ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ไม่มีเสียงท้วงติงใดๆ ที่จะสามารถหยุดยั้งรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้หันกลับมาทบทวนโครงการการบริหารจัดการน้ำภายใต้วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท ที่ดันทุรังดำเนินการอย่างรวบรัดเปิดช่องรั่วไหลมโหฬาร เว้นเสียแต่คำสั่งศาลเท่านั้น และวันที่ 27 มิ.ย. ที่จะถึงนี้ ก็จะได้รู้กันว่า โครงการดังกล่าวจะยังเดินหน้าต่อไปหรือต้องกลับมาเริ่มต้นนับหนึ่งกันใหม่
ในวันดังกล่าวนั้น ศาลปกครองกลาง ได้นัดคู่กรณีมาฟังคำพิพากษาในคดีที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนร่วมกับชาวบ้านรวม 45 คน ฟ้องนายกรัฐมนตรี, คณะกรรมการน้ำ และอุทกภัยแห่งชาติ (กนอช.), คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) และ คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 56 ที่ผ่านมาว่ากระทำการไม่ชอบด้วยกฎหมายในการดำเนินโครงการน้ำ 3.5 แสนล้าน
นับเป็นคดีที่ศาลใช้เวลาในการไต่สวน แสวงหาข้อเท็จจริงจากคู่กรณีและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องรวดเร็วที่สุด และตัดสินคดีเร็วที่สุด โดยยื่นฟ้องศาลวันที่ 1 พ.ค. 56 นั่งพิจารณาคดีครั้งแรก 25 มิ.ย. 56 เพื่อให้คู่ความได้แถลงด้วยวาจาเพิ่มเติม และให้ตุลาการแถลงความเห็นตามขั้นตอน จากนั้นวันที่ 27 มิ.ย. 56 ศาลนัดพิพากษาคดีทันที สรุปรวมใช้เวลาเพียง 49 วัน หรือเดือนเศษๆ เท่านั้น
นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ถึงกับบอกว่า คดีที่ฟ้องร้องต่อศาลปกครองมากว่า 4,000 คดี ก็มีคดีนี้ที่เร็วที่สุด และเชื่อว่าเป็นคดีแรกและเป็นคดีประวัติศาสตร์ของศาลปกครองกลางเช่นกันที่ไต่สวนและพิจารณาคดีจนมีคำพิพากษาได้เร็วที่สุดนับจากเปิดศาลปกครองมากว่า 12 ปี ทั้งยังเป็นคดีที่เชื่อว่าศาลได้ใช้ “หลักการป้องกันล่วงหน้า” หรือ Precuationary Principle มาใช้ในการพิจารณาพิพากษาคดีนี้ เพื่อให้ทันกับเวลาที่รัฐบาลและกบอ.จะเซ็นสัญญากับเอกชนที่ชนะประมูลภายในวันที่ 30 มิ.ย. 56 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่รัฐบาลสามารถกู้เงินมาลงทุนแก้ไขปัญหาน้ำท่วมตามพ .ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน
เรียกได้ว่า ทั้งฝ่ายผู้ฟ้องคดีกับฝ่ายผู้ถูกฟ้อง ต่างลุ้นระทึกด้วยใจจดจ่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฟากรัฐบาลและเอกชนที่ชนะประมูล เนื่องจากงานนี้ถือเป็นกาลาดินเนอร์สุดหรูเพราะวงเงิน 3.5 แสนล้านนั้นไม่ใช่น้อยๆ เลยทีเดียว แถมกระบวนการแข่งขันในการประมูลคราวนี้ก็รวดเร็ว รวบรัด ไม่มีรายละเอียดขั้นตอนยุ่งยากเหมือนกันการประมูลงานทั่วไป ไม่ต้องทำตามกฎหมายตั้งหลายฉบับ แม้แต่ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติมระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549 ที่ถือเป็นไฟต์บังคับของการประมูลงานภาครัฐ ก็ยังได้รับการยกเว้นโดยมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)
อย่าถามว่า ได้ทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ได้รับฟังความเห็นของประชาชนก่อน ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะเอาแค่การวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการก็ยังทำกันแบบลวกๆ เท่านั้น ไม่นับว่าการออกทีโออาร์ที่เปิดช่องให้ทุจริตกันได้อย่างโจ๋งครึ่ม
แต่ไม่ว่าใครจะวิพากษ์วิจารณ์อย่างไรก็ตาม ล่าสุด เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 56 ที่ผ่านมา รัฐบาลก็ได้ประกาศรายชื่อกลุ่มบริษัทที่ชนะประมูล และกำหนดเสนอขอความเห็นชอบจากครม.ในวันที่ 18 มิ.ย.
นี่คือรายละเอียดที่นายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงถ่ายทอดสดผ่านช่อง 11 เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. ที่ผ่านมาว่า มีบริษัทที่ผ่านหลักเกณฑ์การคัดเลือกโครงการบริหารจัดการน้ำ มูลค่า 3.5 แสนล้านบาท 4 บริษัท ดังนี้ 1.บริษัท โคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชั่น (เค วอเตอร์) 2.กิจการร่วมค้า ไอทีดี พาวเวอร์ ไชน่า เจวี ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์ หรือ ไอทีดี กับบริษัท พาวเวอร์ ไชน่า จากประเทศจีน 3.กิจการร่วมค้า ซัมมิท เอสยูที และ 4.กลุ่มกิจการค้าร่วมล็อกซเล่ย์
สำหรับผลคะแนนทั้ง 9 กลุ่มงานหรือโมดูล (Module) ประกอบด้วย
โมดูล A1 สร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำปิง ยม น่าน สะแกกรัง และป่าสัก ให้ได้ความจุเก็บกัก 1,300 ล้านลูกบาศก์เมตร บริษัทไอทีดีฯ ได้ 96.43 คะแนน เสนอราคา 49,999.98บาท ราคากลาง 5 หมื่นล้านบาท, บริษัท เค วอเตอร์ ได้ 90.60 คะแนน
โมดูล A2 การจัดทำผังการใช้ที่ดินและจัดทำพื้นที่ปิดล้อม พื้นที่ชุมชนและเศรษฐกิจหลักในพื้นที่ลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่าน สะแกกรัง ท่าจีน ป่าสัก และเจ้าพระยา บริษัทไอทีดีฯ ได้ 88.78 คะแนน เสนอราคา 2.6 หมื่นล้านบาท เท่าราคากลาง บริษัทเค วอเตอร์ ได้ 85.96 คะแนน
โมดูล A3 ปรับปรุงพื้นที่เกษตร ชลประทานเหนือจังหวัดนครสวรรค์ เพื่อเก็บกักน้ำหลากชั่วคราว (แก้มลิง) บริษัท เค วอเตอร์ ได้ 90.32 คะแนน เสนอราคา 9,999.99 บาท ราคากลาง 1 หมื่นล้านบาท บริษัทไอทีดีฯ ได้ 87.72 คะแนน
โมดูล A4 โครงการปรับปรุงลำน้ำสายหลักในพื้นที่แม่น้ำยม น่าน และเจ้าพระยา บริษัท ไอทีดีฯ ได้ 90.09 คะแนน เสนอราคา 1.7 หมื่นล้านบาท เท่าราคากลาง บริษัท เค วอเตอร์ ได้ 89.87 คะแนน
โมดูล A5 การจัดทำทางผันน้ำ (ฟลัดเวย์) ทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา บริษัท เค วอเตอร์ ได้ 89.84 คะแนน เสนอราคา 1.53 แสนล้านบาท เท่าราคากลาง บริษัททีไอดีฯ ได้ 88.26 คะแนน
โมดูล A6 และ B4 ระบบคลังข้อมูลเพื่อพยากรณ์และเตือนภัย บริษัท ล็อกซเลย์ ได้ 91.02 คะแนน เสนอราคา 3,997.520 ล้านบาท ราคากลาง 4,000 ล้านบาท บริษัท เควอเตอร์ ได้ 90.07 คะแนน และบริษัทไอทีดีฯ ได้ 89.63 คะแนน
โมดูล B1 สร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำ 17 ลุ่มน้ำ บริษัท ไอทีดีฯ ได้ 94.60 คะแนน เสนอราคา 11,999.733 ล้านบาท ราคากลาง 1.2 หมื่นล้านบาท บริษัท เค วอเตอร์ ได้ 90.49 คะแนน
โมดูล B2 จัดทำผังเมืองและพื้นที่ปิดล้อมฯ 17 ลุ่มน้ำ บริษัทซัมมิทฯ ได้ 91.96 คะแนน เสนอราคา 13,933.74 ล้านบาท ราคากลาง 1.4 หมื่นล้านบาท บริษัท เค วอเตอร์ ได้ 89.42 คะแนน และบริษัทไอทีดีฯได้ 88.26 คะแนน
โมดูล B3 โครงการปรับปรุงลำน้ำใน 17 ลุ่มน้ำ บริษัทไอทีดีฯ ได้ 91.38 คะแนน เสนอราคา 5,000 ล้านบาท เท่าราคากลาง บริษัท เค วอเตอร์ ได้ 89.38 คะแนน
รวมวงเงินค่าก่อสร้างทั้ง 9 โมดูล 290,930.882 ล้านบาท จากราคากลาง 291,000 ล้านบาท
ทว่า การประมูลยังไม่ทันสะเด็ดน้ำ นายอุเทน ชาติภิญโญ อดีตประธานคณะกรรมการประธานผันน้ำลงทะเล ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ก็ออกมาถากถางการแถลงผลการคัดเลือกคราวนี้ว่า เป็นเพียงการแสดงมหกรรมจัดฉากแหกตาประชาชน พร้อมกับยืนยันว่าโครงการนี้จะทำให้ประเทศชาติเสียหายอย่างหนัก
อย่างไรก็ตาม เมื่อผ่านมาถึงขั้นนี้แล้วเรียกได้ว่า รัฐบาลมองเห็นผลสำเร็จอยู่รอมร่อ ทันแน่ๆ กับกฎหมายกู้เงินที่เหลือเวลาอีกเพียงไม่กี่วัน เว้นเสียแต่ว่าจะเกิดฟ้าผ่ากลางครันจากคำตัดสินของศาลในวันที่ 27 มิ.ย. นี้เสียก่อน
หากศาลปกครองมีคำพิพากษาเป็นไปตามคำขอท้ายคำฟ้องของสมาคมฯ ก็จะทำให้หน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกลุ่มบริษัทต่าง ๆ ที่ชนะการประกวดราคาในครั้งนี้ กลับไปเริ่มต้นปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายทั้งหมด เริ่มตั้งแต่กฎหมายรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 57 มาตรา 58 มาตรา 67 มาตรา 85 มาตรา 87 มาตรา 165 รวมทั้งกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียเข้ามามีส่วนร่วมก่อนดำเนินการใดๆ
แต่ศาลตัดสินให้เดินหน้าโครงการต่อไปได้ ก็ใช่ว่าจะราบรื่น เนื่องจากการดำเนินโครงการนี้ไม่ได้ทำตามขั้นตอนที่จะต้องทำมาตั้งแต่ต้น เอาแค่จะลงพื้นที่ก็คงมีปัญหาเจอการขับไล่เผ่นแทบไม่ทันแน่ เพราะการไปคิดย้ายคนออกจากพื้นที่ที่เคยอยู่อาศัยมาชั่วนาตาปีโดยไม่ได้รับการบอกกล่าวกันก่อนนั้น เป็นเรื่องที่ใครๆ ก็รับได้ยาก คราวนี้คงจะได้เห็นภาพรัฐบาลที่โพนทะนาว่าเชิดชูประชาธิปไตยใช้วิธีการเผด็จการขับไล่คนแน่ ๆ
ส่วนการเตรียมโกงกินอย่างมันปากนั้น ก็อย่าลืมว่า งานนี้ถูกจับตามองจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นั้น ได้ออกข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเป็นการปรามไว้ล่วงหน้าแล้ว ดังนั้นจะตุกติกกันขั้นตอนไหนหน่วยงานปราบโกงรู้แล้วและเตือนไว้แล้ว โดยชี้จุดเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดปัญหาการทุจริตและความเสียหายต่อทางราชการ นับตั้งแต่ขั้นตอนการคัดเลือกผู้รับจ้าง ที่มีอยู่น้อยรายเพราะถอนตัวกันเกือบหมด และการกำหนดขอบเขตและลักษณะงานที่มีมาตรฐานไม่แน่นอนและชัดเจน ไม่มีความละเอียด เปิดโอกาสให้คณะกรรมการคัดเลือกผู้ประมูลใช้วิธีการที่ไม่โปร่งใส ไม่เกิดการแข่งขันในการประมูลจริง อีกทั้งการประกวดราคายังไม่ได้ทำระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุฯ อีกด้วย
นอกจากนั้น การใช้วิธีการจ้างเหมาแบบเบ็ดเสร็จในรูปแบบ Design-Build คือทั้งออกแบบก่อสร้างครอบคลุมงานทุกขั้นตอนไว้ในสัญญาเดียวกัน อาจทำให้เกิดปัญหาเหมือนโครงการโฮปเวลล์ หรือบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน และการรวบรัดขั้นตอน รวมงานศึกษาความเหมาะสม การวิเคราะห์ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและการเงิน การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพ ไว้ในงานเดียวกับการออกแบบก่อสร้าง ย่อมสร้างแรงจูงใจให้ผู้รับเหมาใช้วิธีการศึกษาที่จะทำให้โครงการมีความคุ้มค่าและผ่านเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม สุขภาพ ซึ่งการทำเช่นนี้จะก่อให้เกิดกระแสต่อต้านจนโครงการล่าช้าหรือล้มเลิกไปได้
ส่วนการประกันราคาไม่ให้เกินวงเงินสูงสุดนั้น นอกจากจะไม่ช่วยป้องกันปัญหาค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าควรจะเป็นแล้ว ผู้รับจ้างยังจะออกแบบโดยลดต้นทุนก่อสร้างให้ต่ำสุด รัฐจะได้ผลงานที่ไม่คุ้มค่า และหากมีปัญหาความล่าช้าของโครงการ ที่จะทำให้ราคาค่าก่อสร้างสูงขึ้นผู้รับจ้างยังอาจเลือกล้มโครงการ ลดมาตรฐาน หรือทิ้งงานในที่สุด ไม่นับว่า การจ้างเหมาช่วงที่ต้องกระจายออกไปจำนวนมาก จะได้คุณภาพมาตรฐานและทำงานได้ทันตามกำหนดหรือไม่
ที่สำคัญคือ การให้อำนาจบริหารจัดการน้ำทุกโครงการภายใต้วงเงินกู้ 3.5 แสนล้านอยู่ในมือของสำนักงานนโยบายและบริหารน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) แต่เพียงหน่วยงานเดียว ทั้งที่ สบอช. เป็นหน่วยงานใหม่ ซึ่งไม่มีความพร้อมในการบริหารสัญญาทุกโครงการ ขณะเดียวกันอำนาจในการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกก็อยู่ภายใต้การตัดสินใจของประธาน กบอ. คือ นายปลอดประสพ สุรัสวดี เพียงคนเดียว จากเดิมอำนาจการตัดสินใจอยู่ที่รัฐมนตรีที่กำกับดูแลส่วนราชการเจ้าของโครงการ
อำนาจที่ล้นฟ้า กับช่องทางทุจริตที่เปิดอ้ารออยู่ นี่เองที่อาจทำให้นายปลอดประสพ สุรัสวดี เที่ยวด่ากราดคนที่ออกมาขวางทางทำมาหากิน ใช่ หรือไม่ใช่?
ถ้ายืนกรานว่าไม่ใช่ แต่ไม่ปรับปรุงแก้ไขดำเนินการต่างเพื่อปิดช่องโหว่และยังเสี่ยงดำเนินการตามแนวทางที่กำหนดกันไว้แล้ว จนทำให้เกิดผลกระทบและประชาชนเดือดร้อน ประเทศชาติเสียหาย คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ขอให้คณะรัฐมนตรีกำหนดให้มีบุคคลที่ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำดังกล่าวด้วย
แน่นอนคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน กบอ. และนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ย่อมไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบในการดำเนินการที่จะเกิดความเสียหายใหญ่หลวงตามมานี้ได้