xs
xsm
sm
md
lg

"มาร์ค"แปรญัตติมัดกู้2ล้านล. ดักคอ"ปู"โยกเงินลงพื้นที่พท.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อวานนี้ (6มิ.ย.) มีการประชุมคณะกรรมาธิการเพื่อแปรญัตติ ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผุู้นำฝ่ายค้าน ในสภาผู้แทนราษฎร ได้อธิบายถึงความแตกต่างในการออก พ.ร.ก.เงินกู้ 4 แสนล้านบาท ในสมัยที่ตนเป็นนายกรัฐมนตรี กับการออก พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ว่า ในขณะนั้นเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ และมีการประเมินว่าต้องใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจป้องกันการถดถอยถึง 8 แสนล้านบาท โดยรัฐบาลของตนได้ออกเป็น พ.ร.ก. 4 แสนล้าน และเตรียมออกเป็น พ.ร.บ.อีก 4 แสนล้านบาท
แต่เมื่อมีการบริหารประเทศไปในระยะหนึ่ง จากเงินกู้ 4 แสนล้านบาท สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้แล้ว จึงยกเลิกการออก พ.ร.บ.เงินกู้ 4 แสนล้าน เท่ากับมีการกู้เงินนอกงบประมาณ 4 แสนล้านบาทเท่านั้น
แต่สิ่งที่รัฐบาลนี้ทำคือการออกกฎหมายเงินกู้ 2 ล้านล้าน ทั้งๆ ที่รัฐบาลไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท นอกงบประมาณ เนื่องจากตามแผนที่จะดำเนินการในแต่ละปี ใช้ประมาณ 3-4 แสนล้าน ซึ่งสามารถจัดในระบบงบประมาณปกติ โดยไม่ต้องออก พ.ร.บ.กู้เงินนอกงบประมาณก็ได้ อีกทั้งกฎหมายตราขึ้นก็มุ่งที่จะให้อำนาจรัฐบาลกู้เงินโดยไม่ต้องบอกรัฐสภา ว่าจะนำเงินไปใช้ที่ไหน อย่างไร จึงอยากให้การพิจารณาเป็นไปตามแนวทางของระบบงบประมาณปกติ เพื่อไม่ให้ขัดกับรัฐธรรมนูญ เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีการออก พ.ร.บ.เงินกู้ในลักษณะนี้
นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึงหลักคิดเกี่ยวกับกฎหมายเงินกู้นี้ว่า จะต้องไม่กระทบสถานะการเงินการคลังของประเทศ ควบคุมให้หนี้สาธารณะไม่เกิน 50 % และจะจัดงบประมาณสมดุลในปี 2560 และต้องการให้รัฐบาลต้องยืนยันว่า การกู้เงินจะไม่มีการใช้จ่ายในโครงการอื่นนอกจากที่เสนอในเอกสารประกอบต่อสภา เพราะไม่มีเหตุผลที่รัฐบาลจะไม่ยอมรับแนวคิดนี้ เนื่องจากไม่สมควรตรากฎหมายให้กระทรวงการคลังกู้เงินมากอง เพื่อใช้จ่ายตามใจชอบ ในมาตรา 3 จึงต้องเพิ่มคำนิยามว่า
โครงการ หมายถึง โครงการตามแผนยุทธศาสตร์ในเอกสารประกอบที่เสนอต่อสภา ล็อกตัวโครงการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมาย
ส่วนมาตรา 5 กระทรวงการคลังจะได้รับอำนาจในการกู้เงินไปใช้จ่ายในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตามยุทธศาสตร์ แผนงานและโครงการตามเอกสารประกอบเท่านั้น ในกรณีที่มีเงินเหลือ ก็ไม่สมควรกู้เงิน โดยโครงการอื่นที่ไม่อยู่ในเอกสารจะต้องใช้งบประมาณปกติ มิเช่นนั้นจะถือว่าจงใจออกกฎหมายนี้เพื่อหลีกเลี่ยงรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับมาตรา 6 ที่ให้อำนาจกระทรวงการคลัง ปล่อยกู้ให้หน่วยงานอื่นก็ต้องเป็นไปตามโครงการในเอกสารประกอบที่เสนอต่อสภา
จากนั้น นายจาตุรนต์ ฉายแสง รองประธานกรรมาธิการฯ ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ระบุว่า มาตรา 3 ได้ผ่านการพิจารณาของกรรมาธิการไปแล้ว และยืนยันว่า การใช้เงินกู้ 2 ล้านล้าน ต้องเป็นไปตามบัญชีแนบท้าย และเอกสารที่เสนอต่อสภา
ทำให้นายอภิสิทธิ์ สอบถามว่า กรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไปลงพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี โดยระบุว่า จะดูเรื่องถนนให้กับชาวบ้านจากเงินกู้ 2 ล้านล้าน ซึ่งไม่ได้อยู่ในเอกสาร จะอ้างยุทธศาสตร์ว่าเป็นการพัฒนาเพื่อเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ด้านการเกษตร แล้วมาใช้เงินกู้ก้อนนี้ ได้หรือไม่ นอกจากนี้ยังมีการพูดถึงโครงการทวายว่า จะดูงบจากเงินกู้ 2 ล้านล้าน ซึ่งไม่ได้อยู่ในเอกสารเช่นเดียวกัน
ดังนั้นจึงอยากถามว่า กรรมาธิการจะป้องกันอย่างไรไม่ให้ผู้บริหารนำเงินในส่วนนี้ไปลงในพื้นที่ต่างๆ โดยไม่สัมพันธ์กับเอกสารที่เสนอต่อสภา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในระหว่างนี้ได้เกิดการโต้แย้งกันระหว่าง นายจาตุรนต์ และนายอภิสิทธิ์ ซึ่งนายจาตุรนต์ อ้างแต่เพียงว่า นายกฯไม่สามารถทำได้ เพราะทุกโครงการที่จะใช้เงินกู้ 2 ล้านล้าน จะต้องเป็นไปตามบัญชีแนบท้ายเท่านั้น
ทำให้นายอภิสิทธิ์ แย้งว่าบัญชีแนบท้ายมีเพียง 2 แผ่นครึ่ง และเขียนไว้อย่างกว้าง ทำให้โครงการสร้างถนนในพื้นที่อื่นๆ สามารถนำมาอ้างว่า เป็นไปตามยุทธศาสตร์ ข้อ 3.2 ได้ ทั้งหมด จึงอยากให้เขียนกฎหมายให้ชัดเจนว่า เอกสารประกอบ คือส่วนหนึ่งของกฎหมายที่ต้องทำตาม หากไม่เป็นไปตามโครงการเหล่านี้ก็ไม่สามารถทำได้ ในขณะที่ นายจาตุรนต์ อ้างว่า มาตรา 3 ได้ผ่านความเห็นชอบของกรรมาธิการฯส่วนใหญ่ไปแล้ว
ด้านนายพิชิฏ ชื่นบาน กรรมาธิการฯ อ้างมาตรา 14 ว่ามีกรอบอยู่แล้วว่า กฎหมายมีอยู่ 2 หมวด คือ หมวดที่ 2 การเสนอ และจัดการโครงการ โดยกระบวนการอยู่ใน มาตรา 14 มีรายละเอียดโครงการที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ และแผนงานบัญชีแนบท้ายพระราชบัญญัตินี้ นายกฯ เดินทางไป จะทำถนนที่นั่น ที่นี่จากวงเงินนี้ ทำไม่ได้ถ้าไม่สอดคล้องกับบัญชีแนบท้าย และยังพาดพิงว่า การเสนอเงินกู้ไทยเข้มแข็งของรัฐบาลอภิสิทธิ์ ก็ไม่มีรายละเอียดโครงการเช่นเดียวกัน
ในระหว่างนี้ได้เกิดการโต้แย้งขึ้นอีกครั้ง ระหว่างนายอภิสิทธิ์ กับนายพิชิฏ โดยนายอภิสิทธิ์ ได้ชี้แจงสิ่งที่นายพิชิฏ พาดพิงถึงเงินกู้ไทยเข้มแข็ง ว่าไม่ได้ฟังที่ตนอธิบายในตอนต้นหรือว่ามีความแตกต่างกัน เพราะในขณะนั้นมีความจำเป็นต้องกู้เงินนอกงบประมาณ เนื่องจากสถานการณ์ในขณะนั้นการกู้เงินเต็มเพดานหนี้ตามกฎหมายวิธีการงบประมาณ จึงต้องออก พ.ร.ก. เพราะมีความจำเป็นเร่งด่วนในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่กรณีนี้ ไม่ใช่ เพราะเป็นการออกกฎหมายเงินกู้ เพื่อหลีกเลี่ยงระบบงบประมาณปกติ เป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญ และตนขอแค่ว่าทุกโครงการที่จะใช้ ให้อยู่ในเอกสารที่ส่งสภา แต่กฎหมายในขณะนี้ไม่ยอมให้ยึดเอาเอกสารเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมาย กำหนดแค่ยุทธศาสตร์ และแผนงานกว้างๆ เท่ากับว่าจะมีโครงการอื่นเข้ามาได้ ซึ่งเป็นการพิจารณาจากฝ่ายบริหารเพียงฝ่ายเดียว ตนจึงแปรญัตติ มาตรา 14 ไว้ด้วยโดยเสนอว่า เมื่อครม.พิจารณาโครงการที่ใช้เงินกู้ 2 ล้านล้านแล้ว ให้เสนอ สภา และวุฒิสภา พิจารณาอีกครั้ง เนื่องจากในขณะนี้รายละเอียดไม่เพียงพอ และการเสนอขอความเห็นชอบให้ ส.ส. และส.ว.พิจารณา ให้เสร็จภายใน 60 วัน
นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกรรมาธิการฯ อ้างว่า ทุกโครงการมีการตรวจสอบจากสภาอยู่แล้ว ตั้งแต่การพิจารณาในวาระที่ 1 และยังต้องให้แต่ละหน่วยงานอนุมัติตามขั้นตอนอยู่แล้ว และมีกรรมาธิการติดตามงบประมาณ กรรมาธิการด้านคมนาคม ก็เชิญมาชี้แจงได้ทุกโครงการ จึงไม่ต้องนำกลับเข้ามาสภาอีกครั้งหนึ่ง แม้ว่าการนำเข้าสภาจะไม่มีความเสียหาย แต่จะมีปัญหาเรื่องการบริหารให้มีประสิทธิภาพแม้จะกำหนดให้พิจารณาแล้วเสร็จภายใน 60 วันก็ตาม เพราะจะทำให้เกิดความไม่แน่นอน แม้จะมีความมั่นคงทางการเมือง แต่ก็ไม่มีความแน่นอน และควรให้ฝ่ายบริหารไปดำเนินโครงการได้ตามแผนงานที่กำหนด เพราะการเป็นเงินกู้แยกออกมาเฉพาะ จะถูกจับจ้องมากกว่างบประมาณปกติด้วยซ้ำ
นางจารุวรรณ เฮงตระกูล กรรมาธิการ จากกฤษฎีกา ชี้แจงว่า หลังจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ได้มีการออก พ.ร.บ.เงินกู้ในลักษณะนี้ คือไม่มีรายละเอียดโครงการให้สภาพิจารณา ซึ่งทำมาหลายครั้งไม่ใช่ไม่เคยออกกฎหมายแบบนี้เหมือนที่นายอภิสิทธิ์เข้าใจ ทำให้นายอภิสิทธิ์ ขอรายละเอียดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.เงินกู้ ที่มีการอ้างถึง รวมทั้งให้แจ้งรายละเอียดด้วยว่า พ.ร.บ.เหล่านั้น จัดทำขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใด ทำให้นางจารุวรรณ อึกอัก ก่อนจะบอกว่าสามารถไปหาข้อมูลดูได้อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ประธานในที่ประชุม ให้นางจารุวรรณ นำข้อมูลมามอบให้กรรมาธิการฯ และนายอภิสิทธิ์ ด้วย
จากนั้นกรรมาธิการฯ เสียงข้างมากของรัฐบาล ต่างก็แสดงความเห็นยืนยันว่า จะไม่เปลี่ยนแปลงถ้อยคำตามที่นายอภิสิทธิ์ ขอแปรญัตติ ในขณะที่กรรมาธิการฯเสียงข้างน้อยจากประชาธิปัตย์ ยืนยันว่า ไม่เห็นด้วยกับกรรมาธิการเสียงข้างมาก เพราะเท่ากับปิดกั้นการตรวจสอบของรัฐสภา และยังเป็นกฎหมายที่ขัดรัฐธรรมนูญด้วย เพราะไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบวิธีการพิจารณางบประมาณ
นายอภิสิทธิ์ ยืนยันว่า จะสงวนคำแปรญัตติ เพราะเห็นว่าตามหลักของรัฐธรรมนูญ สภาต้องมีอำนาจในการตรวจสอบเงินแผ่นดินตามระเบียบวิธีพิจารณางบประมาณ นอกจากนี้ยังกล่าวกับ นางจารุวรรณ ว่าได้ตรวจสอบรายละเอียดกฎหมายเงินกู้ในเว็บไซต์ของกฤษฎีกาแล้ว ไม่พบว่ามีการออกพ.ร.บ. เงินกู้ เหมือนที่นางจารุวรรณระบุ แต่ออกเป็น พ.ร.ก. นอกจากนี้ขอแปรญัตติใน มาตรา 15 ให้กำหนดว่า จะใช้ระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการพัสดุมาใช้ ไม่ใช่การออกระเบียบใหม่โดยมติ ครม.
นางจุฬารัตน์ สุธีธร ผอ.สำนักบริหารหนี้สาธารณะ กล่าวถึงระเบียบที่กำหนดตาม มาตรา15 ว่าจะครอบคลุมมากกว่า ระเบียบว่าด้วยการพัสดุ แต่หลักการคืออิงตามระเบียบฉบับดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ยังมีระเบียบอื่น เช่น หน่วยงานที่ไม่อยู่ในบังคับของสำนักนายกฯ ก็ต้องอยู่ตามระเบียบจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงาน
ด้านนายวราเทพ กล่าวว่า จะยึดระเบียบสำนักนายกฯเป็นหลัก แต่ก็สามารถยกเว้นได้ในกรณีที่มีความจำเป็น แต่ต้องทำให้เกิดการยอมรับว่าระเบียบที่ออกใหม่จะมีความโปร่งใส ซึ่งเชื่อว่าไม่ต่างกับระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการพัสดุ เพราะหากไม่ทำตามระเบียบนี้ ก็จะถูกจับตาเป็นพิเศษเช่นกรณีเงินกู้บริหารน้ำ 3.5 แสนล้านบาท จึงเชื่อว่า ทุกหน่วยงานต้องการปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกฯแล้ว เว้นแต่ไม่เอื้อต่อการบริหารโครงการ
กำลังโหลดความคิดเห็น