“การมีส่วนร่วม” ไม่ได้จำกัดอยู่ในเพียงแวดวงการเมือง เพราะเมื่อโลกเริ่มเปิดเสรีทางความคิดอย่างเต็มที่ วิทยาศาสตร์อาจเข้ามามีบทบาทในการเป็น “สื่อกลาง” เปิดโอกาสให้เราได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ เพื่อผลประโยชน์แก่ตนเองและสังคม ทั้งด้านการแพทย์ การศึกษา หรือการจัดการทรัพยากร ถือเป็นประโยชน์ใกล้ตัวของวิทยาศาสตร์มี่มักถูกมองข้าม
เมื่อพูดถึงการมีส่วนร่วม หลายท่านมักคิดถึงเรื่องการเมืองเป็นสิ่งแรก แต่กรอบคิดและกระบวนการที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนในการแก้ปัญหาของตนเองนั้นขยายตัวเข้าไปในทุกศาสตร์ แต่สิ่งสำคัญที่สุดน่าจะเป็นฐานข้อมูลและข้อเท็จจริงเพื่อการให้เลือกตัดสินใจ ที่เราสามารถเชื่อมั่นได้ว่าหากเลือกคิด เลือกทำตามแล้ว จะมีผลดีต่อตนเองและชุมชนในระยะยาว
งานวิจัยพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ที่มักถูกค่อนขอดว่า ทำไว้ขึ้นหิ้งไม่สามารถทำเงินเป็นกอบเป็นกำ จึงมีบทบาทในการสร้างข้อเท็จจริงเพื่อเปิดดฮกาสให้ประชาชนทั้งระดับตัวตนและชุมชนสามารถร่วมตัดสินใจ หรือยับยั้งผลกระทบต่อตนเองได้ การสร้างกระบวนการวิจัยร่วมกันระหว่างเจ้าของทรัพยากรและนักวิทยาศาสตร์ จึงมีบทบาทอย่างมากในการสนับสนับสนุนกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาและส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน
จากหลักฐานทางสังคม การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน หรือ Participation โดยเฉพาะด้านการเมือง เริ่มปรากฏและเป็นความหวังใหม่ของในสังคมไทยในแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ฉบับที่ 5 (พ.ศ.2525-2529) โดยมีจุดประสงค์เพื่อเสริมสร้างกำลังในภาคส่วนประชาชน และลดการบริหารแบบบนลงล่าง (top-down)
...แต่อนิจจา เวลาผ่านมาเกือบ 30 ปี ผู้อ่านคงตัดสินใจกันเองได้ว่าสังคมเราได้มีส่วนร่วมทางการเมืองมากขนาดไหน? แล้วเราจะปรับตัวเช่นใดกับสถานการณ์เช่นนี้?
อันที่จริงแล้วความหมายของการมีส่วนร่วมในระดับบุคคลและชุมชนถือว่ากว้างกว่านั้น นั่นคือ กระบวนการให้บุคคลหรือประชาชนเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการดําเนินงาน โดยการร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ แก้ปัญหาของตนเองอย่างสร้างสรรค์ บนข้อเท็จจริง ความรู้ และความชํานาญของตนเอง เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการจัดการการใช้ทรัพยากรเพื่อประโยชน์ที่เหมาะสมและเป็นที่ยอมรับร่วมกัน เพราะวิทยาศาสตร์เป็นหลักการของการสร้างข้อเท็จจริงที่พิสูจน์ได้ ผ่านกระบวนการศึกษาที่ชัดเจน จนได้ผลลัพธ์ที่เชื่อถือได้ จึงมีบทบาทในการสร้าง การจัดการ และการสนับสนุนข้อเท็จจริง เพื่อเพิ่มศักยภาพและความชำนาญในระดับตัวตนและชุมชนผู้เป็นเจ้าของทรัพยกร ไม่ใช่คอยแต่เพียงคำสั่งจากส่วนกลางเท่านั้น
งานวิจัยพื้นฐานมักถูกมองว่าไร้มูลค่าทางเศรฐกิจ แต่มุมที่คนมักมองข้ามก็คืองานวิจัยพื้นฐานมีความโดดเด่นมาก ในการสนับสนุนการจัดการทรัพยากรชุมชนอย่างมีส่วนร่วม แม้อาจจะไม่ต่อยอดทางธุรกิจได้ทันที แต่สามารถเชื่อมต่อความคิด และความชำนาญของชาวบ้านสู่การเรียนรู้ และแก้ไขปัญหาของชุมชนบนฐานวิทยาศาสตร์ได้อย่างเป็นรูปธรรม ส่งผลให้เกิดความกินดีอยู่ดี หรือลดต้นทุนครัวเรือน เสริมสร้างเศรษฐกิจระดับต้นอย่างยั่งยืน
กระบวนการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างนักวิจัยกับชาวบ้าน และผลจากงานวิจัยพื้นฐานยังสามารถตอบโจทย์และเพิ่มศักยภาพการแก้ไขปัญหาของชุมชนได้อย่างหลากหลายและชัดเจน ตัวอย่างเช่น เมื่อเร็วๆ นี้ ชาววังน้ำเขียวและกลุ่มอนุรักษ์กระทิง ได้ขอให้ สนง.เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาแผงม้า ให้เลิกปรับปรุงพื้นที่ป่าที่ชาวบ้านเคยร่วมปลูก จนฟื้นตัวเต็มที่แล้วและเป็นพื้นที่อาศัยของฝูงกระทิงป่า ซึ่งดำเนินการเก็บข้อมูลการฟื้นตัวของป่าและประชากรกระทิงมาอย่างต่อเนื่องกว่า 10 ปี กระบวนการมีส่วนร่วมบนฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจน จึงสามารถทัดทานการจัดการทรัพยากรที่เกื้อกูลโดยชาวบ้านรอบพื้นที่มาก่อน
หากขยับมาใกล้ตัวอีกนิด...นักชีววิทยาแบบนายปรี๊ดชอบโครงการเล็กๆ น่ารักๆ ที่ไม่ต้องใช้ทุนรอนมากมายแต่ได้ผลประโยชน์กลับมาอย่างชัดเจน เพราะสามารถเปิดโอกาสให้เยาวชนได้เรียนรู้อย่างมีส่วนร่วมบนฐานข้อมูลวิทยาศาสตร์ แบบ “โครงการนักสืบสายน้ำ” ของมูลนิธิโลกสีเขียว ที่ปรับข้อมูลงานวิจัยพื้นฐานเกี่ยวกับสัตว์ขนาดเล็กในพบในแหล่งน้ำ เช่น ตัวอ่อนแมลง ปลา หนอนน้ำ และนก เพื่อใช้ชี้วัดคุณภาพแหล่งน้ำ
โครงการนี้ประสบความสำเร็จอย่างมากในการสร้างการมีส่วนร่วมของครูและนักเรียนในการเรียนรุ้คุณภาพน้ำในแหล่งน้ำใกล้ตัว เพื่อชักชวนกันศึกษาและหาทางแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับแหล่งน้ำในชุมชน ต่อมาก็ขยายเป็นโครงการนักสืบสายลม ซึ่งใช้ไลเคนในการศึกษาคุณภาพอากาศในชุมชนเมือง มาจนถึงโครงการปั่นเมืองที่ขอความร่วมมือผู้ใช้จักรยาน ร่วมกันสร้างแผนที่เส้นทางจักรยานในกรุงเทพ ผ่านฐานข้อมูลแผนที่ออนไลน์ เพื่อแก้ไขปัญหาการใช้พลังงานและลดก๊าซเรือนกระจกด้วยการลงมือทำจริง
ข้อมูลพื้นฐานไม่เพียงแต่ใช้ในการคัดค้านหรือทัดทานการดำเนินงานแบบบนลงล่างได้เท่านั้น แต่ยังใช้ส่งเสริมและเพิ่มความชำนาญจากฐานความรู้และภูมิปัญญาของชุมชนเพื่อต่อยอดทางเศรษฐกิจได้ ตัวอย่าง เช่น ศูนย์พันธุวิศกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สถาบันการศึกษาและเอกชนหลายแห่ง เคยดำเนินโครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพใน ประเทศไทย (Biodiversity Research and Training Program: BRT) เพื่อศึกษาความหลากหลายของชนิดพันธุ์ท้องถิ่น เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานให้กับชุมชนหลายแห่ง ในจังหวัดกาญจนบุรี แม่ฮ่องสอน และนครศรีธรรมราช โดยเปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้มีส่วนร่วมในการศึกษาและจัดการองค์ความรู้ของตนเอง
แม้ทุกวันนี้ตัวโครงการจะจบไปตามก้อนงบประมาณ แต่ความต่อเนื่องของการพัฒนาก็ยังคงมีอยู่ ใน อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ชาวบ้านสามารถจัดการปัญหาช้างป่าที่เข้ามากัดกินพืชไร่ได้ด้วยการร่วมมือกับนักวิจัยจากสถาบันการศึกษาเก็บข้อมูลพฤติกรรมช้าง และสามารถเบี่ยงเบนความสนใจของช้างจนลดความเสียหายได้อย่างสันติ หรือชุมชนบ้านขนอม จ.นครศรีธรรมราช ก็มีโครงการที่ยังดำเนินการต่อเนื่องในการอนุรักษ์และขยายพื้นที่หญ้าทะเล เพื่อเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำเพื่อการประมงอย่างยั่งยืน
ส่วน สวทช. ซึ่งมีหน้าที่หลักในการพัฒนางานวิจัยเพื่อแก้ปัญหาให้กับสังคม ก็ดำเนินโครงการหมู่บ้านแม่ข่ายวิทยาศาสตร์ และโครงการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในโรงเรียนชนบทมาอย่างเงียบๆ แต่ต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน โดยเข้าไปช่วยจัดสร้างกระบวนการเพื่อดึงศักยภาพที่เข้มแข้งของชุมชนบนฐานเกษตรกรรมออกมาได้อย่างชัดเจนและเป็นระบบ เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีการการคัดพันธุ์ข้าวสาลีของบ้านผาคับ จ.น่าน การปลูกแมกคาเดเมียที่สร้างมูลค่าหลายล้านบาทต่อปีของหมู่บ้านบ่อเหมืองน้อย-ห้วยผัก จ.เลย การศึกษาความหลากหลายท้องถิ่นและเทคโนโลยีการขยายพันธุ์ดอกดาหลาเป็นพืชเศรฐกิจ ในหมู่บ้านบาลา-เจ๊ะเด็ง จ. นราธิวาสเป็นต้น
ที่ยกตัวอย่างมาข้างต้นเป็นตัวอย่างที่จับต้องได้ในปัจจุบัน แต่แนวโน้มของการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนที่ต้องอาศัยฐานข้อมูลงานวิจัยพื้นฐานยังมีอีกหลายด้านที่กำลังพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เช่น ในด้านการแพทย์ที่ทั้งแพทย์และคนไข้ยุคดิจิทัลอาจจะต้องปรับให้ทัน เพราะผู้นำโลกอย่างอเมริกาเริ่มมีการใช้กระบวนการมีส่วนร่วมระหว่างแพทย์ คนไข้และญาติผู้ดูแล เพื่อเพิ่มความรู้และพลังใจในการรักษา (Patient empowerment) โดยมีจุดมุ่งหมายว่า เมื่อคนไข้ที่ต้องต่อสู่กับโรคร้ายได้รับความรู้ที่ถูกต้อง รอบด้าน จะกลายเป็นคนไข้ที่สามารถดูแลตนเองจนพัฒนาไปได้ถึงขั้นตัดสินใจเลือกวิธีการรักษาร่วมกับแพทย์เจ้าของไข้ได้ หรือ well informed patient ที่เข้าถึงข้อมูลงานวิจัยพื้นฐาน ศึกษาและจัดการโรคได้ด้วยตนเอง
กระบวนการนี้มีหัวใจอยู่ที่ระบบการจัดการฐานข้อมูลสารสนเทศสาธารณสุข ที่ต้องทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงข้อมูลทางการแพทย์ที่ตรงกับโรคของตนเองได้ง่าย สะดวกและรวดเร็วที่สุด ซึ่งในปัจจุบันมีโรงพยาบาลขนาดใหญ่และโรงพยาบาลชุมชนหลายแห่งพยายามพัฒนาระบบการมีส่วนร่วมของตนไข้ให้เป็นรูปธรรม ดังนั้นการจัดการฐานข้อมูลการวิจัย และการเผยแพร่สถิติด้วยระบบอินเทอร์เน็ตจึงมีความสำคัญมาก แพทย์สายวิจัย นักคอมพิวเตอร์ นักสารสนเทศ และนักสถิติต้องเริ่มเข้ามามีบทบาทในการสร้างฐานข้อมูลเพื่อเป็นสื่อกลางระหว่างหมอและคนไข้ที่หลากหลาย รอบด้าน และเชื่อถือได้
ในด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีบทบาทอย่างมากในห้องเรียนของเด็กยุคไซเบอร์ ที่เกิดมาก็เริ่มใช้นิ้วปัดจอแท็บแล็บกันแล้ว เทรนด์ใหม่ด้านการศึกษาจึงต้องปรับเปลี่ยนวิธีการให้เหมาะสมกับความสนใจของเด็กรุ่นใหม่เช่นกัน ล่าสุดมีการพูดถึง “ห้องเรียนย้อนกลับ” หรือ backwards classroom ซึ่งต้องการเปลี่ยนห้องเรียนเป็นระบบออนไลน์ เพื่อเพิ่มเวลาเรียนด้วยตนเองให้กับนักเรียน หรือสามารถเปิดคลิปที่ครูสร้างแล้วย้อนกลับไปเรียนในสิ่งที่ตนเองสงสัยได้ทุกเวลา โดยครูมีหน้าที่นำเข้าบทเรียน สรุปบทเรียน และทำกิจกรรมสร้างเสริมทักษะ และความรู้เพิ่มเติมในห้องเรียน แทนการยืนสอนหน้ากระดานดำตามที่เคยทำมา ห้องเรียนที่นักเรียนต้องมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ และพัฒนาตนเองในระดับสูงนี้มีจุดเริ่มต้นในอเมริกา และในตอนนี้ห้องเรียนไทยก็เริ่มมีการวิจัยเพื่อหาจุดเหมาะสมกับบริบทแบบไทยๆ มากขึ้น ซึ่งอาจชี้ให้เห็นว่าคุณครูยุคใหม่ไม่ว่าในวิชาใดอาจต้องเรียนรู้การจัดระบบฐานข้อมูลการสอน และเทคโนโลยีการสื่อสารควบคู่ไปด้วย
นายปรี๊ดเชื่อว่าทุกคนรับรู้ได้ว่าวิทยาศาสตร์อยู่รอบตัว แต่หลายคนก็มักไม่เชื่อว่าจะมีผลกระทบอะไรกับตนเองมากนักหากวันหนึ่งวันใดวิทยาศาสตร์ไทยจะไม่พัฒนา หรืองานวิจัยพื้นฐานจะถูกลดความสำคัญเพราะไม่ตอบโจทย์ทางเศรษฐกิจ หากแต่ในโลกเสรีที่ทุกคนมีโอกาสในการพัฒนา และต้องมีส่วนร่วมในการรับผิดและรับชอบ ในการแก้ปัญหาที่อาจส่งผลกระทบมาสู่ตนเองและสังคม ไม่ว่าจะเป็นการจัดการทรัพยากร การพัฒนาการเกษตร การจัดการสิ่งแวดล้อม การแพทย์ หรือแม้แต่การศึกษา คงปฏิเสธยากว่าข้อมูลพื้นฐานหรือระบบการจัดการที่ดีมีส่วนช่วยในการตัดสินใจและชี้ทิศทางของภาพรวมให้เห็นชัดเจนได้ อยู่ที่ท่านหรือผู้บริหารบ้านเมืองจะมองเห็นความสำคัญหรือไม่ เท่านั้นเอง...
เกี่ยวกับผู้เขียน
“นายปรี๊ด” นักศึกษาทุนปริญญาเอกด้านชีววิทยา ซึ่งมีประสบการณ์ในแวดวงวิทยาศาสตร์อย่างหลากหลาย
ทั้งงานสอน บทความเชิงสารคดี ผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ทำสื่อการสอน ของเล่นเชิงวิทยาศาสตร์
กรรมการตัดสินโครงงาน วิทยากรบรรยายและนักจัดกิจกรรมเพื่อการจุดประกายวิทยาศาสตร์จากสิ่งใกล้ตัว
ติดตามอ่านบทความของนายปรี๊ดที่จะมาแคะคุ้ยเรื่องวิทย์ๆ...สะกิดต่อมคิด ให้เรื่องเล็กแสนธรรมดากลายเป็นความรู้ก้อนใหม่ ได้ทุกวันอาทิตย์เว้นอาทิตย์