xs
xsm
sm
md
lg

พระมหากษัตริย์จักไม่สูญสลายจากใจพสกนิกร

เผยแพร่:   โดย: ดร.ป. เพชรอริยะ

ประเทศไทยนับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา ใช้รัฐธรรมนูญมากถึง 18 ฉบับ เป็นเวลายาวนานถึง 80 ปีแล้ว แต่ยังไม่เคยมีหลักการปกครอง และในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีแต่เพียงวิธีการปกครองเท่านั้น สถาบันพระมหากษัตริย์ตกอยู่ในฐานะด้านวิธีการปกครอง ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในลักษณะอันตราย จึงได้เสนอหลักการปกครอง หลักที่ 2 เพื่อความมั่นคงของชาติและความผาสุกของปวงชนอย่างยั่งยืน

หลักพระมหากษัตริย์ประมุขแห่งรัฐ (The King as the head of State or The King as the head of the Kingdom of Thailand)

ประเทศไทยทุกยุคทุกสมัยแต่โบราณกาลมามีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแห่งรัฐไม่ว่าสภาวการณ์ทางประวัติศาสตร์การเมืองและทางสังคมของประเทศไทยจะเป็นไปในทางทิศใดพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแห่งรัฐคู่กับปวงชนชาติไทยเสมอไป และได้พัฒนาขึ้นเป็นอุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และในอนาคตอันใกล้จะได้สร้างสรรค์การปกครองแบบธรรมาธิปไตย

ในความเป็นชาติไทยและอุดมการณ์แห่งชาติโดยล้นเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงเป็นนักปราชญ์แห่งรัฐทรงพร่ำสอนไว้ว่าองค์คุณอันประเสริฐ 3 ประการของประเทศไทย คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ได้รับการเชิดชูยกขึ้นเป็นพิเศษและพร้อมทั้งได้เปลี่ยนธงชาติจากธงแดงรูปช้างสีขาวเป็นธง 3 สี คือ แดง ขาว น้ำเงิน ทรงเรียกว่าธงไตรรงค์

ธงไตรรงค์ คือสัญลักษณ์ขององค์คุณอันประเสริฐ 3 ประการ

สีแดงเป็นสัญลักษณ์ของชาติ

สีขาว เป็นสัญลักษณ์ของศาสนา

สีน้ำเงิน เป็นสัญลักษณ์ของพระมหากษัตริย์

ชาติ หมายความถึงชนชาติไทยและประชาชาติสยามรวมกัน (ประชาชาติสยามเปลี่ยนเป็นประชาชาติไทยโดยรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมพ.ศ. 2482 ว่าด้วยนามประเทศเมื่อเปลี่ยนนามประเทศสยามเป็นประเทศไทยประชาชาติสยามก็เปลี่ยนเป็นประชาชาติไทยและสยามรัฐก็เปลี่ยนเป็นรัฐไทย)

ศาสนาหมายความถึงศาสนาทุกศาสนาในประเทศไทย โดยเฉพาะหมายความถึงพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาประจำชาติไทยมาแต่เดิมเป็นศาสนาที่สอดคล้องกับลักษณะพิเศษของชนชาติไทยอันชนชาติไทยรับเอามาเป็นศาสนาของตนมาแต่โบราณกาล

พระมหากษัตริย์หมายถึงประมุขแห่งรัฐไทยอันว่าประเทศไทยทุกยุคทุกสมัยนับแต่โบราณกาลมา เรามีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขประเทศ ไม่ว่าสภาวการณ์ทางประวัติศาสตร์และทางการเมืองเศรษฐกิจ สังคมของประเทศจะพัฒนาไปอย่างไรพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแห่งรัฐคู่กับชนชาติไทยเสมอไป

องค์คุณอันประเสริฐ 3 ประการนี้ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ต่างอิงอาศัยกัน เป็นเอกภาพแยกกันไม่ออกแยกกันไม่ได้ เหมือนกับสีแดง สีขาว สีน้ำเงินทั้ง 3 สีรวมกันอยู่แยกกันไม่ได้ในธงไตรรงค์ผืนเดียวกันหรือดุจเดียวกับพระรัตนตรัย ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และต้องไม่ลืมว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันแห่งธรรมและทรงความยุติธรรม และเป็นลักษณะทั่วไปคือ เป็นธรรมาธิปไตยในทางการเมืองคือลักษณะที่ครอบคลุมเหตุปัจจัยอื่นที่สัมพันธ์เกี่ยวพันกันทั้งหมดในประเทศ

พระมหากษัตริย์ตามแนวคิดธรรมาธิปไตย

สาระสำคัญได้ประยุกต์มาจากกฎธรรมชาติ ทั้งได้จัดความสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวกับกฎธรรมชาติ ในความมุ่งหมายให้สถาบันพระมหากษัตริย์ มีความมั่นคง ยั่งยืนดุจเดียวกับกฎธรรมชาติ บนความสัมพันธ์ในมิติต่างๆ โดยย่อๆ ดังนี้

จากตาราง ดังกล่าวนี้ แสดงให้เห็นสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือองค์พระมหากษัตริย์ ได้จัดความสัมพันธ์ ดังนี้

1. จัดความสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวกับกฎธรรมชาติ

2. พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะเป็นองค์เอกภาพหรือศูนย์รวมของชาติ

3. มีลักษณะเป็นปฐมภูมิ คือ มีอำนาจเหนืออำนาจอื่นใดทั้งหมด เช่น อำนาจนิติบัญญัติ, อำนาจบริหาร, อำนาจตุลาการ เป็นต้น

4. เป็นลักษณะทั่วไป คือ มีอำนาจครอบงำส่วนที่เป็นลักษณะเฉพาะอันแตกต่างหลากหลาย หรือส่วนย่อยที่สัมพันธ์เกี่ยวพันกันทั้งหมดภายในประเทศ ดุจสภาวะอสังขตธรรม, นิพพาน, ธรรมาธิปไตย ที่เหนือสภาวะสังขตธรรมหรือกฎไตรลักษณ์ หรือดวงอาทิตย์ ที่มีอำนาจเหนือดาวเคราะห์

5. เป็นลักษณะที่ไม่เปลี่ยนแปลงดุจสภาวะพระนิพพาน คือ เมื่อสถาบันพระมหากษัตริย์ได้ยกขึ้นเป็นหลักการปกครองแล้ว จะทำให้มีความมั่นคงอย่างยั่งยืน

6. สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันแห่งธรรม, ทรงธรรม, เป็นธรรมาธิปไตย จึงมีลักษณะแผ่ความเป็นธรรม, แผ่พระบรมเดชานุภาพ, แผ่ความถูกต้อง, แผ่ความเมตตา กรุณา ออกไปสู่ส่วนที่สัมพันธ์เกี่ยวพันกันทั้งหมดทั้งในและต่างประเทศ

7. พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์จะต้องไม่เปลี่ยนแปลงหรือเสื่อมคลาย หรือสูญหายไปไหน หรือไม่มีใครจะแย่งชิงไปได้ ย่อมมีอำนาจเหนืออำนาจนิติบัญญัติ, อำนาจบริหาร, อำนาจตุลาการ หรืออำนาจอื่นใดในแผ่นดิน และอำนาจนั้นๆ จะต้องขึ้นตรงต่อพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ดุจดาวเคราะห์ขึ้นตรงต่อดวงอาทิตย์เสมอไป หรือชาวพุทธต้องขึ้นตรงต่อพระรัตนตรัยเสมอไป

จะเห็นได้ว่า ปัญญา, หลักการ, วิธีคิดจากกฎธรรมชาติในมิติธรรมาธิปไตย เป็นปัจจัยให้สถาบันพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่อย่างมั่นคงดุจเดียวกับกฎธรรมชาติ

หลักธรรมสำคัญแห่งสถาบันพระมหากษัตริย์

1. จักรวรรดิวัตร 12 พระพุทธเจ้าทรงเล่าเรื่องให้ภิกษุทั้งหลายฟังเกี่ยวกับการปกครองบ้านเมืองให้เป็นธรรม หรือวัตรปฏิบัติของพระเจ้าจักรพรรดิอันประเสริฐหรือหน้าที่ของนักปกครองผู้ยิ่งใหญ่โดยให้ถือธรรมเป็นใหญ่เป็นอันดับแรก (ที.ปา. 11/35)ความย่อ ดังนี้

ธรรมาธิปไตย 1) จงอาศัยธรรมเท่านั้น 2) สักการะธรรม 3) ทำความเคารพธรรม 4) นับถือธรรม 5) บูชาธรรม 6) ยำเกรงธรรม 7) มีธรรมเป็นธงชัย 8) มีธรรมเป็นยอด 9) มีธรรมเป็นใหญ่

2. ทศพิธราชธรรม 10 ประการ อันเป็นหลักธรรมสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยหรือผู้ปกครองอันยิ่งใหญ่ ได้แก่

1) ทาน คือการให้ทั้งวัตถุทานธรรมทานและอภัยทานแก่พสกนิกร

2) ศีล การละเว้นจากความประพฤติที่ผิดทั้งปวง

3) ปริจจาคะการบริจาคคือเสียสละความสุขสำราญเพื่อประโยชน์สุขของปวงชน

4) อาชชวะความซื่อตรงและเข้มแข็งที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้องมีความจริงใจ

5) มัททวะความอ่อนโยนคือมีอัธยาศัยสุภาพต่อคนทั้งปวง

6) ตปะความเพียรพยายามที่จะเผาผลาญกิเลสที่อาจเกิดขึ้น

7) อักโกธะความไม่โกรธ คือ ไม่กริ้วกราดไม่กระทำสิ่งใดด้วยอำนาจของความโกรธ

8) อวิหิงสาไม่เบียดเบียนผู้อื่นทั้งทางตรงและทางอ้อม

9) ขันติความอดทนอดกลั้นต่อสิ่งยั่วโลภะ โทสะ โมหะทั้งปวง

10) อวิโรธนังความไม่คลาดธรรมคือวางองค์เป็นหลักแน่นในธรรม

3. บารมี 10 หรือทศบารมี

ปฏิปทาอันยิ่งยวด คุณธรรมที่ประพฤติปฏิบัติอย่างยิ่งยวด คือ ความดีที่บำเพ็ญอย่างพิเศษ เพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายอันสูง เช่น ความเป็นพระพุทธเจ้า ความเป็นอรหันตสาวก และพระโพธิสัตว์ เป็นต้น “ธรรมของผู้มุ่งบรรลุภารกิจอันยิ่งใหญ่เพื่อมวลมนุษยชาติ”

1)ทาน การให้ การเสียสละวัตถุสิ่งของ การให้โอกาส

2) ศีล การรักษากาย วาจาให้เรียบร้อย ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม (กาย) ไม่พูดโกหก ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ (วาจา) ความประพฤติดีงามถูกต้องตามระเบียบ

3) เนกขัมมะ การออกบวช ความปลีกตัวปลีกใจฝึกสัมพันธ์อิสระจากกามคุณ 5 (รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส)

4) ปัญญา ความรอบรู้ในกองสังขารความหยั่งรู้เหตุผลเข้าใจสภาวะของสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง ว่าสิ่งทั้งปวงตกอยู่ในกฎไตรลักษณ์ (เว้นนิพพาน)

5) วิริยะ ความเพียรความแกล้วกล้า ไม่เกรงกลัวอุปสรรค พยายามบากบั่นอุตสาหะ ก้าวหน้าเรื่อยไป ไม่ทอดทิ้งธุระหน้าที่

6) ขันติ ความอดทนความทนทานของจิตใจ สามารถใช้สติปัญญาควบคุมตนให้อยู่ในอำนาจเหตุผล ระเบียบวินัยแห่งธรรมและแนวทางความประพฤติ ที่ตั้งไว้เพื่อจุดหมายอันชอบ ไม่ลุอำนาจกิเลส

7) สัจจะ ความจริง คือ พูดจริง จริงใจ ทำจริงไม่ละทิ้งภารกิจ

8) อธิษฐาน ความตั้งใจมั่นการตัดสินใจเด็ดเดี่ยว วางจุดหมายแห่งการกระทำของตนไว้แน่นอน และดำเนินตามแนวนั้นแน่ คิดการใหญ่จุดมุ่งหมายไม่เปลี่ยนแปลง

9) เมตตา ความรักใคร่ความปรารถนาดี มีไมตรี คิดเกื้อกูลให้ผู้อื่นและเพื่อนร่วมโลกทั้งปวงมีความสุขความเจริญ

10) อุเบกขา ความวางใจเป็นกลางความวางใจสงบราบเรียบสม่ำเสมอ เที่ยงธรรม ไม่เอนเอียงไปด้วยความยินดี ยินร้าย หรือชอบชัง ปราศจากอคติ 4

ดังนี้แล้วจะเห็นได้ว่า “พระราชอำนาจของพระองค์ดำรงอยู่อย่างมั่นคงด้วยพระบารมี มิได้เสื่อมคลาย ทั้งไม่มีใครแย่งชิงไปได้” ทั้งเป็นการแก้จุดอ่อนบางประการและความสับสนทั้งหลาย โดยคนไทยไม่ต้องมาขัดแย้งกันจนเกิดการหักล้างเบียดเบียนกันเอง ให้เป็นที่หัวเราะเยาะของชนชาติอื่น

พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ, กองทัพแห่งชาติ และกลุ่มผลักดันทั้งหลาย ผู้ยึดมั่นในอุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และพรรคการเมืองพรรคเล็กพรรคน้อยต่างๆ ฯลฯ และมวลชนทั้งหลายทั่วแผ่นดิน ในฐานะพสกนิกร ขอให้ออกมาแสดงประชามติ ยกป้ายทั่วประเทศสนับสนุน “ทรงพระเจริญ สถาปนาหลักการปกครองธรรมาธิปไตย 9” เป็นการเจริญรอยตามพระยุคลบาทในพระปฐมบรมราชโองการ “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” พระองค์ทรงชูธงธรรมเป็นธงชัยไว้นานถึง 60 กว่าปีแล้ว มีทางเดียวคือ พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาหลักการปกครองแบบธรรมาธิปไตย จึงจะเป็นการแก้ปัญหาเหตุวิกฤตชาติลงได้ และจะเป็นปัจจัยให้ชนในชาติรู้รักสามัคคีธรรม และเป็นชัยชนะของปวงชนในแผ่นดิน

เราเรียกร้องให้พสกนิกรทั้งหลายแสดงพลังแห่งความจงรักภักดีโดยธรรม สติปัญญา และความรู้รักสามัคคีธรรมโดยพร้อมเพรียงกันเถิด ทั้งจะเป็นการรุกทางการเมืองครั้งยิ่งใหญ่ แหลมคมยิ่งต่อฝ่ายที่ยึดมั่นในระบอบเผด็จการรัฐธรรมนูญระบบรัฐสภาอันเน่าเฟะอันเป็นเหตุแห่งความเลวร้ายทั้งปวงในแผ่นดิน “เสนอธรรมาธิปไตย มิได้หวังประโยชน์แห่งตนแต่มุ่งให้ประโยชน์อันแท้จริงแก่ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และมนุษยชาติทั่วไป”
กำลังโหลดความคิดเห็น