xs
xsm
sm
md
lg

แฉอีก...การเมืองพยายามฮุบเงินนักเรียนทุน ก.วิทย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ข้อมูลวงในแฉอีก หลักฐานมัด “วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล” จ้องล้วงลูกโครงการทุนกระทรวงวิทย์ ซึ่งมีงบประมาณนับพันล้านบาท ผ่านกลอุบายอันแยบยล เริ่มจากการยุบคณะกรรมการพิจารณาและคัดสรรทุนชุดเดิมที่ดำเนินการมานานกว่า 20 ปี โดยอ้างว่าเพื่อให้ฝ่ายการเมืองเข้ามาผลักดันโครงการอย่างมีพลังมากขึ้น

ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ได้รับข้อมูลเพิ่มเติมจากหน่วยงานหนึ่งในกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ขอไม่เปิดเผยรายชื่อ ซึ่งได้เปิดโปงความพยายามของฝ่ายการเมืองในการล้วงลูกโครงการทุนกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ดำเนินภายใต้การกำกับดูแลของ “คณะกรรมการกำหนดนโยบายและกำกับดูแลโครงการสนับสนุนนักเรียนทุนรัฐบาลทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” (กนนท.) มากกว่า 20 ปี 

ข้อมูลดังกล่าวระบุว่า มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการ กนนท.ชุดล่าสุด เมื่อ 5 ก.ย.2555 โดยมีปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นประธาน ซึ่งโครงการทุนกระทรวงวิทยาศาสตร์นี้มีงบประมาณปี 2556 เป็นจำนวน 1,470 ล้านบาท ซึ่งคนวงในตั้งข้อสังเกตว่า ด้วยโครงการที่มีเม็ดเงินก้อนโต ทำให้มีความพยายามกุมอำนาจเบ็ดเสร็จในการจัดการโครงการดังกล่าว ซึ่งถือเป็นโครงการสำคัญอันจะนำไปสู่การพัฒนากำลังคนที่มีความเชี่ยวชาญระดับสูงในสาขาที่เป็นที่ต้องการของประเทศ

“ที่ผ่านมาโครงการดำเนินไปได้อย่างราบรื่น แต่หลังจากที่นายวรวัจน์เข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีได้ไม่นาน ก็ได้มีความพยายามที่จะเข้ามากุมอำนาจเบ็ดเสร็จ ในการจัดการโครงการดังกล่าว ที่มีเม็ดเงินก้อนโตล่อตาล่อใจด้วยตนเอง ผ่านกลอุบายอันแอบยล สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นอย่างแรกก็คือการยุบ “คณะกรรมการศูนย์ประสานงานนักเรียนทุนรัฐบาลทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” (ศนวท.)” ข้อมูลวงในแฉถึงความเปลี่ยนแปลงในโครงการนับแต่ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

เดิมคณะกรรมการ ศนวท.มีหน้าที่ในการพิจารณาและเสนอทุนที่จัดสรรให้แต่ละหน่วยงานต่อคณะรัฐมนตรี โดยคณะประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิในด้านการวางแผนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ อาทิ รศ.ดร.หริส สูตะบุตร ที่ปรึกษาอาวุโสสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรัฐมนตรี ก.วิทย์ รศ.นพ.ประสิทธิ ผลิตผลการพิมพ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และอดีตเลขาธิคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) รวมถึง รศ.ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ อดีต เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) เป็นต้น

ทว่า สิ่งที่คนวงในเห็นว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่โจ่งแจ้งและไร้ยางอายมากกว่าการยุบบทบาทของผู้ทรงคุณวุฒิที่ระบุไว้ข้างต้น คือการที่นายวรวัจน์พยายามแทรกแซงผู้บริหารกระทรวงให้ออกคำสั่ง “แต่งตั้งรัฐมนตรีกระทรวงวิทย์” เป็นประธานคณะกรรมการ ศนวท.โดยให้เหตุผลว่า “เพื่อให้ฝ่ายการเมืองได้เข้ามาช่วยผลักดันการดำเนินโครงการอย่างมีพลังมากขึ้น” อีกทั้งยังเพิ่มตำแหน่ง “ผู้ทรงคุณวุฒิ” ที่รัฐมนตรีแต่งตั้งอีก 3 คน ในคณะกรรมการดังกล่าว

“จุดนี้อาจเป็นการเปิดช่องให้นายวรวัจน์สามารถนำคนที่ไม่มีประสบการณ์การพัฒนากำลังคนระดับมันสมองของประเทศ แต่เป็นพวกพ้องที่ใกล้ชิดกับตนเข้ามายุ่มย่าม และล้วงลึกในการบริหารจัดการเงินงบประมาณส่วนนี้ เพื่อผลประโยชน์ของตนและพวกพ้องอย่างง่ายดาย ดังที่ได้เกิดขึ้นกับการจัดตั้งบอร์ดบริหารหลายชุดของหน่วยงานในกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ” ข้อมูลวงในระบุ โดยอ้างรายงานข่าว แนวหน้า ฉบับวันที่ 26 พฤษภาคม 2556 http://www.naewna.com/politic/53101

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลที่พบว่าโครงสร้างคณะกรรมการนโยบายชุดเดิมแทบจะ “ถูกโละทิ้ง” เพราะกรรมการในตำแหน่งที่สำคัญๆ มิอยู่ภายใต้อาณัติโดยตรงของรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์ เช่น กรรมการขององค์การมหาชนทั้งหลาย ได้ถูกลบออกจากสารบบโดยสิ้นเชิง เหลือเพียง 2 หน่วยงานในกระทรวงวิทย์ฯ ที่ยังคงมีบทบาท ในกรรมการชุดดังกล่าวคือ สวทช.และ สวทน.ซึ่งเป็นหน่วยงานที่นายวรวัจน์นั่งเก้าอี้เป็นประธานคณะกรรมการ ทำให้กว่าครึ่งของกรรมการชุดใหม่ เป็นคนที่นายวรวัจน์สามารถใช้อำนาจควบคุมและสั่งการได้

“ไม่ต้องเดาก็รู้ว่าสุดท้ายแล้ว พลังในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ของบอร์ด กนนท.ก็จะถูกดึงมาอยู่ที่ฝั่งนายวรวัจน์ ผู้ซึ่งด้อยความรู้ความเข้าใจในวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี และไร้วิสัยทัศน์ที่จะพัฒนาประเทศไทยด้วยงานวิจัยและพัฒนา ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นก็คือบทบาทของ หน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของชาติที่จะพากันเดินไปผิดที่ผิดทาง จนไปถึงความเสื่อมถอยที่สุด” วงในระบุ 

ข้อมูลวงในยังขุดคุ้ยถึงสมัยที่นายวรวัจน์ยังเป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ว่าได้พยายามโยกย้ายเอางบประมาณทุนการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของกระทรวงศึกษาไปทำเป็นทุน “หนึ่งอำเภอ หนึ่งทุน” (ODOS) เพื่อนำไปลงในพื้นที่ฐานเสียงของตนเอง จึงทำให้เกิดความหวาดกลัวว่าการกระทำลักษณะเดียวกันจะเกิดขึ้นกับทุนในกระทรวงวิทยาศาสตร์ หากมีการลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการที่นายวรวัจน์ตั้งขึ้นมา

“ดูๆ แล้วเกมนี้ก็มีท่าทีว่าอาจจะจบแบบไม่แตกต่างจากการแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (กวทช.) ชุดใหม่ (แนวหน้า ฉบับวันที่ 31 พ.ค.2556 http://www.naewna.com/politic/53824) ที่ล้วนแต่ส่งกลิ่นเน่าเหม็นคละคลุ้งเพราะ เต็มไปด้วยบรรดาบริวารของนายวรวัจน์ที่พร้อมจะดาหน้าสนองความต้องการของนายตนเอง ถือเป็นการทรยศหักหลังประเทศชาติอย่างไร้ซึ่งคุณธรรมในกมลสันดานของคนที่ได้ชื่อว่าเป็นรัฐมนตรีแห่งกระทรวงตรรกะและปัญญา” วงในสรุป







กำลังโหลดความคิดเห็น