ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เจ้าของร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ ฉบับ“ดันสุดซอย”โดยนิรโทษกรรมให้คนทุกกลุ่มทุกฝ่าย ยังคงแถไม่หยุดว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ ไม่เกี่ยวกับการคืนเงินให้ นช.ทักษิณ ชินวัตร ผู้เป็นนายใหญ่ของเขาแต่อย่างใด
เมื่อวันที่ 29 พ.ค.รองนายกฯ ผู้เป็น“ขี้ข้าทักษิณ”ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่เกี่ยวกับการคืนเงินให้ นช.ทักษิณ เพราะไม่ใช่กฎหมายการเงิน พร้อมกับอ้างว่า มาตรา 4 ของ พ.ร.บ.นี้ที่จะมีผลในการลบล้างความผิดของ นช.ทักษิณในคดียึดทรัพย์ ก็จะไม่ทำให้มีการคืนเงิน เพราะจะผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 169 ที่ระบุว่าการคืนเงินจะต้องออกเป็น พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย
นั่นเป็นเพียงการเล่นลิ้นของ ร.ต.อ.เฉลิม เพื่อหลอกสาวกบริวารของ นช.ทักษิณให้หลงเชื่อว่าการผลักดันร่าง พ.ร.บ.นี้ไม่ได้เป็นการทำเพื่อนายใหญ่คนเดียว แต่ทำเพื่อทุกคนทุกฝ่าย
มาตรา 4 ของร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติฯ ที่ ร.ต.อ.เฉลิม ยื่นต่อสภาผู้แทนราษฎร พร้อมรายชื่อ ส.ส.สนับสนุนกว่า 150 คน เมื่อวันที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมานั้น มีข้อความว่า
“บรรดาการกล่าวหาการกระทำความผิดบุคคลใดๆ ที่เกิดจากคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ซึ่งได้ยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 หรือจากคณะบุคคล ซึ่งได้รับแต่งตั้งตามคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเป็นการกล่าวหาจากหน่วยงานอื่นใด อันเป็นผลสืบเนื่องจากการดำเนินการของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่ว่าเป็นการกล่าวหาในข้อหาใด ให้ถือว่าเป็นการกล่าวหาในความผิดทางการเมืองและให้การกล่าวหาการกระทำความผิดนั้นเป็นอันระงับไป โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เป็นผู้กระทำความผิด และให้นำความในมาตรา 3 วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม”
ทั้งนี้ มาตรา 3 วรรคสอง มีข้อความว่า
“ในกรณีที่ผู้กระทำการตามวรรคหนึ่งอยู่ในระหว่างการสอบสวน ให้ผู้มีอำนาจสอบสวนระงับการสอบสวนนั้น ถ้าอยู่ในระหว่างการฟ้องร้อง ให้พนักงานอัยการ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระงับการฟ้อง ถ้าอยู่ในระหว่างพิจารณาคดี ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดี ถ้าได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิด ถ้าผู้นั้นรับโทษอยู่ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุด”
คดียึดทรัพย์ นช.ทักษิณ ชินวัตร จำนวน 4.6 หมื่นล้านบาท ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 24 ก.พ.2553 นั้น เป็นคดีที่มาจากการกล่าวโทษโดยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ (คตส.) และ คตส.ก็ได้รับการแต่งตั้งตามคำสั่งของ คปค.
ดังนั้น หาก พ.ร.บ.ปรองดองฯ มีผลบังคับใช้ คดีนี้จะเข้าข่ายต้องถูกระงับไป ตามมาตรา 4 และเมื่อเอามาตรา 3 วรรค 2 มาบังคับใช้ด้วย คดีที่ศาลพิพากษายึดทรัพย์ไปแล้ว ก็ให้ถือว่า นช.ทักษิณไม่เคยต้องคำพิพากษาให้ยึดทรัพย์ ทรัพย์สิน 4.6 หมื่นล้านที่ยึดไว้เป็นของแผ่นดิน ก็ถือว่าไม่ได้ยึด เพราะฉะนั้นก็ต้องคืนให้ นช.ทักษิณ
รวมทั้งคดีซื้อขายที่ดินรัชดา ที่ศาลฯ ตัดสินจำคุก นช.แม้ว 2 ปี จนต้องหนีหัวซุกหัวซุนอยู่ทุกวันนี้ ก็มาจากการกล่าวโทษโดย คตส. และจะถูกลบล้าง โดยถือว่า นช.ทักษิณไม่เคยต้องคำพิพากษาเช่นเดียวกัน
ร.ต.อ.เฉลิมอ้างแบบข้างๆ คูๆ ว่า การคืนเงินให้ นช.ทักษิณ ตาม พ.ร.บ.นี้ จะไม่สามารถทำได้ เพราะถ้าจะคืนต้องออกเป็น พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ทั้งที่มีกรณีการคืนเงินโดยไม่ต้องออกเป็น พ.ร.บ.งบประมาณมาแล้ว
ที่เพิ่งคืนไปเมื่อไม่นานมานี้ ก็คือเงินภาษีจากการขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปอเรชั่นฯ ให้แก่กลุ่มเทมาเส็ก ของนายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา ชินวัตร บุตรชายและบุตรสาวของ นช.ทักษิณนั่นเอง
การขายหุ้นชินคอร์ปฯ มูค่า 7.3 หมื่นล้านบาทอันอื้อฉาว เกิดขึ้นเมื่อต้นปี 2549 โดยในครั้งนั้น นช.ทักษิณที่ยังเป็นนายกรัฐมนตรีใช้วิธีการซิกแซก เล่นกลทางกฎหมาย ไม่ยอมเสียภาษีเข้ารัฐแม้แต่บาทเดียว จนกระทั่งหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 คตส.ได้เข้ามาตรวจสอบกรณีดังกล่าว และเห็นว่า นายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทาในฐานะผู้ที่มีชื่อเป็นเจ้าของหุ้นจะต้องเสียภาษีคนละ 5,675 ล้านบาท ซึ่งคณะกรรมการของกรมสรรพากรได้วินิจฉัยตามประมวลรัษฎากร ฎีกาที่เคยมีมาในอดีต รวมทั้งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะ 15 ตัวแทน มีความเห็นให้เรียกเก็บภาษีจากลูกทั้งสองของ นช.ทักษิณ เป็นจำนวนเงินรวม 11,350 ล้านบาท โดยให้ธนาคารไทยพาณิชย์โอนทรัพย์สินของนายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา ที่อายัดไว้ตามคำสั่ง คตส.ก่อนหน้านั้น ไปให้กรมสรรพากรเพื่อชำระภาษีตามจำนวนดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ลูกทั้งสองของ นช.ทักษิณได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลภาษีกลาง เพื่อที่จะไม่จ่ายภาษีตามจำนวนที่เรียกเก็บ
การสู้คดีดำเนินไปอย่างเงียบๆ จนกระทั่งวันที่ 8 สิงหาคม 2554 หลังจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไม่กี่วัน นางจิตรมณี สุวรรณพูล รองอธิบดีกรมสรรพากร ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร ก็ออกมาเปิดเผยว่า กรมสรรพากรได้คืนเงินสดประมาณ 200 ล้านบาท และทรัพย์สินที่เป็นที่ดินและหลักทรัพย์อีก 1,000 ล้านบาทที่เคยอายัดไว้คืนให้กับนายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทาไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
หลังจากที่กระทรวงการคลังเห็นชอบตามที่กรมสรรพากรเสนอเรื่องไม่อุทธรณ์เก็บภาษีจากลูกทั้งสองของ นช.ทักษิณ เนื่องจากศาลภาษีกลางได้พิพากษาเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2553 ว่า ทั้งสองคนไม่ใช่เจ้าของหุ้นชินคอร์ปฯ ตัวจริง โดยอ้างคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในคดียึดทรัพย์ นช.ทักษิณ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2553 ซึ่งได้ระบุว่า พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมาน ชินวัตร เป็นเจ้าของหุ้นที่แท้จริง โดยที่นายพานทองแท้และ น.ส.พินทองทา เป็นเพียงนอมินีที่ถือหุ้นแต่ในนามเท่านั้น
ทั้งที่ ตามปกติแล้ว การฟ้องร้องเพื่อเรียกเก็บภาษีของกรมสรรพากรจะดำเนินการอุทธรณ์ทุกเรื่องเพื่อให้เรื่องถึงที่สิ้นสุด และไม่มีปัญหาการละเว้นปฏิบัติหน้าที่เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้เสียภาษี
แต่กรณีนี้ กรมสรรพากรกลับยอมยุติเรื่องง่ายๆ ทั้งที่ตามหลักการแล้ว ในเมื่อมีธุรกรรมเกิดขึ้น และมีภาษีที่จะต้องเก็บเป็นรายได้เข้าแผ่นดิน ก็จะต้องเก็บ ไม่ว่าคนที่มีชื่อเป็นเจ้าของหุ้นจะเป็นเจ้าของตัวจริงหรือไม่ หรือ หากไม่ใช่เจ้าของหุ้นที่แท้จริง เงินที่อายัดไว้แล้วก็ต้องอายัดไว้ จนกว่าจะติดตามเจ้าของหุ้นตัวจริงมาจ่ายภาษีได้
เห็นได้ชัดเจนว่า การอ้างถึงคำพิพากษาศาลฎีกาฯ ในคดียึดทรัพย์ เป็นการอ้างมาเพียงบางส่วน เพื่อที่จะคืนเงินให้ลูกๆ ของ นช.ทักษิณเท่านั้น เพราะหากจะดูคำพิพากษาโดยรวม ก็จะเห็นถึงพฤติกรรมการใช้อำนาจหน้าที่ในทางทุจริตของ นช.ทักษิณระหว่างที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทั้งการออกนโยบายเอื้อประโยชน์ให้แก่ธุรกิจของตัวเอง และการซุกหุ้นไว้ในชื่อคนอื่นเพื่อหลีกเลี่ยงข้อห้ามตามรัฐธรรมนูญ
หากกรมสรรพากรปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา และยึดเอาคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ เป็นบรรทัดฐาน ก็จะต้องเร่งรีบติดตามเรียกเก็บภาษีจาก นช.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ในฐานะผู้ถือหุ้นชินคอร์ปฯ ตัวจริงโดยเร็ว และจะต้องเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 30 จากคนทั้งสองด้วย
แต่จนถึงขณะนี้ เวลาล่วงเลยเข้าสู่ปีที่ 3 แล้ว กรมสรรพากรยังไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ ที่จะติดตามเก็บภาษีการซื้อขายหุ้นชินคอร์ปฯ จาก นช.ทักษิณและอดีตภรรยาเลย
นี่เป็นตัวอย่างของการเล่นลิ้นบิดเบือนข้อกฎหมายของกลไกรัฐภายใต้ระบอบทักษิณ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้นายใหญ่
เงินภาษีการขายหุ้นชินคอร์ปฯ ที่กรมสรรพากรเก็บเป็นรายได้แผ่นดินไปแล้ว ยังมีข้ออ้างข้างๆ คูๆ จ่ายคืนให้
แล้วมีหรือ ที่จะไม่คืนทรัพย์สิน 4.6 หมื่นล้านบาทให้ นช.ทักษิณ หาก พ.ร.บ.ปรองดองมีผลบังคับใช้ และคดียึดทรัพย์กลายเป็นโมฆะ