3 ภาคประชาชนจับตาแก้ รธน.-พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ช่วยทักษิณกลับบ้าน เดินหน้าค้าน พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท โฆษก พธม.ประกาศชัด เชื่อกระบวนการทางกฎหมายเอาผิดถึงขั้นยุบพรรค-ยิ่งลักษณ์พ้นตำแหน่งนายกฯ ได้ ชี้เพื่อไทยผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมถือเป็นการจุดชนวนระเบิดเรียบร้อยแล้ว เชื่อภาคประชาชนอึดอัดพร้อมชุมนุม ขณะที่กลุ่มแนวร่วมกอบกู้วิกฤตชาติ ขอเดินหน้าลุยขวาง ดึงเพื่อไทยเข้าสู่กระบวนการกฎหมาย ส่วนเสื้อหลากสีพร้อมชุมนุม ประกาศศึกครั้งต่อไปต้องไล่นายกฯ
ไม่ต้องอ้ำๆ อึ้งๆ สั่งการกันอย่างชัดเจนด้วยตัวจริง เสียงจริง กับสไกป์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ล่าสุดที่ประกาศอยากกลับบ้านเต็มที่จึงเป็นเสมือนใบสั่งให้คนในพรรคโดยเฉพาะ ส.ส.ของพรรคเพื่อไทยต่างต้องวิ่งกันหัวขวิด เร่งผลักดันร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิด เนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ.... หรือ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม
แม้อาจจะไม่ทันสมัยประชุมนี้ที่จะมีการปิดสมัยประชุม 20 เมษายน 2556 แต่ก่อนปิดประชุมสภาฯ ก็เลื่อนวาระขึ้นมาพิจารณาเป็นวาระแรกเมื่อเปิดสมัยประชุมสภาฯ เดือนสิงหาคม ด้วยมติ 283 ต่อ 56 เสียงในสภาฯ
ระหว่างนี้ 3 เดือน มีคำสั่งชัดลงไปอีกว่า ส.ส.ของพรรคทุกคนจะต้องลงพื้นที่ เร่งทำความเข้าใจภาคประชาชนอย่างเต็มพิกัด หรือเรียกว่าระดมมวลชนก็คงไม่ผิดนัก ระหว่างนี้ก็เดินหน้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา และเดินหน้า พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทไปพร้อมกันด้วย
อาศัยจังหวะในช่วงเวลาที่บ้านเมืองกำลังมีความสนใจเรื่องการชี้แจงกับศาลอาญาระหว่างประเทศ กรณี “เขาพระวิหาร” ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องดินแดนที่ยังไม่รู้จะออกหมู่หรือจ่า แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ และคนรอบข้างก็ไม่สน เร่งเดินหน้าช่วย พ.ต.ท.ทักษิณ กลับบ้าน แถมแกนนำหลายคนแทบจะระบุเวลาที่ชัดเจนว่า
ปลายปี 2556 คือฤกษ์ดีที่ พ.ต.ท.ทักษิณจะกลับเมืองไทย!
ตรงนี้จึงเป็นการเดินหน้าแก้กฎหมายปลดล็อกให้ตระกูลชินวัตรกลับมาเป็นใหญ่ แถมที่ร้ายคือมีท่าทีว่าจะทำลายกลไกการตรวจสอบถ่วงดุลนักการเมืองให้สิ้นเสียอีก
ถึงวันนี้จึงเกิดคำถามตามมาว่าสังคมไทยจะมีกลไกอะไรที่ช่วยคัดง้างกับอำนาจเหนือระบบแบบนี้ได้?
เพราะที่ผ่านมากลไกที่เป็นความหวังและมีพลังมากที่สุดอยู่ที่ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ซึ่งทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ และพลพรรคเพื่อไทยต่างคว้าดาวไม่สำเร็จมาแล้วครั้งหนึ่ง หลังจากศาลฯพิจารณาให้การแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 291 ที่จะตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญมายกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ต้องมีการดำเนินการลงประชามติจากภาคประชาชนก่อน
เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้พรรคเพื่อไทยถึงกับป่วนหนัก เพราะกลุ่ม ส.ส.ส่วนใหญ่ ไม่เห็นด้วยที่จะทำการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เพราะหากลงประชามติไม่ผ่านเท่ากับปิดประตูตายการแก้รัฐธรรมนูญ หมดทางเดินหน้าต่อ แต่ทักษิณ ณ เวลานั้น เหมือนจะไม่พอใจและสั่งเปรี้ยงลงมาว่าให้เดินหน้าลงประชามติเต็มขั้น
กระนั้น การลงประชามติก็เสี่ยงมากเสียจน พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องยอมให้ทุกอย่างกลับเข้าไปเดินหน้าในสภาฯ และดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา เหมือนกับที่แกนนำพรรคบางส่วน และ ส.ส.เคยเสนอไว้ และก็เร่งเครื่องเต็มพิกัดในช่วงข่าวการชี้แจงต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ เรื่องกรณีพิพาทพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารในครั้งนี้!
แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องอย่าลืมว่า เงินซื้อไม่ได้ทุกอย่าง และกลไกการตรวจสอบถ่วงดุลยังพร้อมที่จะเป็นกระแสค้าน
ส.ว.สรรหาร้องศาลรธน.
ล่าสุด ส.ว.สรรหา พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ได้ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้พิจารณาสั่งยกเลิกการกระทำในการแก้ไขมาตรา 68 และมาตรา 237 พร้อมมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองที่เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2556
โดยเห็นว่า การจะแก้ไขให้การยื่นคำร้องตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ต่อศาลรัฐธรรมนูญสามารถทำโดยผ่านอัยการสูงสุดเพียงอย่างเดียวนั้น เป็นการจำกัดสิทธิประชาชน ไม่เป็นไปตามหลักประชาธิปไตย และยังขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่เคยมีคำวินิจฉัยไว้ชัดเจนว่าประชาชนมีสิทธิยื่นร้องพิทักษ์รัฐธรรมนูญต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง อีกทั้งยังมองว่าการเสนอแก้ไขมาตรา 68 อาจจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครอง เนื่องจากเมื่อมาตรา 68 ได้รับการแก้ไขสำเร็จ รัฐสภาก็จะหยิบยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ที่ค้างอยู่ในสภามาพิจารณาได้ทันที ซึ่งการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้เป็นการสมยอม และแบ่งหน้าที่กันทำ เพื่อเอื้อประโยชน์ระหว่าง ส.ส. และ ส.ว. ที่จะมีการแก้ไขล้มเลิกบทบัญญัติว่าการยุบพรรค และให้ ส.ว. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด โดยไม่จำกัดวาระการดำรงตำแหน่ง โดยในการยื่นคำร้องครั้งนี้ยังขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเป็นกรณีฉุกเฉิน สั่งให้รัฐสภายุติการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 68 และมาตรา 237 ไว้จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยด้วย
พธม.ชี้ เพื่อไทยจุดชนวนระเบิดแล้ว!
ขณะที่ขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนก็ติดตามเรื่องดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เริ่มจากกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ แกนนำรุ่นที่ 2 และโฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เปิดเผยว่า การที่พรรคเพื่อไทยดันเรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ขึ้นมาเป็นวาระแรกในการพิจารณาเมื่อเปิดประชุมสภาฯ สมัยสามัญที่จะมีขึ้นในเดือนสิงหาคมนี้ และยังเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญในหลายๆ มาตรา และเดินหน้า พ.ร.บ.เงินกู้ 2.2 ล้านล้าน เท่ากับว่าพรรคเพื่อไทยได้จุดชนวนระเบิดขึ้นแล้ว และเชื่อแน่ว่าตั้งแต่นี้ต่อไปภาคประชาชนที่อึดอัดจะเริ่มทนไม่ไหว และจะมีการเผชิญหน้ากับรัฐบาลอย่างแน่นอน
ส่วนท่าทีของกลุ่มพันธมิตรฯ นั้น ยืนยันว่า การชุมนุมจะทำต่อเมื่อมีการประชุมแกนนำพันธมิตรเท่านั้น และมองว่าขณะนี้ยังมีเวลาเพราะการพิจารณา พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ จะเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม ซึ่งแกนนำพันธมิตรจะมีการประชุมเพื่อประเมินท่าทีเป็นระยะๆ แต่จะไม่บอกล่วงหน้าว่าจะประชุมเมื่อไร เพราะไม่ต้องการให้รัฐบาลเตรียมการตั้งรับได้ทัน ทั้งนี้มวลชนในฝ่ายพันธมิตรฯ ก็พร้อมที่จะชุมนุมทันที เมื่อแกนนำมีมติให้เคลื่อนไหวชุมนุม รวมกับประชาชนกลุ่มอื่นๆ ที่มีความอึดอัดก็จะมีความเคลื่อนไหวเช่นกัน
ทั้งนี้กลุ่มพันธมิตรฯ จะดำเนินการคัดค้านต่อต้านรัฐบาลใน 3 เงื่อนไขที่ได้ประกาศไว้ในวันที่ 4 เมษายน 2556 คือ 1. มีการดำเนินการใดๆ ที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือออกกฎหมายอื่นที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือลดพระราชอำนาจ 2. มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือออกกฎหมายเพื่อการนิรโทษกรรมล้างผิดให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและพวก และ 3. เมื่อเหตุการณ์บ้านเมืองเข้าสู่สถานการณ์ความเหมาะสมและประชาชนต้องการให้เปลี่ยนแปลงประเทศครั้งใหญ่
อย่างไรก็ดี มองว่าการเคลื่อนไหวในการแก้กฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้าน และพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่แม้จะต้องมีขั้นตอนของการพิจารณาที่จะเริ่มต้นจากการรับหลักการวาระที่ 1 ในเดือนสิงหาคมนี้ และตามด้วยการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาวาระ 2 และลงมติวาระ 3 นั้น ก็ยังมีช่วงเวลาดำเนินการ แต่เชื่อว่าทั้ง 3 เรื่องจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 3 เรื่อง
“จะมีอย่างน้อย 2 เรื่องที่มีผลถึงขั้นยุบพรรคได้ ในบางประเด็นก็อาจมีผลถึงขั้นให้นายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งได้ด้วย คือประเด็นการผลักดัน พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้าน ที่ไม่เป็นไปตามวิธีการพิจารณารายจ่ายงบประมาณของกระทรวงการคลัง และผิดต่อระเบียบพัสดุ ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 169 ซึ่งหาก ป.ป.ช.มีการชึ้มูลว่าผิด นายกฯ ก็มีสิทธิที่จะพ้นออกจากตำแหน่งได้”
ระเบิดถูกจุดแล้ว จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ จะรุนแรงมากน้อยแค่ไหน?
“พันธมิตรเราพร้อมตลอด แต่ไม่จำเป็นต้องบอกล่วงหน้าให้รัฐบาลมาเตรียมรับมือ” นายปานเทพกล่าวทิ้งท้าย
“บวร” ดึงเพื่อไทยสู้ในกระบวนการยุติธรรม
ขณะที่ทาง นายบวร ยะสินธร กลุ่มแนวร่วมกอบกู้วิกฤตชาติ ยืนยันว่าส่วนตัวจะเคลื่อนไหวทางด้านกฎหมายเป็นหลัก ใน 3 ประเด็นสำคัญ คือ ได้เริ่มต้นจากการคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 68 และมาตรา 237 ซึ่งขณะนี้มีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญไปแล้วเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2556 ซึ่งพรรคเพื่อไทยจะมีเวลา 15 วันในการแถลงแก้คำกล่าวหากับศาลรัฐธรรมนูญ แต่พรรคเพื่อไทยก็ประกาศว่าจะไม่ไปแถลงตอบข้อกล่าวหา จุดนี้มองว่าพรรคเพื่อไทยต้องการให้ข่าวในลักษณะแสดงการประท้วงศาลรัฐธรรมนูญให้มีผลเชิงข่าว แต่เอาเข้าจริงแล้ว ยังมองว่าพรรคเพื่อไทยจะไม่กล้าขัดศาลรัฐธรรมนูญ และที่สุดก็จะมาต่อสู้ในกระบวนการศาลรัฐธรรมนูญ
“ทุกอย่างในเวลานี้ ต้องการให้เขามาสู้ในกติกา มาสู้ในระบบกฎหมาย พรรคเพื่อไทยจะบอกว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีสิทธิรับ บอกว่าก้าวก่ายฝ่ายนิติบัญญัติ อ้างอย่างนี้ไม่ได้ เพราะต่างฝ่ายต่างมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญ สภาฯ มีหน้าที่เสนอกฎหมายก็จริง แต่ประชาชนก็มีสิทธิพิทักษ์กฎหมายเช่นกัน ในเมื่อเอารัฐธรรมนูญเป็นกติกา ก็ต้องไม่ก้าวก่ายสิทธิประชาชน”
ต่อไปจะมีการยื่นคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ภายในสัปดาห์หน้า และต่อไปจะเป็นเรื่องยื่นคัดค้าน พ.ร.บ.เงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาททันที
“เราจะทำการยื่นร้องคัดค้านเรื่องที่เห็นว่าขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ และไม่เป็นประโยชน์กับประเทศชาติ ซึ่งจะทำทุกเรื่องให้ดีที่สุด เพื่อให้การต่อสู้ทุกอย่างอยู่ในกติกา และตัดสินโดยกระบวนการยุติธรรม”
ทั้งนี้ ได้ประเมินการเคลื่อนไหวของพรรคเพื่อไทยต่อไปว่า หลังจากวันที่ 20 เมษายน 2556 นี้ที่จะมีการปิดการประชุมสภาฯ สมัยสามัญแล้ว จะมีการเปิดประชุมสภาฯ สมัยวิสามัญ เพื่อพิจารณางบประมาณ และมองว่าจะมีการพ่วงการพิจารณาแก้กฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วาระ 2 และ พ.ร.บ.เงินกู้ 2.2 ล้านล้านเข้าไปด้วย
“จังหวะนี้ คาดว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีการนัดไต่สวนแล้ว เพราะว่าเป็นจังหวะเดียวที่จะพิจารณาได้คือในการพิจารณาวาระ 2 ที่ยังพอสั่งการอะไรได้ หากปล่อยให้ถึงวาระที่ 3 ก็จะทำอะไรไม่ทัน ดังนั้นคาดว่าจะมีข้อยุติว่าผิดหรือไม่ผิดในช่วงนี้ ถ้าไม่ผิดพรรคเพื่อไทยก็เดินหน้าต่อได้ แต่ถ้าผิดต้องยุติการเคลื่อนไหว”
ส่วนการแก้รัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับน่าจะรอพิจารณาในช่วงเปิดสภาฯ สมัยสามัญในเดือนสิงหาคม และจะมีการพ่วง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมวาระที่ 1 เข้าไปด้วย แต่ท้ายที่สุดแล้ว แม้จะมีมติให้เลื่อนการพิจารณา พ.ร.บ.นิรโทษกรรมมาไว้เป็นอันดับแรก แต่มองว่าพรรคเพื่อไทยอาจจะไม่กล้าพิจารณาจริง
“มติการเลื่อนวาระ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมขึ้นมาเป็นวาระแรกเมื่อเปิดสมัยประชุมสภาฯ นั้น เป็นการแสดงท่าทีของพรรคเพื่อไทยที่ต้องการแสดงให้กลุ่มคนเสื้อแดงเห็นเท่านั้นเองว่าไม่ได้ลืม จึงดันเรื่องนี้ขึ้นมาพูด เพราะกลุ่มคนเสื้อแดงเริ่มไม่พอใจมากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ และพรรคเพื่อไทยไม่ได้ช่วยอะไรพวกเขา”
อย่างไรก็ดี นายบวรยืนยันว่า ยินดีจะเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มที่เคลื่อนไหวภาคประชาชนกลุ่มอื่นๆ ทันที แต่จะไม่เป็นตัวหลัก เพราะจะเดินหน้าต่อสู้ทางกฎหมายเป็นหลัก ร่วมกับการเคลื่อนไหวต่อสู้ของภาคประชาชนของกลุ่มอื่นๆ เพื่อเป็นการต่อสู้ทั้งบู๊ และบุ๋น
“ภาคประชาชนที่อึดอัดมีจำนวนมาก แต่ตอนนี้ยังไม่มีใครที่พร้อมขึ้นมานำ เมื่อไรก็ตามที่มีคนที่เป็นคนกล้า และมีความพร้อม มีประสบการณ์ เชื่อว่าภาคประชาชนจะออกมาชุมนุมจำนวนมาก และมากกว่าครั้งอื่นๆ เพราะตอนนี้ประชาชนอึดอัดอย่างมาก และการเคลื่อนไหวภาคประชาชนก็ยังมีความสำคัญต่อกระบวนการประชาธิปไตย เพราะเรื่องที่เกี่ยวกับจริยธรรม เรื่องที่เกี่ยวกับความชอบธรรม มันไม่รู้จะไปฟ้องศาลไหน มีแต่การต่อสู้ภาคประชาชนที่จะเรียกร้องความเป็นธรรมส่วนนี้ได้”
เสื้อหลากสีพร้อมร่วมกลุ่มอื่นต้านแก้ รธน.
ด้านกลุ่มเสื้อหลากสี นพ.ตุลย์ สิทธิสมานวงศ์ แกนนำกลุ่มเสื้อหลากสี กล่าวว่า การเคลื่อนไหวเพื่อคัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญ และการเสนอ พ.ร.บ.ปรองดอง เพื่อช่วย พ.ต.ท.ทักษิณนั้น ของกลุ่มเสื้อหลากสีมีแน่นอน แต่ขณะนี้จะรอดูคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ และกระบวนการในสภาฯ ที่คาดว่าจะผ่านกฎหมายไปถึงวาระ 2 และเมื่อถึงวาระ 3 ก็น่าจะมีการเคลื่อนไหว โดยกลุ่มเสื้อหลากสีจะชุมนุมเคลื่อนไหวพร้อมกับกลุ่มภาคประชาชนอื่นๆ เพื่อให้เกิดพลัง และมองว่าการออกมาชุมนุมคัดค้านครั้งต่อไป จะเป็นการชุมนุมครั้งใหญ่ โดยมีเป้าหมายในการขับไล่รัฐบาลเป็นหลัก เพราะขณะนี้รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยได้บริหารราชการในหลายประเด็นที่เป็นปัญหา โดยเฉพาะการแก้กฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 68 มาตรา 190 การผลักดัน พ.ร.บ.ปรองดองเพื่อช่วยคนคนเดียว และคัดค้าน พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท
“รอดูกระบวนการทางกฎหมายก่อน แต่ถ้าเอาไม่อยู่ ก็คงต้องเล่นนอกสภา และต้องร่วมมือกัน ไม่แตกเป็นกลุ่มย่อยๆ ถึงจะมีพลัง”
อย่างไรก็ดี เนื่องจาก นพ.ตุลย์ นั้นล่าสุดโดนคดีล้อมสนามบิน และอัยการได้สั่งฟ้อง ทำให้ นพ.ตุลย์อาจจะดำเนินการเป็นผู้นำการเคลื่อนไหวไม่ได้
นพ.ตุลย์กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ และขณะนี้มีผู้นำรุ่น 2 ของกลุ่มเสื้อหลากสีพร้อมแล้ว หากรัฐบาลพรรคเพื่อไทยยังเดินหน้าในเรื่องการแก้กฎหมายรัฐธรรมนูญ ผลักดัน พ.ร.บ.ปรองดองช่วยเหลือคนคนเดียว และยังเดินหน้า พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้าน กลุ่มเสื้อหลากสีก็มีความพร้อมที่จะออกมาเคลื่อนไหวร่วมกับกลุ่มอื่นๆ