xs
xsm
sm
md
lg

ปิดฉากอีเวนท์ละลายแม่น้ำ งบสู้น้ำ 3.5 แสนล้านส่อล่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปลอดประสพ สุรัสวดี
สะเก็ดไฟ

ดูท่ารัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการเป็นเจ้าภาพการประชุมระดับผู้นำด้านน้ำแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia Pacific water summit) ครั้งที่ 2 หรือเรียกสั้นๆว่า “ประชุมน้ำโลก” ซึ่งจัดขึ้นที่ จ.เชียงใหม่ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 14 พ.ค.จนมาถึงการปิดงานอย่างเป็นทางการเมื่อวานนี้ (20 พ.ค.) มากเป็นพิเศษ

โดยเฉพาะ “พ่องาน” อย่าง “ปลอดประสพ สุรัสวดี” รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ที่ก่อนเริ่มงานเหมือนกลัวว่าไม่มีผู้สนใจเข้าชมงาน เลยต้อง “เรียกแขก” ส่งสัญญาณไปยังองค์กรภาคเอกชน หรือ “เอ็นจีโอ” ว่า หากมีการนำม็อบมาชุมนุมจะจับขังคุก แถมเปรียบเปรยผู้ชุมนุมว่า “เป็นขยะ”

เป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลที่มักอ้างประชาธิปไตยบ่อยๆ แต่กลับปิดกั้นไม่รับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอของผู้ที่เห็นแตกต่าง โดยเฉพาะงานนี้ถือว่าเป็นโรดโชว์ของอภิมหาโปรเจ็คต์สู้น้ำ 3.5 แสนล้านอย่างไม่เป็นทางการ เพราะระดมบรรดาบริษัทเอกชนผู้เข้าร่วมประมูลมาออกบูธพร้อมหน้าพร้อมตา

และทั้งที่ใน “ทีโออาร์” โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทที่ว่า มีย้ำแล้วย้ำอีกถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน ดังนั้นน่าจะเป็นโอกาสดีที่จะรับข้อเสนอจากหลายๆฝ่ายจะช่วยอุดช่องโหว่ในการบริหารจัดการที่ดีที่สุด

แต่รัฐบาลกลับเลือกที่จะไม่สนใจ ประมาณว่า “กูแน่” ไม่ต้องฟังใครทั้งนั้น

ตลอดเกือบสัปดาห์ของงาน นอกจากผู้เข้าร่วมประชุมจากต่างชาตินับพันชีวิตแล้ว ความสนใจจากประชาชนทั่วไปก็มีน้อยมาก ภาพที่ออกมาก็ไม่ต่างจาก “อีเวนท์” ทั่วๆไปที่จ้องผลาญงบจากภาษีประชาชน ภาพการเกณฑ์นักเรียน-นักศึกษาในละแวกใกล้เคียงเข้าชมงานอย่างที่เห็นกันชินตาในทุกๆงานของภาครัฐ

ยิ่งไปกว่านั้น ยังไม่น่าเชื่อว่างานระดับโลกขนาดนี้ ผู้คนกลับสนใจเรื่องที่ “รองฯปลอดประสพ” จะรับบท “พญาเม็งราย” ร่วมแสดงละครย้อนยุค “เวียงกุมกาม” ที่รัฐบาลจัดโชว์ในงานเลี้ยงต้อนรับผู้นำชาติต่างๆ มากกว่าเนื้อหาสาระของการประชุม หรือนิทรรศการ

กลายเป็นเรื่องโจ๊กตลกโปกฮากันไป

แต่งานนี้ตัวตั้งตัวตีที่ออกมาสกัดการดำเนินการตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท อย่าง “อุเทน ชาติภิญโญ” อดีตทีมที่ปรึกษา “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี เมื่อครั้งวิกฤตน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 54 ก็ไม่พลาดที่ไปเกาะติดถึงที่ จ.เชียงใหม่ และมีการโพสต์เฟซบุ๊คแจกแจง “ข้อสังเกต”ไว้เป็นประเด็นๆอย่างสนใจ

โดย “อดีตคนใน” บอกด้วยว่า ได้มีโอกาสพูดคุยกับแต่ละบริษัทที่ร่วมประมูล โดยทั้งหมดต่างกังวลในรายละเอียดของ “ทีโออาร์” ทั้งกำหนดเรื่องเงื่อนเวลาไว้ชัดเจน แต่กลับยังไม่ได้เริ่มกระบวนการ ทั้งการจัดหาที่ดิน หรือจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบคุณภาพสิ่งแวดล้อม หรือ “อีไอเอ” ที่รู้จักกันดี

ที่น่าตกใจก็คงเป็นเรื่อง “ทีโออาร์” ที่มีเฉพาะเวอร์ชั่นภาษาไทย ไม่มีเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษอย่างไม่เชื่อ ทั้งที่ตีฆ้องร้องป่าวเชิญชวนต่างชาติเข้ามาร่วมประมูล ทำให้บริษัททหัวนอกทั้งหลายต้องแปลกันเอง เข้าใจกันเอง แน่นอนว่าทำให้เกิดการ “ตีความ” ที่อาจไม่ตรงกัน

นอกจากนี้ยังเสนอให้มีการแก้ไขปรับปรุง “ทีโออาร์” ในบางจุด แต่ยังไม่ได้รับการตอบสนองจาก กบอ.เลย เพราะหากมีการแก้ไขจริง ก็เท่ากับต้อง “ล้มโต๊ะ” นับหนึ่งว่ากันใหม่เลยทีเดียว

สรุปได้ว่า ทุกกลุ่มบริษัทขาดความมั่นใจว่า โครงการจะได้ดำเนินการตามที่วางแผนไว้อย่างสวยหรู หรือหากได้ทำจริงก็ไม่มั่นใจว่า จะทำเสร็จได้ท ันเวลา

ต่างๆเหล่านี้เป็นเสียงสะท้อนจากบรรดาบริษัทที่เข้าร่วมประมูลโปรเจ็คต์ 3.5 แสนล้านบาท ที่ถ่ายทอดผ่าน “อุเทน ชาติภิญโญ” ซึ่งได้ทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจว่า “หลังจากได้เข้าเยี่ยมชมงานแล้ว กลับมีความกังวลมากขึ้น ว่างานนี้เหนื่อยแน่ๆ”
กำลังโหลดความคิดเห็น