อดีตที่ปรึกษานายกฯ นำสื่อลงพื้นที่จังหวัดในโครงการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน แนะระบายน้ำจากสมุทรปราการลงอ่าวไทยให้ยั่งยืน ย้ำแก้น้ำท่วมต้องปล่อยลงทะเลให้เร็ว ใช้งบไม่ถึงแสนล้าน แค่ 1-1.5 หมื่นล้าน ไม่ใช้งบสิ้นเปลืองแบบ ปธ.กบอ. ชี้อุปกรณ์กรมชลฯ พัฒนาได้ รบ.อย่าตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ มีคนแย้งก็อ้าง ปชช. ยันเห็นต่างโครงการ a5 ผลาญงบแสนล้าน กระทบ ปชช. ย้อนถามของใครดีกว่า พร้อมชงนายกฯ รับห้ามไม่ได้ แต่หวังมีสำนึกใช้เงิน ปชช.
วันนี้ (27 พ.ค.) นายอุเทน ชาติภิญโญ อดีตประธานคณะกรรมการประธานผันน้ำลงทะเล ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ได้นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่บริเวณจังหวัดที่อยู่ในโครงการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ จากพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555 วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท หรือ พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้าน
โดยนายอุเทนได้เสนอแนวคิดให้มีการจัดการระบายน้ำของจังหวัดสมุทรปราการลงไปยังอ่าวไทยเพื่อป้องกันน้ำท่วมอย่างยั่งยืน ไมว่าจะเป็นสถานีสูบน้ำหรือประตูระบายน้ำตำหรุ ที่มีศักยภาพระบายน้ำได้ 1,244,160 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน สถานีบางปลาร้าและสถานีบางปลา มีศักยภาพระบายน้ำได้ 1,658,880 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซึ่งจะใช้แนวความคิดเดียวกับโครงการระบายน้ำที่สถานีสุวรรณภูมิที่สามารถระบายน้ำได้ 8,640,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ทั้งนี้ หากเราสามารถเพิ่มประตูระบายน้ำบริเวณบางปูได้ ตนมั่นใจว่าทางฝั่งตะวันออกจะไม่มีทางมีน้ำท่วม ซึ่งนั่นก็หมายความว่าถนนทางเส้นสุขุมวิทรวมไปถนนเส้นพระโขนงทั้งหมดจะไม่ประสบปัญหาเรื่องน้ำท่วมเหมือนเช่นปี 54 อย่างแน่นอน เพราะการจะแก้ปัญหาน้ำท่วมได้นั่นคือการหาทางให้น้ำไปและปล่อยออกทะเลให้เร็วที่สุด โดยจะไม่ทำให้กระทบพื้นที่รอบข้าง
นายอุเทนกล่าวต่อว่า งบประมาณในการก่อสร้างไม่รวมค่าเวนคืนที่ดินของประชาชนในภาคฝั่งตะวันออกตามแนวยุทธศาสตร์ของผมจะใช้เงินไม่ถึงแสนล้านบาท เพียงไม่ 1-1.5 หมื่นล้านก็ทำโครงการนี้ได้ โดยใช้กายภาพแม่น้ำคูคลองที่มีอยู่นำเอาไปปรับปรุงและพัฒนาเพิ่มเท่านั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องทำแบบใหญโตเหมือนที่นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) วางแผนเอาไว้ เพราะเป็นการใช้งบประมาณที่สิ้นเปลืองเกินไป
“ผมยืนยันว่าอุปกรณ์เครื่องมือที่มีอยู่ในกรมชลประทานขณะนี้เพียงพอที่จะพัฒนาได้ แต่รัฐบาลกำลังพยายามพัฒนาให้เกินกำลังตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ประเทศไทยต้องการที่จะใช้เงินให้มากเข้าไว้ ด้วยข้ออ้างว่าต้องขยายและพัฒนาประเทศ แต่กลับไม่เคยบอกว่าจะขยายอย่างไร พอมีคนแย้งก็เอาประชาชนมาอ้าง สิ่งนี้คือหายนะของข้าราชการไทย” นายอุเทนกล่าว
ทั้งนี้ นายอุเทนได้ให้สัมภาษณ์ภายหลังการลงพื้นที่ว่า TOR ของแต่ละโครงการวางระบบบริหารจัดการน้ำ A5 เป็นปัญหามากที่สุด หากจะเปรียบเทียบโครงการ a5 ของ กบอ.ที่วางไว้กับแนวทางความคิดของตนที่เสนอให้ใช้สิ่งที่มีอยู่ไม่ว่าจะเป็นคูคลองและเครื่องสูบน้ำต่างๆ ไปบูรณาการ ซึ่งสามารถพัฒนาได้ตามแผนที่ของทางทหารที่ได้จัดทำไว้ ว่าพื้นที่ต่างๆ มีความลึกความตื้นมากน้อยเพียงใด แต่เราไม่เคยเอามาใช้ หากเป็นเช่นนี้ก็จะใช้งบประมาณที่น้อยมากในภาคตะวันออก โดยทาง กบอ.บอกว่าภาคนี้จะต้องรับน้ำ 300-400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งตนมองว่าศักยภาพของเครื่องมือที่เรามีอยู่นั่นเพียงพออย่างแน่นอน โดยเราจะระบายน้ำออกได้ทันต่อสถานการณ์ ประหยัดงบประมาณและไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชน
นายอุเทนกล่าวต่อว่า ถ้าเกิดสิ่งที่ไม่คาดคิดเหมือนเช่นสถานการณ์น้ำท่วมปี 2554 เราก็สามารถเสริมเพิ่มเติมได้ในกรอบแนวพระราชดำริก็คือช่วงบางปู ที่สามารถทำเป็นคลองใหญ่เพื่อรับน้ำเช่นเดียวกบสถานีสุวรรณภูมิได้ โดยเป็นการผันน้ำออกทะเลไป สิ่งที่ได้นั้นพื้นที่ตั้งแต่สมุทรปราการไล่ยาวไปจนถึง กทม.เขตพระโขนง บางนา บางกะปิ และวัฒนา จะปลอดภัยจากเหตุการณ์น้ำท่วมอย่างแน่นอน
“ผมขอยืนยันว่ามีความคิดขัดแย้งกับ กบอ.อย่างชัดเจน โดยเฉพาะงบประมาณของโครงการ a5 ที่ กบอ.ตั้งเอาไว้กว่า 1 แสนล้านบาท และยังไปกระทบกับพื้นที่ของประชาชนอีกกว่า 4-5 หมื่นไร่ แต่ของผมใช้งบประมาณที่น้อยมากและไม่ต้องไปกระทบกับพื้นที่โดยรอบอีกด้วย ผมจึงอยากถามว่าของใครดีกว่ากัน” นายอุเทนกล่าว
นายอุเทนยังกล่าวต่อว่า กบอ.มีแนวคิดที่จะผันน้ำลงไปสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งตนอยากจะถามว่า น้ำส่วนที่เหลือในแม่น้ำเจ้าพระยาจะเหลือปริมาณมากน้อยเพียงใดและประชาชนที่ใช้แม่น้ำเจ้าพระยาจะได้รับผลกระทบหรือไม่ ทั้งนี้ตนจะทำหนังสือรวบรวมแนวคิดทั้งหมดเพื่อเสนอให้กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่งตนก็มีความคาดหวังว่าจะเป็นแนวความคิดที่ช่วยเหลือประเทศไทยได้
“สิ่งที่คาดหวังตอนนี้คือ อยากจะให้พวกเขามีสำนึกที่จะหยุดใช้งบประมาณแบบนี้ เพราะเป็นเงินของประชาชน สำหรับผมนั้นไม่สามารถไปหยุดยั้งเขาได้เลย แต่สิ่งที่พูดออกมาพูดจากประสบการณ์ และเชื่อว่าผมเป็นผู้ที่ลงพื้นที่มากกว่านายปลอดประสพ ซึ่งก็ได้แต่ขอให้นายกรัฐมนตรีไปทบทวนทีโออาร์ของโครงการรวมไปถึงกระบวนการในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมนำแล้ง” นายอุเทนกล่าว