“อุเทน” ยื่นหนังสือจี้นายกฯทบทวนโครงการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ชี้แค่โมดูล A5 ผิดปกติอื้อ ปูด อสส.อ่านสัญญาเสร็จแล้ว คาดเตรียมเซ็นสัปดาห์หน้า ขู่หากประเทศเสียหายรับผิดชอบไหวไหม สะกิด ป.ป.ช.เรียกให้ข้อมูลเพิ่มเติมสกัดโคตรโกงด่วน
วันนี้ (4 มิ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 12.00 น. นายอุเทน ชาติภิญโญ อดีตประธานคณะกรรมการผันน้ำลงทะเลทางฝั่งตะวันออก ศปภ. เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ตรวจสอบและทบทวนโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย เนื่องจากการออกทีโออาร์ของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) อาจไม่ครบถ้วน ขาดความขัดเจน และอาจจะเป็นช่องทางให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชันได้ ซึ่งอาจจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียและลดความน่าเชื่อถือของรัฐบาล โดยมี พล.ต.อ.ธวัช บุญเฟื่อง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง เป็นผู้รับหนังสือ
ภายหลังยื่นหนังสือ นายอุเทนระบุว่า โครงการก่อสร้างทางผันน้ำในโมดูล A5 ในโครงการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท ที่ระบุว่าให้สามารถผันน้ำลงสู่อ่าวไทยไม่น้อยกว่า 1,500 ลบ.ม/วินาที และใช้งบประมาณไม่เกิน 153,000 ล้านบาทนั้น เป็นการระบายน้ำที่เกินขีดความสามารถของแม่น้ำเจ้าพระยา เพนสะหากไม่มีน้ำหลากก็จะไม่มีน้ำมาเข้าทางผันน้ำที่สร้างขึ้น หรือหากนำน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ปัจจุบันสามารถระบายน้ำอยู่ที่ 2,000 - 2,500 ลบ.ม./วินาที เข้าสู่ทางผันน้ำดังกล่าว ก็จะส่งผลให้เกิดภาวะน้ำทะเลหหนุน และส่งผลต่อการอุปโภคบริโภคของประชาชนเช่นกัน เพราะทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ในระดับที่ต่ำเกินไป
นายอุเทน กล่าวอีกว่า ในขณะที่แผนการระบายน้ำจากลุ่มน้ำเจ้าพระยา ข้ามไปยังลุ่มน้ำแม่กลอง ก็ยังถือเป็นการฝืนธรรมชาติที่ไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ อีกทั้งหากมีการดำเนินการก่อสร้างจริง ตลอดแนวก่อสร้างทางผันน้ำฝั่งตะวันตกของเจ้าพระยาที่กำหนดไว้มีความยาว 300 กิโลเมตรนั้นจะมีความกว้าง ความลึก และมีความลาดเอียงเท่าไร รวมทั้งปริมาณดินที่ขุดออกจากพื้นที่ก่อสร้างทั้งหมดมีปริมาณเท่าไร และจะนำดินเหล่านั้นไว้ที่ไหนและเป็นของใคร รายละเอียดต่างๆเหล่านี้ไม่มีปรากฎในทีโออาร์ที่นำมาใช้ในการประมูลโครงการเลย
นายอุเทน เปิดเผยด้วยว่า ภายในสัปดาห์นี้ตนจะไปสอบถามไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด เพราะทราบมาว่าได้พิจารณาร่างสัญญาจัดจ้างโครงการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ 3.5 แสนล้านบาท ทั้ง 10 โมดูล 9 สัญญาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อต้องการให้สำนักงานอัยการสูงสุดทบทวนอีกครั้ง เพราะที่ผ่านมาเวลามีข้อขัดแย้งในสัญญาที่ทางอัยการสูงสุดพิจารณา มักมีผลลัพธ์ว่าเกิดความผิดพลาดในขั้นตอนของอัยการสูงสุดทุกครั้ง หากครั้งนี้มีข้อผิดพลาดอีก สำนักงานอัยการสูงสุดก็ต้องรับผิดชอบ
“คาดว่าในการประชุม ครม.ครั้งต่อไป จะมีการพิจารณาอนุมัติผลการประมูลโครงการ 3.5 แสนล้านบาท และคาดว่าจะมีการลงนามสัญญาภายในสัปดาห์หน้า ซึ่งผมทราบว่าทางอัยการสูงสุดได้ตรวจร่างสัญญาทั้งหมดแล้ว อยากถามว่าหากเกิดความเสียหายทางอัยการสูงสุดจะรับผิดชอบไหวหรือไม่” นายอุเทน กล่าว
นายอุเทน กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ตนยังจะติดตามไปที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ถึงเรื่องร้องเรียนขอให้ตรวจสอบคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ที่ได้ออกพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท เพื่อบริหารจัดการน้ำที่ตนได้ยื่นผ่านสหประชาติไปก่อนหน้านี้ด้วย เนื่องจากผ่านมา 1 เดือนกว่าแล้วแต่ยังไม่เรียกตนไปให้ข้อมูลเพิ่มเติมแต่อย่างใด ทั้งที่มีพฤติกรรมที่ส่อให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชันอย่างมโหฬาร ซึ่งหากทาง ป.ป.ช.ยังไม่แจ้งความคืบหน้า ตนก็จะให้ทางสหประชาชาติติดตามเรื่องต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เนื้อหาในหนังสือ “โปรดช่วยตรวจสอบและทบทวนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย (โดยเฉพาะ Module A5)” ที่นายอุเทนยื่นต่อนายกฯนั้น มีการตั้งข้อสังเกตความผิดปกติของโครงการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการของรัฐบาลในหลายจุด โดยเฉพาะการระบายน้ำฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา 4 ประเด็นหลัก ดังนี้
1.วัตถุประสงค์ที่จะก่อสร้างทางผันน้ำ ให้สามารถผันน้ำลงสู่อ่าวไทยไม่น้อยกว่า 1,500 ลบ.ม./วินาที โดยใช้งบประมาณไม่เกิน 153,000 ล้านบาท เพื่อทำหน้าที่ระบายน้ำหลากที่เกินขีดความสามารถของแม่น้ำเจ้าพระยา หากมีการระบายน้ำในปริมาณดังกล่าวแล้ว จะส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำที่เหลือกักเก็บในเขื่อน ทั้งเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ อาจไม่เพียงพอต่อการใช้อุปโภค บริโภค ส่งผลถึงการขาดแคลนน้ำ เกิดภาวะน้ำแล้งได้
2.ความหว้างความลึกและระยะทางของทางผันน้ำไม่มีการระบุชัดเจนที่เท่าไร และปริมาณดินที่ขุดขึ้นมาทั้งหมดจากการก่อสร้างทางผันน้ำนี้จะเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ใด
3.ในทีโออาร์ข้อ 3.2 (2) ของโมดูล A5 มีการกำหนดให้ขุดคลองผันน้ำด้านฝั่งขวาขนานกับคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งขวาลงสู่อ่าวไทยนั้น คลองผันน้ำด้านฝั่งขวา และคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งหมายถึงคลองอะไร รวมทั้งจุดลงสู่อ่าวไทยตรงจุดไหน
และ 4.มีข้อมูลของสำนักชลประทานที่ 11 ตั้งแต่ปี 2554 ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันระบุว่า ศักยภาพของคูคลองอุปกรณ์เครื่องสูบน้ำ และประตูระบายน้ำที่มีอยู่นั้นเพียงพอต่อการรับน้ำในฝั่งตะวันออกของเจ้าพระยาตามทีโออาร์ ข้อ 3.1 ของโมดูล A5 จึงไม่จำเป็นต้องลงทุนอะไรเพิ่มเติมอีก แต่กลับมีระบุให้มีการปรับปรุงระบบชลประทานช่วงชัยนาท-ป่าสัก พร้อมส่วนต่อขยายสู่อ่าวไทย
ในช่วงท้ายของหนังสือ นายอุเทนได้เสนอว่า “หากจะมีการก่อสร้างในฝั่งตะวันออกให้ก่อสร้างคลองเช่นเดียวกับสถานีสูบน้ำสุวรรณภูมิ พร้อมประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำบริเวณบางปูใกล้สถานีสูบน้ำบางตำหรุ ซึ่งจะสามารถป้องกันพื้นที่ในส่วนตัวเมืองสมุทรปราการตลอดไปถึงบางนา พระโขนง วัฒนา ซึ่งหากมีน้ำหลากหรือฝนตกหนักก็จะไม่เกิดน้ำท่วมแน่นอน”