xs
xsm
sm
md
lg

จี้เปิดเมกะน้ำก่อนชงครม. หวั่นฮั้ว!ต่อรองราคาสั้นเกินจริง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้(11 มิ.ย.56) นายธงทอง จันทรางสุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี(สปน.) ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบบริหารจัดการน้ำวงเงิน 2.9 แสนล้านบาท ได้เรียกประชุมคณะทำงานฯ และได้เชิญกลุ่มบริษัทเอกชน 2 รายเข้ามาต่อรองราคาก่อสร้าง
รอบเช้าเป็นการต่อรองกับกลุ่มบริษัทค้าร่วม ล็อกซเลย์ ที่ชนะคะแนนทางเทคนิค ในโมดูล A6 และ B4 เรื่องระบบคลังข้อมูลเพื่อการพยากรณ์และเตือนภัย รวมทั้งการบริหารจัดการน้ำ วงเงินรวม 4,000 ล้านบาท ที่ได้ 91.2 คะแนน และเสนอราคาที่ 3,997.52 ล้านบาท
ส่วนช่วงบ่ายเชิญกิจการร่วมค้า ซัมมิทเอสยูที ที่ชนะคะแนนด้านเทคนิคในโมดูล B2 การจัดทำผังการใช้ที่ดิน/การใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำ รวมทั้งการจัดทำพื้นที่ปิดล้อมชุมชนและเศรษฐกิจหลัก สำหรับพื้นที่ 17 ลุ่มน้ำ วงเงินโครงการ 14,000 ล้านบาท ซึ่งกิจการร่วมค้า ซัมมิท เอสยูที ได้ 91.96 คะแนน และเสนอราคาที่ 13,933.744804 ล้านบาท
นายธงทอง กล่าวว่า หากบริษัทแรกที่ชนะการประมูลตกลงราคาไม่ได้ ก็จะเรียกเจรจาบริษัทลำดับถัดมาที่ได้คะแนนผ่านเกณฑ์ในโมดูลเดียวกันมาเจรจา ทั้งนี้ในหลักกาาต่อรองก็ต้องดูรายละเอียดของเนื้องานเพื่อให้เหมาะสมกับราคา เพื่อให้งานที่จะเกิดขึ้นในอีก 5 ปีข้างหน้าคุ้มค่ากับภาษีประชาชน โดยใช้เวลาในการเจรจากับกลุ่มบริษัทที่ชนะการประมูลตั้งแต่วันที่ 11-13 มิถุนายนนี้ ก่อนรายงานให้คณะกรรมการ กบอ. รับทราบในวันที่ 14 มิ.ย. และจากนั้นจะนำเสนอเข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 18 มิถุนายนนี้
ด้านนายสมบัติ เพ็ชรตระกูล ประธานห้างหุ้นส่วนจำกัดสามประสิทธิ์ กล่าวถึงกรณีที่กิจการร่วมค้า ซัมมิท เอสยูที ซึ่งมี หจก.สามประสิทธิ์ ได้เข้าไปร่วมทำงานได้รับการคัดเลือกว่า ถือเป็นความภาคภูมิใจอย่างมากในฐานะที่เป็นบริษัทของคนไทย เพราะกิจการร่วมค้า ซัมมิท เอสยูที ถือเป็นบริษัทของคนไทยแท้ที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องน้ำในประเทศมานาน และได้เข้ามาทำโครงการน้ำให้กับประเทศ การไม่มีต่างชาติเข้ามาเกี่ยวข้องแม้จะได้งานไม่มากเท่ากับบริษัทต่างชาติซึ่งถือมีความพร้อมมากกว่า อย่างไรก็ตาม ก่อนจะเสนอรายละเอียดได้ระดมทีมวิศวกรของบริษัท 50 กว่าคนมาระดมความคิดและจัดทำเอกสาร ส่งข้อมูลให้คณะกรรมการฯ พิจารณา ประมาณ 400 ลัง มีคณะกรรมการฯ 29 ชุดระดับปลัดกระทรวงและผู้เชี่ยวชาญเข้ามาร่วมพิจารณา ดังนั้นไม่มีนอกมีใน เพราะไม่สามารถล็อบบี้กรรมการฯชุดนี้ได้
ทั้งนี้ กิจการร่วมค้า ซัมมิท เอสยูที ได้โครงการ 1 โมดูล คือ Module B2 เกี่ยวกับการจัดทำผังการใช้ที่ดิน การใช้ประโยชน์ที่ดิน ในพื้นที่ลุ่มน้ำ รวมทั้งการจัดทำพื้นที่ปิดล้อมพื้นที่ชุมชนและเศรษฐกิจหลักในพื้นที่ลุ่มน้ำ 17 ลุ่มน้ำ งบประมาณไม่เกิน 1.4 หมื่นล้านบาท โดยต้องก่อสร้างแล้วเสร็จภายในระยะเวลา 5 ปี นอกจากนี้บริษัทยอมรับทุนจดทะเบียน400 ล้าน มีลูกหาบอีก 2 บริษัท กรรมการฯ กำหนดทีโออาร์ต้องมีผลงานย้อนหลัง 10 ปี ผลงาน 2 หมื่นล้าน บริษัทฯ มี 1.9 หมื่นล้านถือว่า มีมากที่สุดในบริษัทฯของคนไทย จึงหาลูกหาบที่เป็นบริษัทคนไทยอีก 2 บริษัทมาร่วมด้วย เพราะบริษัทใหญ่ไม่มาร่วมกับเรา ไปเข้ากับบริษัทเกาหลีและจีนหมด
"ตัวแทนของบริษัทได้ไปบรรยายให้กรรมการฯรับฟัง ไม่เคยไปวิ่งเต้น ไม่เคยสนใจว่าจะได้หรือไม่ บอกกับลูกชาย(นายพีรพล เพชรตระกูล )ซึ่งร่วมรวบรวมเอกสารไปว่าให้เตรียมใจไว้เนื่องจากมีทุนจดทะเบียนแค่ 400 ล้าน ปรากฎว่า กิจการร่วมค้า ซัมมิท เอสยูที ผ่านการรับรองแม้จะเป็นบริษัทเล็ก ทุนจดทะเบียนน้อย แต่ธนาคารกรุงเทพ ให้เครดิตเพราะทำงานกับสามประสิทธิมากว่า 20 ปี ถ้าได้โครงการเป็นแสนล้านก็จะให้การรับรอง วันนี้จึงภูมิใจมาก และจะใช้ประสบการณ์ทำงานให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติมากที่สุด"
ที่รัฐสภานายสิงห์ชัย ทุ่งทอง ส.ว.อุทัยธานี ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี และกิจการโทรคมนามคม วุฒิสภา กล่าวว่า ได้ตั้งคณะอนุกรรมาธิการติดตามนโยบายการแก้ปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมในงบประมาณ3.5แสนล้านบาทโดยมีตนเป็นประธานซึ่งได้วางกรอบการพิจาณาเพื่อติดตาม เกาะติดทั้ง 9 โมดูล โดยจะเน้นไปที่ประโยชน์สูงสุดของโครงการว่าเป็นไปเพื่อประเทศชาติและประชาชนจริงหรือไม่
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตั้งข้อสังเกตถึงการต่อรองราคาเห็นว่าที่ใช้เวลาสั้นมาก เพราะต้องสรุปส่งให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาภายในสัปดาห์หน้า ทำให้มีจุดอ่อนว่าจะไปต่อรองอะไรกับใคร เมื่อรู้อยู่แล้วว่ารัฐบาลจำเป็นต้องกู้เงินภายในสิ้นเดือนนี้ แต่ขณะนี้ประชาชนยังไม่รับรู้รายละเอียดของโครงการต่างๆ เช่น การสร้างอ่างเก็บน้ำ การสร้างเขื่อน ที่ยังไม่ทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่
อีกทั้งเรื่องการฮั้วจะมีหรือไม่ แต่กลุ่มบริษัทที่เข้าประมูลมีเพียง 4 กลุ่ม เพราะเจ้าใหญ่ 2 เจ้าถอนตัวออกไปทำให้การแข่งขันครั้งนี้มีข้อจำกัดมาก ขณะที่การรวมกลุ่มโครงการจะทำให้การตรวจสอบราคาค่างานต่างๆ คำนวณออกมาเป็นอย่างไร จะทำให้มีปัญหาอีก ทั้งนี้ตนตั้งข้อสังเกตข้อเสนอราคามีการเสนอในการประมูล เหตุใดพอดีกับวงเงิน ก็ต้องมีการตรวจสอบต่อไปรวมทั้งตรวจสอบกระบวนการจัดทำทีโออาร์ที่มีทักท้วงก่อนหน้านี้ว่าไม่โปร่งใส
นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าวเรียกร้องให้รัฐบาล เปิดเผยรายละเอียด เพื่อให้ประชาชนทราบ โดยขณะนี้ ฝ่ายกฎหมายของพรรค เตรียมใช้สิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูล ตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร เพื่อตรวจสอบโครงการของรัฐบาล ที่อาจมีการทุจริต ที่พบว่ามีการลดภาระงบประมาณเพียง 73 ล้านบาท เท่านั้น
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอุเทน ชาติภิญโญ อดีตประธานคณะกรรมการประธานผันน้ำลงทะเล ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือ ผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ยื่นหนังสือถึงน.ส.ยิ่งลักษณ์ เพื่อขอให้เปิดเผยร่างสัญญาโครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้าง เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบและมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น หลังจากที่เคยยื่นก่อนการเปิดซอง
ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา มีนายบุญส่ง โควาวิสารัช ส.ว.แม่ฮ่องสอน ประธานคณะกรรมาธิการฯเป็นประธานการประชุม โดยที่ประชุมได้พิจารณาโครงการบริการจัดการน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย
นายปรเมศวร์ มินศิริ กรรมการผู้จัดการบริษัทบัณฑิต เซ็นเตอร์ จำกัด หรือเจ้าของเว็บไซต์ชื่อดัง "ไทยฟลัด" ชี้แจงว่า การที่กบอ. จะนำผลการเปิดซองประมูลโครงการบริหารจัดการน้ำเข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรีใน วันที่ 18 มิ.ย.นี้ ตนมีความสงสัยว่าประชาชนจะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเกี่ยวกับโครงการได้อย่างไร
นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยว่า สมาคมฯได้รับหมายแจ้งคำสั่งศาลในคดีหมายเลขดำที่ 940/2556 คดีระหว่างสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนกับพวกรวม 45 คน ฟ้องนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการ กนอช. คณะกรรมการ กบอ. คณะกรรมการ กยน. ต่อศาลปกครองกลาง โดยศาลได้กำหนดวันพิพากษาในคดีดังกล่าวในวันพฤหัสที่ 27 มิ.ย. 56 เวลา 13.00 น. ณ ห้องพิจารณาคดีที่ 8 ชั้น 3 ศาลปกครองกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาตอบโต้กรณีข้อกล่าวหามีการออมชอมเอื้อประโยชน์บริษัทใด บริษัทหนึ่ง ว่าไม่เป็นความจริง ยืนยันว่าคณะกรรมการ กบอ.ดำเนินการอย่างโปร่งใส มีการคัดเลือกและแข่งขันถึง 3 ขั้นตอน ตั้งแต่ขั้นตอนการพิจารณาคุณสมบัติของผู้สนใจเสนอกรอบความคิดจาก 34 กลุ่ม 114 บริษัท ขั้นตอนเสนอกรอบความคิด 6 กลุ่ม 30 บริษัท จนถึงขั้นตอนการประกวดราคาสุดท้ายเหลือ 4 กลุ่ม 11 บริษัท ซึ่งในการเสนอราคาในแต่ละโมดูล ไม่มีโมดูลใดที่มีผู้ยื่นข้อเสนอรายเดียว แต่ละโมดูลมีผู้ยื่นข้อเสนอ 2-3 ราย และคณะอนุกรรมการที่ทำหน้าที่ตัดสินมีมากถึง 53 คน มีทั้งผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีการพิจารณาตัดสินเป็นลายลักษณ์อักษรบันทึกไว้อย่างชัดเจน สามารถตรวจสอบได้ ไม่มีการสมยอมราคาให้กับบริษัทใด ส่วนที่มีการวิจารณ์เรื่องราคาประมูลว่าต่ำกว่ากรอบงบประมาณเพียงเล็กน้อยนั้น ยืนยันว่าราคาที่เสนอเข้ามาไม่ใช่ราคาที่จะใช้ลงนามในสัญญา คณะกรรมการจะต้องมีการต่อรองกับผู้ทีได้คะแนนสูงสุดอีกครั้งตามเกณฑ์มาตรฐานราคาของสำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากไม่ได้ราคาที่เหมาะสม จะไม่มีการจัดซื้อจัดจ้างในโมดูลนั้น ๆ และจะต้องมีการประมูลใหม่อีกครั้ง
“นายกฯต้องการให้โครงการดังกล่าวมีความโปร่งใส ปราศจากการทุจริต ซึ่งการประมูล นายกฯ ได้แสดงความพอใจ เนื่องจากไม่มีการดำเนินการใดๆ ที่มีการถ่ายทอดสด เชิญผู้ที่สนใจเข้ามาร่วมและตรวจสอบเหมือนอย่างครั้งนี้ และหากมีการต่อรองราคาจนได้ราคาที่เหมาะสมแล้ว สำนักปลัด สำนักนายกฯ จะเป็นผู้ที่เซ็นสัญญา ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกโครงการ”นายนิวัฒน์ธำรง กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น