xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

จับแหล“ด๊อกฯ เหลิม” พ.ร.บ.ปรองดองคืนเงินแม้วล้านเปอร์เซ็นต์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ผู้กำลังผลักดันกฎหมายล้างผิดให้ นช.ทักษิณ ชินวัตร
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีผู้ยอมรับหน้าชื่นตาบานว่าเป็น “ขี้ข้าทักษิณ” ถึงกับออกอาการฉุนเฉียวตวาดสื่อมวลชนว่า“อุบาทว์” เมื่อถูกถามเรื่องการผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ที่ กำลังเสนอต่อประธานสภาในวันที่ 23 พ.ค.นี้

นั่นเพราะถูกจับไต๋ได้ว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวได้ซ่อนเงื่อนไขสำคัญคือการคืนทรัพย์สิน 4.6 หมื่นล้านบาทให้ นช.ทักษิณ ชินวัตร

นี่เป็นเป้าหมายสำคัญอันหนึ่งของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ซ่อนงำเอาไว้ ควบคู่กับการออกกฎหมายล้างผิดให้พี่ชาย นับแต่พรรคเพื่อไทยได้เข้ามาเป็นรัฐบาลเมื่อกลางปี 2554

รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ประกาศนโยบายจะสร้างความปรองดองของคนในชาติ โดยอ้างว่าเป็นไปตามที่ได้หาเสียงไว้ว่า “จะแก้ไขไม่แก้แค้น” แต่วิธีการดำเนินการตามนโยบายดังกล่าว ล้วนแต่ซุกซ่อนเจตนาที่จะลบล้างความผิดให้ นช.ทักษิณ ชินวัตร ไว้เบื้องหลังทั้งสิ้น

เริ่มตั้งแต่การจะแก้ไขกฎระเบียบราชทัณฑ์เพื่อขอพระราชทานอภัยโทษให้ นช.ทักษิณ เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมายุ 84 พรรษา แต่เมื่อกระแสสังคมต่อต้านอย่างรุนแรง จึงล้มเลิกวิธีการนี้ไปก่อน

หลังจากนั้นก็ใช้วิธีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ ในสภาผู้แทนราษฎร และให้ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคและ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคมาตุภูมิเป็นประธาน

โดยหวังว่า การให้ พล.อ.สนธิ ที่เคยเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารล้มอำนาจรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มาเป็นประธานคณะกรรมาธิการฯ จะช่วยเสริมภาพลักษณ์ความปรองดองของคนในชาติมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม จากการทำงานที่รวบรัดและเสนอแนวทางการสร้างความปรองดองที่เข้าทาง นช.ทักษิณ ชินวัตร ทำให้ พล.อ.สนธิถูกมองว่า เป็นแค่คนมารับจ๊อบให้ นช.ทักษิณ มากกว่าที่จะมาสร้างความปรองดองอย่างแท้จริง

นั่นคือการนิรโทษกรมให้แก่ผู้ที่กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ทางการเมืองหลังการรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน 2549 รวมทั้งการยกเลิกผลทางกฎหมายของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ(คตส.)ด้วย นอกจากนั้น พล.อ.สนธิก็เร่งรีบเสนอร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติฯ ที่มี 8 มาตรา เข้าสู่สภา เมื่อวันที่ 24 พ.ค.2555 เช่นเดียวกับ ส.ส.พรรครัฐบาลที่เสนอเข้าไปก่อนหน้านั้นแล้ว 3 ร่าง โดยไม่รอให้มีการทำประชาเสวนาตามแนวทางที่คณะกรรมาธิการฯ ซึ่ง พล.อ.สนธิเป็นประธานเองนั่นแหละได้เสนอเอาไว้

นั่นเป็นเหตุให้เกิดการต่อต้านจากกระแสสังคม และภาคประชาชนอย่างพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยออกมาชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้าและหน้ารัฐสภา ช่วงวันที่ 30-31 พ.ค.2555 จนทำให้รัฐบาลต้องเลื่อนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ออกไปก่อน

ควบคู่ไปกับการเสนอร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ฉบับ พล.อ.สนธิ ก็คือการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อล้มล้างรัฐธรรมนูญฉบับเดิมแล้วร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาใช้แทน ซึ่งก็จะมีผลในการลบล้างความผิดให้ นช.ทักษิณเช่นกัน จากการลบบทบัญญัติตามมาตรา 309 ของรัฐธรรมนูญฉบับเดิมออกไปได้

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขมาตรา 291 ก็ต้องหยุดอยู่แค่การพิจารณาวาระ 3 เมื่อมีผู้ยื่นร้องและศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับเดิมแล้วร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาใช้แทนไม่สามารถทำได้หากไม่ผ่านการทำประชามติก่อน

ความเคลื่อนไหวที่จะล้างความผิดให้ นช.ทักษิณ ชินวัตร ด้วยการหักดิบหลักกฎหมาย เริ่มกลับมาอีกครั้งในช่วงต้นปี 2556 เมื่อเครือข่ายบริวารของ นช.ทักษิณ ต่างก็เสนอกฎหมายนิรโทษกรรมออกมาหลายร่าง อาทิ

-แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นำโดยนางธิดา โตจิราการ เสนอออกมาเป็นพระราชกำหนด(พ.ร.ก.)การนิรโทษกรรม

-นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย เสนอเป็นพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)นิรโทษกรรม

-นายอุกฤษ มงคลนาวิน ในฐานะประธานคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) เสนอเป็น พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

-กลุ่มนิติราษฎร์และนักวิชาการเสื้อแดงเสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญ “ว่าด้วยนิรโทษกรรมและการขจัดความขัดแย้ง”

ทั้งนี้ เนื้อหาของทุกร่างที่เสนอมา ส่วนใหญ่จะคล้ายๆ กัน คือการนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ที่กระทำความผิดจากการเข้าร่วมในเหตุการณ์ทางการเมืองหรือมีแรงจูงใจจากเหตุการณ์ทางการเมืองหลังการรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน 2549 ยกเว้นผู้ที่เป็นแกนนำหรือมีอำนาจสั่งการให้เกิดการชุมนุมและกระทำความผิด

อย่างไรก็ตาม ร่างที่ได้รับการขานรับมากที่สุดเป็นร่างของนายวรชัย เหมะ ที่เสนอต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม 2556 และเมื่อ นช.ทักษิณ สไกป์เข้าไปยังที่ประชุม ส.ส.พรรคเพื่อไทยในวันที่ 17 เมษายน ในวันรุ่งขึ้น 18 เมษายน ที่ประชุมสภาผู้แทนฯ ก็ใช้เสียงข้างมากเลื่อนวาระการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ฉบับของนายวรชัย มาเป็นวาระเร่งด่วนวาระแรก ในการประชุมสภาผู้แทนฯ สมัยสามัญทั่วไปสมัยหน้า ในเดือนสิงหาคม 2556

ในวันเดียวกัน ร.ต.อ.เฉลิม พร้อมด้วยนายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พรรคเพื่อไทย พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) และคณะ ก็เปิดแถลงข่าวที่รัฐสภา จะผลักดันร่าง พ.ร.บ.การปรองดองแห่งชาติ ซึ่งมีทั้งหมด 6 มาตรา เนื้อหาใจความสำคัญคือการนิรโทษกรรมให้แก่ทุกคนทุกกลุ่มที่กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ทางการเมืองตั้งแต่ปี 2549 โดยรวมให้รวมถึงแกนนำ ผู้สั่งการ และเจ้าหน้าที่รัฐด้วย

ร.ต.อ.เฉลิมอ้างว่า การเสนอร่าง พ.ร.บ.นี้ เพื่อให้บ้านเมืองเกิดความสามัคคีสงบสันติ เป็นการนับหนึ่งประเทศไทยใหม่ โดยเตรียมแผนเดินสายทำความเข้าใจกับชาวบ้านที่ขอนแก่นในวันที่ 27 เมษายนแล้วตระเวนทั่วภาคอีสาน และปราศรัยใหญ่ที่ทุ่งศรีเมือง จังหวัดอุดรธานีในวันที่ 24 พฤษภาคม

เนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ฉบับดอกเตอร์เฉลิมที่เสนอให้นิรโทษกรรมแก่ทุกคนทุกฝ่าย โดนใจ นช.ทักษิณอย่างแรง ถึงกับสไกป์ในที่ประชุม ส.ส.พรรคเพื่อไทยเมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมาว่า เห็นด้วยกับร่างฯ นี้ เพราะทำอะไรต้องทำให้สุดซอย ส่วนร่างของนายวรชัยนั้น ครึ่งๆ กลางๆ ไม่สุดซอย พร้อมกับเร่งให้ ส.ส.บริวารช่วยกันผลักดัน เพราะตนเองลอยคออยู่กลางทะเลมานานแล้ว หนาวจะเป็นปอดบวมตายอยู่แล้ว

สิ้นเสียงสไกป์จำนวน ส.ส.ที่มาลงชื่อสนับสนุนร่างฯ ของ ร.ต.อ.เฉลิมก็พุ่งขึ้นเป็น 90 กว่าคนในวันที่ 1 พ.ค. ทั้งที่ยังไม่ได้เอาเข้าที่ประชุมพรรค

จนวันที่ 14 พ.ค.มีการนำร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ของ ร.ต.อ.เฉลิมเข้าที่ประชุม ส.ส.พรรคเพื่อไทย ซึ่งที่ประชุมก็เห็นด้วยที่จะเสนอร่าง พ.ร.บ.นี้เข้าสู่สภาในสมัยการประชุมสามัญทั่วไปสมัยหน้า โดยให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ลงนามก่อน เนื่องจากเป็น พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับการเงิน เพราะมีบางมาตราที่ระบุถึงการจ่ายเงินเยียวยาด้วย

วันที่ 15 พ.ค. ร.ต.อ.เฉลิมให้สัมภาษณ์ว่ามี ส.ส.พรรคมาร่วมลงชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ แล้ว 149 คน จึงเตรียมจะยื่นต่อประธานสภาฯ ในวันที่ 23 พ.ค.นี้ เพื่อบรรจุเข้าวาระในสมัยประชุมสามัญทั่วไปสมัยหน้า

การให้สัมภาษณ์ครั้งนี้ ร.ต.อ.เฉลิมให้ของแถมนักข่าวด้วยการด่าตวาดหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ กรณีที่นำเสนอข่าวว่าร่าง พ.ร.บ.นี้จะคืนเงิน 4.6 หมื่นล้านให้ นช.ทักษิณ ว่าเป็นหนังสือพิมพ์“อุบาทว์”ไม่อยากเห็นบ้านเมืองสงบ และอ้างว่า พ.ร.บ.นี้ไม่เห็นมีตรงไหนที่บอกว่าจะคืนเงินให้ นช.ทักษิณ

อาการของ ร.ต.อ.เฉลิมที่ว้ากใส่สื่อดังกล่าว ไม่ต่างจากคนที่กำลังแอบขโมยของแล้วถูกจับได้

นั่นเพราะหากพิจารณาเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ฉบับนี้ ในมาตรา 4 ที่ระบุว่า บรรดาการกล่าวหาการกระทำผิดบุคคลใดๆ ที่เกิดจากคำสั่งของของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 หรือจากบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งจากคำสั่ง คปค. ไม่ว่าเป็นการกล่าวหาในข้อหาใด ให้ถือว่าเป็นการกล่าวหาในความผิดทางการเมือง ให้การกล่าวหานั้นระงับไป ให้ถือว่าผู้นั้นมิได้กระทำความผิด

บทบัญญัติตามมาตรา 4 แม้ได้ระบุตรงๆ ว่าจะคืนเงินให้ใคร แต่หากบทบัญญัตินี้มีผลบังคับใช้ คดีความต่างๆ ที่ คตส.ได้ทำไว้จะเป็นโมฆะ นั่นเพราะ คตส.ได้รับแต่งตั้งขึ้นตามคำสั่งของ คปค.

คดียึดทรัพย์ นช.ทักษิณ เป็นจำนวนเงิน 4.6 หมื่นล้านบาทอันเนื่องมาจากการทุจริต ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้พิพากษาไปแล้ว ก็เป็นหนึ่งในคดีที่มาจาก คตส.

เมื่อความผิดตามการกล่าวหาของ คตส.ถูกลบล้างด้วยมาตรา 4 แล้ว คดียึดทรัพย์ 4.6 หมื่นล้านก็ต้องถูกลบล้างไปด้วย แล้วเงินจำนวนดังกล่าวก็ต้องกลับคืนไปอยู่ในกระเป๋าของ นช.ทักษิณตามเดิม


กำลังโหลดความคิดเห็น