xs
xsm
sm
md
lg

ปัญญาสำคัญของนักการเมืองแท้

เผยแพร่:   โดย: ดร.ป. เพชรอริยะ

หากเมื่อได้มีปัญญารู้แจ้งชัดมาเป็นลำดับ ถึงที่สุดแล้ว จะมองเห็นภาพรวมของกฎธรรมชาติบนความสัมพันธ์ระหว่างสภาวะอสังขตธรรม (ธรรมที่ไม่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง อยู่เหนือกาลเวลา และพ้นจากกฎไตรลักษณ์) กับสภาวะสังขตธรรม (ธรรมที่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง ตกอยู่ภายใต้กาลเวลา และตกอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์) หรือ เป็นความสัมพันธ์ระหว่างสภาวะลักษณะแผ่กระจาย กับ สภาวะลักษณะวิวัฒนาการเข้าหาศูนย์กลางด้วยปัจจัยดังกล่าวก่อให้เกิดดุลยภาพในลักษณะพระธรรมจักรดังรูป

เมื่อมีปัญญารู้แจ้งชัดตถตา มันเป็นเช่นนั้นเองของกฎธรรมชาติดังกล่าว อย่างถึงที่สุดแล้ว ก็จะเห็นได้ชัดว่า

1) เมื่อพิจารณาขันธ์ 5 ก็จะพบว่า รูป หรือกาย ประกอบด้วยธาตุ 4 คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ และธาตุลม มีความแตกต่างหลากหลาย (สังขตธรรม)

นาม 4 ได้แก่ เวทนา, สัญญา, สังขาร, วิญญาณ ก็มีความแตกต่างหลากหลาย (สังขตธรรม)

จิตที่ปรุงแต่งเป็นอกุศล เช่น กลัว โลภ โกรธ หลง นับตั้งแต่ทำลายตนเอง จนถึงทำลายระดับชาติ ระดับโลก ล้วนมีความแตกต่างหลากหลาย (สังขตธรรม)

จิตที่ปรุงแต่งเป็นกุศล มีความแตกต่างหลากหลาย นับตั้งแต่สร้างประโยชน์แก่ตนเอง ไปจนถึงการสร้างสรรค์ประเทศชาติ และโลก ก็มีความแตกต่างหลากหลาย (สังขตธรรม)

นิพพาน คือ สภาวะพ้นจากการปรุงแต่งเหนือกาลเวลา รู้เท่าทันต่อสังขาร ไม่ยึดมั่นถือมั่นในสังขารทั้งปวงแล้ว เมื่อจะคิด พูด ทำความดี แต่ไม่ติดยึดในความดีที่ตนทำ จึงเป็นสภาวะจิตที่อิสระ เหนือการปรุงแต่ง จึงพ้นจากกฎไตรลักษณ์

เมื่อเรามีปัญญารู้แจ้งชัดตามความเป็นจริง และไม่ยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ 5 อันมีลักษณะความแตกต่างหลากหลาย (สังขตธรรม) สามารถทำให้เราเข้าถึงสภาวะพระนิพพาน อันเป็นลักษณะเอกภาพ ดังกล่าวนี้ แสดงให้เห็นว่าขันธ์ 5 ดำรงอยู่บนสัมพันธภาพระหว่างเอกภาพ (อสังขตธรรม) กับความแตกต่างหลากหลาย (สังขตธรรม) นั่นเอง

อีกนัยหนึ่ง จิตที่ปรุงแต่ง จะมีลักษณะรวมศูนย์ที่ตนเอง ทั้งอกุศล และกุศล ส่วนจิตอิสระ เป็นจิตที่มีคุณธรรมจะมีลักษณะแผ่ธรรมานุภาพหรือคุณธรรมออกไป

มีข้อสังเกตว่า จิตปุถุชน จะคิดเอาก่อน หรือคิดอยากได้ก่อน ซึ่งมีกิเลสตัณหา ครอบงำ (รวมศูนย์ที่ตน) แล้วจะให้ทีหลัง ลักษณะนี้จะเป็นทุกข์ เพราะตรงกับสภาวะตัณหา (ความอยากได้)

ส่วนจิตอริยชน จะเป็นหนึ่งเดียวกับกฎธรรมชาติ คือ จะคิดให้ก่อน (ตัณหาไม่เกิด) แผ่คุณธรรมออกไปก่อน แล้วรับปัจจัย 4 ตามมีตามได้ ท่านจึงไม่เป็นทุกข์ทางใจ เพราะท่านได้รู้แจ้งดำรงตนเป็นหนึ่งเดียวกับกฎธรรมชาติ เช่น พระพุทธเจ้า หรือพระอรหันตสาวกทั้งหลาย จะแผ่เมตตาโปรดสัตว์ แล้วก็จะได้รับการถวายปัจจัย 4 ในภายหลัง (แผ่เมตตาสอนธรรมก่อน แล้วรับปัจจัย 4 ภายหลังตามแต่จะได้รับการถวาย และใช้ไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ทำแต่กุศล และไม่ยึดมั่นถือมั่นในกุศลที่ตนทำ)

ฉะนั้น จิตของผู้รู้แจ้งแล้วจะดำรงอยู่อย่างดุลยภาพ เป็นหนึ่งเดียวกับกฎธรรมชาติ จึงสามารถนำกฎธรรมชาติมาประยุกต์ใช้เพื่อประโยชน์สุขแห่งมนุษยชาติได้

2) ญาณทัสสนวิสุทธิ ทำให้รู้แจ้งกฎธรรมชาติ อย่างเป็นไปเอง กฎธรรมชาติดำรงอยู่บนความสัมพันธ์ระหว่างสภาวะอสังขตธรรม (ด้านเอกภาพ) กับสังขตธรรม อันเป็นด้านความแตกต่างหลากหลาย เช่น ธาตุต่างๆ หรือสิ่งไม่มีชีวิต ก็มีความแตกต่างหลากหลาย สิ่งมีชีวิต ได้แก่ พืชและสัตว์ ก็มีความแตกต่างหลากหลาย

สภาวะอสังขตธรรมมีลักษณะแผ่กระจาย ส่วน สภาวะสังขตธรรม มีลักษณะวิวัฒนาการเข้าสู่ศูนย์กลาง จะเห็นว่าลักษณะแผ่กระจาย กับลักษณะเข้าหาศูนย์ เป็นปัจจัยให้กฎธรรมชาติดำรงอยู่อย่างดุลยภาพนับล้านๆ ปีมาแล้ว

ดังนี้แล้วก็แสดงให้เห็นชัดว่า ความสัมพันธ์ของกฎธรรมชาติ กับขันธ์ 5 อยู่ภายใต้กฎเดียวกันหรือเป็นหนึ่งเดียวกัน

3) นำกฎธรรมชาติ ไปพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างดวงอาทิตย์ กับดาวเคราะห์ ก็จะพบความสัมพันธ์ 2 ลักษณะ คือ

- ดวงอาทิตย์ เป็นด้านเอกภาพ ดาวเคราะห์ เป็นด้านความแตกต่างหลากหลาย

- ดวงอาทิตย์แผ่โอบอุ้มดาวเคราะห์ ขณะเดียวกันดาวเคราะห์ทั้งหลาย ต่างก็ขึ้นตรงต่อดวงอาทิตย์ หรือรวมศูนย์ที่ดวงอาทิตย์ จะเห็นได้ว่าลักษณะแผ่รัศมี กับรวมศูนย์ ก่อให้เกิดระบบสุริยจักรวาลดำรงอยู่อย่างดุลยภาพ

4) พิสูจน์ให้เห็นว่า ขันธ์ 5 กฎธรรมชาติ และจักรวาล ดำรงอยู่ภายใต้กฎเดียวกัน เป็นสิ่งเดียวกัน คือ ดำรงอยู่อย่างดุลยภาพ ระหว่างด้านเอกภาพ กับด้านความแตกต่างหลากหลาย ซึ่งดำรงอยู่บนสัมพันธภาพในลักษณะพระธรรมจักร นั่นเอง

5) ในอีกมุมมองหนึ่งแสดงให้เห็นว่า กฎธรรมชาติ นั่นดำรงอยู่บนความสัมพันธ์ระหว่างด้านลักษณะทั่วไป (Generality) และด้านลักษณะเฉพาะ (Individuality)

ลักษณะทั่วไป คือ ลักษณะที่แผ่กระจายครอบงำส่วนย่อยทั้งหมด หรือ ลักษณะเฉพาะอันแตกต่างหลากหลายทั้งหมด

ลักษณะเฉพาะ คือ ส่วนย่อยที่มีความแตกต่างหลากหลาย จะได้ขยายความเพิ่มเติมว่า

อสังขตธรรม เป็นด้านลักษณะทั่วไปของกฎธรรมชาติ ส่วน สังขตธรรมเป็นลักษณะเฉพาะของกฎธรรมชาติ หรืออสังขตธรรม เป็นลักษณะทั่วไป ส่วนธาตุต่างๆ สิ่งไม่มีชีวิต และสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ เป็นด้านลักษณะเฉพาะ

บรมธรรม, นิพพาน, ธรรมาธิปไตย เป็นลักษณะทั่วไป ส่วนขันธ์ 5 เป็นลักษณะเฉพาะ และอีกความสัมพันธ์หนึ่ง นิพพาน เป็นลักษณะทั่วไป ส่วนการปรุงแต่งจิต เป็นกุศล และอกุศลเป็นลักษณะเฉพาะ

- ดวงอาทิตย์ เป็นลักษณะทั่วไป ส่วน ดาวเคราะห์ เป็นลักษณะเฉพาะ

ในอีกมุมมองหนึ่ง ถ้าลักษณะทั่วไปเป็นธรรม, ลักษณะเฉพาะ ก็จะพลอยเป็นธรรมไปด้วย อย่างเช่น เมื่อใจบริสุทธิ์ การคิด, การพูด, การกระทำ ก็จะดีไปด้วย หรือ ถ้าดวงอาทิตย์ดำรงอยู่ได้ ดาวเคราะห์ก็ยังดำรงอยู่ได้

แต่ถ้าลักษณะทั่วไปเลวร้าย จะทำให้ลักษณะเฉพาะ หรือส่วนย่อยที่ประกอบกันขึ้นก็จะเลวร้ายไปด้วย เช่น ถ้ากิเลสครอบงำจิต การคิด, การพูด, การกระทำ ก็จะเป็นไปตามอำนาจกิเลส

- ดวงอาทิตย์แตกสลาย ดาวเคราะห์ทั้งหลายก็จะพินาศไปด้วย

- เมื่อโลกแตกสลาย สิ่งมีชีวิตบนโลกนี้ก็จะต้องพินาศไปด้วย

- เมื่อระบอบการเมืองเลว จะเป็นปัจจัยให้รัฐบาล, กระทรวง, กรม, จังหวัด, อำเภอ, ตำบล, หมู่บ้าน, ครอบครัว, บุคคล, ประชาชน จะเลวร้ายย่ำแย่ตามไปด้วย และในปัจจุบันพระพุทธศาสนาตกอยู่ภายใต้ระบอบการเมืองเลว ศาสนาก็จะทรุดลงไปด้วย เป็นต้น จากนั้นก็จะนำกฎธรรมชาติไปประยุกต์ทางการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ สังคม ฯลฯ

6) ทั้งหมดที่อธิบายมานั้นเป็นความรู้ที่ค่อนข้างจะยากทั้งเป็นองค์ความรู้ใหม่ของโลกในยุคปัจจุบัน แต่ก็สามารถที่จะทำให้เข้าใจได้ รู้แจ้งได้ด้วยความศรัทธา (Faith) ความตั้งใจ (Volition) ความใฝ่รู้ (curiously) คือการปฏิบัติธรรมตามคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งปริยัติ

และปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา (Insight development) อย่างมีปณิธานอันแน่วแน่เพื่อมวลมนุษยชาติหรือมีปณิธานในเบื้องต้นว่า“เรียนอะไรก็ได้ทำหน้าที่อะไรก็ได้ให้มีจุดมุ่งหมายเพื่อประเทศชาติ” สักวันหนึ่งท่านก็จะเป็นนักการเมืองผู้มีคุณธรรมอันยิ่งใหญ่ของชาติ และของโลก

“คุณธรรมอันยิ่งใหญ่ของพระโพธิสัตว์ เกิดมาเพื่อรับใช้มวลมนุษยชาติ” เป็นต้น ก็สามารถที่จะเข้าถึงองค์ความรู้ดังกล่าวนี้ได้โดยไม่ยากนัก และจะเป็นปัจจัยในการสร้างสรรค์ประโยชน์อย่างใหญ่หลวงต่อมนุษยชาติอย่างกว้างขว้างต่อไป เจริญรอยตามพระบรมศาสดา

องค์ความรู้อันยิ่งดังกล่าวนี้ คือความเป็นมาของธรรมาธิปไตย เป็นสัจธรรมและปัญญาอันยิ่งใหญ่ของแผ่นดิน ทั้งการประยุกต์ตามลักษณะพิเศษของประเทศไทย สรุปเป็นหลักการปกครองใหญ่ๆ ได้ดังนี้

1. หลักธรรมาธิปไตย 2. หลักพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแห่งรัฐ 3. หลักอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน 4. หลักเสรีภาพบริบูรณ์ทางการเมือง 5. หลักความเสมอภาคทางโอกาส 6. หลักภราดรภาพ 7. หลักเอกภาพ 8. หลักดุลยภาพ 9. หลักนิติธรรม (หลักการปกครองธรรมาธิปไตย 9 จะขยายความในตอนต่อไป)

เหตุวิกฤตชาติไม่ใด้อยู่ที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก่อนอื่นจะต้องจัดความสัมพันธ์รัฐธรรมนูญให้มีหลักการปกครองธรรมาธิปไตย 9 เสียก่อน จากนั้นปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตราต่างๆ ให้สอดคล้องกับหลักการปกครองฯ จึงจะเป็นความถูกต้องและเป็นชัยชนะของประเทศชาติและปวงชนในแผ่นดิน

นักการเมืองท่านใดรู้อย่างนี้ย่อมเป็นนักการเมืองแท้อันเป็นคุณสมบัติของพระโพธิสัตว์ แต่ทุกวันนี้ล้วนแล้วแต่ไม่มีพระโพธิเหลือแต่.....
กำลังโหลดความคิดเห็น