“นพดล” อ้างเป็นเรื่องปกติใครก็วิจารณ์ ธปท.ได้ “ทักษิณ” แค่แสดงความเห็นโดยสุจริตจะเป็นเรื่องเสียหายตรงไหน ยันลดอัตราดอกเบี้ยช่วยตัดแรงจูงใจนักลงทุนนอกแก้ปัญหาเงินบาทแข็งได้ เตือนขวางแก้บาทแข็งคนไทยจำนวนมากจะตกงาน
วันนี้ (18 พ.ค.) นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่ นายเกียรติ สิทธีอมร กล่าวโจมตี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่าแทรกแซงการทำงานของธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น นายเกียรติ ได้ให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงหลายประการ เพราะแม้ธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีความเป็นอิสระ แต่ก็ควรต้องรับฟังเสียงสะท้อนของทุกภาคส่วน พ.ต.ท.ทักษิณ เพียงแต่แสดงความคิดเห็นโดยสุจริต จะเป็นเรื่องเสียหายตรงไหน เพราะที่ผ่านมา ก็มีหลายฝ่ายแสดงความเห็นเกี่ยวกับการแก้ปัญหาค่าเงินบาทของธนาคารแห่งประเทศไทยมากมาย ไม่ว่า นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หรือภาคเอกชน เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เป็นเรื่องปกติที่ใครๆ ก็สามารถวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ ธปท. ได้
ส่วนที่ นายเกียรติ อ้างว่าไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลง กม. ที่เกี่ยวข้องกับธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น ก็เป็นการพูดเท็จ เพราะได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 หลังจากที่มีการรัฐประหาร 19 ก.ย.49 กำหนดให้ ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นนิติบุคคล มีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่ใช่ส่วนราชการ หรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ และกฎหมายอื่น และให้อำนาจ ธ.ป.ท. มากมาย จนทำให้แม้แต่กระทรวงการคลังก็ไม่สามารถมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางนโยบายการเงินของประเทศได้อย่างเต็มที่ เพราะ พ.ร.บ. ดังกล่าวไม่ได้กำหนดขอบเขตอำนาจหน้าที่ของ รมว.คลังไว้อย่างชัดเจน
ส่วนการที่ นายเกียรติ อ้างว่า นักวิชาการส่วนใหญ่เห็นว่าการลดอัตราดอกเบี้ยไม่ได้ช่วยอะไร ซึ่งน่าจะหมายถึงไม่ได้แก้ปัญหาเงินบาทแข็งนั้น ก็ไม่เป็นความจริง เพราะที่จริงแล้วนักวิชาการส่วนใหญ่ได้เสนอความเห็นผ่านสื่อมาโดยตลอดว่า การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นหนึ่งในมาตรการที่ ธปท. สามารถใช้เพื่อสกัดเงินทุนต่างประเทศไม่ให้ไหลเข้าไทย ซึ่งจะส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงได้ ดังนั้น คำพูดของ นายเกียรติ ที่ระบุว่า การลดอัตราดอกเบี้ยไม่ได้ช่วยอะไร จึงเป็นคำพูดที่ไม่เป็นความจริง ทั้งยังเป็นการบิดเบือนความคิดเห็นของนักวิชาการอีกด้วย นอกจากนั้น จากเอกสารรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการนโยบายการเงิน ที่รายงานต่อ ครม. เมื่อวันที่ 14 พ.ค. ที่ผ่านมา ได้ระบุว่า สาเหตุของการแข็งค่าของเงินบาทเกิดจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก และการไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศ ดังนั้น การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถสกัดเงินทุนต่างประเทศ ไม่ให้ไหลเข้าไทยเพราะจะลดแรงจูงใจของนักลงทุนต่างชาติที่ต้องการแสวงผลกำไรในระยะสั้น แล้วอย่างนี้ นายเกียรติ จะอ้างว่าการลดอัตราดอกเบี้ยจะไม่ได้ช่วยอะไร หรือไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาเงินบาทแข็งได้อย่างไร
นักเศรษฐศาสตร์ และนักธุรกิจชั้นนำเห็นว่าการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นมาตรการหนึ่งในการแก้ปัญหาเงินบาทแข็ง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อภาคเอกชน โดยเฉพาะผู้ประกอบการส่งออก ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการนำรายได้เข้าประเทศ ไม่ใช่การทำให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์บางรายได้ประโยชน์อย่างที่นายเกียรติ กล่าวหาอย่างไร้หลักฐาน ตรงกันข้าม หากปล่อยให้เงินบาทแข็งค่าโดยไม่รีบแก้ไข จะมีผู้เดือดร้อนมากมายไม่ว่าจะเป็นผู้ส่งออก ผู้ผลิตวัตถุดิบป้อนผู้ส่งออก ธุรกิจภาคท่องเที่ยวและบริการในประเทศ หากธุรกิจเหล่านี้ต้องปิดกิจการลงจะทำให้คนไทยจำนวนมากต้องตกงาน อย่างไรก็ตาม การที่ค่าเงินบาทแข็งค่าก็จะมีบุคคลบางจำพวกได้ประโยชน์ คือ คนปล่อยเงินกู้ นักเล่นหุ้นรายใหญ่ๆ ในตลาด จึงขอถาม นายเกียรติ ว่า เหตุที่พวกท่านคัดค้านการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทั้งๆ ที่รู้เต็มอกว่าเป็นมาตรการหนึ่งที่จะแก้ปัญหาการแข็งค่าของเงินบาทนั้น ท่านได้คำนึงถึงชะตากรรมของผู้ประกอบการส่งออกที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักอยู่ในขณะนี้หรือไม่