xs
xsm
sm
md
lg

“อภิสิทธิ์” จ้อหนุนปูดับไฟใต้-แนะทบทวนกู้จัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน-ติงบาทแข็งอย่าโทษ “ประสาร”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร (ภาพจากแฟ้ม)
“มาร์ค รายวัน” หนุนนายกฯ คุมไฟใต้ แนะ ยุบ ศปก.กปต.ปลด “เฉลิม” แนะรัฐบาลทบทวนการใช้เงินกู้ 3.5 แสนล้าน ทำเฉพาะโครงการที่พร้อม แทนกู้มากองสร้างภาระให้ประเทศ เอือมเสื้อแดงบุกไล่ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ชี้ไม่เป็นธรรมกล่าวหาบาทแข็งโทษ ธปท. ฝ่ายเดียว ประเด็นผู้ส่งออกยังมีนโยบายค่าแรง 300 บาท

วันนี้ (26 เม.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวสนับสนุนแนวคิดที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ระบุว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะดูแลปัญหาภาคใต้ในเรื่องเร่งด่วนด้วยตัวเอง โดยเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะนายกรัฐมนตรีเป็นคนเดียวที่จะสั่งการให้ทุกกระทรวง ทบวง กรม ขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกันได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่จำเป็นมาก อีกทั้งการตัดสินใจในเชิงนโยบายต้องมีความรวดเร็วให้ทันต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ดังนั้นการมอบให้รองนายกรัฐมนตรี หรือหน่วยงานดูแลคงไม่เพียงพอกับสถานการณ์ จึงขอให้นายกรัฐมนตรีทำเรื่องนี้โดยรับผิดชอบอย่างเต็มที่ เพราะนายกรัฐมตรีเป็นทั้งประธาน กอ.รมน.และ ศอ.บต.รวมถึงผู้ใต้บังคับบัญชาทุกหน่วยงาน จึงควรนั่งหัวโต๊ะเรียกประชุมด้วยตัวเอง ตามโครงสร้างที่มีในกฎหมาย และควรจะยุบโครงสร้างที่ไม่ได้เป็นไปตามกฎมาย เช่น ศปก.กปต.ไม่จำเป็นต้องมี กลับมาใช้กลไกที่มีอยู่เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนเหมือนที่ผ่านมา

ส่วนที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ออกมายอมรับว่า แม้จะเป็น ผอ.ศปก.กปต.แต่คนที่มีอำนาจเต็มในการอนุมัติงบประมาณและสั่งการคือนายกรัฐมนตรี จึงต้องเสนอเรื่องให้นายกรัฐมนตรีทุกครั้งนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ตนเคยท้วงติงไว้นานแล้ว เพราะความร่วมมือของรัฐมนตรีกระทรวงอื่นๆ ที่ ร.ต.อ.เฉลิม ไม่ได้กำกับดูแลโดยตรงก็จะมีจำกัด ทำให้ไม่สะดวก ดังนั้นถ้านายกรัฐมนตรียืนยันที่จะทำตรงนี้ก็จะเป็นเรื่องที่ดี โดยเรียนรู้จากปัญหาในอดีตและแก้ไขเพื่อเดินหน้าต่อไป เนื่องจากตนเชื่อว่าที่ผ่านมาขวัญและกำลังใจของคนในพื้นที่ได้รับผลกระทบมากจากเหตุการณ์ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามทุกอย่างผ่านไปแล้วเราเปลี่ยนอดีตไม่ได้ จึงอยากให้เดินหน้ายอมรับความจริงและแก้ปัญหา อย่างน้อยก็จะทำให้มีความหวังมากขึ้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า จากคำพูดของ ผบ.ทบ.ยังจำกัดว่านายกฯ จะมาดูเฉพาะในเรื่องเร่งด่วนมองอย่างไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า คงจะแยกกันลำบาก เพราะทิศทางการดำเนินนโยบายจะมีผลกระทบต่อเรื่องเร่งด่วนที่เกิดขึ้น เช่น ในเรื่องการพูดคุยสันติภาพจะปรับกระบวนการอย่างไร ก็จะมีผลต่อสถานการณ์ในปัจจุบันด้วย หากนายกรัฐมนตรีลงมาดูแลและเอาใจใส่ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ตัดสินใจ เพื่อขับเคลื่อนให้ทุกอย่างเป็นเอกภาพมีทิศทางที่ชัดเจน ก็จะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น แต่ถ้ายังคงโครงสร้างที่ไม่จำเป็นไว้นายกรัฐมนตรีก็จะยิ่งต้องเข้าไปดูแลมากขึ้น เพื่อให้ทุกโครงสร้างไปในทิศทางเดียวกัน ส่วนนายกรัฐมนตรีจะมีความเข้าใจต่อปัญหามากพอที่จะเข้ามารับผิดชอบด้วยตัวเองหรือไม่นั้น ตนเห็นว่าจะต้องมีผู้รู้มาช่วยอยู่แล้ว แต่สุดท้ายการตัดสินใจและความรับผิดชอบต้องอยู่ที่ตัวผู้นำรัฐบาล

นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึงการประมูลร่างทีโออาร์โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทของรัฐบาลในวันที่ 3 พ.ค. 2556 ว่า เป็นเรื่องที่พรรคตั้งข้อสังเกตมาโดยตลอดถึงการขาดความพร้อม ขาดรายละเอียด โดยก่อนหน้านี้หลายคนในพรรคก็ฟันธงไว้ตั้งนานแล้วว่า ญี่ปุ่นน่าจะถอนตัวและรู้กันล่วงหน้าว่าจะเหลือเฉพาะแค่เกาหลีใต้กับจีน ขณะที่กฎหมายก็ให้อำนาจกู้เงินไว้ถึงเดือนมิถุนายนเท่านั้น จึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก ทั้งนี้ตนคิดว่าหากรัฐบาลไม่พร้อมก็ควรที่จะรับสภาพและตั้งต้นในเรื่องการทำโครงการให้เดินหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ สมเหตุสมผลและมีความโปร่งใส เพราะหากไม่มีความพร้อมก็ไม่ควรเดินหน้า ควรจะทำให้โปร่งใสเป็นระบบก่อน ไม่เช่นนั้นก็จะกลายเป็นว่า รีบกู้เงินมาแล้วมีปัญหาเรื่องการทุจริต ปัญหาโครงการไม่ตอบโจทย์ในสิ่งที่จะแก้ ทั้งนี้ตนเชื่อว่าบนความไม่พร้อมของรัฐบาลจะทำให้หลายโครงการไม่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันหลายโครงการก็จะใช้งบประมาณมากกว่าที่ควรจะเป็น ในขณะที่ผลตอบแทนจะไม่เป็นไปตามเป้าหมายจึงต้องกลับมาทบทวนให้ดี โดยเฉพาะคนที่เคยทำงานในกลไกนี้ก็ลาออกและยังมีบางคนออกมาวิจารณ์รวมถึงร้องเรียนด้วย

ส่วนกรณีที่การกู้เงิน 3.5 แสนล้านตามเงื่อนไขของ พ.ร.ก.จะต้องทำให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายนนี้นั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องกลับมาทบทวนและประเมินโครงการที่มีความชัดเจนให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า และมีการวางระบบให้เกิดการแข่งขันอย่างโปร่งใสว่าต้องใช้เงินเท่าไหร่ และกู้เท่าที่จำเป็นที่เหลือก็ปล่อยตกไปจะดีที่สุด แต่ถ้าเดินหน้ากู้เงินมาแล้วยังไม่ใช้ก็จะมีปัญหาเรื่องดอกเบี้ยสร้างภาระให้กับประเทศ และจะฟ้องตัวเองด้วยว่าในวันที่ออก พระราชกำหนดโดยอ้างว่าต้องใช้เงินเร่งด่วนนั้นแท้จริงแล้วไม่มีความพร้อมในการทำงานเลย แต่คงไม่สามารถนำเรื่องกลับไปที่ศาลรัฐธรรมนูญได้เพราะเป็นคดีเดิมเรื่องจบไปแล้ว อย่างไรก็ตามจะมีผลต่อพระราชบัญญัติกู้เงิน 2 ล้านล้านบาทที่จะมีการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยอยากให้ศาลได้นำเรื่อง พระราชกำหนดกู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งสุดท้ายความจริงปรากฏแล้วว่าไม่ได้มีความเร่งด่วนจริงไปประกอบการพิจารณาด้วยว่า ครั้งหนึ่งรัฐบาลเคยบอกกับคนทั้งประเทศและศาลรัฐธรรมนูญมาแล้วว่าพร้อมทุกอย่างในการใช้เงินแต่เวลาล่วงมาปีกว่าก็ยังไม่มีความพร้อม หากทำแบบเดียวกันกับการกู้เงิน 2 ล้านล้าน ก็จะทำให้เกิดการเสียโอกาส และไม่คุ้มค่ากับภาระที่จะเกิดขึ้นกับประเทศ

ผู้นำฝ่ายค้านยังเห็นว่ารัฐบาลควรจะได้นำผลศึกษาของ JICA ที่เสนอแนวทางการบริหารจัดการน้ำว่าจะใช้งบประมาณเพียง 40 % หรือ 1.4 แสนล้านบาท ของเงิน 3.5 แสนล้านบาท และควรจะดูภาพรวมทั้งหมด ไม่ใช่ตั้งเป้าแค่อยากจะกู้เงิน 3.5 แสนล้านเท่านั้น เพราะจะทำให้เกิดปัญหา ทั้งนี้ตนยังห่วงถึงการกู้เงิน 2 ล้านล้านของรัฐบาลซึ่งใช้หลักคิดเดียวกับการกู้เงิน 3.5 แสนล้าน ซึ่งเท่ากับว่าจะมีการกู้เงินมหาศาลแต่ไม่ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ ในขณะที่ยังมีปัญหาเรื่องการรั่วไหลของเงินด้วย

สำหรับกรณีที่มีการเปิดเผยในวงสัมมนา ป.ป.ช.ว่ามีการหักค่าหัวคิวถึง 50% ต่อโครงการในยุครัฐบาาลยิ่งลักษณ์ นั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่ากังวลมาก เพราะเท่ากับว่าเงินที่นำไปพัฒนาอะไรก็ตามจะได้ของแค่ครึ่งเดียว ซึ่งเป็นตัวเลขที่อันตรายมาก รัฐบาลต้องเอาจริงเอาจังกับมาตรการในการป้องกันการทุจริต และต้องดูแลให้เกิดความโปร่งใสโดยทำให้ทุกอย่างเป็นไปตามระบบและขั้นตอนปกติ มากกว่าที่จะพยายามลัดขั้นตอนตลอดเวลา เหมือนเงินกู้ 3.5แสนล้าน และเงินกู้ 2 ล้านล้านบาทเจตนาสำคัญก็คือต้องการหลบระบบปกติ

นอกจากนี้ นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึงกรณที่มีกลุ่มคนเสื้อแดงไปเรียกร้องให้นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ แบงก์ชาติ ลาออกจากตำแหน่งว่า ไปกันใหญ่แล้วตอนนี้ กลายเป็นว่ามวลชนไปกดดันองค์กรต่างๆ ที่ควรมีความเป็นอิสระในการทำหน้าที่ รัฐบาลไม่ควรปล่อยให้สภาพบ้านเมืองเป็นอย่างนี้ เพราะเป็นมวลชนที่สนับสนุนรัฐบาลเอง จึงต้องปกป้องคนทำงานหรืออย่างน้อยก็ต้องปกป้องตัวสถาบันที่เป็นกลไกของรัฐ ไม่ใชกลายเป็นว่าต่อไปนี้ต้องจำนนต่อการกดดันของมวลชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

อย่างไรก็ตามการกดดันจากคนเสื้อแดงจะกระทบบรรยากาศของบ้านเมืองอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับความหนักแน่นของผู้ที่ทำงานในองค์กรต่างๆ แต่จากการติดตามในส่วนของศาลรัฐธรรมนูญก็เห็นว่า นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ก็มีความหนักแน่น และตนก็มั่นใจว่า ผู้ว่าการแบงก์ชาติก็มีความหนักแน่น แต่รัฐบาลต้องให้การสนับสนุนให้คนเหล่านี้ทำงานตามหน้าที่ได้

นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวชื่นชมการทำงานของนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติว่า เป็นผู้ที่มีความสามารถและเชื่อว่าจะพยายามในการบริหารเศรษฐกิจตามเป้าหมาย แต่ความคิดที่ไม่ตรงกับรัฐบาลก็ต้องปรึกษาหารือกัน และคงไม่เป็นธรรมที่จะโยนความรับผิดชอบเกี่ยวกับความเสียหายทางเศรษฐกิจให้ผู้ว่าแบงก์ชาติ เพราะหากเห็นว่ามีความเสียหายก็ต้องชี้แจงให้ชัดเจนว่าตรงไหนที่ผู้ว่าแบงก์ชาติทำให้เกิดความเสียหาย หรือมีส่วนใดที่บกพร่อง ขาดประสิทธิภาพ ซึ่งตนก็ยังไม่ได้ยิน มีแต่กล่าวหาเรื่องเงินบาทแข็ง และที่นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ รองปลัดกระทรวงการคลัง ระบุว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นเทียบเท่ากับวิกฤตในปี 2540 ก็ต้องระบุรายละเอียดให้ชัดว่าหมายถึงอะไร เพราะเมื่อวานนี้ (25 เม.ย.56) ค่าไฟก็ลดลงเพราะเงินบาทแข็งค่าขึ้น ซึ่งก็เป็นประโยชน์กับประชาชน

ส่วนผลกระทบกับผู้ส่งออกนั้นไม่ได้เกิดจากค่าเงินบาทแข็งอย่างเดียว แต่เกิดจากนโยบายค่าแรง 300 ของรัฐบาลด้วย ซึ่งสภาหอการค้าก็สำรวจแล้วว่าทำให้มีการลดสวัสดิการคนงาน ปลดคนงาน และลงทุนซื้อเครื่องจักรแทนคนงาน มีการย้ายฐานการผลิต ดังนั้นลำพังการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพียงอย่างเดียวคงแก้ไม่ได้ เพราะการบอกว่าแบงก์ชาติไม่ลดดอกเบี้ยนโยบายลงมาสลึงหนึ่งทำให้ทุกอย่างเสียหาย มันไม่ใช่อยู่แล้ว แต่เป็นความพยายามมาตลอดที่จะสร้างความขัดแย้งกับผู้ว่าแบงก์ชาติ ซึ่งคนที่อยู่ในวงการก็ทราบว่าไม่ได้เป็นอย่างที่มีการกล่าวหากันขนาดนั้น แต่เหตุผลในเรื่องการบริหารเศรษฐกิจก็เป็นเรื่องที่คลังกับแบงก์ชาติต้องไปหาข้อยุติร่วมกัน

ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่พยายามพูดถึงความเสียหายเป็นเพราะต้องการนำไปสู้เงื่อนไขตามกฎหมายที่จะปลดผู้ว่าการแบงก์ชาติหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า หากจะปลดผู้ว่าแบงก์ชาติจะต้องแสดงให้เห็นชัดเจนก่อนว่าความเสียหายคืออะไร ลำพังเพียงแค่จะอ้างถึงเรื่องค่าเงินแข็งหรือค่าเงินอ่อนไม่เพียงพอ เนื่องจากค่าเงินไม่ได้ถูกกำหนดโดยรัฐหรือแบงก์ชาติ แต่กำหนดโดยตลาดเงินตราต่างประเทศ ในสายตาของตนจึงเห็นว่าไม่มีเหตุผลที่จะปลดนายประสารออกจากตำแหน่งผู้ว่าการแบงก์ชาติ


กำลังโหลดความคิดเห็น