xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลอุบตัวเลขชนะประมูลจัดการน้ำ รอ ครม.อนุมัติ 18 มิ.ย.คาดปลาย ต.ค.เซ็นสัญญา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (แฟ้มภาพ)
นายกฯ ส่ง “นิวัฒน์ธำรง-ธงทอง” จัดรายการแทน “สายสวรรค์” รับบทพิธีกรใหม่ รมต.สำนักนายกฯ เล่าเหตุกู้จัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน ยันให้ชาวบ้านในพื้นที่มีส่วนร่วมศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม อ้างใช้เงินมีรายละเอียดชัด โบ้ยถ้าเห็นโกงให้ไปฟ้อง ป.ป.ช.เอา ลั่นปฏิบัติตามขั้นตอนเคร่งครัด ท่องคาถาประมูลโปร่งใส เป็นธรรม แต่ไม่เปิดตัวเลข บอกต้องรอ ครม.อนุมัติอังคารนี้ก่อน คาดเซ็นสัญญาได้ปลายตุลาฯ

วันนี้ (15 มิ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 08.00 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมจัดรายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน เพื่อชี้แจงถึงโครงการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท โดยมี น.ส.สายสวรรค์ ขยันยิ่ง ทำหน้าที่พิธีกรดำเนินรายการ

โดยนายนิวัฒน์ธำรงกล่าวว่า เมื่อปี 2554 ที่มีมหาอุทกภัยตอนนั้นรัฐบาลเข้ามาใหม่ๆ เดือนกรกฎาคม เดือนสิงหาคมน้ำท่วมแล้วก็เผชิญกับเรื่องน้ำ ครั้งนั้นเป็นมหาอุทกภัยที่ทำความเสียหายให้กับประเทศมาก เบ็ดเสร็จแล้วธนาคารโลกบอกเราเสียหายไป 1.44 ล้านล้านบาท ซึ่งประชาชนมีผลกระทบประมาณ 16 ล้านคน ประมาณ 5 ล้านครัวเรือน ที่เสียหายที่ดินเกษตรกรประมาณ 11 ล้านไร่ ที่ถูกน้ำทำให้เกิดความเสียหาย สรุปแล้ว 1.44 ล้านล้านบาท ประมาณเกือบ 2% ของ GDP เป็นจำนวณมาก เพราะฉะนั้นประมาณ 12% ของ GDP เป็นเรื่องที่รัฐบาล ณ ตอนนั้นเห็นความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการที่จะไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำอีก

นายนิวัฒน์ธำรงกล่าวต่อว่า ส่วนโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ที่ได้เปิดประมูลโครงการไปเมื่อวันที่ 10 มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่มาของโครงการดังกล่าวว่าเป็นผลสืบเนื่องจากปัญหามหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นและส่งผลเสียหายต่อประเทศไทยและประชาชนอย่างมาก รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจและหามาตรการในการแก้ไขปัญหาโดยตั้งคณะกรรมการชุดต่างๆ และยึดแนวทางพระราชดำริกำหนดเป็นแผนแม่บทบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ตั้งแต่ต้นนำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยจะต้องเร่งดำเนินการในสภาวะที่โลกกำลังประสบปัญหาโลกร้อน และเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นซ้ำและจะส่งผลเสียหายต่อประเทศมากขึ้น

“นายกรัฐมนตรีย้ำว่าการดำเนินการทุกขั้นตอนจะต้องโปร่งใสและให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม จึงได้ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวมาเป็ระยะ ทั้งยังถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่ถ่ายทอดสดการประมูลให้สื่อมวลชนและประชาชนรับทราบ อีกทั้งการที่ขั้นตอนการดำเนินการตามระบบราชการมีมากและต้องใช้เวลา จึงไม่ใช่การรีบเร่งดำเนินการ เพราะมีหลายส่วนราชการทุกองค์ความรู้ของประเทศเกี่ยวข้องกับเรื่องน้ำเข้ามาร่วมกันพิจารณา ซึ่งการให้ประชาชนมีส่วนร่วม ไม่เฉพาะการรับรู้การดำเนินการเท่านั้น แต่ประชาชนยังสามารถมีส่วนร่วมในการติดตามตรวจสอบการดำเนินการแต่ละโครงการที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของตนเองได้ด้วย โดยเฉพาะด้านการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่กำหนดไว้ชัดเจนว่าประชาชนในพื้นที่จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมกับบริษัทผู้ชนะประมูล” นายนิวัฒน์ธำรงกล่าว

ส่วนที่หลายฝ่ายกังวลเรื่องการกู้เงินมาดำเนินโครงการ นายนิวัฒน์ธำรงกล่าวว่า งบประมาณที่จะต้องใช้ในแต่ละโครงการกำหนดขึ้นตามแผนแม่บทที่พิจารณาตามเนื้องาน ไม่ใช่คิดขึ้นมาเอง โดยมี 30 กว่าหน่วยงานช่วยกันพิจารณา และมีรายละเอียดชัดเจนว่าจะต้องนำไปดำเนินการเรื่องใดบ้าง เพราะบริษัทผู้ชนะประมูลจะต้องชี้แจงรายละเอียดของงบประมาณดำเนินการมาพร้อมกับโครงการแล้ว ซึ่งจากการที่รัฐบาลได้หารือกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หลายเรื่องที่เห็นพ้องกัน และมีเรื่องอื่นๆ ที่จะต้องทำเพิ่มเติมตามสัญญา รวมทั้งการติดตามตรวจสอบ ที่นอกจากจะว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาทั้งในและต่างประเทศแล้ว ยังมีภาคเอกชนที่ต่อต้านการทุจริต สถาบันการศึกษาเข้ามาร่วมติดตามตรวจสอบการดำเนินโครงการด้วย ขณะเดียวกันรัฐบาลเตรียมทำโรดโชว์ตามลุ่มน้ำต่างๆ เปิดเวทีเสวนาให้ประชาชนมีส่วนร่วมเสนอความคิดเห็นและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการ หากประชาชนพบเห็นการทุจริตสามารถแจ้งที่ ป.ป.ช.ได้ตลอดเวลา

ด้านนายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือก กล่าวว่า ในฐานะข้าราชการยืนยันว่าได้ปฏิบัติตามขั้นตอนกติกาของราชการอย่างเคร่งครัด เพื่อให้เกิดความโปร่งใส เที่ยงธรรม สามารถอธิบายต่อสาธารณะได้ มีทุกกระทวง ทบวง กรมที่เกี่ยวข้องร่วมกันกำหนดเกณฑ์การคัดเลือกโดยลงพื้นที่กำหนดแผนปฏิบัติให้เกิดความสมบูรณ์ในแต่ละโมดูล และคัดเลือกผู้ที่มีข้อเสนอที่ดีที่สุด แต่ที่ยังไม่สามารถเปิดเผยตัวเลขได้ เนื่องจากต้องนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอนุมัติในวันที่ 18 มิ.ย.นี้ก่อน ทั้งนี้ แม้ว่าคณะรัฐมนตรีจะอนุมัติแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถเซ็นสัญญาในทันทีได้ เนื่องจากจะต้องมีกระบวนการเขียนถ้อยคำในสัญญาที่จะต้องให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน คาดว่าใช้เวลา 2-3 เดือน ซึ่งจะอยู่ในกรอบเวลา 180 วันที่บริษัทเสนอมาหรือประมาณปลายตุลาคมหรือต้นพฤศจิกายน แต่คิดว่าคงจะเร็วกว่านั้น

นายธงทองกล่าวต่อว่า สาเหตุที่รัฐบาลต้องรีบประมูลโครงการ เนื่องจากไม่สามารถคาดเดาสถานการณ์อุทกภัยได้ จึงต้องมีการป้องกันไว้ล่วงหน้า อีกทั้ง โครงการดังกล่าว ไม่ได้มีการกำหนดงบประมาณไว้ล่วงหน้าอย่างที่หลายฝ่ายเข้าใจ เพราะมีการจัดทำแผนไว้ตั้งแต่ต้นแล้ว ส่วนผู้ชนะโครงการ ยืนยันว่าต้องมีการดำเนินการเรื่องการมีส่วนรวมและสิ่งแวดล้อมอย่างแน่นอน โดยจะให้ภาคเอกชน และมหาวิทยาลัย เป็นผู้ตรวจงาน ทั้งนี้หากพบการทุจริตสามารถแจ้งต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.ได้ทันที

นายธงทองกล่าวอีกว่า โครงการดังกล่าวดำเนินงานด้วยความโปร่งใส และเป็นธรรม สามารถอธิบายประชาชนได้ ส่วนที่ไม่สามารถเปิดเผยราคาประมูลได้นั้น เป็นเพราะต้องผ่านความเห็นชอบจาก คณะรัฐมนตรีในวันอังคาร ที่ 18 มิถุนายนนี้ก่อน ทั้งนี้คาดว่าจะเซ็นสัญญากับบริษัทที่ผ่านการประมูลได้ในปลายเดือนตุลาคมนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น