ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ถึงแม้รัฐบาลจะใช้เสียงข้างมากเข็นร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ... ให้ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระแรกไปได้เมื่อวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา
แต่ก็ใช่ว่าเส้นทางสู่การกู้เงิน 2 ล้านล้านบาทมาถลุงในโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว จะโรยด้วยกลีบกุหลาบตามที่ นช.ทักษิณ ชินวัตร ผู้บงการอยู่เบื้องหลังได้ฝันหวานเอาไว้
จริงอยู่ หากจะวัดกระแสสังคมผ่านโพลสำนักต่างๆ แล้ว ประชาชนส่วนใหญ่ไม่คัดค้านการลงทุนก่อสร้างระบบคมนาคมขนส่งของประเทศ แม้จะแสดงความเป็นห่วงเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นอยู่บ้าง
รวมทั้งกระบวนการในสภาฯ ที่ฝ่ายรัฐบาลมีจำนวน ส.ส.มากกว่า ถึง ส.ส.พรรคฝ่ายค้านจะอภิปรายคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวได้อย่างสมเหตุสมผลเพียงใด แต่เมื่อถึงเวลายกมือลงมติ ฝ่ายรัฐบาลก็ยอมเอาชนะได้ทุกครั้ง
แต่สิ่งที่จะทำให้ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท แท้งคาสภาได้ ก็คือปัญหาความชอบตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้มีหลายภาคส่วนเปิดหัวนำไปสู่การดำเนินการทางกฎหมายต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวแล้ว
เริ่มตั้งแต่ เมื่อวันที่ 28 มีนาคม นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา และนายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ได้ยื่นคำร้องต่อนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา เพื่อให้ส่งความเห็นต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่าร่าง พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. ... (พ.ร.บ.ร่วมทุน) มีข้อความขัดแย้งรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 169 ที่บัญญัติว่า การจ่ายเงินแผ่นดิน จะกระทำได้ก็เฉพาะที่ได้อนุญาตไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย กฎหมายว่าด้วยงบประมาณ กฎหมายเกี่ยวกับการโอนเงินงบประมาณ หรือกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง เว้นแต่ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนรัฐบาลจะจ่ายไปก่อนได้ แต่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ และวิธีที่กฎหมายบัญญัติ
นอกจากนี้ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวยังจะมีผลให้ยกเลิก พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินงานกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 ทั้งฉบับ ทำให้การคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมโครงการขาดความโปร่งใส และเปิดช่องให้ใช้เงินของรัฐร่วมธุรกิจกับเอกชนอย่างง่ายดาย โดยใช้วิธีคัดเลือกที่สามารถหลีกเลี่ยงไม่ต้องใช้วิธีประมูล อีกทั้งจะปิดช่องทางการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมทั้งการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
ทั้งนี้ หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ร่าง พ.ร.บ.ร่วมทุนขัดต่อรัฐธรรมนูญ จะทำให้ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เป็นโมฆะไปด้วย เนื่องจากเป็น พ.ร.บ.ที่รัฐบาลผลักดันออกมาเพื่อรองรับการใช้เงินกู้ 2 ล้านล้าน
ขณะที่กลุ่มการเมืองสีเขียว หรือ กลุ่มกรีน โดยนายนายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่ม กล่าวเมื่อวันที่ 31 มีนาคมาว่า แม้ร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทจะผ่านวาระที่ 1 ไปแล้ว แต่ยังมีหลายประเด็นที่รัฐบาลยังไม่สามารถสร้างความกระจ่างได้ เช่น ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน หนี้สาธารณะ ความเสี่ยงทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม ความคุ้มทุน ความชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญ เป็นต้น ดังนั้น ในสัปดาห์ที่จะถึง กลุ่มกรีนจะร่วมกับหลายองค์กรยื่นเรื่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อพิจารณานำเรื่องส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว และอาจจะยื่นกล่าวโทษต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อไต่สวนเอาผิดกับคณะรัฐมนตรี และ ส.ส.ทั้ง 284 คนที่ยกมือสนับสนุนผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ทั้งๆ ที่รู้ว่าร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญด้วย
อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวที่น่าจะมีพลังมากที่สุด ก็คือการเข้าชื่อของอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2550 (ส.ส.ร.50) จำนวน 12 คน ยื่นหนังสือกล่าวโทษนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีทั้งคณะ ต่อ ป.ป.ช.เมื่อวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา กรณีที่รัฐบาลเสนอร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร โดยฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญหลายมาตรา ทั้งนี้ เพื่อให้ ป.ป.ช.ดำเนินการสอบสวนและไต่สวนแล้วส่งเรื่องให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาลงโทษสถานหนักตามที่กฎหมายบัญญัติโดยเร็วที่สุด รวมทั้งเสนอต่อศาลเพื่อให้ใช้มาตรการชั่วคราวตามสมควรและจำเป็นเพื่อหยุดการกระทำความผิดต่อไป อันจะเป็นการป้องกันผลอันจะเกิดจากการกระทำความผิดด้วย
ประเด็นที่ ส.ส.ร.50 เห็นว่า ร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญนั้น ได้แก่หลักการสำคัญที่ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินนำมาใช้จ่ายในโครงการ ตามร่างมาตรา 5 และ 6 ซึ่งมีเนื้อหาโดยสรุป คือ เมื่อกระทรวงการคลังกู้เงินจำนวน 2 ล้านล้านบาทแล้ว ให้กระทรวงการคลังนำเงินไปใช้จ่ายได้ หรือจะไปให้กู้ต่อก็ได้ โดยไม่ต้องนำเงินส่งคลังตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง และกำหนดการบริหารเงินกู้ดังกล่าวนอกเหนือจากที่กำหนดในกฎหมายวิธีการงบประมาณ
อันเป็นการขัดต่อหลักการที่เกี่ยวกับการเงินการคลังและวินัยงบประมาณตามหมวด 8 การการเงิน การคลัง และงบประมาณ มาตรา 166 - มาตรา 170 ของรัฐธรรมนูญ
การที่ ครม.มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2556 จึงเป็นการร่วมกันใช้อำนาจหน้าที่โดยไม่ชอบ โดยผิดรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เพื่อทำให้เกิดความเสียหายแก่แผ่นดินอย่างร้ายแรง และเป็นมหันตภัยร้ายแรงต่อประเทศชาติและประชาชน
ทั้งนี้ บทบัญญัติในหมวด 8 การเงิน การคลัง และงบประมาณ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 166 - มาตรา 170 ได้กำหนดให้การใช้จ่ายเงินแผ่นดินไม่ว่าจะเป็นเงินประเภทใด จะเป็นที่ได้รับการจัดสรรเป็นงบประมาณ เงินกู้หรือเงินนอกงบประมาณ หรือเงินหรือทรัพย์สินของรัฐ ต้องใช้จ่ายตามมาตรา 169 ซึ่งเป็นบทบังคับการจ่ายเงินแผ่นดินให้ต้องเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายหรือกฎหมายว่าด้วยการโอนงบประมาณ อันเป็นบทบัญญัติคุ้มครองป้องกันเงินแผ่นดินมิให้ถูกฉ้อฉลฉ้อโกงโดยผู้มีอำนาจต่างๆ
การที่ ครม.เห็นชอบในร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ที่ให้นำเงินกู้จำนวนดังกล่าวไปใช้จ่ายได้โดยไม่ต้องนำส่งคลัง ซึ่งหมายความว่าให้นำไปใช้จ่ายได้โดยไม่ต้องทำเป็นกฎหมายงบประมาณ ไม่ต้องทำตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ ไม่ต้องทำตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจหน้าที่โดยไม่ชอบ โดยผิดกฎหมาย ทำให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติและประชาชน
มิหนำซ้ำ เมื่อลงมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.แล้ว ยังได้สมคบกันใช้อำนาจหน้าที่โดยไม่ชอบและผิดกฎหมายกระทำความผิดต่อไป โดยได้ส่งร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อดึงดันจะให้ตราเป็นกฎหมายใช้บังคับ จึงเป็นการกระทำความผิดต่างกรรมต่างวาระกันกับการลงมติ
ความเคลื่อนไหวของ ส.ส.ร.50 ยังได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ตามแถลงการณ์เมื่อวันที่ 4 เมษายน ที่คัดค้านการออก พ.ร.บ.เงินกู้ดังกล่าว โดยพันธมิตรฯ มีมติมอบหมายให้ทนายความไปปรึกษาหารือกับนักวิชาการและนักกฎหมายเพื่อศึกษาข้อกฎหมายเพื่อหาทางเอาผิดรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์เพิ่มเติมและต่อเนื่องจนถึงที่สุด
สถานการณ์เวลานี้ แม้ นช.ทักษิณ ชินวัตร จะสามารถควบคุมกระแสสังคมและควบคุมเกมในสภาเอาไว้ได้ แต่อย่าลืมว่า ยังมีภาคประชาชนและนักวิชาการอีกส่วนหนึ่งที่ตื่นรู้ และเตรียมใช้มาตรการทางกฎหมาย เพื่อสกัดกั้นไม่ให้ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทผ่านออกมาสร้างความหายนะให้แก่ประเทศชาติ