xs
xsm
sm
md
lg

“ประชาชนยังไม่เข้าใจ จึงไม่เกิดกระแสสังคมให้ทุ่มเทเพื่องานวิจัย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ
จากพื้นฐานเป็นผู้ที่ “ชอบทำวิจัยมาก” และได้สั่งสมประสบการณ์ด้านการวิจัยและบริหารงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยในขอนแก่นมาอย่างต่อเนื่อง วันนี้ “ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ” ได้ก้าวสู่การบริหารงานวิจัยที่สูงขึ้นมาอีกขั้น ในฐานะผู้อำนวยการ สกว.คนใหม่

ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ก็ได้สัมภาษณ์วิสัยทัศน์ของ ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) คนใหม่ที่เพิ่งดำรงตำแหน่งผู้บริหารหน่วยงานวิจัยระดับชาติแห่งนี้ได้ไม่ถึงเดือน

เดิมที่ ศ.นพ.สุทธิพันธ์ เป็นผู้เชี่ยวชาญทางสมองที่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) แต่การสู่ตำแหน่งวิชาการในฐานะ “ศาสตราจารย์” นั้นต้องผ่านการทำวิจัยมาอย่างเข้มข้น และด้วยพื้นฐานที่เป็นคน “ชอบทำวิจัยมาก” และสนใจงานวิจัยอยู่เสมอ งานที่เขาหยิบจับในแต่ละเรื่องจึงเกี่ยวกับงานวิจัย เช่น ประธานการวิจัยของสมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย ประธานกรรมการวิจัยของราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย และประธานสถาบันวิจัยและพัฒนา มข. เป็นต้น

ทีมข่าววิทยาศาสตร์ - ยุทธศาสตร์ที่จะดำเนินการระหว่างดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ สกว.
ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ  - ยุทธศาสตร์ที่จะดำเนินการไปตลอด 4 ปีข้างหน้า หลักๆ คือ จะกำหนดประเด็นการวิจัยให้มีความคมชัดให้ตรงตามยุทธศาสตร์การวิจัยของชาติ และตอบสนองต่อปัญหาของประเทศ หมายถึงประเทศมีปัญหาอะไร เราต้องไปช่วยให้ทุนวิจัยเพื่อนำไปแก้ปัญหาประเทศ และยังต้องวิจัยเพื่อตอบโจทย์ในอนาคตด้วย เช่น เรื่องภาวะโลกร้อน ความมั่นคงทางอาหาร เป็นต้น แล้วจะมีการปรับเปลี่ยนการวิจัยให้คมชัดขึ้น

อีกข้อคือการวิจัยเพื่อให้ได้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ คือวิจัยแล้วได้ตัวเงินหรือการตอบแทนทางเศรษฐกิจด้วย แล้วยังมียุทธศาสตร์การพัฒนานักวิจัย และยุทธศาสตร์อื่นๆ คือการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ เพราะงานวิจัยที่ผ่านมาของ สกว.มีมาก ซึ่งก็การทักท้วงเสมอว่า วิจัยแล้วขึ้นหิ้ง ซึ่งหน้าที่ของเราคือนำงานวิจัยขึ้นห้าง

ปัญหางานวิจัยในเมืองไทยคือเราขาดแคลนคนวิจัย ขาดแคลนทุนวิจัย ขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการวิจัย และยังขาดการพัฒนานักวิจัยอาชีพ ส่วนหนึ่ง สกว.ทำให้คนเข้าใจงานวิจัยพอสมควร แต่ส่วนหนึ่งยังอยู่ในวงนักวิชาการ แต่ประชาชนทั่วไปยังไม่เข้าใจเท่าที่ควร ทำให้ไม่เกิดกระแสของสังคมให้เกิดการทุ่มเทเพื่องานวิจัย เพื่อให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ที่ดีขึ้น ถ้าถามว่างานวิจัยสำคัญไหม? อยากให้ดูว่าการจะผลิตบัณฑิตปริญญาเอกสักคนหนึ่ง งานของเขาคือการทำวิจัย และเป็นงานวิจัยใหญ่ ดังนั้น งานวิจัยสำคัญถึงขั้นว่าสามารถทำให้คนเป็น “ด็อกเตอร์” ได้ ไม่ใช่ว่าเรียนในห้อง อบรมไป สอบไป แล้วได้เป็นด็อกเตอร์

ทีมข่าววิทยาศาสตร์ - การบริหารงานทั่วไปกับการบริหารงานวิจัยมีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง?
ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ  - ก็ไม่ต่างกันมาก มีการพูดถึงวิสัยทัศน์ พันธกิจ การขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ การแปลงแผนสู่การปฏิบัติ เป็นคุณสมบัติพื้นฐานของผู้บริหารทั่วไป การตรงต่อเวลา การมีจิตสาธารณะ ความซื้สัตย์สุจริต การวางแผน การจัดสรรงบประมาณ การประเมิน การติดตาม สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นพื้นฐานคล้ายๆ กันของผู้บริหารทั่วไป แล้วมีแนวบริหารขึ้นมาอีกชั้น การจัดทำแผน การดำเนินตามแผน การจัดสรรรงบประมาณ การบริหารงานบุคคล และยังขยับขึ้นไปอีกชั้น เป็นการบริหารเฉพาะทาง

การบริการธุรกิจ มองกำไรเป็นตัวตั้ง การบริหารวิชาการมองเรื่องผลิตบัณฑิต ส่วนการบริหารการวิจัยจะพูดถึงเรื่องยุทธศาสตร์การวิจัย จะวิจัยเรื่องอะไร จะพัฒนานักวิจัยอย่างไร จะมีทุนวิจัยอย่างไร จะทำให้งานวิจัยนั้นเสร็จได้อย่างไร จะเอาผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์อย่างไร การประเมินผลงานวิจัย การสร้างโครงสร้างพื้นฐานวิจัย จริยธรรมการวิจัย ผู้จะบริหารงานวิจัยต้องเข้าใจในเรื่องนี้ ดีที่สุดต้องมีพื้นฐานทำวิจัยมาก่อน

การเป็นแพทย์มาก่อนช่วยเรื่องนี้ได้มาก เพราะแพทย์จะมีการคิดที่เป็นระบบ การวินิจฉัย การซักประวัติ ส่งตรวจ การรักษา และเราต้องขยันทำงาน การทำงานไม่จำกัดเวลา พื้นฐานเหล่านี้ทำให้เราทำงานได้ไม่ลำบาก เพราะการแแพทย์นั้นเหนื่อยมาก ทำให้การบริหารงนอื่นๆ แม้เหนื่อยเราก็ทนได้ เพราะเราผ่านงานหนักมาก่อน แล้ววิธีการทำงานของแพทย์ต้องรวดเร็ว ทันเหตุการณ์ ตอบสนอง และอีกอย่างที่เป็นประโยชน์มากคือการสื่อสารกับคน การอธิบาย เพราะผู้บริหารต้องอธิบาย ต้องพูด ต้องเล่า ต้องสื่อสารถึงทิศทางงานที่ทำ     

ทีมข่าววิทยาศาสตร์ - ในฐานะที่เคยทำวิจัยมาก่อน อะไรคือความต้องการพื้นฐานของนักวิจัยไทย?
ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ  - นักวิจัยต้องการให้สังคมเห็นความสำคัญของงานวิจัย และอย่างให้เห็นว่างานวิจัยมีคุณค่า ไม่ว่างานวิจัยนั้นจะขึ้นหิ้งหรือไม่ แต่ในความเป็นจริงไม่มีงานวิจัยไหนที่ขึ้นหิ้ง ในความเป็นจริงงานวิจัยที่เราทำแล้วตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ เพราะคนในโลกที่สนใจในเรื่องเดียวกันสามารถเอาไปใช้ประโยชน์ได้ ส่วนนักวิจัยเราต้องการการสนับสนุนนักวิจัยมืออาชีพ ต้องการทุนวิจัย ผมว่าเป็นสิ่งที่นักวิจัยเราต้องการ แต่เรายังขาดแคลนทุนวิจัยอยู่   

ทีมข่าววิทยาศาสตร์ - คิดอย่างไรกับการมองว่าเมืองไทยยังมีการทำวิจัยซ้ำซ้อน?
ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ  - การวิจัยเรื่องเดียวกันมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง ไม่ใช่เรื่องแปลก คนพยายามบอกว่าไม่ควรทำวิจัยซ้อนกัน แต่จริงๆ แล้วทำวิจัยซ้อนกันบ้างก็ได้  ไม่เป็นไร เป็นธรรมดา สมมุติเราสนใจเรื่องสมอง วิจัยเรื่องสมอง คนอื่นวิจัยเรื่องสมองบ้างก็ไม่เป็นไร เพราะแต่ละส่วนแต่ละพาร์ทยังมีส่วนน้อยอยู่ วิจัยเกษตรก็มีน้อย วิจัยอะไรต่างๆ มันน้อยหมด ถ้าจะเพิ่มวิจัยเกษตรเพิ่มขึ้น วิจัยแพทย์เพิ่มขึ้น ได้หมดทุกจุด ตอนนี้ถือว่าขาดแคลนทุกด้าน ขาดแคลนทุนวิจัย ขาดแคลนนักวิจัย ขาดแคลนผลงานวิจัย

งานวิจัยไม่ใช่ว่าทำ 100 แล้วเอาใช่ได้หมด จะมีงานวิจัยที่ยังไม่เห็นผลการเอาไปใช้ที่ชัดเจน แต่อีก 10-20 ปีข้างหน้าจะมีการนไไปใช้ ซึ่งงานวิจัยแบบนี้มีจำนวนหนึ่งซึ่งยากจะคาดคะเน เลยต้องเอาไปรวมอยู่ในฐานข้อมูลนานาชาติ ใครอยากเอาไปใช้ก็เสิร์ชดู อย่างการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ ภูมิอากาศต่างๆ โครงสร้างของสารเคมี ซึ่งก็ไปรวมๆ กันตรงนั้น ทั้งเรา ทั้งต่างประเทศเอาไปใช้ได้ เมื่อผลงานก่อตัวมากพอสมควรก็จะได้เป็นเทคโนโลยี

ตัวอย่างเช่นฟิล์มที่หน้าจอสมาร์ทโฟนต้องมีสารเคลือบบางๆ ของไททาเนียมที่ฉาบอยู่ชั้นหนึ่ง ไม่เช่นนั้นเราจะไม่สามารถใช้งานสัมผัสได้ ซึ่งกว่าจะได้เป็นฟิล์มดังกล่าวต้องผ่านการวิจัยหลายขั้นตอน อาทิ การศึกษาโครงสร้างของสาร การศึกษาปฏิกิริยาเมื่อมีการฉาบไททาเนียมว่าเป็นอย่างไร ซึ่งต้องใช้งานวิจัยพื้นฐาน และอยู่ในฐานข้อมูลนานาชาติ แต่มีข้อเสียที่ประเทศเราเอามาต่อยอดแบบนี้ไม่ค่อยได้ ฝรั่งทั้งหลายก็เอาข้อมูลของเราที่ไปตีพิมพ์โชว์ไปสร้างเทคโนโลยี สร้างนวัตกรรม เขาได้ประโยชน์มากกว่าเรา

ทีมข่าววิทยาศาสตร์ - เพราะอะไร?
ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ  - การนำสิ่งเหล่านี้ไปใช้มีหลายขั้นตอน ต้องมีการสั่งสมองค์ความรู้ระดับหนึ่ง แล้วต้องมีคนคิด ที่สำคัญต้องมีคนคิดว่าแบบนี้จะเอาไปต่อแบบนี้ แล้วการคิดดังกล่าวต้องมีโครงสร้างพื้นฐานสนับสนุน เช่น ถ้าเราจะผลิตฟิล์มติดสมาร์ทโฟน เราก็มีวัสดุอุปกรณ์ มีโรงงานพื้นฐาน ต้องพัฒนาคนกลุ่มนี้ด้วย อย่างประเทศเกาหลีเขาทุ่มเทงบประมาณวิจัยเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ร้อยละ 30 ของจีดีพี ในขณะที่ประเทศเขายังยากจน พูดง่ายๆ คืออดออมเพื่อทำวิจัย ของเรา 0.2% มาตลอด 30 ปีเหมือนกัน ตอนที่เขามาดูงานบ้านเรา เขาก็กลับไป 3% ก็ถกกับคนอื่นเหมือนกันว่าทำไมของเราเจริญก้าวหน้าช้ากว่าประเทศเขา

ทีมข่าววิทยาศาสตร์ - ถ้าประเทศเราเกิดวิกฤตและยากจนไปกว่านี้อีก แล้วเราจะวิจัยได้แค่เรื่องเดียว จะเลือกวิจัยเรื่องอะไร?
ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ  - พูดยากมาก แต่ถ้าให้เลือก ต้องเอาการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร มันจะเป็นพื้นฐานของประเทศ มันจะเป็นการต่อยอดเลย การเพิ่มผลผลิตของข้าว การเพิ่มผลผลิตของอีกสารพัด ไม่พอ ยังต้องวิจัยต่อเรื่องการตลาด การแปรรูป การขาย การตลาด ซึ่งถ้าทำแบบนี้อย่างเดียวเลย ไม่ทำอย่างอื่นเลยก็ได้ เลือกเอาเพราะว่าเป็นเรื่องที่จะครอบคลุมคนจำนวนมาก และคนจำนวนมากจะได้ประโยชน์ ชาวไร่ ชาวนา เกษตรกรจะได้ประโยชน์ เกษตรจะเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของเรา

ทีมข่าววิทยาศาสตร์ - อยากให้ฝากกำลังใจถึงนักวิจัยรุ่นใหม่ๆ
ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ - ฝากถึงนักวิจัยรุ่นใหม่ ขอให้ภาคภูมิใจว่าสิ่งที่ท่านทำอยู่นี้ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศมาก ขอให้กำลังใจว่าอย่าท้อถอย เริ่มมักจะเหนื่อยและยาก ทำๆ ไปก็จะยากและเหนื่อย แต่ทุกคนต้องอดทน สุดท้ายจะเกิดความสำเร็จ เรามาชื่อนชมผลสำเร็จเมื่อเวลาผ่านไป ตรงนี้คือความสุข ที่ได้สร้างสิ่งดีๆ ให้แก่ประเทศ ความสุขที่ได้ทำงานที่เราได้รับมอบหมาย ความสุขที่มีคนเอาผลงานวิจัยเราไปใช้ประโยชน์ ตรงนี้เป็นประโยชน์ที่สุดและเป็นสิ่งที่ดีด้วย 







กำลังโหลดความคิดเห็น