xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

Fight for Science ปรากฏการณ์นักวิทย์ ต้าน “วรวัจน์ปลัดขิก”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การแต่งดำของคนสวทช.และสัญลักษณ์ Fight for Science ที่แสดงออกอย่างชัดเจนถึงความไม่พอใจในการบริหารงานของรัฐมนตรี
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ในอดีตที่ผ่านมา “กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” มักถูกมองว่าเป็น “กระทรวงเกรดซี” เนื่องเพราะเป็นกระทรวงที่มีงบประมาณน้อยในสายตาการเมือง แถมยังแทบไม่ปรากฏเรื่องราวความขัดแย้งระหว่างนักการเมืองกับข้าราชการประจำให้เห็นเด่นชัดเมื่อเทียบกับกระทรวงอื่นๆ แต่การเข้ามาดำรงตำแหน่งของ “เสี่ยแมว-วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการคนปัจจุบัน อาจทำให้ต้องมานั่งทบทวนกันใหม่ หลังหน่วยงานวิจัยระดับชาติถูกหั่นงบ และหลากหลายปัญหาที่ก่อเป็นกระแสความไม่พอใจ จนเกิดการแสดงออกด้วยการ “แต่งดำ”

เกิดอะไรขึ้นกับ “สายตรงเจ๊แดง” ที่ไม่เคยพลาดเก้าอี้ในการปรับคณะรัฐมนตรีทุกครั้ง จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นรัฐมนตรีปรจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก่อนที่จะมาหยุดที่เก้าอี้รัฐมนตรีวิทยาศาสตร์ทั้งๆ ที่ไม่เคยมีผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ในทุกเก้าอี้ที่ไปนั่ง ยกเว้นเมื่อครั้งที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ในยุคสมชาย วงศ์สวัสดิ์ที่สร้างความฮือฮาด้วยความคิดอันบรรเจิดด้วยการนำเสนอแนวความคิดที่จะนำความเชื่อและพิธีกรรมทางไสยศาสตร์ อาทิ พญานาค ควายธนู เสน่ห์ยาแฝด น้ำมนต์ ปลัดขิก ฯลฯ มาทำเป็นสินค้าวัฒนธรรม เพื่อขายเป็นของที่ระลึกจนถูกก่นด่าไปทั้งบ้านทั้งเมืองว่า “นี่หรือคือความคิดของคนที่เป็นรัฐมนตรี

ทั้งนี้ กระแสความไม่พอใจของพนักงานสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ปะทุจนมีการประท้วงแต่งดำเมื่อ 20 พ.ค.ที่ผ่านมา พร้อมใบปลิวเผยพฤติกรรมไร้ธรรมาภิบาลของนายวรวัจน์ และมีการแสดงออกถึงความทนไม่ไหวมากขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะการแสดงความเห็นผ่านโซเชียลมีเดียที่เกิดขึ้นอย่างครึกโครมภายใต้ชื่อ Fight for Science

กระทั่งวันที่ 23 พ.ค. ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สวทช. ต้องนัดชี้แจงกับพนักงานว่า สวทช.พร้อมผลักดันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามนโยบาย ของรัฐบาล แต่บางข่าวที่ปรากฏนั้นก็มีการบิดเบือนไปจากความจริง ทว่า ผ่านไป 3 คืนผู้บริหารคนเดิมก็ส่งจดหมายถึงพนักงานว่า พร้อมสู้เพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ สู้เพื่อระบบธรรมาภิบาล รวมถึงรักษาเกียรติของ สวทช.

“ตลอดสองวันที่ผ่านมา ผมใช้เวลาไตร่ตรองสิ่งที่เกิดขึ้น ด้วยความละเอียดรอบคอบเเล้ว ผมขอเเจ้งพวกเราว่า ผมยืนยันที่จะต่อสู้เพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์เเละเทคโนโลยีของประเทศไทย เพื่อระบบธรรมาภิบาล เเละร่วมกันรักษาเกียรติของ สวทช. ทั้งนี้ไม่ว่าในฐานะ ผพว. หรือฐานะอื่นหลังจากนี้”

ข้อความในอีเมลที่ส่งถึงพนักงานดังกล่าว ชวนให้เข้าใจว่า ผอ.สวทช.จะไม่ยอมจำนนต่ออำนาจการเมือง แต่เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามกลับได้คำตอบว่า เป็นเพียงการแสดงจุดยืนเพื่อพัฒนาวิทยาศาสตร์ และต้องการให้พนักงานมีหลักยึดเท่านั้น

ข้อความในใบปลิวที่เผยถึงปัญหาธรรมาภิบาลของนายวรวัจน์ ระบุถึงเรื่องการตัดงบวิจัยที่สำคัญ อาทิ งบวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ งบวิจัยเพื่อใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเร่งพื้นฟูระบบนิเวศน์ การวิจัยพลังงานจากชีวมวล เป็นต้น หรือคำสั่งในที่ประชุมซึ่งทำให้ขาดความคล่องตัวในการทำงาน เช่น การเรียกคืนอำนาจที่อดีตรัฐมนตรีหรือประธานบอร์ดต่างๆ ได้มอบหมายไปแล้วกลับคืน การให้ทุนวิจัยของต่างประเทศหรือการจัดซื้อจัดจ้างที่เกิน 2 ล้านบาทต้องได้รับการพิจารณาจากรัฐมนตรีก่อน รวมถึงเรื่องที่จะเข้าให้คณะกรรมการแต่ละหน่วยงานพิจารณา ต้องให้รัฐมนตรีทราบก่อน เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่า นายวรวัจน์พยายามถ่วงเวลาเพื่อให้คณะกรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (กวทช.) หมดวาระไปก่อนที่จะมีการสรรหาคณะกรรมการหรือบอร์ดชุดใหม่ ซึ่งบอร์ดดังกล่าวได้หมดวาระไปเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคมที่ผ่านมา แต่เขาได้ชี้แจงแก่ผู้สื่อข่าวว่าตลอด 4 เดือนที่ผ่านมาไม่มีใครส่งหนังสือเชิญให้เขาร่วมประชุม

อีกทั้งยังมีกระแสว่าคนใกล้ชิดของรัฐมนตรีมีรายชื่ออยู่ในบอร์ด กวทช.ชุดใหม่ด้วย และเมื่อสอบนายวรวัจน์วันที่ 27 พฤษภาคม เขาให้คำตอบว่า เป็นเรื่องปกติที่จะต้องมีคนของรัฐมนตรีเข้าไปนั่งในบอร์ด เพราะรัฐมนตรีต้องทราบว่าใครทำอะไรบ้างเพื่อให้บริหารงานได้ แต่ผ่านไปเพียงวันเดียวเขาปฏิเสธว่าไม่มีรายชื่อผู้ใกล้ชิดอยู่ในบอร์ด

ทั้งนี้ หนึ่งในหน้าที่ของ บอร์ด กวทช.คือการสรรหา ผอ.สวทช.คนใหม่ โดย ดร.ทวีศักดิ์จะหมดวาระในเดือน ต.ค.นี้ ซึ่งตามธรรมเนียมปฏิบัติจะมีการสรรหาผู้อำนวยการคนใหม่ล่วงหน้า 6 เดือน ทำให้เกิดกระแสกังวลว่า อาจมีการแทรกแซงจากภาคการเมืองในการสรรหาผู้อำนวยการคนใหม่ของ สวทช.

แรกทีเดียวนายวรวัจน์ได้ให้สัมภาษณ์สื่อว่าการลุกฮือของพนักงาน สวทช.นั้นเป็นเพราะไม่พอใจในเรื่องถูกตัดโบนัส ซึ่งเมื่อคำนวณพบว่าเกิน 30% รายได้ และตามระเบียบของคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) ไม่สามารถอนุมัติได้ ซึ่งเมื่อออกสื่อไปแล้ว ก็มีแรงต้านในโลกโซเชียลมีเดียว่า ไม่มีใครห่วงเรื่องไม่ได้เงินดังกล่าว แต่พวกเขาห่วงเรื่องการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศมากกว่า

เมื่อผู้สื่อข่าวมีโอกาสสัมภาษณ์รัฐมนตรีวรวัจน์หลังจากนั้น เด็กเจ๊แดงก็บอกปัดว่าไม่ทราบถึงสาเหตุของปัญหาที่พนักงาน สวทช.ลุกขึ้นมาประท้วง และพยายามให้ข้อมูลเรื่องการแก้ทางออกของปัญหาค่าตอบแทนพิเศษแก่พนักงาน สวทช.ที่เกินเพดาน กพร. โดยบอกว่าสามารถอนุมัติได้เป็นกรณีพิเศษ แต่ต้องได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณ

นอกจากนี้นายวรวัจน์ยังพยายามให้ข้อมูลแก่ผู้สื่อข่าวว่า การทำงานภายใต้งบประมาณปี 2556 ของ สวทช.นั้น “ตกเกณฑ์” ประเมินผล หากแต่เมื่อได้นำข้อมูลต่างๆ มาพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้วกลับพบว่าการประเมินผลที่ไม่ผ่านเกณฑ์นั้น เนื่องจากเป็นการคำนวณตามระยะเวลาไม่ถึงครึ่งปีงบประมาณ

ตัวอย่างเช่น จำนวนทรัพย์สินทางปัญญาที่ยื่นขอรับความคุ้มครองต่อบุคลากรวิจัย ไตรมาส 2 อยู่ที่ 0.082 คำขอต่อคน แต่ค่าเกณฑ์ระดับ 3 หรือเกณฑ์ตามเป้าหมายอยู่ที่ 0.130 ซึ่งไม่ถึงครึ่งปีแต่เห็นได้ว่ามีผลงานเกินครึ่งแล้ว หรือการตีพิมพ์ผลงานในวารสารวิชาการซึ่งอยู่ที่ 0.06 บทความต่อคน แม้จะไม่ถึงครึ่งของ 0.32 บทความต่อคนตามเป้าหมาย แต่โดยธรรมชาติของงานวิจัยมักใช้เป็นปีหรือมากกว่านั้นในการตีพิมพ์ จึงมักพบว่าช่วงปลายปีจะเห็นตัวเลขผลงานตีพิมพ์ผลงานวิจัยเพิ่มขึ้นอย่าง ก้าวกระโดด เป็นต้น

ขณะเดียวกันก็มีข้อมูลหลั่งไหลออกมาอีกเป็นจำนวนมากเกี่ยวกับความไม่ชอบมาพากลในกระทรวงวิทยาศาสตร์ภายใต้การบริหารของนายวรวัจน์ อาทิ เสียงจากเจ้าหน้าที่ “สถาบัตรมาตรวิทยาแห่งชาติ” ที่กำลังเดินหน้าโครงการจัดซื้อเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะต้องใช้ในการกำหนด "ค่ามาตรฐานการวัดของชาติ" มูลค่า 721 ล้านบาท ปรากฏว่าจู่ๆ ก็ถูกเบรกจน “หัวทิ่ม” พร้อมส่งปรึกษา ที่ตั้งกันมาเป็นโขยง เข้าไปดึงเรื่องการจัดซื้อทั้งหมดไปดูเอง จนโครงการต้องหยุดชะงัก ทั้งที่เรื่องนี้ดำเนินการมาอย่างถูกหลักผ่านขั้นตอนตามกฎหมายทุกประการ

แต่ที่เด็ดที่สุดเห็นจะเป็นการที่ “ดร.นิศรา การุณอุทัยศิริ” อดีตนักเรียนทุนรัฐบาล กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปี พ.ศ.2537 -2547 และหัวหน้าห้องปฏิบัติการไมโครอะเรย์แบบครบวงจร ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ(ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โพสต์สเตตัสในเฟซบุ๊กแสดงความวิตกต่อความพยายามให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบางอย่างในการให้ทุนการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์

“จากใจอดีตนักเรียนทุนกระทรวงวิทย์สืบเนื่องจากช่วงนี้มีข่าวของความไม่สงบในกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ซึ่งมีสาเหตุหลากหลาย แต่เรื่องของการให้ทุนการศึกษากับนักเรียน นักศึกษา และบุคคลทั่วไป เพื่อไปศึกษาต่อในต่างประเทศนั้นยังไม่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึง จึงอาจทำให้หลายท่านยังไม่ทราบข้อมูลว่ามีความพยายามทำให้เกิดการเปลี่ยน แปลงบางอย่างที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง ที่ผ่านมาฝ่ายนักเรียนทุนรัฐบาลกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ สังกัด สวทช. และคณะกรรมการของศูนย์ประสานงานนักเรียนทุนรัฐบาลทางด้านวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยี (ศนวท.) เป็นผู้ดูแลโครงการการให้ทุนนี้มากว่า 20 ปีแล้ว แต่ตอนนี้มีกระแสว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงหลายทาง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่มีความคิดที่จะย้ายหน้าที่ความรับผิดชอบนี้ไปให้หน่วย งานอื่นดูแลบ้าง จะมีการตัดงบบ้าง”

“กระแสเหล่านี้นอกจากกระทบกระเทือนจิตใจอดีตนักเรียนทุนฯอย่างดิฉันแล้ว หากเกิดขึ้นจริงจะกระทบต่อการพัฒนาประเทศชาติโดยตรงและหนักที่สุด เพราะคุณภาพของบุคลากรในวงการวิทยาศาสตร์เป็นหัวใจของการพัฒนาความสามารถของประเทศ นอกจากนี้การพัฒนา “คน” เป็นเรื่องที่ต้องวางแผนและลงทุนระยะยาว หากปล่อยให้กระแสการเมืองซึ่งเปลี่ยนกันอยู่บ่อยๆ เข้ามาบ่งชี้หรือกำกับทิศทางตามใจชอบแล้ว โอกาสที่จะหันกลับมาในทิศที่ถูกต้องอีกครั้งยากมาก เวลาที่ล่วงเลยไปในการเดินทิศที่ผิดจะทำให้ประเทศถดถอยเป็นหลายๆ ปีดิฉันเป็นหนี้แผ่นดินนี้” เมื่อวันที่ผืนแผ่นดินแม่จะกลบหน้าของดิฉัน ดิฉันอยากนอนตายด้วยความโล่งใจว่าเยาวชนรุ่นหลังจะได้มีโอกาสสร้างความก้าว หน้าในชีวิตด้วยทุนกระทรวงวิทย์”

ไม่ใช่ ดร.นิศราเท่านั้นที่กล้า หากยังมี ศ.นพ.ดร.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ประจำปี 2549 นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นของไทย ประจำปี 2551ได้เขียนเฟซบุ๊คส่วนตัว Apiwat Mutirangura แสดงความคิดเห็นในกรณีดังกล่าวอย่างไม่เกรงกลัวเช่นกัน

“การลดงบประมาณประจำปีของ สวทช เป็นพันล้าน สังคมไทยอาจจะมองไม่เห็นผลเสียชัดเจนแต่ในความเป็นจริง การตัดงบครั้งนี้เป็นการส่งผลเสียร้ายแรงเป็นการทำให้ประเทศชาติล้าหลังในทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างที่ไม่อาจแก้ไขได้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามหาศาล ก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างก้าวกระโดดแต่ในทางชีวิตจริง คุณค่าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะส่งผลให้สังคมเห็นก็ต่อเมื่องานวิจัยนั้นๆประสบความสำเร็จแล้วและในทางกลับกันสังคมจะไม่เคยรู้ตัวเลยว่าได้สูญเสียศักยภาพอะไรลงไปจากการไม่มีการวิจัย”

“ทำไมการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศไทยจึงล้าหลัง ถ้าจะเปรียบเทียบกับประเทศในอาเซียน ในช่วงเวลา 20 ปี วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยโดยรวมเป็นที่ 2 รองจาก สิงคโปร์ และกำลังจะเป็นที่ 3 โดยมี มาเลเซียแซงในแล้วในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา สาเหตุของการเสื่อมถอยของไทยเกิดจาก การสนับสนุนที่ลดลงของภาครัฐ และ การไม่สนับสนุนงานวิจัยพื้นฐาน เพราะภาครัฐและสังคมมองไม่เห็นคุณค่า ถ้าสังคมยังปล่อยให้นักวิจัยไทยไม่ได้รับการสนับสนุนในการทำงานวิจัยพื้นฐานและปล่อยให้มีการตัดลดงบประมาณวิจัยอยู่อย่างที่เป็นอยู่ อีกไม่นานเกินรอ เราคงสามารถแข่งขันและพัฒนาทาง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน เช่น พม่า ลาว และ กัมพูชา ได้อย่างสมศักดิ์ศรี”

นั่นคือหมัดตรงของ ดร.นิศราและ ศ.นพ.ดร.อภิวัฒน์ที่ยิงเข้าปลายคางของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ชนิดตาต่อตาฟันต่อฟัน

ถึงตรงนี้ ปรากฏการณ์พร้อมใจกันแต่งดำของข้าราชการกระทรวงวิทย์จึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มิอาจละเลยหรือไม่ให้ความสำคัญเหมือนที่ผ่านๆ มา เพราะการที่นักวิทยาศาสตร์ระดับหัวกะทิของประเทศลุกขึ้นมาต่อสู้อย่างมิเกรงกลัวไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นให้เห็นบ่อยครั้งนัก นอกจากจะ “สุดซอย” จริงๆ

อย่าปล่อยให้รัฐมนตรีปลัดขิกลอยนวล

อย่าปล่อยให้รัฐมนตรีควายธนูลอยนวล



นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รมว.วิทยาศาสตร์
ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สวทช.
ดร.นิศรา การุณอุทัยศิริ อดีตนักเรียนทุนรัฐบาล กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
กำลังโหลดความคิดเห็น