xs
xsm
sm
md
lg

วงในแฉมีความพยายาม “ล้วงลูก” การให้ทุน ก.วิทย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.นิศรา การุณอุทัยศิริ
อดีตนักเรียนทุน ก.วิทย์โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความวิตกถึงความพยายามเปลี่ยนการให้ “ทุนการศึกษา” ที่อาจโยกจากผู้ดูแลเดิมมากว่า 20 ปีหรืออาจตัดงบ หวั่นกระทบการพัฒนา “คน” และคุณภาพของบุคลากรวิทยาศาสตร์ อันเป็นหัวใจของการพัฒนาความสามารถของประเทศ

ดร.นิศรา การุณอุทัยศิริ (อดีตนักเรียนทุนรัฐบาล กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปี พศ.2537 -2547) และหัวหน้าห้องปฏิบัติการไมโครอะเรย์แบบครบวงจร ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ(ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โพสต์สเตตัสในเฟซบุ๊กแสดงความวิตกต่อความพยายามให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบางอย่างในการให้ทุนการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ ดังต่อไปนี้

"จากใจอดีตนักเรียนทุนกระทรวงวิทย์ฯ
สืบเนื่องจากช่วงนี้มีข่าวของความไม่สงบในกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ซึ่งมีสาเหตุหลากหลาย แต่เรื่องของการให้ทุนการศึกษากับนักเรียน นักศึกษา และบุคคลทั่วไป เพื่อไปศึกษาต่อในต่างประเทศนั้นยังไม่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึง จึงอาจทำให้หลายท่านยังไม่ทราบข้อมูลว่ามีความพยายามทำให้เกิดการเปลี่ยน แปลงบางอย่างที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง ที่ผ่านมาฝ่ายนักเรียนทุนรัฐบาลกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ สังกัด สวทช. และคณะกรรมการของศูนย์ประสานงานนักเรียนทุนรัฐบาลทางด้านวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยี (ศนวท.) เป็นผู้ดูแลโครงการการให้ทุนนี้มากว่า 20 ปีแล้ว แต่ตอนนี้มีกระแสว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงหลายทาง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่มีความคิดที่จะย้ายหน้าที่ความรับผิดชอบนี้ไปให้หน่วย งานอื่นดูแลบ้าง จะมีการตัดงบบ้าง
 
กระแสเหล่านี้นอกจากกระทบกระเทือนจิตใจอดีตนักเรียนทุนฯอย่างดิฉันแล้ว หากเกิดขึ้นจริงจะกระทบต่อการพัฒนาประเทศชาติโดยตรงและหนักที่สุด เพราะคุณภาพของบุคลากรในวงการวิทยาศาสตร์เป็นหัวใจของการพัฒนาความสามารถของประเทศ นอกจากนี้การพัฒนา “คน” เป็นเรื่องที่ต้องวางแผนและลงทุนระยะยาว หากปล่อยให้กระแสการเมืองซึ่งเปลี่ยนกันอยู่บ่อยๆ เข้ามาบ่งชี้หรือกำกับทิศทางตามใจชอบแล้ว โอกาสที่จะหันกลับมาในทิศที่ถูกต้องอีกครั้งยากมาก เวลาที่ล่วงเลยไปในการเดินทิศที่ผิดจะทำให้ประเทศถดถอยเป็นหลายๆ ปี

ดังนั้น ดิฉันในฐานะอดีตนักเรียนทุนกระทรวงวิทยาศาตร์ฯ คนหนึ่งผู้ซึ่งมีวันนี้ได้ก็เพราะทุนการศึกษานี้ ไม่ว่าจะเป็นความก้าวหน้าในชีวิตอันใดที่ได้มา ไม่ว่าจะเป็นผลงานใดที่ทำประโยชน์ให้ประเทศบอกเต็มปากได้เลยว่า จุดเริ่มต้นมาจากทุนนี้ค่ะ ดังนั้น ดิฉันขออนุญาตใช้พื้นที่ส่วนตัวตรงนี้เรียนให้ทุกท่านทราบว่าทุนการ ศึกษานี้มีความสำคัญต่อประเทศชาติเช่นไร และทำไมหน้าที่ความรับผิดชอบเรื่องการวางแผนและระบบการคัดเลือกผู้รับทุนควร จะต้องโปร่งใส

ทุนที่เรียกกันสั้นๆ ว่าทุนกระทรวงวิทย์ฯ นี้ไม่ได้ผลิตแค่นักวิจัย สวทช. ซึ่งมีหน้าที่หลักในการทำวิจัยตอบโจทย์ของประเทศแต่ทุนนี้ได้ผลิตคณาจารย์ สังกัดในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ซึ่งนั่นหมายถึงแม่พิมพ์ของชาติที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาให้กับนักศึกษาให้นำ ความรู้ความสามารถไปพัฒนาประเทศต่อ ข้อมูลจากเวปไซต์ของ ศนวท. ระบุว่าปัจจุบันนักเรียนทุนฯ สำเร็จกลับมารับใช้ประเทศชาติแล้วกว่า 2,000 คน อยู่ในมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย เละหน่วยงานภาครัฐฯและกำลังศึกษาอยู่ในต่างประเทศอีก 1,300 คน ทั้งหมดนี้เป็นกลุ่มบุคลากรที่มีคุณภาพ ได้ผ่านการสอบข้อเขียนวัดความสามารถทางวิชาการ คัดเลือกจากเด็กหัวกระทิทั่วประเทศก่อนที่จะต้องผ่านการสอบสัมภาษณ์เพื่อวัด ความมุ่งมั่นและวุฒิภาวะจากกรรมการสอบสัมภาษณ์ซึ่งเป็นอาจารย์จากหลายสถาบัน ที่ผ่านมาทุนนี้จึงมีขั้นตอนการคัดเลือกชัดเจนเปิดเผยโปร่งใส

นอกจากนี้ ในทุกๆ ทุนที่จะจัดส่งเด็กไปเรียนนั้น สาขาวิชาที่เปิดรับได้ผ่านกระบวนการวางแผนไตร่ตรองอย่างรอบคอบว่าสาขาไหน วิชาใดจะเป็นสิ่งที่ประเทศของเราต้องการสร้างความสามารถในอีก 5 ถึง10 ปีข้างหน้า ดังนั้นการวางแผนต้องผ่านการพิจารณาอย่างรอบคอบเนื่องจากเป็นการคาดการณ์ ระยะยาว เพื่อให้ประเทศได้ประโยชน์สูงสุด และให้การลงทุนในการพัฒนา “คน” มีความคุ้มค่ากับเงินภาษีของประชาชนทั่วไปที่สุด
 
แผนการเหล่านี้เป็นแผนที่ผู้ทรงคุณวุฒิที่เชี่ยวชาญทางวิทยาศาตร์และเทคโนโลยีในสาขาต่างๆ วิเคราะห์ร่วมกันมาแล้วว่าเทคโนโลยีไหนจะมาแรงในอนาคตและเราต้องส่งเด็กไปเรียนเรื่องนั้น เพื่อเตรียมการให้ประเทศก้าวได้ทันในระดับนานาชาติ เราต้องลงทุนกับนักเรียนทุนเหล่านี้แต่ละคนด้วยงบจำนวนมาก แต่ที่สำคัญกว่างบประมาณคือ เวลาที่ใช้ในการศึกษาของแต่ละคน ซึ่งเป็นการลงทุนอีกชนิดหนึ่ง เรารอคอยให้เขากลับมาใช้มันสมองทดแทนคุณแผ่นดิน ถ้าวางแผนไม่ดีก็จะเป็นการลงทุนอันเปล่าประโยชน์ ดังนั้น การบริหารการให้ทุนกระทรวงวิทย์ฯ นี้ ไม่ใช่เรื่องที่จะโยกย้ายไปให้ที่โน่นที่นี่ดำเนินการได้ตามอำเภอใจหรือตามแต่กระแสการเมืองจะกำหนดได้

หน้าที่ของฝ่ายนักเรียนทุนฯ สวทช. และ คณะกรรมการ ศนวท. นั้น นอกจากคัดหาผู้ที่เหมาะสมแล้ว ยังต้องติดตามความก้าวหน้าทางการศึกษา ดูแลความเป็นอยู่ เป็นที่ปรึกษาแก้ไขปัญหา ช่วยเหลือจนจบการศึกษา เมื่อสำเร็จกลับมา คณะกรรมการ ศนวท. ก็ได้จัดการอบรมสัมมนาให้บุคลากรเหล่านี้ได้รู้จักกัน สรรหารุ่นพี่มาเป็นพี่เลี้ยงในการปรับตัวเพื่อให้เริ่มต้นทำงานให้ประเทศได้ อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งหมดนี้เราทำกันมาเป็นเวลาสิบๆ ปีเพื่อป้องกันปัญหาสมองไหลออกนอกประเทศ ศนวท. และนักเรียนทุนทั้งใหม่และเก่ามุ่งหวังเป้าแห่งความสำเร็จเดียวกันคือการที่ สักวันหนึ่งประเทศไทยจะมีมวลของชาววิทยาศาสตร์ (critical mass) ที่มากเพียงพอในการที่จะพัฒนาประเทศชาติของเราให้เจริญเท่าเทียมคนอื่นบ้าง

ถ้าจะให้ดิฉันเขียนรายชื่อของนักเรียนทุนที่นำชื่อเสียงมาสู่ประเทศไทยและผล งานของเขา ทั้งชีวิตนี้ดิฉันก็คงเขียนไม่หมดเป็นแน่ ดิฉันขอเพียงยกตัวอย่างบางท่านที่เราอาจคุ้นเคยกันในสื่อหรือในรางวัลต่างๆ นะคะ เริ่มจาก รศ. ดร.อาทิวรรณ โชติพฤกษ์ จากจุฬาฯ ซึ่งทำงานวิจัยในการใช้เทคนิคที่ก้าวหน้ามาสะกัดสารต้านมะเร็งจากสมุนไพรได้ ดีกว่าเดิม รศ.ดร.เจษฎา วรรณสินธุ์ ม.สงขลานครินทร์ ที่วิจัยและคิดค้นกระบวนการผลิตโลหะแบบใหม่ เช่นการผลิตเกราะกันกระสุนและเกราะกันระเบิดน้ำหนักเบาที่ใช้ทางทหารได้ รศ.ดร.บวรโชค ผู้พัฒน์ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่เชี่ยวชาญทางด้านการเชื่อมโลหะ ซึ่งนอกจากทำงานวิจัยเล้ว ยังเป็นผู้สอนเยาวชนไทยให้กับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จนถึงระดับที่ส่งไปแข่งขันในระดับนานาชาติได้ ศ.ดร.สันติ แม้นศิริ ม. เทคโนโลยีสุรนารีเป็นนักฟิสิกส์ที่พัฒนาเครื่องผลิตเส้นใยนาโนเพื่อใช้ในด้านการแพทย์

หลายท่านอาจถามว่าทำไมดิฉันต้องเสียเวลามาเขียนเรื่องนี้ ในเมื่อดิฉันก็รับทุนจบสิ้นไปแล้ว ดิฉันเองก็ไม่ได้มีลูกที่อาจต้องรับทุนนี้ มากไปกว่านั้นดิฉันเองก็ไม่ได้มีลูกที่ต้องทำให้ดิฉันเป็นห่วงว่าลูกของ ดิฉันจะต้องโตมาแล้วจะเจอะเจอประเทศไทยอยู่ในสภาพเช่นไร จะเป็นมหาอำนาจหรือจะกลายเป็นทาสของประเทศอื่นๆ แต่ที่ดิฉันตั้งใจออกมาเขียนก็เพราะ “ดิฉันเป็นหนี้แผ่นดินนี้” เมื่อวันที่ผืนแผ่นดินแม่จะกลบหน้าของดิฉัน ดิฉันอยากนอนตายด้วยความโล่งใจว่าเยาวชนรุ่นหลังจะได้มีโอกาสสร้างความก้าว หน้าในชีวิตด้วยทุนกระทรวงวิทย์ฯ

ดิฉันเชื่อว่าคงจะไม่มีวิธีใดที่จะทำให้ประเทศไทยของเราเจริญได้ดีเท่าการ พัฒนาบุคลากรไทยให้มีคุณภาพ เราบ่นกันว่าการศึกษาของไทยในระดับต่างๆ มีปัญหาหรือถึงขั้นกล่าวกันว่าการศึกษาไทยล้มเหลว แต่ทุนกระทรวงวิทย์ฯ นี้เป็นทุนที่ให้โอกาสเยาวชนของเราไปศึกษาในสถาบันการศึกษาต่างประเทศ ให้โอกาสเด็กๆ ของเราเข้าถึงระบบการศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำที่สุดของโลก เพื่อไปเอาวิชาความรู้และวิทยาการที่ทันสมัยที่สุดกลับมาพัฒนาประเทศกันต่อ ไป
 
ดังนั้น แนวความคิดที่จะโยกย้ายหน้าที่อันสำคัญยิ่งของ ศนวท. ที่สังกัด สวทช. มาตั้งแต่แรกจนถึงปัจจุบันนั้นไปอยู่ในหน่วยงานอื่นที่ไม่มีประสบการณ์ ไม่มีความพร้อม ไม่มีความเข้าใจ หลังจากที่ฝ่ายนักเรียนทุนฯ สวทช. และ คณะกรรมการ ศนวท. ได้แสดงให้ประจักษ์แล้วว่าได้ทำงานนี้อย่างดีเยี่ยมมากว่า 20 ปี ความคิดในการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในขณะนี้ จึงเป็นสิ่งที่ไม่สมควรและควรช่วยกันคัดค้านอย่างยิ่ง

ด้วยความหวังอย่างเต็มเปี่ยมจากใจ นิศรา การุณอุทัยศิริ (อดีตนักเรียนทุนรัฐบาล กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปี พศ.2537 -2547)”







กำลังโหลดความคิดเห็น