xs
xsm
sm
md
lg

เมกะน้ำล้ม!ใครรับผิดชอบ วงเสวนา3.5แสนล.ติดใจ “ดีไซด์&บิวต์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (27พ.ค.) ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ร่วมกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นประเทศไทย โดยนายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นประเทศไทย เป็นประธานเปิดการสัมมนา โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน “เรื่องงบน้ำเพื่อชีวิต ขอร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ” โดยมีวิทยากรผู้เข้าร่วมสัมมนา ขณะที่นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ซึ่งมีรายชื่อเป็นแขกรับเชิญ ไม่ได้เดินทางมาร่วมการสัมมนาที่จัดขึ้นในครั้งนี้
ด้านนายประมนต์ กล่าวว่า โครงการนี้ยังไม่ถึงระยะสุดท้าย แต่อาจจะมีการทุจริตได้ ซึ่งตนหวังว่า กบอ.จะเปลี่ยนในวิธีการทำงาน เปลี่ยนความคิด เพราะความคิดนี้แบบน่ากลัวมาก เพราะมีผลต่อทางเศรษฐกิจอย่างมาก ทั้งนี้องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นจะจัดทำโครงการสัญญาคุณธรรมขึ้น โดยจะใช้ครั้งแรกกับกระทรวงคมนาคมในโครงการ 2 ล้านล้าน และก็จะนำมาใช้กับโครงการนี้ด้วย
นายสุวัฒน์ เชาวปรีชา นายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นด้วยกับการแก้ปัญหาน้ำท่วมของประเทศไทยให้เป็นไปอย่างยั่งยืน แต่ไม่เห็นด้วยที่ลงทุนถึง 3.5 แสนล้าน แต่รัฐบาลกลับเอาเรื่อง เวลาและจำนวนเงินที่ต้องกู้เป็นตัวตั้ง ที่อ้างเรื่องกรอบเวลา และเงินกู้เป็นตัวตั้ง แล้วรัฐบาล ยังอ้างอีกว่า ถ้าสร้างไม่ทันแล้วเกิดน้ำท่วมประเทศกลับมาอีกเหมือนเมื่อปี 2554 ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ ก็อย่างจะถามกลับบ้างว่า หากใช้เงินงบประมาณ 3.5 แสนล้านบาท แล้ว กลับแก้ปัญหาน้ำท่วมไม่ได้จริงแล้วใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ
ส่วนที่อ้างว่าการบริหารจัดการแก้ปัญหาน้ำท่วมแบบใหม่ จริงหรือไม่ เหตุใดคุณปลอดประสพ ที่รับผิดชอบโครงการน้ำนี้ จึงไปให้ความไว้วางใจบริษัทรับเหมาก่อสร้างมากเกินไป หรือไม่ การทำงานต้องมี การศึกษาความคุ้มค่าของโครงการในด้านต่างๆ แล้วเหตุใด จึงไปมอบความไว้วางใจทั้งหมดให้บริษัทรับเหมาก่อสร้าง ได้อย่างไร แล้วตอนนี้ก็ทราบมาว่าเหลือผู้รับเหมาโครงการ เพียงแค่ 2 รายใหญ่
นอกจากมีความสุ่มเสี่ยงโครงการไม่เสร็จแล้ว มันอาจจะเริ่มงานก่อสร้างไม่ได้ด้วย เพราะยังไม่ผ่านการฟังความคิดเห็นของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ เช่นการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)
ส่วนตัวก็ไม่ทราบว่าท่านปลอดประสพ มั่นใจได้อย่างไรว่า โครงการบริหารน้ำนี้ จะสามารถทำเสร็จในเวลา 5 ปี ทั้งที่ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำของประเทศทุกคน ยืนยันตรงกันว่า ไม่มีใครสามารถทำเสร็จได้ภายในเวลา 5 ปีแน่ ยิ่งไปมอบความไว้วางใจให้ผู้รับเหมาก่อสร้าง มันก็เหมือนโครงการก่อสร้างโรงพักตำรวจ 398 แห่ง ซึ่งไม่แล้วเสร็จอย่างที่เป็นข่าวที่ทราบกันอยู่ ขณะเดียวกันทราบว่าข้อมูลที่บริษัทรับเหมายื่นเข้ามามีปริมาณเป็นรถสิบล้อ
ส่วนกรณีดีไซด์แอนด์บิวท์ (สร้างไปออกแบบไป) ตนไม่เห็นด้วยตั้งแต่ต้น เพราะเร่งร้อนรวบรัดเกินไป และเมื่อรัฐบาลอ้างถึงกรณีที่จะให้มีการเซ็นสัญญากับเอกชนก่อนแล้วค่อยออกแบบก่อสร้าง หรือ ที่เรียกว่ารัฐต้องการช็อปปิ้งไอเดียของบริษัทเอกชนแล้ว ถามว่า เวลารัฐบาลทำงานรัฐก็ต้องทำงานเพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชน แต่ถ้าเป็นบริษัทเอกชนผู้รับเหมาทำงาน ก็ต้องทำงานเพื่อผลประโยชน์ของบริษัท แล้วการทำงานต้องมีหลักเกณฑ์ ถ้าปรากฏว่า มีความจำเป็นต้องทำ ก็ต้องทำ แม้เงินจะเพิ่มเป็น 5 ล้านล้านบาท ถ้าจำเป็นก็ต้องทำ แต่ถ้าไม่ก็ไม่ควรเสีย การเชิญบริษัทเข้ามาดีไซด์แอนด์บิวท์แล้วอ้างว่า บริษัทเอกชนเหล่านั้น มีประสบการณ์สามารถทำงานได้แน่นั้น แน่นอนว่าเอกชนรับเหมาก่อสร้าง ก็ต้องคิดเพื่อผลประโยชน์เขาก่อน ไม่เหมือนองค์กรไจก้าของญี่ปุ่น ที่ไม่คิดอย่างนั้น ให้ข้อมูลที่แท้จริง โดยไม่มีผลประโยชน์แอบแฝงอยู่เบื้องหลัง
นายศศินทร์ เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า ตนติดใจเรื่องเซ็นสัญญากับบริษัทรับเหมาไปก่อนแล้วมาออกแบบ ขนาดสร้างบ้านยังต้องขอดูแบบก่อนว่าทำอะไร อย่างไรบ้าง พอเลือกแบบแก้แบบแล้วชอบใจ จึงมาเรียกเซ็นสัญญา แต่พอบอกว่าเซ็นสัญญาก่อนมันก็เลยแปลก และเป็นห่วงตรงนี้ ถ้าบอกว่าเซ็นก่อนแล้วแก้สัญญาได้ ถ้าเช่นนั้นขอถามว่ามันจะไม่ส่งผลกระทบกับประชาชนในพื้นที่และผู้รับเหมาหรือ โอกาสที่จะเกิดขึ้นสูง ส่วนวิธีแก้ไขทำอย่างไร รัฐบาลไม่ใช่ตอบคนเดียวต้องถามประชาชนด้วย ผมเป็นห่วงเรื่องรัฐบาลเซ็นสัญญา อย่าลืมว่ารัฐบาลหลายรัฐบาลเซ็นสัญญาอัปยศมาแล้ว ไม่ใช่รัฐบาลนี้ การเซ็นสัญญาผิดพลาด เซ็นสัญญาไปก่อนแล้วมันอันตราย ขอดูสัญญาก่อนได้ไหม
นายเจน นำชัยศิริ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หากยังจำกันได้ เมื่อปี 2554 มีความเสียหายมากมายมหาศาล ถึง 1.4 ล้านล้านบาท ซึ่งตัวเลขนี้ ก็อาจทำให้รัฐบาลเห็นว่า การลงทุน 3.5 แสนล้านบาท คุ้มค่า กับความเสียหาย ที่เกิดขึ้น ตามธรรมดาปีหนึ่งๆ ประเทศไทย มีความเสียหายจากน้ำท่วม ประมาณ 6 พันล้านบาท คำถามคือ การบริหารจัดการดำเนินการแก้ไข ได้ดีหรือยัง หลังจากในช่วงนั้น มีการสรุปปัญหาที่เกิดขึ้นว่า ส่วนหนึ่งมาจากการบริหารจัดการที่ล้มเหลว รวมทั้งปัญหาโรงงาน หรือนิคมอุตสาหกรรม ที่อยู่ผิดที่ผิดทาง ไปอยู่ในที่ ที่ไม่ควรอยู่ รวมทั้งส่วนตัวขอติงเรื่องงบประมาณ 3.5 แสนล้านบาท ที่ไม่มีการจัดการเรื่องน้ำ
“การบริหารจัดการแก้ปัญหาน้ำท่วม ความจริงมี 3 ข้อ คือ 1. ทำดี 2. ทำเร็ว 3. ทำถูก คือ ใช้เงินน้อย 3 อย่างนี้ เอาเข้าจริง ทำได้เพียง 2 อย่างเท่านั้น ถามว่า ตอนนี้เราสามารถแก้ปัญหาระบบบริหารจัดการได้หรือยัง ไม่ใช่ดูแต่เรื่องการก่อสร้างอย่างเดียว ปัญหาโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท มันสุ่มเสี่ยงมีปัญหาในระยะยาวถึงรุ่นลูกรุ่นหลานเราได้ ก็ไม่อยากให้ลูกหลานเราก่นด่าในภายหลังว่า เราคิดออกมาได้อย่างไร ใช้อะไรคิด”
รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยภัยธรรมชาติ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า อาจารย์ ต่อตระกูล ยมนาค มีความกังวลคือเรื่อง ดีไซด์แอนด์บิวท์ ที่มีข้อจำกัด คือ โครงการที่ทำต้องมีความชัดเจน ถ้ายังไม่ชัด ก็ทำไม่ได้ ยกตัวอย่าง การทำโมดูล A1 แล้ว อาจให้ต้องทำโมดูล A5 เรื่องฟลัดเวย์ ลดลงก็ได้ รวมทั้งความชัดเจนของผู้รับเหมาว่า ต้องทำอะไร ทำตรงไหนบ้าง อย่างการที่ทีโออาร์ กำหนดวงเงินขั้นสูงสุดไว้ หากผมเป็นผู้รับเหมา ก็จะเสนอที่ดินที่มีราคาสูงสุด เพราะบริษัทเอกชนไม่ยอมเสียเปรียบอยู่แล้วทั้งนี้เห็นว่า โครงการยังขาดการศึกษาเบื้องต้น ส่วนตัวเห็นว่า ต้องกลับไปทบทวนและปรับปรุง 5 ปี
ส่วนคำถามว่า ทางออกที่ดีที่สุดในขณะนี้ ถ้าต้องเซ็นสัญญากับบริษัทเอกชนไปก่อนต้องทำอย่างไร นาย เสรี กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้น องค์กรภาคประชาชนปัจจุบันไม่เหมือนก่อน เพราะรู้มากขึ้น แล้วถ้าผู้รับเหมาไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่ก่อสร้างได้ เพราะอาจมีประชาชนต่อต้าน
ด้านนายปรเมศวร์ มินศิริ ในฐานะผู้เข้าร่วมรับฟังการเสวนา แสดงความเห็นว่า การที่คุณปลอดประสพ ไม่มาร่วมสัมมนาในวันนี้ ก็ชัดเจน เพราะวันนี้คณะผู้จัดงานคือองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น การมอบคู่มือ ในหนังสือฉบับนี้ ที่มีรูป น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และมีการระบุเป็นตัวอักษรว่า คู่มือบริหารจัดการน้ำของประเทศอย่างสมบูรณ์เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และความเข้าใจสถานการณ์น้ำของประชาชน ส่วนตัว ขอพูดอย่างนี้ก็คงได้ว่า เชื่อว่า คู่มือที่แจกมาให้ในวันนี้ เหมือนเป็นการโกหกพี่น้องประชาชน ทั้งหมด เพราะเห็นชัดเจน จากการเสวนาในครั้งนี้ว่า คู่มือนี้ มันยังไม่สามารถแก้ปัญหา น้ำท่วม น้ำแล้งได้อย่างสมบูรณ์.
วันเดียวกันนายอุเทน ชาติภิญโญ อดีตประธานคณะกรรมการประธานผันน้ำลงทะเล ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ได้นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่บริเวณจังหวัดที่อยู่ในโครงการวางระบบบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน โดยเสนอแนวคิดให้มีการจัดการระบายน้ำของจังหวัดสมุทรปราการลงไปยังอ่าวไทยเพื่อป้องกันน้ำท่วมอย่างยั่งยืน ไมว่าจะเป็นสถานีสูบน้ำหรือประตูระบายน้ำตำ-หรุที่มีศักยภาพระบายน้ำได้ 1,244,160 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน สถานีบางปลาร้าและสถานีบางปลา มีศักยภาพระบายน้ำได้ 1,658,880 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซึ่งจะใช้แนวความคิดเดียวกับโครงการระบายน้ำที่สถานีสุวรรณภูมิที่สามารถระบายน้ำได้ 8,640,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน
นายอุเทน กล่าวต่อว่า งบประมาณในการก่อสร้างไม่รวมค่าเวนคืนที่ดินของประชาชนในภาคฝั่งตะวันออกตามแนวยุทธศาสตร์ของผมจะใช้เงินไม่ถึงแสนล้านบาท เพียงไม่ 1-1.5 หมื่นล้านก็ทำโครงการนี้ได้ โดยใช้กายภาพแม่น้ำคูคลองที่มีอยู่นำเอาไปปรับปรุงและพัฒนาเพิ่มเท่านั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องทำแบบใหญโตเหมือนที่ นายปลอดประสพ วางแผนเอาไว้ เพราะเป็นการใช้งบประมาณที่สิ้นเปลืองเกินไป.
กำลังโหลดความคิดเห็น