xs
xsm
sm
md
lg

เอาหลักธรรมาธิปไตย 9 สู้เผด็จการ เอาเศรษฐกิจพอเพียงสู้ทุนสามานย์

เผยแพร่:   โดย: ดร.ป. เพชรอริยะ

ร่วมกันปลุกระดมเจริญรอยตามพระปฐมบรมราชโอการ “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” ก่อนชาติล่มจม

ประเทศไทยนับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา ใช้รัฐธรรมนูญมากถึง 18 ฉบับ เป็นเวลายาวนานถึง 80 กว่าปีแล้ว แต่ยังไม่เคยมีหลักการปกครองโดยธรรม (ระบอบ) และมีแต่เพียงวิธีการปกครอง (รัฐธรรมนูญ) เท่านั้น ประชาชนจึงไม่เคยมีเสรีภาพทางการเมืองอย่างแท้จริง จึงได้เสนอหลักการปกครอง หลักที่ 4 ต่อไป เพื่อเป็นปัจจัยให้ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมั่งคั่ง ดังนี้

หลักที่ 4 หลักเสรีภาพของบุคคล (Freedom of person)

หมายถึงเสรีภาพบริบูรณ์ของบุคคลคือเสรีภาพทางความคิดเสรีภาพทางการเมืองและเสรีภาพส่วนบุคคลเอกชนเป็นเสรีภาพบุคคล, นิติบุคคลและรัฐไม่ควรละเมิดเสรีภาพทางความคิดและทางการเมืองของประชาชน กรรมกร ชาวนาค่อนประเทศไม่มีเสรีภาพทางการเมือง

1)เสรีภาพตามสภาวะธรรมชาติ

ตามวิถีธรรม (ตถตาความเป็นเช่นนั้นเองแห่งธรรมทั้งปวง) กฎธรรมชาติได้กำหนดให้กระบวนนามธรรมกับรูปธรรมหรือกระบวนการชีวิตของสัตว์ทั้งมวล นับแต่สัตว์เซลล์เดียวเป็นต้นมา ต่างก็วิวัฒนาการก้าวหน้าอย่างค่อยเป็นค่อยไปและก้าวกระโดดเรื่อยไปจนกว่าจะเข้าถึงบรมธรรม (นิพพาน, ธรรมาธิปไตย) แต่ไม่อาจไปถึงได้ทั้งหมดด้วยภพ-ชาติสูงต่ำและจุดมุ่งหมายแห่งสัตว์นั้นๆ ต่างกัน

2)เสรีภาพตามคำสอนแห่งพระพุทธศาสนา

คำสอนของพระพุทธเจ้า มีมากถึง 84,000พระธรรมขันธ์ ในแต่ละธรรมขันธ์ล้วนมีความมุ่งหมายเพื่อให้พุทธสาวกครองตนอยู่ในศีล สมาธิ ปัญญา รู้แจ้งธรรม พ้นทุกข์มุ่งสู่พระนิพพานหรือบรมธรรมทุกคนทุกท่านเสมอกัน แต่ไม่อาจเข้าถึงพระนิพพานได้ทั้งหมดด้วยกรรม สภาวะจิตสูงต่ำ ความเพียร สติปัญญาและจุดมุ่งหมายสูงต่ำไม่เสมอกันฉันใด

ก็ควรเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปมีเสรีภาพทางความคิด เสรีภาพในการรักชาติเสมอกันอย่างกว้างขวางที่สุดโดยไม่เลือกเพศ เชื้อชาติ ศาสนา หรือชั้นวรรณะ และวุฒิการศึกษา โดยถือธรรมเป็นหลักถือธรรมเป็นศูนย์กลาง ขอให้ปวงชนเหล่านั้นมีสิทธิเสมอกันในทางการเมือง แต่ไม่อาจเข้าไปทำหน้าที่เป็นสมาชิกรัฐสภาแห่งชาติได้ทั้งหมดฉันนั้น

3)เสรีภาพทางการเมืองบริบูรณ์

เสรีภาพ อิสรภาพ จะพบได้จากการวิปัสสนาภาวนา และความแจ่มแจ้งในอรรถธรรม เมื่อนำมาประยุกต์ใช้ในทางการเมือง ประชาชนจะมีเสรีภาพอย่างบริบูรณ์ ประชาชนจะต้องมีอำนาจ เช่น เจ้าของบ้านมีอำนาจในขอบเขตบ้านของตน มีอำนาจในการปรับปรุงแก้ไข จัดการทรัพย์สินของตนได้ตามที่เห็นสมควร ขณะเดียวกันประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ ประชาชนก็ต้องมีอำนาจในประเทศของตน แต่เรียกอำนาจนั้นว่าอำนาจอธิปไตยของปวงชน ถ้าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนจริงในเชิงรูปธรรม ประชาชนก็จะมีเสรีภาพบริบูรณ์

ปกติแล้วบุคคลย่อมมีเสรีภาพไม่ว่าจะอยู่ในระบอบการเมืองชนิดไหนก็ตาม เพราะเสรีภาพเป็นเรื่องของธรรมชาติ เช่น สิทธิในการคิดและการกระทำที่ไม่เบียดเบียนผู้อื่น สิทธิในชีวิต สิทธิในทรัพย์สิน สิทธิในการแสวงหาความสุข สิทธิในการที่จะเดินทางและเลือกที่อยู่อาศัย เป็นต้น

ส่วนสิทธิในทางการเมือง เช่น สิทธิในความรักชาติ สิทธิในการเลือกลัทธิการเมือง สิทธิในการตั้งพรรคและการสมัครผู้แทน สิทธิในการเลือกตั้ง สิทธิในการเปลี่ยนรัฐบาล เป็นต้น การที่บุคคลใช้สิทธิโดยปราศจากพันธนาการ คือบุคคลมีเสรีภาพบริบูรณ์ ทั้งนี้จะต้องไม่เบียดเบียนและละเมิดสิทธิของผู้อื่น

แต่ระบอบการเมืองเผด็จการไม่ว่ารูปแบบใดๆ และลักษณะใดๆ ก็ตาม ประชาชนจะไม่มีเสรีภาพบริบูรณ์ทางการเมือง และความจริงในปัจจุบันอำนาจอธิปไตยเป็นของนักการเมืองผู้ปกครองร่วมกับกลุ่มทุนผูกขาดเพียงหยิบมือเดียวดังนี้แล้ว เสรีภาพบริบูรณ์ของประชาชนจึงเป็นเรื่องที่ยังห่างไกลยิ่งนัก

พระมหากษัตริย์ทรงมอบอำนาจอธิปไตยให้แก่ปวงชน แต่ถูกบิดเบือนมาร่วม 80 ปีแล้ว กลายเป็นอำนาจอธิปไตยเป็นของนักการเมืองและกลุ่มทุนผูกขาดเพียงหยิบมือเดียว จะเห็นได้ว่าพวกผู้ปกครองมีเสรีภาพอย่างล้นเหลือ เช่น มีเสรีภาพในการหลีกเลี่ยงภาษีเสรีภาพในการฉ้อราษฎร์บังหลวง มีเสรีภาพในการออกกฎหมายมาปิดกั้นเสรีภาพทางความคิดและทางการเมืองของประชาชนค่อนประเทศ มีเสรีภาพในการผูกขาดตัดตอน มีเสรีภาพในการซื้อเสียง มีเสรีภาพในการโยกสมบัติแห่งชาติไปเป็นของตนและพวกพ้อง เอื้อประโยชน์ธุรกิจของตน เครือญาติและพวกพ้อง ฯลฯ ดังกล่าวคือการทำลายเสรีภาพของประชาชน ทั้งนี้ปัจจัยทางการเมืองไทยกำลังเคลื่อนไปตามกฎอิทัปปัจจยตาฝ่ายลบ ฝ่ายเสื่อม ดังนี้

เพราะอำนาจอธิปไตยเป็นของชนส่วนน้อย จึงเป็นเหตุให้ไม่มีเสรีภาพบริบูรณ์ เมื่อไม่มีเสรีภาพบริบูรณ์ จึงเป็นเหตุให้ไม่มีความเสมอภาคทางโอกาส

เมื่อไม่มีความเสมอภาคทางโอกาส จึงเป็นเหตุให้ไม่มีภราดรภาพ

เมื่อไม่มีภราดรภาพ จึงเป็นเหตุให้ไม่มีเอกภาพหรือรู้รักสามัคคีธรรม

เมื่อไม่มีเอกภาพหรือรู้รักสามัคคีธรรม จึงเป็นเหตุให้ไม่มีดุลยภาพ

เมื่อไม่มีดุลยภาพ จึงเป็นเหตุให้ไม่มีหลักนิติธรรม

ดังกล่าวนี้ ก็จะเป็นเหตุให้ประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรม ขาดโอกาสที่ดีงามในความเป็นประชาชนไทย ทั้งยังจะถูกกดขี่ด้วยกฎหมาย ขูดรีดด้วยการเสียภาษีให้รัฐอย่างหนัก

ประชาชนส่วนใหญ่ต้องทำงานอย่างหนักเดี๋ยวนี้ทำงาน 8 ชั่วโมงไม่พอกิน ต้องทำถึง 12 ชั่วโมง ก็ยังไม่ค่อยจะพอกิน ค่าครองชีพไม่พอกับรายจ่ายที่จำเป็น ประชาชนเครียดและเป็นทุกข์มากในระบอบปัจจุบัน

เมื่อหันไปมองผู้ปกครองคณะปัจจุบัน ร่ำรวยล้นฟ้า โคตรมหารวย ทั้งนี้จะโทษผู้ปกครองฝ่ายเดียวไม่ได้ เขาร่ำรวยอย่างมหาศาลได้ก็เพราะเงื่อนไขทางการเมืองที่ไม่เป็นธรรม นั่นเอง มันเป็นกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม สมดังอุทานที่ว่า “ระบอบเลว ทำคนให้เป็นผี ระบอบดี ทำผีให้เป็นมนุษย์”

ระบอบเลวทำคนให้เป็นผี เช่น เมื่อลงเลือกตั้งกลัวจะแพ้ จึงซื้อเสียง (ผีอสุรกาย) เมื่อได้เป็นนักการเมือง เป็นรัฐมนตรี หรือนายกรัฐมนตรีแล้วโลภมากด้วยการฉ้อราษฎร์บังหลวง (ผีเปรต) เมื่อเขาจับได้ไล่ทันก็โกรธ (ผีสัตว์นรก) และหลงอยู่ในตำแหน่งการเมืองผิดที่ผิดทาง (ผีเดรัจฉาน) จะเห็นได้ว่าภายใต้ระบอบปัจจุบันนักการเมืองทุกระดับตั้งแต่ตำบลถึงระดับชาติ มีแต่นักการเมืองผีทั้งนั้น

นอกจากนี้ยังเต็มไปด้วยอิทธิพลอำนาจมืดต่างๆ ที่สร้างความชั่วร้ายอย่างไม่หยุดหย่อนทั้งนี้ระบอบเลวเป็นเหตุนั่นเอง จึงเป็นเหตุให้ความชั่วช้าเติบโตขึ้นทั่วแผ่นดิน

หากใครได้สำนึกและเจริญรอยตามพระเจ้าอยู่หัว จะรู้ว่าตำแหน่งทางการเมืองนั้น เป็นตำแหน่งของพระโพธิสัตว์ผู้อุทิศตนเพื่อแผ่นดินทุกวันนี้กลายเป็นตำแหน่งของ...(ตัดพระโพธิออก) เดรัจฉานทางการเมืองไปแล้ว

ระบอบดีทำผีให้เป็นมนุษย์ เช่น คนหลงผิด เมื่อได้ศึกษาพระธรรมวินัยคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอย่างจริงจัง หรือได้เข้ามาบวชเป็นภิกษุพุทธสาวก ก็จะกลายเป็นคนดีมีคุณธรรม

แต่ถ้ามีระบอบการเมืองโดยธรรมมีหลักการปกครองธรรมาธิปไตย โดยถือธรรมเป็นสำคัญ ก็จะเป็นเหตุให้ประชาชนมีเสรีภาพบริบูรณ์อย่างแท้จริง อันเกิดจากเหตุปัจจัยที่ถูกต้องซึ่งได้ประยุกต์มาจากกฎธรรมชาติ พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติ กฎอิทัปปัจจยตา อันเป็นกฎสากล หรือกฎทั่วไป (General Law) คือ ความสัมพันธ์ของเหตุปัจจัยระหว่างเหตุและผล (พระไตรปิฏกไทยเล่มที่ 29 ข้อที่ 865) มีใจความว่า

อิมสฺมึสติอิทํโหติ            เมื่อสิ่งนี้มีสิ่งนี้ก็มี

อิมสฺสุปฺปาทาอิทํอุปฺปชฺชติ   เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้นสิ่งนี้ก็เกิดขึ้น

อิมสฺมึอสติอิทํนโหติ         เมื่อสิ่งนี้ไม่มีสิ่งนี้ก็ไม่มี

อิมสฺสนิโรธาอิทํนิรุชฺฌติ     เพราะสิ่งนี้ดับสิ่งนี้ก็ดับ (ด้วย)

เมื่อท่านนำมาประยุกต์ใช้อย่างถูกต้องโดยธรรม ตามกฎอิทัปปัจจยตาฝ่ายบวก ได้แก่

หลักธรรมาธิปไตย เป็นเหตุให้องค์พระมหากษัตริย์ยิ่งใหญ่

หลักพระมหากษัตริย์ยิ่งใหญ่จะเป็นเหตุปัจจัยพระราชทานอำนาจอธิปไตยให้เป็นของของปวงชน

หลักอำนาจอธิปไตยของปวงชน จะเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดเสรีภาพบริบูรณ์

หลักเสรีภาพบริบูรณ์ จะเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดความเสมอภาคทางโอกาส

หลักความเสมอภาคทางโอกาส จะเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดภราดรภาพ

หลักภราดรภาพ จะเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดเอกภาพหรือรู้รักสามัคคีธรรม

หลักเอกภาพหรือรู้รักสามัคคีธรรม จะเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดดุลยภาพ

หลักดุลยภาพ จะเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดหลักนิติธรรม

ดังกล่าวนี้ หลักการปกครองธรรมาธิปไตย 9 เมื่อนำมาเป็นหลักการปกครอง จะเป็นเหตุปัจจัยให้ประชาชนได้รับความยุติธรรม ประชาชนมีหลักการเมืองของตนเองประเทศชาติมีเอกภาพและมีความมั่นคง และประชาชนมั่งคั่งอย่างยั่งยืน

ดังนี้จึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงโดยธรรมอย่างขนานใหญ่ เพื่อให้มีหลักการปกครองธรรมาธิปไตยอันเป็นการเมืองของปวงชน ขจัดเงื่อนไขแห่งความเลวร้ายต่างๆ และให้ความยุติธรรมต่อปวงชน และเพื่อความมั่นคงของประเทศชาติอย่างยั่งยืน ทุกวันนี้การเมืองของประชาชนขึ้นอยู่กับลมปากชั่วๆ ของนักการเมือง

ประเทศชาติเป็นของปวงชนไทยทุกคน ไม่ใช่เป็นแหล่งกอบโกย โยกย้าย ถ่ายเท ยึดสมบัติแห่งชาติมาเป็นของกลุ่มพรรคการเมืองหน้าด้านเพียงหยิบมือเดียว

กลับมาสู่ความถูกต้องของแผ่นดิน ขจัดสิ้นเหตุวิกฤตชาติ เจริญรอยตามพระยุคลบาท สร้างหลักธรรมาธิปไตย 9 และเศรษฐกิจพอเพียง ให้ปรากฏเป็นจริงในเร็ววัน“ธรรมาธิปไตย สัจธรรมการเมืองใหม่แก้ไขเหตุวิกฤตชาติและสร้างสันติภาพโลก”
กำลังโหลดความคิดเห็น