xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ไข่แพง ก๊าซขึ้น เศรษฐกิจทรุด แพงทั้งแผ่นดิน ตามหลอนไม่เลิก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์- คุยโวโอ้อวดว่ารัฐบาลมีฝีมือบริหารประเทศ เศรษฐกิจเจริญรุ่งเรือง กระเป๋าตุงอู้ฟู่ แต่แท้จริงแล้วเป็นเพียงการปั่นกระแสสร้างความรู้สึกเพราะวันนี้สภาพัฒน์โชว์ตัวเลขเศรษฐกิจที่เติบโตต่ำหลุดเป้าให้เห็นเป็นที่เรียบร้อย

ขณะที่ประชาชนยังคงเดือดร้อนจากต้นทุนค่าครองชีพที่พุ่งไม่หยุดฉุดไม่อยู่ เริ่มจากเมนูไข่อาหารยอดนิยมที่ขึ้นราคาล่วงหน้าไปแล้ว ส่วนสินค้าอุปโภคบริโภคจ่อพุ่งอีก 10 - 15% เช่นเดียวกับก๊าซหุงต้มเตรียมดีเดย์ทยอยปรับขึ้นอีก 6 บาทกว่าหลังสิ้นสุดแคมเปญตรึงราคาในสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้ ซึ่งจะส่งผลต่อราคาอาหารปรุงสำเร็จ มนุษย์เงินเดือน ประชาชนเดินดินกินข้าวแกงต้องควักจ่ายเพิ่มอีกแน่ๆ ไม่นับว่าราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นโดยไม่สนราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ดิ่งลง

เศรษฐกิจที่ไม่ได้ดีดังว่า ยังทำให้คนแกล้งรวยแห่ทิ้งใบจองรถคันแรกซึ่งคาดว่าจะสูงถึง 3.6 แสนคัน หรือว่านี่คือสัญญาณเศรษฐกิจฟองสบู่ใกล้จะแตกซ้ำรอยประวัติศาสตร์วิกฤตต้มยำกุ้ง

ต้องเรียกว่าของจริงเริ่มปรากฏให้เห็นกันแล้ว เมื่อนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. แถลงตัวเลขเศรษฐกิจโดยได้ปรับลดการขยายตัวของเศรษฐกิจภายในปีนี้ลงเหลือขยายตัวร้อยละ 4.2-5.2 จากเดิมคาดว่าโตร้อยละ 4.5-5.5

เหตุที่ต้องปรับลดลง เพราะว่าหลังจากจีดีพีไตรมาสที่ 1 ผ่านมาขยายตัวร้อยละ 5.3 ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ ที่ร้อยละ 6-7 โดยการบริโภคในประเทศการใช้จ่ายภาคครัวเรือน ขยายตัวร้อยละ 4.2 ชะลอลงจากไตรมาสที่ 4 ที่โตร้อยละ 12.4 เช่นเดียวกับการลงทุนขยายตัว ร้อยละ 6 ต่ำกว่าไตรมาส 4 ที่โตร้อยละ 22.9

ส่วนภาคการส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 4.5 ต่ำกว่า เป้าหมายที่รัฐบาลตั้งเอาไว้ ว่าทั้งปีจะโตร้อยละ 9 และต่ำกว่าเป้าหมายที่สศช.คาดว่าจะโตร้อยละ 11 และหากคิดมูลค่าในรูปของเงินบาท การส่งออกขยายตัวเพียงร้อยละ 0.5 เพราะได้รับผลกระทบจากเงินบาทที่แข็งค่า

เลขาธิการสภาพัฒน์ ยังชี้ให้เห็นปัจจัยเสี่ยงที่คาดว่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ก็คือการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ที่ลดลงเหลือร้อยละ 3.6 ความเสี่ยงการแข็งค่าของเงินบาท และแรงส่งจากมาตรการคืนภาษีให้กับผู้ซื้อรถยนต์คันแรกมีแนวโน้มลดลงหลังจากหมดมาตรการดังกล่าวไปแล้ว

การแถลงตัวเลขเศรษฐกิจของสภาพัฒน์ เห็นชัดว่า แรงปั่นตัวเลขเศรษฐกิจที่เกิดจากแคมเปญโปรโมชั่นต่างๆ ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์นั้น หมดน้ำยาลงแล้ว หลังจากนี้มีแต่ปัจจัยที่จะซ้ำเติมให้เศรษฐกิจย่ำแย่ ทั้งเรื่องการแข็งค่าของเงินบาทที่กระทบการส่งออก การปรับขึ้นราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่เป็นผลมาจากการปรับขึ้นค่าแรงเพราะต้นทุนการผลิตเพิ่ม ราคาข้าวของที่สูงขึ้นจะทำให้ประชาชนมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น แน่นอนการบริโภคภายในประเทศและการใช้จ่ายภาคครัวเรือนก็จะหดตัวลง แล้วผลกระทบเป็นลูกโซ่ก็จะเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการโดยเฉพาะรายย่อยหรือเอสเอ็มอีที่จะปิดตัวลงเพิ่มขึ้นอีก

ถึงแม้ว่าการปรับขึ้นราคาสินค้าอุปโภคบริโภค จะมีกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้ควบคุม แต่ลูกเล่นในการขึ้นราคาสินค้านั้นมีหลากหลาย ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า ในไตรมาส 2 นี้มีโอกาสที่ผู้ประกอบการจะปรับราคาสินค้าอุปโภคบริโภคทุกประเทศ เฉลี่ยประมาณ 10 - 15% ตามภาระต้นทุนที่สูงขึ้นจากการปรับค่าแรงขั้นต่ำโดยการปรับราคาสินค้าเป็นไปได้ 3 รูปแบบ คือ 1.ขึ้นราคาในปริมาณสินค้าเท่าเดิม 2.ทั้งขึ้นราคาและลดปริมาณ และ 3.ลดปริมาณลงและขายในราคาเท่าเดิม

ตรงกับผลสำรวจธุรกิจทั่วไปของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่พบว่า ในไตรมาส 2 ราคาสินค้าหลายรายการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามต้นทุนที่ปรับขึ้น และผู้ประกอบการหลายรายจ่อขึ้นราคาสินค้ากันทั่วหน้า
การเตรียมปรับขึ้นราคาสินค้าอุปโภคบริโภคทุกประเภทของผู้ประกอบการจากต้นทุนค่าแรงดังกล่าว ทำให้รัฐบาลละล้าละลังที่จะลอยตัวราคาก๊าซหุงต้มหรือก๊าซแอลพีจีภาคครัวเรือนซ้ำเติมประชาชน หลังจากแคมเปญ นี้จะหมดลงในสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้ โดยตามนโยบายลอยตัวราคาก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือนของรัฐบาล ต้องปรับขึ้น 6.79 บาท ต่อกิโลกรัม จาก 18.82 บาท ไปอยู่ที่ 24.82 บาท ซึ่งจะทยอยขึ้นเดือนละ 50 สตางค์ต่อเนื่องไป 1 ปีเต็ม

ในเบื้องต้น นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ออกมาโปรยยาหอมว่า การปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ภาคครัวเรือนนี้คงจะต้องตรึงต่อไปอีก 1 เดือน คือไปสิ้นสุดในเดือนมิถุนายนนี้แทน เนื่องจากขั้นตอนการลดผลกระทบต่อผู้มีรายได้น้อยยังไม่แล้วเสร็จ แต่ยังไม่วายโกหกว่าการปรับขึ้นราคาก๊าซดังกล่าวจะไม่มีผลกระทบต่อผู้ประกอบการรายย่อยหรือผู้มีรายได้น้อยแต่อย่างใด

การปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้มภาคครัวซึ่งทุกผู้คนจะได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้านั้น เป็นประเด็นสำคัญที่จะทำให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ เสียคะแนนได้ง่ายๆ ในขณะที่กำลังมีการเลือกตั้งซ่อมในเขตดอนเมือง กรุงเทพฯ ที่สองพรรคใหญ่กำลังขับเคี่ยวชิงชัยกัน เพราะสิ่งที่จะตามมาหากขึ้นราคาก๊าซหุงต้มก็คือ ราคาสินค้าโดยเฉพาะหมวดอาหาร จะต้องปรับตัวเพิ่มขึ้น เป็นความเดือดร้อนที่สัมผัสได้ด้วยตัวคุณเองไม่ต้องรอให้รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานมาโป้ปดว่าไม่มีผลกระทบ และที่ผ่านมาการควบคุมราคาอาหารโดยกระทรวงพาณิชย์นั้น พิสูจน์ให้เห็นกันชัดๆ แล้วว่า ไร้น้ำยา การสั่งเผาเมืองอย่างที่ “อำมาตย์เต้น” นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ ทำยังมีผลงานฉิบหายเห็นๆ เป็นชิ้นเป็นอันเสียยิ่งกว่า

สิ่งที่กระทรวงพาณิชย์ ทำได้และสักแต่ว่าได้ทำโดยไม่ได้ผลใดๆ คือการขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการ เช่น ผู้ค้าจากศูนย์อาหารในห้างค้าปลีกให้ช่วยตรึงราคาอาหารปรุงสำเร็จไปก่อน อย่าง 10 เมนูแนะนำที่กรมการค้าภายใน ได้ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ ได้แก่ ข้าวไข่เจียว, ผัดซีอิ๊ว, ข้าวไข่พะโล้, ข้าวขาหมู, ข้าวกะเพราหมู-ไก่, ข้าวผัดหมู-ไก่, ก๋วยเตี๋ยวหมู-ไก่-ลูกชิ้นปลา, ราดหน้า, ขนมจีนน้ำยา-แกงไก่ และข้าวราดแกงกับข้าว 1 อย่าง จะขอให้จำหน่าย ราคาจานละ 25-35 บาท ยกเว้นข้าวไข่เจียวให้จำหน่ายที่จานละ 15-20 บาทขึ้นอยู่กับแต่ละสถานที่

ราคาอาหาร 10 เมนูแนะนำข้างต้น อาจขายจานละ 25-35 บาท ก็ใช่อยู่ แต่ปริมาณและคุณภาพของอาหารที่มีอยู่ในจานนั้น บ่งบอกในตัวมันเองว่า ความจริงแล้วยังคงยืนราคาหรือปรับขึ้นไปเรียบร้อยแล้วกับปริมาณที่ลดลง และหมู ไก่ เนื้อ กุ้ง หมึก ที่มีแต่วิญญาณล่องลอยอยู่ในจาน

นี่ยังไม่นับว่า ราคาไข่ไก่ ที่ปรับขึ้นไปเรียบร้อยแล้ว โดยราคาจากหน้าฟาร์มขึ้นไป 10 สตางค์ต่อฟอง โดยชมรมผู้เลี้ยงไก่รายย่อยภาคกลาง อ้างเหตุผลว่าอาหารสัตว์ปรับขึ้นและสภาพอากาศร้อนจัดทำให้ปริมาณไข่ลดลง การขึ้นราคาจากฟองละ 3.10 บาทเป็น 3.20 บาท เป็นการสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง

เมื่อราคาไข่ไก่หน้าฟาร์มปรับขึ้น ราคาขายปลีกกว่าจะถึงมือผู้บริโภคซึ่งต้องผ่านการจัดการ การขนส่ง หลายทอด ทำให้ราคาไข่ไก่ที่จำหน่ายในตลาดสด เช่น ที่จังหวัดอ่างทอง ปรับขึ้นโดยราคาขายปลีกหน้าร้านไข่ไก่เบอร์ใหญ่อยู่ที่ 4.50 บาท จากเดิม 4.00 บาทต่อฟอง ขณะที่ร้านค้าบางแผงไม่มีไข่ขายแล้ว ซึ่งทำให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่ต้องบริโภคไข่เป็นอย่างมาก

นายองอาจ ชายฉลาด เจ้าของร้านตี๋ไข่สดในตลาดเทศบาลเมืองวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ระบุถึงราคาไข่ไก่หลังการเปิดเทอมว่า ราคาไข่ไก่เริ่มปรับตัวขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยไข่ไก่เบอร์ 0 จำหน่ายถาดละ 125 บาท หรือฟองละ 4 บาทเศษ ส่วนไข่เบอร์ 1 ถาดละ 115 บาท หรือฟองละ 3.80 บาท โดยปรับตัวขึ้นเฉลี่ยถาดละ 10 บาท สำหรับไข่ไก่เบอร์ 2 ราคาถาดละ 110 บาท ไข่เบอร์ 3 ถาดละ 105 บาท เบอร์ 4 ถาดละ 100 บาท ซึ่งราคาปรับขึ้นเฉลี่ยถาดละ 6 บาท โดยราคาไข่ไก่ปีนี้เทียบกับช่วงเดียวกันเมื่อปีที่ผ่านมา พบว่าไข่ไก่มีราคาสูงขึ้นทุกเบอร์ๆ ละ 10 บาทต่อถาด
ส่วนตลาดสดในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา พบว่า มีการปรับขึ้นราคาขายไข่ไก่ปลีกอย่างต่อเนื่อง โดยขยับตัวสูงขึ้นอีกเบอร์ละ 10 -20 สตางค์ ราคาไข่ไก่เฉลี่ยตามตลาดสดต่างๆ ภายในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา เบอร์ 0 อยู่ที่ฟองละ 3.90 - 4 บาท , เบอร์ 1 ฟองละ 3.70 บาท , เบอร์ 2 ฟองละ 3.60 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ค่อนข้างสูง หากเทียบกับในช่วงที่มีปัญหาไข่ไก่ขาดตลาดในช่วงปีที่แล้ว
เช่นเดียวกันกับที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา พ่อค้าแม่ค้าตามร้านขายของชำในตลาดสดเทศบาลนครหาดใหญ่ บอกว่า ในรอบเดือนนี้ราคาไข่ไก่ปรับเพิ่มขึ้นแล้ว 3 ครั้ง ทำให้ราคาไข่ไก่เบอร์ 0 อยู่ที่แผงละ 120 บาท หรือฟองละ 4.20 บาท เบอร์ 1 แผงละ 115 บาท หรือ ฟองละ 4 บาท ส่งผลให้ยอดขายลดลง

การปรับขึ้นของราคาไข่ไก่และปริมาณไข่ไก่ที่ลดลง ทำให้ผู้ประกอบการร้านอาหารเริ่มประสบปัญหา โดยเฉพาะร้านจำหน่ายอาหารตามโรงเรียนที่ไม่สามารถขึ้นราคาค่าอาหารได้ บางรายหยุดนำไข่มาประกอบอาหาร

ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาบริโภคไข่ที่ลูกใหญ่ขึ้น เพราะมีราคาใกล้เคียงกับไข่ขนาดเล็ก แต่ให้ปริมาณของเนื้อไข่มากกว่า ร้านค้าย่อยที่รับไข่ไปขายต่อจึงสั่งซื้อไข่เบอร์ 0 และเบอร์ 1 มากกว่าไข่เบอร์อื่น โดยไข่เบอร์ 0 ร้านค้าย่อยจะขายใบละ 5 บาทเป็นอย่างต่ำ ส่วนร้านขายอาหารตามสั่ง ร้านข้าวแกง ยังใช้เบอร์ 2-3 เพื่อลดต้นทุน

วันนี้ ราคาไข่ดาว ขายกันในฟองละ 10 บาท เป็นที่เรียบร้อยแล้ว น้อยนักที่จะมีฟองละ 5 - 7 บาท ส่วนข้าวไข่เจียวคนจน ที่เคยขายกันริมถนน 10 บาท ทุกวันนี้หากินไม่มีแล้ว มีแต่ 20 บาทขึ้นไปทั้งนั้น

นี่เป็นความทุกข์ของประชาชนภายใต้การบริหารประเทศของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หลังจากที่ไพร่ฟ้าเพิ่งหน้าแห้งเหนี่ยวจากการปรับขึ้นราคาเครื่องแบบนักเรียนชาย-หญิง รับการเปิดเทอมไปหมาดๆ จากราคาที่เพิ่มขึ้นประมาณ 5-10 บาทต่อไซส์ทั้งเสื้อและกางเกง เนื่องจากต้นทุนค่าแรงที่เพิ่มขึ้น

เศรษฐกิจที่หมดแรงโด๊ปจากแคมเปญโปรโมชั่น กำลังจะดำดิ่งอย่างแรงโดยมีภาพสะท้อนจากการปั่นตลาดหุ้นและตลาดอสังหาริมทรัพย์ เข้ามาเป็นส่วนประกอบ ทำให้เกิดมีคำถามว่า นี่เป็นสัญญาณก่อนที่จะเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งซ้ำรอยหรือไม่

นอกจากนั้นแล้ว ปรากฏการณ์ทิ้งใบจองรถคันแรกยังเป็นดัชนีที่บ่งบอกว่า เศรษฐกิจไม่ได้อู้ฟู่อย่างที่คาดการณ์ไว้จริง

สำหรับตัวเลขคนจ่อทิ้งจองรถคันแรกนั้น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ชี้ว่า จากยอดจองรถตามนโยบายรถคันแรกของรัฐบาล จำนวน 1.2 ล้านคันนั้น อาจจะมีผู้สละสิทธิ์ 20 - 30% หรือประมาณ 200,000 - 360,000 คัน เนื่องจากบางครอบครัวจองไว้ 3 - 4 คัน สุดท้ายก็อาจเหลือเพียง 1 คัน เพราะหาเงินดาวน์ไม่ทัน ดังนั้นค่ายรถยนต์จึงจะยังไม่ปรับเป้าหมายการผลิตรถยนต์ในปีนี้จาก 2.5 ล้านคัน เป็น 2.8 ล้านคันตามที่สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สอศ.) ประเมินไว้ โดยจะขอรอดูสถานการณ์อีกครั้ง

การประเมินการทิ้งยอดจองและการสละสิทธิ์ขอคืนเงินรถยนต์คันแรก ซึ่งตอนนี้มีจำนวน 3,000 ราย นั้น นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต บอกว่า เป็นตัวเลขที่ไม่สูงหากเทียบกับยอดรวมกว่า 1.25 ล้านคัน ซึ่งก่อนหน้านี้ มีการประเมินการทิ้งใบจองจะมีไม่ถึง 2 แสนคัน

แคมเปญรถคันแรกที่ถูกทิ้งใบจองนั้น มีความหมายสะท้อนให้เห็นว่า ตัวเลขเศรษฐกิจที่ประเมินเอาไว้สูงเพราะการบริโภคในประเทศ การใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่เป็นผลมาจากการแห่จองรถคันแรกนั้น เป็นแต่เพียงฟองสบู่ที่แตกสลายหายไปในอากาศ และนั่นทำให้ตัวเลขการลงทุนโดยเฉพาะการขยายลงทุนของอุตสาหกรรมรถยนต์ ถูกกระชากลงมาอย่างเห็นได้ชัด ดังที่สภาพัฒน์ ได้แสดงตัวเลขเอาไว้

ก็ต้องรอดูกันว่าการปั่นเศรษฐกิจให้เติบโตแบบเทียมๆ แต่ประชาชนต้องเผชิญกับภาวะข้าวยากหมากแพง หนำซ้ำยังมีนายใหญ่แห่งดูไบและสาวกจ้องป่วนให้บ้านเมืองวุ่นวายจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายนิรโทษกรรม จะทำให้รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ มีอันเป็นไปเร็วเกินคาดหรือไม่


กำลังโหลดความคิดเห็น