบริหารจัดการทรัพยากรชีวภาพ 2. แผนงานพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออกเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ 3. แผนงานพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อตอบสนองทิศทางการพัฒนาโลก และ 4. แผนงานวิจัยเชิงปฏิบัติเพื่ออนาคตประเทศ ทั้งนี้ ให้ใช้จ่ายจากวงเงินภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ วงเงิน10,000 ล้านบาท โดยให้นายกิตติรัตน์ ณ ระนองรองนายกฯและรมว. เป็นประธานพิจารณากลั่นกรองรายละเอียดและงบประมาณของแผนงานของหน่วยงาน และกำกับติดตามประเมินผลการดำเนินงานในแต่ละแผนงาน

**ปปช.จับตาอนุมัติผลประมูลโครงการน้ำ
นายเมธี ครองแก้ว ประธานคณะอนุกรรมการมาตรการป้องกันการทุจริตของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวว่า การที่ ครม.เห็นชอบผลการพิจารณาคัดเลือกผู้ยื่นเสนอโครงการ เป็นเรื่องที่สามารถดำเนินการได้ตามอำนาจของรัฐบาลแม้ว่าคณะกรรมการป.ป.ช.จะได้มีข้อท้วงติงไปหลายประเด็นแล้วว่าอาจจะมีความเสียงที่จะเกิดการทุจริตแล้วก็ตาม
“ ในข้อเสนอของคณะกรรมการป.ป.ช.มีความเป็นห่วงในเรื่องการให้ผู้รับจ้างต้องรับผิดชอบทั้งการออกแบบและการก่อสร้าง (Design-Build) แต่ในทางปฎิบัติป.ป.ช.จะไปก้าวก่ายและสั่งให้รัฐบาลต้องทำตามข้อเสนอของป.ป.ช.ได้" นายเมธี กล่าวและว่า ป.ป.ช.ได้ทำหน้าที่ในการเสนอมาตรการป้องกันตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จากนี้ไป ป.ป.ช.จะติดตามดูว่าภายหลังมีการดำเนินการอนุมัติไปแล้วจะเกิดการทุจริตหรือไม่และหากมีผู้มายื่นคำร้องทางคณะกรรมการป.ป.ช.ก็สามารถพิจารณาตามกฎหมายได้ทันที
ขณะเดียวกัน นายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการป.ป.ช.ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการชุดนี้ติดตามการดำเนินการของโครงการนี้ต่อไปอย่างต่อเนื่องในฐานะที่ได้ตรวจสอบเรื่องนี้มาโดยตลอดโดยถ้าพบว่ามีประเด็นไหนน่าสนใจก็ให้เสนอเข้ามาที่คณะกรรมการป.ป.ช.ได้ อย่างไรก็ตาม ในเรื่องการตรวจสอบโครงการนี้แม้ว่าป.ป.ช.จะมีอำนาจตั้งเรื่องเพื่อไต่สวนเองได้ตามมาตรา 88 ของกฎหมายดังกล่าว แต่ในทางปฏิบัติป.ป.ช.คงจะไม่ทำเพราะป้องกันการถูกครหาว่าใช้อำนาจกลั่นแกล้งฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด แต่อาจจะรอให้มีผู้เข้ามายื่นคำร้องเอง

**ศึกษากม.กู้เงิน2ล้านล.ป้องโกง
นายเมธี กล่าวว่า คณะอนุกรรมการฯได้มีหยิบยกเรื่องการตราร่างพ.ร.บ.การให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศวงเงิน 2 ล้านล้านบาท มาศึกษาและพิจารณาด้วย ซึ่งเป็นไปหนึ่งในมาตรการป้องกันการทุจริตตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ.2542
ในเบื้องต้นได้เตรียมเรียกส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะอนุกรรมการฯ โดยเมื่อได้ข้อมูลครบถ้วนแล้วคณะอนุกรรมการฯจะมาประชุมกันเพื่อจัดทำเป็นรายงานเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป เหมือนกับที่เคยเสนอมาแล้วเมื่อครั้งการพิจารณาโครงการบริหารจัดการการน้ำตามพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศพ.ศ.2555
"ยืนยันว่าป.ป.ช.ไม่ได้ใช้อำนาจไปก้าวก่ายการทำงานของรัฐบาลทั้งที่ๆกฎหมายกู้เงินยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของรัฐสภา แต่การทำงานดังกล่าวเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดและได้ให้อำนาจในการเสนอมาตรการป้องกันในกรณีที่อาจจะเกิดความเสี่ยงเกี่ยวกับการทุจริต" นายเมธี กล่าว

**แจกแผ่นพับ แพงที่สุดในโลก
เวลา 09.00 น. ที่บริเวณหน้าตึกสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นายธีรัตถ์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ร่วมกันประชาสัมพันธ์โครงการพื้นฐานด้านการคมนาคมของรัฐบาล ด้วยการ”ลงทุนขนาดใหญ่ พลิกโฉมประเทศ เพื่ออนาคตใหม่ที่ดีกว่า” ด้วยการมอบแผ่นพับดังกล่าว ให้กับน.ส.ยิ่งลักษณ์ และคณะรัฐมนตรี ซึ่งสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้จัดทำขึ้น เพื่อแจกจ่ายให้กับสาธารณชนทั่วประเทศได้รับทราบถึงโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐบาล ทั้งเรื่องการปรับปรุงระบบรถไฟที่ล้าหลังมานาน เป็นรถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่วิ่งสวนกันได้โดยไม่ต้องหยุดรอ และรถไฟฟ้าครอบคลุมกรุงเทพฯ และปริมณฑล ขยายถนนหลักให้เป็นมาตรฐาน เพิ่มท่าเรือให้การขนส่งทางน้ำเชื่อมโยงกัน ปรับปรุงด่านค้าชายแดน เพื่อเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น
ทั้งนี้ รัฐบาลขอเชิญชวนให้ประชาชนทั่วประเทศร่วมตรวจสอบและแจ้งข้อมูลการตรวจสอบโครการ 2 ล้านล้านบาท ผ่านช่องทาง E-mail : mot.transparency@mot.go.th call center 1123 และสามารถรับแผ่นพับดังกล่าวได้ที่สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล หรือทางเว็บไซต์ Thaigov.go.th

**กมธ.งบ57เพิ่มคลัง4หมื่นล.ขับเคลื่อน
ในการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 ที่มี นายวิทยา บุรณศิริ รองประธานกมธ. ทำหน้าที่ประธานการประชุมพิจารณางบประมาณ กระทรวงการคลัง ที่ได้รับการจัดสรร229,355 ล้านบาท
นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง ชี้แจงว่า งบประมาณที่รับเพิ่มขึ้นกว่า 40,000 ล้านบาทนั้น จะสามารถทำให้กระทรวงการคลัง ขับเคลื่อนแผนงานได้ตามวิสัยทัศน์ คือการเป็นเสาหลักทางการคลังและเศรษฐกิจ เพื่อการพัฒาอย่างยั่งยืน พร้อมบริหารเงินงบประมาณให้เป็นไปตามพันธนกิจที่สำคัญ
นางผ่องศรี ธาราภูมิ กรรมาธิการพรรคฝ่ายค้าน เห็นว่า การจัดสรรงบประมาณของกระทรวงการคลัง ยังไม่มีความชัดเจน บางโครงการอาจทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้ อาทิ โครงการรับจำนำข้าว รวมทั้งโครงการประชานิยมต่าง ๆ ที่รัฐบาลยังไม่สามารถชี้แจงตัวเลขการใช้จ่ายได้ ดังนั้นขอให้กระทรวงการคลัง ชี้แจงการบริหารจัดการเงินงบประมาณให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น
นายอรรถพร พลบุตร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะกรรมาธิการฝ่ายค้าน กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้รัฐบาลแปรญัตติคืนเงินจำนวน 1,200 ล้านบาท ให้กับกองทุนสวัสดิการชุมชน พร้อมให้สมาชิกกองทุนออกมาเรียกร้องกับ ส.ส.จังหวัดของตนเอง รวมไปถึงให้มีการแสดงพลังกดดันรัฐบาล เนื่องจากทางรัฐบาลได้มีการตัดงบของสถาบันองค์กรพัฒนาชุมชน จาก 5,000 กว่าล้าน เหลือเพียง 569 ล้านบาท ซึ่งไม่เคยมีการปรับมากเท่าครั้งนี้มาก่อน
กำลังโหลดความคิดเห็น