xs
xsm
sm
md
lg

สนทนาสู่ธรรมาธิปไตยร่วมกันแก้ไขเหตุวิกฤตชาติ

เผยแพร่:   โดย: ดร.ป. เพชรอริยะ

วันก่อนได้แลกเปลี่ยนกับ พญ.ปุญชิตา แห่งโรงพยาบาลศิริราช เรื่องชาติบ้านเมืองและทางออก ดร.เสนอธรรมาธิปไตยเป็นทางออกให้กับประเทศชาติ คุณหมออยากรู้ว่าการเข้าถึงธรรมาธิปไตยนั่นเป็นอย่างไร ก็ได้สนทนาแลกเปลี่ยนกัน

ดร.จะเสนอ 3 มิติ 5 ลักษณะ คุณหมอปุญชิตา จะสนใจไหมครับ

หมอ: ก็สนใจอยู่ค่ะ สนใจมากในเรื่องนี้ ก็เคยนะค่ะได้อ่านจากในเว็บ ผู้จัดการนะค่ะ

สองมิติแรกคือ สัมพันธภาพระหว่างองค์เอกภาพกับลักษณะความแตกต่างหลากหลาย

อีกสองมิติ คือองค์เอกภาพ มีลักษณะแผ่กระจายให้โอกาสส่วนลักษณะแตกต่างหลากหลายมีลักษณะรวมศูนย์ มุ่งตรง เข้าหาต่อองค์เอกภาพทั้ง 4 ลักษณะนี้ เป็นปัจจัย เป็นเหตุก่อให้เกิดดุลยภาพ ทรงอยู่ ตั้งอยู่ได้ ดุลยภาพจึงเป็นมิติที่ 3 และเป็นลักษณะที่ 5 ตัวทฤษฎีมีเพียงเท่านี้เอง นะครับคุณหมอ แต่มันก็ครอบคลุมในทุกคน ในทุกองค์กรเพราะมันเป็นกฎธรรมชาติมาพิสูจน์ทฤษฎีร่วมกันนะครับ จากง่ายๆ ไปก่อนนะครับ

คุณหมอ: ได้ค่ะ ด้วยความยินดีค่ะ

โรงพยาบาลเป็นองค์เอกภาพ ส่วนพนักงานทั้งหมดมีลักษณะแตกต่างหลากหลาย ต่างก็มุ่งหน้าเข้าหาองค์เอกภาพ คือ รพ.เราจะเห็นองค์เอกภาพ คือ รพ.และเราเห็นความแตกต่างหลากหลายคือเจ้าหน้าที่ พนักงานทั้งหมดรวมทั้งคนป่วย ญาติ แต่สิ่งที่เราไม่ค่อยเห็น หรือหาคนเห็นยากคือองค์เอกภาพ คือ รพ.แผ่กระจาย เมตตาให้โอกาสแก่คนทุกคนคนทุกคนอันแตกต่างหลากหลาย จึงเข้าไปหา รพ.ได้ใช่ไหมครับ

คุณหมอ: ใช่ค่ะ

จึงเป็นเหตุก่อให้เกิดดุลยภาพ คือ รพ.ตั้งอยู่ได้ร้อยกว่าปีแล้วและจากการที่เราคุยกันนี้ ได้บอกให้เรารู้ว่า จุดหมายต้องเกิดก่อน มาก่อน มีอยู่ก่อนวิธีการไปสู่จุดหมาย จริงไหมครับ หากว่า รพ.ไม่มีอยู่ก่อน เกิดก่อน และไม่ให้โอกาส คนทุกคนก็ไปโรงพยาบาลไม่ได้

จึงทำให้เรารู้ว่า จุดหมายย่อมเป็นเอกภาพของบุคคลอันแตกต่างหลากหลาย ขณะเดียวกันวิธีการไปสู่จุดหมายก็แตกต่างหลากหลายเช่นกัน เช่น เดิน วิ่ง ขี่ม้า ขี่จักรยาน รถยนต์ ฯลฯ ถึงตรงนี้คุณหมอพอจะเห็นภาพนะครับ

หากเรานำมาใช้ในทางการเมือง นั่นก็หมายความว่า สัมพันธภาพที่ถูกต้องคือ หลักการปกครอง (ระบอบ) โดยธรรม หรือจุดหมายร่วมของปวงชนต้องมาก่อน เกิดก่อน ถูกสถาปนาขึ้นมาก่อนวิธีการปกครอง (รัฐธรรมนูญ) นั่นเอง

แต่คณะราษฎรและพรรคการเมืองผู้ปกครองผู้สืบทอดมายาวนานกว่า 80 ปี เขานำเอาวิธีการปกครอง คือกฎหมายรัฐธรรมนูญ อันแตกต่างหลากหลายหลายหมวดหลายมาตรามาก่อน นี่คือสัมพันธภาพที่ผิดอย่างร้ายแรงต่อชาติมายาวนานและเป็นการโกหกที่ยาวนานที่สุดในโลกว่าเป็นระบอบประชาธิปไตยแท้จริงมันเป็นระบอบเผด็จการโดยกฎหมายรัฐธรรมนูญมันจึงเป็นเหตุแห่งความขัดแย้งกันในเรื่องวิธีการ (รัฐธรรมนูญ) มายาวนาน ทั้งฉีกและร่างใหม่แก้ไขมากถึง 18 ฉบับ ประชาชนไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย ประเทศชาติตกต่ำ มันเป็นเรื่องของนักการเมืองล้วนๆ ทั้งนี้เพราะเขานำผล มาเป็นตัวตั้งนักการเมืองจึงมีแต่โกงชาติ

คุณหมอว่าน่าสนใจไหมครับ ว่านี่คือแนวทางที่จะให้เกิดความสว่างไสวทางปัญญา และเห็นทางออกในการแก้ไขเหตุวิกฤตชาติและโลกได้นี่ก็เป็นเพียงแค่หนังตัวอย่างนะครับคุณหมอ

หมอ: ค่ะ น่าสนใจมากๆ ค่ะ อยากให้ ท่าน ดร.พูดต่อค่ะ

ดังตัวอย่างเช่น ลักษณะการไปสมัครทำงานของคุณหมอ หลังจากจบจากสหรัฐอเมริกา ณ โรงพยาบาลศิริราช มาประยุกต์ใช้ในการแก้ไขเหตุวิกฤตชาติได้ อย่างไม่ยากเลย

หากว่า คุณหมอสนใจ ศึกษาให้ถ่องแท้ คุณหมอเป็นปัญญาชน มีสมองเป็นเลิศอยู่แล้ว ศึกษาและปฏิบัติจริงได้อย่างสบายๆ ไม่ยากเลย คุณหมอจะต้องรู้จริง รู้แจ้ง จึงจะเป็นพลังปัญญาสำคัญให้กับชาติบ้านเมือง ตามที่คุณหมอต้องการ

ดร.มีความจริงใจ ตั้งใจอย่างเต็มร้อยที่จะนำสัจธรรมนี้ ซึ่งมีอยู่แล้วในมนุษย์ทุกคน หากว่าเขาตั้งใจจริง ที่จะรู้ อยากรู้เพื่อเป็นพลังปัญญาให้กับชาติ

อันที่จริงมันก็ยากนะ แต่ ดร.นำเสนอง่ายๆ คล้ายกับการสอนธรรมะในสมัยพุทธกาล หากเราได้ย้อนมาดูที่ตัวเรา ความจริงจากตัวเรา สัจธรรมจากตัวเรา สภาพความเป็นจริงจากตัวเรา จะทำให้คนที่ตั้งใจศึกษาเจริญวิปัสสนา (Insight Meditation) เป็นหนึ่งเดียวกันได้ เพราะมีเหมือนกันทุกคน

หมอ: เชิญท่าน ดร.อธิบายต่อเลยค่ะ

ครับคุณหมอ ก่อนอื่นนะคุณหมอ เรามาทำความเข้าใจในเบื้องต้นนี้ก่อนว่า สังขารหรือสังขตธรรมคืออะไร ความหมายเป็นอย่างไร ก่อนนะครับ

สัง แปลว่า ร่วม/ประชุม/พร้อม/ผสม/ปรุงแต่ง

ขาร หรือ ขร หรือ ขยหรือ ขต เช่น สังขตธรรม ขรขตแปลว่า สิ้นไป

สังขาร หรือสังขตธรรม จึงแปลว่า สิ่งปรุงแต่ง ที่มาร่วมกัน ที่มาประชุมกัน ผสมกัน ปรุงแต่งกันแล้วต้องสิ้นไป

หากเราลงมือพิสูจน์ ลงมือปฏิบัติตามคำสอนพระพุทธเจ้า ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ก็จะทำให้เรา รู้แจ้งกฎไตรลักษณ์ (ลักษณะ 3 ที่เสมอกันของสังขารทั้งปวง) สังขารทั้งปวง คือกายสังขาร อ่านว่า กายะสังขาร และ จิตตสังขาร อ่านว่า จิตตะสังขาร

เราดูที่กายหรือกายสังขาร ในเบื้องต้น กายมีองค์ประกอบได้แก่ธาตุ 4 คือ ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ธาตุทั้ง 4 นี้ก็มีความแตกต่างหลากหลาย ใช่ไหมครับ

หมอ:ใช่ค่ะ

ตัวเราหรือรูปสังขาร หรือกายสังขารหรือวัตถุทางวิทยาศาสตร์ทุกชนิด หรือสิ่งมากระทบทางอายตนะทั้ง 5 ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย

ตา + จักขุวิญญาณ + รูป (สี) รูปเป็นวัตถุ

หู + โสตวิญญาณ + เสียง เสียงเป็นวัตถุ

จมูก + ฆานวิญญาณ + กลิ่น กลิ่นเป็นวัตถุ

ลิ้น + ชิวหาวิญญาณ + รส รสเป็นวัตถุ

กาย + กายวิญญาณ + สัมผัส สัมผัสเป็นวัตถุ

ทั้ง 6 สภาวะนี้ ตกอยู่ใต้กฎไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) โดยสัจธรรมไม่ได้เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตนเราเขา สังขารทั้งปวงนั้นไม่เที่ยง มันร้อยเรียงแปรปรวนทุกขณะ สังขารทั้งปวงเป็นทุกขะธรรมะทั้งปวงเป็นอนัตตา (เกิดขึ้นในเบื้องต้น แปรปรวนในท่ามกลาง ดับไปในที่สุด มันเป็นเช่นนี้ มันไม่เป็นไปอย่างอื่น) สมจริงตามที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งมวลนั้นย่อมดับไปเป็นธรรมดา” ดูรูปประกอบ ร่วมกันพิสูจน์ ให้รู้จริงถ่องแท้

อธิบาย หมายเลข 1 เจริญมาก-เสื่อมน้อย หมายเลข 2 เสื่อมมาก-เจริญน้อย หมายเลข 3 เสื่อมเต็มร้อย-ตาย (สิ้นไป)

หมอ: ดูเหมือนว่าไม่มีอะไรเลยที่ไม่เป็นไปอย่างนี้นะค่ะ

ใช่ครับ ทีนี้มาดูว่าสภาวะทุกขัง (ขัดแย้ง) มันเกิดขึ้นได้อย่างไรเกิดขึ้นเพราะความขัดกันระหว่างความเจริญกับความเสื่อมหรือการขัดกันของความไม่เสมอกันของธาตุทั้ง 4 ฝ่ายหนึ่งเจริญ ฝ่ายหนึ่งเสื่อม

สภาวะอนิจจัง เกิดขึ้นเพราะทุกขัง คือความขัดกันของธาตุทั้ง 4 จึงเกิดความแปรปรวน เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาหรือทุกขณะ (ดูลูกศร)

สภาวะอนัตตา เกิดขึ้นเพราะอนิจจัง คือความแปรปรวน เปลี่ยนแปลงทุกขณะ เกิดขึ้น แปรปรวน ดับไป ซึ่งไม่สามารถบังคับบัญชาให้เป็นไปตามใจเราได้ หากว่าเป็นรูปสังขารแล้วมันจะต้องเป็นไปอย่างนี้ ไม่เป็นไปอย่างอื่น

สรุป สาระสำคัญคือกายสังขาร มีลักษณะแตกต่างหลากหลาย

เราตามมาดู จิตตสังขาร แปลว่า การปรุงแต่งทางจิตแล้วสิ้นไป ขาร หรือ ขร แปลว่า สิ้นไปจิต หรือนาม ได้แก่

เวทนา คือความรู้สึก พอใจ ไม่พอใจ หรือเฉยๆ

สัญญา คือ ความจำได้หมายรู้

สังขาร คือการคิดปรุงแต่งเป็นกุศล อกุศล กลางๆ หรือปรุงแต่งเป็นบุญ เป็นบาป หรือกลางๆ

วิญญาณ คือตัวรู้อารมณ์ 6 คือ

รู้ทางตา เรียก จักขุวิญญาณ

รู้ทางหู เรียก โสตวิญญาณ

รู้ทางจมูก เรียก ฆานวิญญาณ

รู้ทางลิ้น เรียก ชิวหาวิญญาณ

รู้ทางกาย เรียก กายวิญญาณ

รู้ทางใจ เรียก มโนวิญญาณ

สิ่งดังกล่าวนี้ ล้วนตกอยู่ใต้กฎไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) ทั้งสิ้นเกิดขึ้นในเบื้องต้น แปรปรวนในท่ามกลาง ดับไปในที่สุด เกิดขึ้นเท่าไร ก็ดับไปเท่านั้น หาตัวตนไม่ได้เลย เพราะมันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลานี่เอง

พิสูจน์จิตตสังขารในการปรุงแต่งในแต่ละครั้ง

จิตเดิมหรือจิตเดิมแท้ (วงกลม) เป็นปภัสสร หรือบริสุทธิ์ผุดผ่อง แต่ที่จิตเศร้าหมอง เพราะ (อวิชชา) คือ กิเลส ตัณหามาบดบัง ปรุงแต่งให้เป็นไปตามกิเลส แต่เกิดแล้ว ก็ต้องดับไป ตามกฎไตรลักษณ์หรือสังขารทั้งปวง (ทั้งรูปสังขารและจิตตสังขาร) ย่อมต้องตกอยู่ใต้กฎไตรลักษณ์ ไม่เป็นไปอย่างอื่น ยังมีการปรุงแต่งทางจิต การเกิดดับทางจิต หรือการเวียนว่ายตายเกิดทางจิตในสภาวะต่างๆ ได้แก่

กลัว คืออสุรกาย 1 (ไม่มีใครกลัวได้ทั้งวัน เกิดแล้วก็ดับ เกิดอีกก็ดับอีก)

โลภ คือเปรต 1 (ไม่มีใครโลภได้ทั้งวัน เกิดแล้วก็ดับ เกิดอีกก็ดับอีก)

โกรธ คือสัตว์นรก 1 (ไม่มีใครโกรธได้ทั้งวัน เกิดแล้วก็ดับ เกิดอีกก็ดับอีก)

หลง คือสัตว์เดรัจฉาน 1 (ไม่มีใครหลงได้ทั้งวัน เกิดแล้วก็ดับ เกิดอีกก็ดับอีก)

มีศีล 5 คือมนุษย์ 1 (การปรุงแต่งทุกอย่างก็เป็นอย่างนี้ ไม่เป็นไปอย่างอื่น)

มีศีล 5 มี หิริ โอตตัปปะ มีความเกรงกลัวต่อบาป คือเทวดา 6

มีพรหมวิหารธรรม บริจาค ให้วัตถุทาน คือรูปพรหม 16

มีพรหมวิหารธรรม บริจาค ให้ธรรมทาน คืออรูปพรหม 4

หลายคนอาจจะไม่รู้ภาษาบาลี แต่ทุกคนรู้ได้จากใจตนเองว่า ฟูๆ แฟบๆ เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย/ มีกำลังใจ/ท้อใจ/มีหวัง/สิ้นหวัง ฯลฯ ใช่ไหมครับ

จิตเดิมแท้หรือจิตพุทธะดุจดังจอภาพยนตร์ที่ไม่เปลี่ยนแปลง ส่วนจิตปรุงแต่งดุจดังภาพยนตร์ที่กำลังฉายไปๆ ดับไปๆ ฉายเป็นร้อยๆ เป็นพันเรื่อง จอก็ยังคงอยู่

สรุป การปรุงแต่งทางจิตหรือจิตตสังขารก็มีลักษณะแตกต่างหลากหลาย ใช่ไหม ครับ

หมอ: ใช่ค่ะ น่าสนมากๆ เลยค่ะ

มาถึงตรงนี้อยากให้คุณหมอแย้งหรือคัดค้านได้นะครับ

หมอ: ก็เห็นด้วยนะค่ะ ดีค่ะที่ ท่านดร.นำเสนอมา มันไม่ยากเลยค่ะ มีภาพแสดงให้เห็นด้วยเข้าใจได้ง่ายดีค่ะ

ครับ การที่จะรู้จริงก็จะต้องใช้เวลา ลงมือปฏิบัติ พิสูจน์ ตรึกตรอง มีวิธีง่ายๆ คุณหมอลองหยิกมือตัวเองดูซิครับ มันเจ็บ ความเจ็บมันก็จะค่อยๆ ลดลงๆ ก็เช่นเดียวกับ ความ กลัว โลภ โกรธ หลง ดีใจ เกิด แก่ เจ็บตายทั้งทางใจและกาย ฯลฯ

คุณหมอครับ หากเรายอมรับความจริงนี้ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) เราเคารพความจริงนี้ (เคารพพระธรรม) เราจะไม่เป็นทุกข์ ยิ่งรู้ ยิ่งเข้าถึงกฎไตรลักษณ์มากเท่าไร เราก็จะมีความทุกข์น้อยลงเท่านั้น จนกระทั่งเห็นมันเต็มร้อย ใจเราก็สามารถอิสระจากสังขารทั้งปวงได้ อยู่กับมันได้โดยไม่ติดยึด ดุจหยดน้ำบนใบบัว ก็เท่ากับว่าใจเรานั้นอิสระจากกฎไตรลักษณ์ได้ นั่นก็หมายความว่าเราได้พบกับจิตพุทธะหรือจิตเดิมแท้อันบริสุทธิ์ผุดผ่องเป็นปภัสสรจึงทำให้เราพบองค์เอกภาพหรือนิพพานหรือธรรมาธิปไตยบุคคล (มีชื่อเรียกหลายชื่อแต่สภาวะเดียวกัน) อันเป็นแก่นแท้ของชีวิตมนุษย์ทุกคน

จิตพุทธะเป็นองค์เอกภาพมีความบริสุทธิ์ผุดผ่อง ดำรงอยู่ได้ด้วยตัวของมันเอง ไม่ต้องไปผสมกับธาตุอื่น มันจึงพ้นจากกฎไตรลักษณ์ มันจึงไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย (ดับ) มันเป็นอมตะธรรม มันมีอยู่ มันจึงกลายเป็นศูนย์กลางของสรรพสิ่งหรือเป็นศูนย์กลางของสังขารทั้งปวงหรือเป็นเอกภาพของสรรพสิ่ง

องค์เอกภาพแท้จริงคือสภาวะเดียวกันกับพระรัตนตรัย เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้ามีลักษณะแผ่เมตตาออกไปอย่างกว้างไกลแผ่ไพศาลอย่างไม่มีประมาณ ขณะเดียวกันชาวพุทธอันแตกต่างหลากหลายต่างก็มุ่งหน้าตรงต่อองค์พระรัตนตรัย มันกลายเป็นสัมพันธภาพระหว่างองค์เอกภาพกับความแตกต่างหลากหลาย กับ สัมพันธภาพแผ่กระจายกับรวมศูนย์ จึงก่อให้เกิดดุลยภาพทรงไว้ ตั้งอยู่ได้อย่างมั่นคงถาวรยาวนานกว่า 2,600 ปี

หากว่าเรานำเอาสภาวะกฎธรรมชาตินี้ไปมองสัมพันธภาพระหว่างดวงอาทิตย์กับดาวเคราะห์/พระรัตนตรัยกับชาวพุทธ/ชาติกับประชาชน/พระมหากษัตริย์กับพสกนิกร/พ่อแม่กับลูกๆ/ห้องเรียนกับครูและนักเรียน/ ครูกับนักเรียน ฯลฯ ก็เป็นไปในทำนองเดียวกันหมด

คราวหน้าเราจะร่วมกันขยายความเรื่องนี้กันต่อ ซึ่งน่าสนใจมากๆ เพราะมันเป็นมุมมองใหม่ครับ

หมอ: ได้ค่ะ ดีมากเลยค่ะ เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ผู้รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ทั้งหลาย อย่าลืมติดตามอ่านต่อนะค่ะ
กำลังโหลดความคิดเห็น