xs
xsm
sm
md
lg

ไล่ระบอบเผด็จการรัฐธรรมนูญคือเหตุแห่งทุกข์ รัฐบาลเลวคือชัยชนะของปวงชน

เผยแพร่:   โดย: ดร.ป. เพชรอริยะ

เพื่อนพ้องน้องพี่ อย่าไล่แต่รัฐบาลอย่างเดียว ต้องไล่ระบอบเผด็จการรัฐธรรมนูญด้วย อันเป็นเหตุแห่งความจัญไร ทั้งปวง บ้านเราเข้าใจผิดมา 80 ปีกว่าแล้ว ที่ยึดเอาแนวคิดคณะราษฎร์ คือ ยึดเอากฎหมายรัฐธรรมนูญไปสร้างระบอบประชาธิปไตย มันจึงผิดซ้ำซาก ซ้ำแล้วซ้ำเล่ามา 18 รัฐธรรมนูญ จึงควรไล่แนวทางนี้ ให้พ้นจากแนวคิดของทุกฝ่าย กลับมาพิจารณาแนวคิดขององค์สมเด็จพระปกเกล้าฯ ร. 7 ที่พระองค์ทรงคิดสร้าง ทรงคิดสถาปนา “หลัก Democracy” ก่อนร่างรัฐธรรมนูญ นั่นก็หมายความว่า สร้างหลักการปกครอง (ระบอบ) แบบประชาธิปไตยขึ้นมาก่อน จากนั้นจึงร่างรัฐธรรมนูญในกรอบของหลักการปกครองฯ

แนวทางของคณะราษฎร-ปัจจุบัน ที่พรรคการเมืองทั้งหมดยึดถืออยู่ มันจึงเลวทุกพรรค) พูดง่ายๆ พวกมันสร้างแต่ดาวเคราะห์ 18 ครั้ง โดยไม่มีดวงอาทิตย์ มันจึงล้มเหลว ทั้ง 18-19 ครั้งและจะล้มเหลวไปเรื่อยๆ หากยังไม่เลิกล้มแนวทางจัญไรนี้ ทุกรัฐบาลจึงจัญไรตามไปด้วย เหตุเลว ผลจึงเลว เพราะระบอบเผด็จการรัฐธรรมนูญนี้ เป็นระบอบที่อำนาจอธิปไตยเป็นของนายทุนพรรคและนักการเมืองทาส เพียงหยิบมือเดียว จะรัฐบาลไหนๆ มันก็เหมือนกัน ในทางที่ถูกต้อง คือ แนวทางของสมเด็จพระปกเกล้าฯ คิดง่ายๆ คือ ดวงอาทิตย์ ต้องมาก่อนดาวเคราะห์ ฉันใด หลักการฯ หรือระบอบการปกครองโดยธรรม ต้องมาก่อนรัฐธรรมนูญ ฉันนั้น

หากเราจะเข้าถึงสิ่งใด สิ่งนั้นต้องมีอยู่ก่อน เกิดก่อน เช่น เราจะไปวัดพระแก้ว วัดพระแก้ว ต้องมีอยู่ก่อน เราจึงจะไปได้และเข้าถึงได้ ได้ประโยชน์ และการไปนั้นก็มีหลากหลายวิธีการที่จะไป เช่น เดิน วิ่ง ขี่จักรยาน มอเตอร์ รถยนต์ เป็นต้น ก็แล้วแต่ความสะดวกของประชาชนสาขานั้นๆ

เราจะเข้ามหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยนั้นๆ ต้องมีอยู่ก่อน สรุปได้ว่า จุดหมาย ก็คือหลักการปกครองโดยธรรม ส่วนวิธีการไปสู่จุดหมายก็คือกฎหมายรัฐธรรมนูญ หมวด และมาตราต่างๆ นั่นเอง ขอให้ท่านผู้ชุมนุมทั้งหลาย ได้พิจารณาอย่างรอบคอบเถิด หากท่านไล่แต่รัฐบาล ประเทศชาติและประชาชนก็ยังคงตกอยู่ในนรกเผด็จการรัฐธรรมนูญ เช่นเดิม สมดังคำด่าที่ว่า “อัปรีย์ไป จัญไรมา” อย่างซ้ำซากมายาวนาน มีนายกรัฐมนตรีมา 28 คน และกว่า 60 คณะรัฐมนตรี ล้วนโกงชาติมาแล้วทั้งสิ้น พวกมันกู้ๆๆๆๆ และโกงๆๆๆๆ ประชาชนจนลงๆๆๆๆ

80 ปีประชาชนยังไม่เคยมี หลักการ (ระบอบ) ปกครองโดยธรรม จึงไม่มีความเสมอภาคทางการเมืองและความเสมอภาคทางโอกาสอย่างแท้จริง จึงได้เสนอหลักการปกครองธรรมาธิปไตยหลักที่ 5 เพื่อให้ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมั่งคั่ง อย่างยั่งยืนสืบไป ดังนี้

หลักความเสมอภาค (Equality) หมายถึง (1) ความเสมอภาคทางการเมืองคือความเสมอภาคในการแสดงพฤติกรรมต่อสังคมในการอุทิศตนเพื่อประเทศชาติอันเป็นกิจกรรมกุศลสาธารณะ (2) ความเสมอภาคทางกฎหมาย (3) ความเสมอภาคทางโอกาส (ทุกวันนี้ประชาชนไม่มีความเสมอภาคทั้ง 3 จึงตกเป็นทาสของพรรคฯ และนักการเมืองเลวเพียงหยิบมือเดียว)

1. หลักความเสมอภาคตามกฎธรรมชาติวิถีธรรมหรือกฎธรรมชาติ บนความสัมพันธ์ระหว่างอสังขตธรรม (ธรรมที่ไม่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง) กับสังขตธรรม (ธรรมที่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง) เป็นปัจจัยให้กระบวนการนามรูปหรือกระบวนการชีวิตสัตว์ทั้งมวล นับแต่สัตว์เซลล์เดียว ต่างก็วิวัฒนาการก้าวหน้าอย่างค่อยเป็นค่อยไปและก้าวกระโดดเรื่อยไปจนถึงความเป็นมนุษย์ และสามารถจะเข้าถึงจุดมุ่งหมายสูงสุดคือบรมธรรม (นิพพาน, ธรรมาธิปไตย)

แสดงให้เห็นว่ามนุษยชาติเมื่อเกิดมาแล้วย่อมมีความเท่าเทียมกันในความเป็นมนุษย์ แต่ไม่อาจเข้าถึงบรมธรรมได้ทั้งหมด ทั้งนี้เพราะมนุษย์มีความแตกต่างหลากหลาย ด้วยเหตุปัจจัยตามกฎแห่งกรรม เช่น บางคนภูมิจิตต่ำ บางคนภูมิจิตสูง บางคนกิเลสมากหรือน้อยต่างกัน บางคนอ่อนแอ บางคนแข็งแรง บางคนมีความเพียรน้อย บางคนมีความเพียรมาก บางคนฉลาดน้อย บางคนฉลาดมาก บางคนมีจุดมุ่งหมายต่ำ บางคนมีจุดมุ่งหมายสูง บางคนเห็นแก่ตัว บางคนอุทิศตนเพื่อมนุษยชาติ เป็นต้น

2. หลักความเสมอภาคตามคำสอนแห่งพระพุทธศาสนา คำสอนของพระพุทธเจ้า 84,000 พระธรรมขันธ์ ล้วนมีความมุ่งหมายเพื่อให้พุทธสาวกครองตนอยู่ด้วยศรัทธา ตั้งมั่นอยู่ในศีล สติ สมาธิ ปัญญา วิมุตติ รู้แจ้งธรรมพ้นทุกข์ สู่นิพพานหรือบรมธรรมทุกคนทุกท่านเสมอกันแต่ไม่สามารถเข้าถึงพระนิพพานได้ทั้งหมดด้วยปัจจัยกฎแห่งกรรม เช่น ภูมิจิตสูง-ต่ำ ความเพียร ปัญญาและจุดมุ่งหมายสูงต่ำไม่เสมอกันฉันใด ก็ควรเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปอย่างกว้างที่สุดโดยไม่เลือกเพศ เชื้อชาติ ศาสนา หรือชั้นวรรณะ วุฒิการศึกษา โดยถือธรรมเป็นศูนย์กลาง ขอให้ปวงชนเหล่านั้นมีสิทธิเสมอภาคกันในทางการเมือง มีความเสมอภาคทางโอกาส แต่ไม่สามารถเข้าไปทำหน้าที่เป็นสมาชิกรัฐสภาแห่งชาติได้ทั้งหมดฉันนั้น

3. ระบอบการเมืองไทยปัจจุบันไม่มีหลักความเสมอภาค การเมืองในระบอบเผด็จการไม่ว่ารูปแบบใดก็ตาม ประชาชนจะไม่ได้รับความเสมอภาค และความจริงในปัจจุบันอำนาจอธิปไตยเป็นของกลุ่มทุนผูกขาดและอิทธิพลอำนาจมืด ซึ่งเป็นชนส่วนน้อยเพียงหยิบมือเดียวเช่นนี้ ความเสมอภาคของประชาชนจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ในระบอบเผด็จการ เว้นจะได้สถาปนาหลักการปกครองธรรมาธิปไตย 9 โดยพระเจ้าแผ่นดิน

เมื่ออำนาจอธิปไตยไม่ได้เป็นของปวงชน เสรีภาพของประชาชนก็เลือนหายไป ดังนี้จะเป็นปัจจัยให้ประชาชนไม่มีความเสมอภาคในด้านต่างๆ เช่น

(1) ประชาชนไม่มีความเสมอภาคทางการเมือง

(2) ประชาชนไม่มีความเสมอภาคทางกฎหมาย

(3) ประชาชนไม่มีความเสมอภาคทางโอกาส

ในทางที่เป็นธรรมหมายความว่าประชาชนไม่ว่าเหล่ากำเนิดใด ศาสนาใด จะมีฐานะการศึกษา ทางเศรษฐกิจ ทางสังคม ทางการเมือง สูงหรือต่ำอย่างใด ย่อมอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน อยู่ใต้ระบบศาลเดียวกัน ต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเดียวกัน ได้รับความคุ้มครองเช่นเดียวกัน ความแตกต่างในกรณีใดๆ ระหว่างบุคคลไม่ก่อให้เกิดเอกสิทธิ์แต่อย่างใด

ระบอบเผด็จการรัฐธรรมนูญระบบรัฐสภา มีองค์ประกอบหลักๆ ได้แก่

1. ด้านเนื้อหา ได้แก่ 1) ไม่มีหลักการปกครองโดยธรรม 2) อำนาจอธิปไตยเป็นของกลุ่มทุนและนักการเมืองเลวเพียงหยิบมือเดียว

2. ด้านรูปการปกครอง ได้แก่ ระบบรัฐสภาแบบรวมศูนย์อำนาจ และลิดรอนพระบรมเดชานุภาพแห่งองค์พระมหากษัตริย์ให้เป็นประมุขระบอบฯ ทั้งๆ ที่พระองค์ทรงเป็นประมุขแห่งรัฐ

3. ด้านวิธีการปกครอง ได้แก่ รัฐธรรมนูญ คือหมวดและมาตราต่างๆ กำหนดให้มีองค์กรต่างๆ กำหนดให้ทำอย่างนี้ ไม่ให้ทำอย่างนั้น เช่น ให้มี ส.ส., ส.ว., องค์กรอิสระ, มีการเลือกตั้ง (เลือกตั้งแบบซื้อเอา) เป็นต้น ด้วยเหตุที่ระบอบปัจจุบัน อำนาจอธิปไตยเป็นของกลุ่มทุนและนักการเมืองเลวหยิบมือเดียวและใช้รูปการปกครองระบบรัฐสภา (Parliamentary System) จึงได้เรียกว่า ระบอบเผด็จรัฐธรรมนูญระบบรัฐสภา

หากเรานำกฎอิทัปปัจจยตา กฎนี้เป็นกฎสากล หรือเป็นกฎทั่วไป (General law) คือ เป็นกฎความสัมพันธ์ของเหตุปัจจัยระหว่างเหตุและผล (พระไตรปิฎกไทยเล่มที่ 29 ข้อที่865) มีใจความว่า

อิมสฺมึสติอิทํโหติ            เมื่อสิ่งนี้มีสิ่งนี้ก็มี
อิมสฺสุปฺปาทาอิทํอุปฺปชฺชติ   เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้นสิ่งนี้ก็เกิดขึ้น
อิมสฺมึอสติอิทํนโหติ         เมื่อสิ่งนี้ไม่มีสิ่งนี้ก็ไม่มี
อิมสฺสนิโรธาอิทํนิรุชฺฌติ     เพราะสิ่งนี้ดับสิ่งนี้ก็ดับ(ด้วย)

นำมาพิจารณาเหตุปัจจัยทางการเมือง จะเห็นได้ว่าประเทศไทยกำลังเคลื่อนไปตามกฎอิทัปปัจจยตาฝ่ายอกุศล, ฝ่ายลบ, หรือฝ่ายเสื่อม ดังนี้

เพราะอำนาจอธิปไตยเป็นของชนส่วนน้อย จึงเป็นเหตุให้ไม่มีเสรีภาพบริบูรณ์ เมื่อไม่มีเสรีภาพบริบูรณ์ จึงเป็นเหตุให้ไม่มีความเสมอภาคทางโอกาส

เมื่อไม่มีความเสมอภาคทางโอกาส จึงเป็นเหตุให้ไม่มีภราดรภาพ

เมื่อไม่มีภราดรภาพ จึงเป็นเหตุให้ไม่มีเอกภาพหรือรู้รักสามัคคีธรรม

เมื่อไม่มีเอกภาพหรือรู้รักสามัคคีธรรม จึงเป็นเหตุให้ไม่มีดุลยภาพ

เมื่อไม่มีดุลยภาพ จึงเป็นเหตุให้ไม่มีหลักนิติธรรม

ดังกล่าวนี้ ก็จะเป็นปัจจัยให้ประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรม ขาดโอกาสที่ดีงามในความเป็นประชาชนไทย ทั้งยังจะถูกกดขี่ด้วยกฎหมาย ขูดรีดด้วยการเสียภาษีให้รัฐอย่างหนัก ประชาชนส่วนใหญ่ต้องทำงานอย่างหนักแต่ยากจน ระบอบการเมืองที่ไม่เป็นธรรมจะเป็นปัจจัยให้ประชาชนทำผิดกฎหมายและจมอยู่ในกองอบายมุข แต่ผู้ปกครองกลับเลี่ยงกฎหมาย และไร้จริยธรรม สภาพการณ์เช่นนี้ปัญญาชนจะลุกขึ้นมาต่อต้านระบอบฯ และรัฐบาลที่สร้างหนี้และโกงประชาชน

4. หลักความเสมอภาคทางโอกาสจะเกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน ด้วยปัจจัยของหลักการปกครอง (ระบอบ) โดยธรรม สาระสำคัญคือมีหลักการปกครองธรรมาธิปไตย 9 จะเป็นเหตุปัจจัยให้ประชาชนได้รับ

(1) มีความเสมอภาคทางการเมือง

(2) มีความเสมอภาคทางกฎหมาย

(3) มีความเสมอภาคทางโอกาสอย่างแท้จริง อันเกิดจากปัจจัยที่ถูกต้อง

เมื่อนำมาประยุกต์ใช้อย่างถูกต้องตามกฎอิทัปปัจจยตาฝ่ายกุศล, ฝ่ายบวก, ฝ่ายพัฒนาจะเกิดผลอย่างยิ่งใหญ่ ดังนี้

1) หลักธรรมาธิปไตย เป็นเหตุให้องค์พระมหากษัตริย์ยิ่งใหญ่

2) หลักพระมหากษัตริย์ยิ่งใหญ่ จะเป็นเหตุปัจจัยพระราชทานอำนาจอธิปไตยให้เป็นของของปวงชน

3) หลักอำนาจอธิปไตยของปวงชน จะเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดเสรีภาพบริบูรณ์

4) หลักเสรีภาพบริบูรณ์ จะเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดความเสมอภาคทางโอกาส

5) หลักความเสมอภาคทางโอกาส จะเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดภราดรภาพ

6) หลักภราดรภาพ จะเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดเอกภาพหรือรู้รักสามัคคีธรรม

7) หลักเอกภาพหรือรู้รักสามัคคีธรรม จะเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดดุลยภาพ

8) หลักดุลยภาพ จะเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดหลักนิติธรรม

9) หลักนิติธรรม จะเป็นเหตุปัจจัยให้การยกร่างรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติต่างๆ เป็นธรรม ด้วยเหตุปัจจัยดี คือมี หลักการปกครองธรรมาธิปไตย 9 เมื่อนำมาเป็นหลักการปกครอง ย่อมเป็นปัจจัยต่อรูปการปกครองระบบรัฐสภาให้มีประสิทธิภาพ และจะเป็นปัจจัยต่างอิงอาศัยให้ระบบเศรษฐกิจพอเพียง ได้เบ่งบานทั่วเมืองไทยและสากลโลก และในที่สุดจะเป็นปัจจัยให้ปวงชนได้รับความยุติธรรม ประชาชนมีหลักการปกครองธรรมาธิปไตย 9 เป็นการเมืองของตนเอง ก็จะไม่ตกไปเป็นทาสของนักการเมืองและกลุ่มทุนเพียงหยิบมือเดียวนั่นเองและผลของการปกครองที่ดีคือ ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมั่งคั่งอย่างยั่งยืนสืบไป
กำลังโหลดความคิดเห็น