ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-การที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์ ลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เหลือ 2.50% ด้วยเหตุผลางด้านเศรษฐกิจในระยะยาว
แต่อีกนัยหนึ่ง กลับไม่อาจปฏิเสธว่า มีผลจากแรงกดดันของนักการเมืองระยะสั้นอย่าง “กิตติรัตน์ ณ ระนอง”
แม้ “ไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน”ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อธิบายว่า การที่กนง.ประชุมติดต่อกัน 2 วัน จนกรรมการทั้ง 7 คน มีมติเอกฉันท์ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จาก 2.75% เหลือ 2.50% ต่อปี โดยให้มีผลทันทีนั้น มาจากปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจในระยะยาว
โดยกนง.เห็นว่า “ภาพรวมเศรษฐกิจในปีนี้ยังคงขยายตัว เนื่องจากมีพื้นฐานในเกณฑ์ดี แต่มีความเสี่ยงมากขึ้น จากตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1 ซึ่งต่ำกว่าคาดการณ์มาก ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย ดังนั้นนโยบายการเงินจึงสามารถผ่อนคลายเพิ่มเติมได้ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศ แต่ความเสี่ยงภายใต้เสถียรภาพการเงินที่มีอยู่ คณะกรรมการเชื่อว่าการปรับลดในอัตราดังกล่าวจะเพียงพอต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย”
นั่นหมายความว่า การแถลงข่าวตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของสภาพัฒน์ก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน มีผลต่อการตัดสินใจของคณะกรรมการ ซึ่งชี้ให้เห็นว่า อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปีนี้ น้อยกว่าที่ประมาณการไว้
จนเกิดคำถามว่า สภาพัฒน์ร่วมมือกับรัฐบาลกดดัน ธปท.
ไพบูลย์ ยังอธิบายเพิ่มเติมว่า "การปรับลดดอกเบี้ยครั้งนี้ คงไม่สามารถบอกได้ว่า เป็นแรงกดดันทางการเมืองหรือไม่ แต่การดำเนินนโยบายมีการดำเนินงานตามข้อมูลหรือสถานการณ์เศรษฐกิจจริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเป็นสำคัญ โดยเชื่อว่า การลดดอกเบี้ย 0.25% จะเพียงพอในการดูแลการเติบโตทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม กนง. จะติดตามพัฒนาการของเศรษฐกิจไทย และความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงิน รวมถึงเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิดต่อไป และพร้อมจะดำเนินนโยบายที่เหมาะสมตามสถานการณ์"
แปลไทยเป็นไทยอีกรอบก็คือ การลดดอกเบี้ยก็เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวตามเป้าหมายที่วางไว้ ภายใต้อัตราเงินเฟ้อที่สามารถควบคุมได้
เขาบอกอีกว่า “ในช่วงที่ผ่านมาอัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่ได้มีผลสัมพันธ์กับค่าเงินบาทให้ปรับตัวอ่อนค่าลงมากนัก เนื่องจากเงินบาทมักเคลื่อนไหวตามภาวะเศรษฐกิจต่างประเทศ ภาวะเงินทุนเคลื่อนย้ายมากกว่า ซึ่ง กนง. จะยังติดตามและเตรียมการที่จะนำมาตรการในการดูแลไว้เสมอ แม้ว่าปัจจุบันค่าเงินบาทจะปรับตัวอ่อนค่าลงมาแตะที่ 30 บาทต่อเหรียญสหรัฐแล้วก็ตาม แต่ภาวะเศรษฐกิจโลกและเงินทุนเคลื่อนย้ายยังมีความผันผวน จำเป็นที่จะต้องจับตาอย่างใกล้ชิดต่อไป”
การตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยของ กนง. ยังได้รับคำยืนยันจาก ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ว่า
“ไม่ได้ถูกกดดันจากฝ่ายการเมือง แต่ได้พิจารณาจากข้อมูลต่าง ๆ จนกระทั่งมีมาตรการออกมา เช่นมาตรการด้านดอกเบี้ยซึ่งหากลดต่ำไปก็กระทบกับคนออมเงิน แต่หากค่าบาทแข็งมากไปผู้ส่งออกก็กระทบเช่นกัน”
นอกจากนี้ยังมีมาตรการให้นักลงทุนไทยสามารถนำเงินตราลงทุนต่างประเทศได้ หรือกรณีที่ธนาคารฯสามารถซื้อดอลล่าร์ได้แต่ไม่ได้ปฏิบัติมากเช่นในอดีต และในขณะนี้ค่าบาทอ่อนมากคือเงินทุนไหลออกบ้างแต่ก่อนหน้านี้ทุนไหลมามาก 4 - 5 เดือนที่ผ่านมาประมาณ 5 พันล้านบาท
นั่นหมายความว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่ส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาท อย่างที่กิตติรัตน์ เข้าใจแต่อย่างใด
จริงๆแล้ว ปัจจัยพื้นฐานที่กำหนดทิศทางของค่าเงิน จะมาจาก
(1) การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยและต่างประเทศ เช่น สหรัฐ กลุ่มยุโรป เอเชีย และกลุ่มประเทศอาเซียน เพราะประเทศที่มีแนวโน้มของการเจริญเติบโตที่ดี จะทำให้นักลงทุนนำเงินไปลงทุนจำนวนมาก ซึ่งไทยก็จัดอยู่ในกลุ่มที่มีศักยภาพการเจริญเติบโตที่ดี
(2) สภาพคล่องที่ล้นอยู่ในระบบเศรษฐกิจโลกจำนวนมาก ทั้งจากสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น ที่ต่างเร่งพิมพ์เงินออกมากกระตุ้นเศรษฐกิจ สภาพคล่องเหล่านี้ต่างต้องการหาแหล่งการลงทุนที่มีผลตอบแทนสูงทั้งสิ้น ดังนั้นอาเซียน และเอเชีย จึงกลายเป็นเป้าหมายสำคัญของเงินทุนไหลเข้า
(3) การเก็งกำไรของนักลงทุนต่างชาติ
ปัจจัยเหล่านี้ยังดำรงอยู่แม้ว่ากนง. จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาก็ตาม
นั่นหมายความว่า ค่าเงินบาทยังมีโอกาสปรับตัวขึ้นมาแข็งค่าอีกในระยะยาว
ในระยะใกล้นี้ เงินบาทแข็งค่ามาจากผลกระทบของมาตรการกระทรวงการคลังเป็นสำคัญ
ประเด็นสำคัญก็คือ การกำหนดวงเงินการลงทุนของเงินตราต่างประเทศ เพื่อควบคุมการไหลเข้าไหลออกของเงิน เช่น
(1) การส่งเงิน โดยนิติบุคคลเพื่อให้กู้ยืมแก่กิจการที่ต่างประเทศ ที่นอกเหนือจากการลงทุนในกิจการต่างประเทศ เป็นจำนวนรวมทั้งสิ้นไม่เกินปีละ 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเทียบเท่าตามอัตราตลาด
(2) เพื่อส่งเงินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของคนไทย ที่ย้ายถิ่นฐานไปพำนักอยู่ต่างประเทศ เป็นการถาวร เป็นจำนวนไม่เกินปีละ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเทียบเท่าตามอัตราตลาดต่อผู้รับแต่ละราย
(3) เพื่อส่งเงินมรดกให้แก่ผู้รับมรดก ซึ่งมีถิ่นพำนักถาวรในต่างประเทศเป็นจำนวนไม่เกินปีละ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเทียบเท่าตามอัตราตลาดต่อผู้รับแต่ละราย
(4) เพื่อส่งไปให้ครอบครัว หรือญาติพี่น้อง ซึ่งมีถิ่นพำนักถาวรในต่างประเทศเป็นจำนวนไม่เกินปีละ 1 ล้านดอลลาร์ หรือเทียบเท่าตามอัตราตลาดต่อผู้รับแต่ละราย
(5) เพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์เป็นจำนวนมาก ไม่เกินปีละ 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเทียบเท่าตามอัตราตลาดต่อราย
(6) เพื่อบริจาคให้แก่สาธารณประโยชน์ เป็นจำนวนไม่เกินปีละ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเทียบเท่า ตามอัตราตลาดต่อราย
(7) เพื่อซื้อหุ้นใบสำคัญ และแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น หรือสิทธิที่จะซื้อหุ้นของบริษัทในเครือเดียวกันที่ต่างประเทศในลักษณะที่เป็นการให้สวัสดิการแก่พนักงานเป็นจำนวนไม่เกินปีละ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเทียบเท่าตามอัตราตลาดต่อราย"
นั่นหมายความว่า การประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.ไม่ได้มีผลต่อค่าเงินบาทแต่อย่างใด
แต่กลับส่งผลอย่างรุนแรงต่อ “ความขลัง” ของอำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง !!