xs
xsm
sm
md
lg

ไม่ไหวแล้ว! "ยุคปูแดง"..ของแพงทั้งแผ่นดิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในยุคที่เอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้ หลาย ๆ คนต้องเผชิญกับสภาวะขึ้น ๆ ลง ๆ ให้น่าปวดเศียรเวียนเกล้า อีกทั้งข้าวของก็ปรับราคาขึ้น ส่งผลให้ประชาชนจำนวนไม่น้อยเกิดความหวาดหวั่น และไม่ไว้ใจกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เป็นอยู่ตอนนี้ แม้จะมีการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ซึ่งดูเหมือนอะไร ๆ จะดีขึ้น แต่กลับทำให้ปวดใจ และปวดตับเข้าไปอีก เมื่อพบว่าค่าครองชีพมีแนวโน้มถีบตัวสูงขึ้นตามไปด้วย

ของแพง..ไม่แคร์ประชาชน

ผลกระทบขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ แง่หนึ่งอาจดูดี แต่ตอนนี้เริ่มพ่นพิษเข้าให้แล้ว เพราะคนไทยส่วนใหญ่กำลังอยู่ในสภาวะอ่วมอรทัย เนื่องจากมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นจากสินค้าราคาแพงขึ้น ส่วนรายได้มีแต่ทรงกับทรุด แม้ค่าแรงจะเขยิบเพดานขึ้นมา แต่กลับพบปัญหารายรับไม่พอกับค่าใช้จ่ายในหลายครัวเรือน

ส่วนราคาน้ำมันก็พุ่งแบบไม่เกรงอกเกรงใจคนมีรถ จนมีผู้ใช้รถยนต์ท่านหนึ่งบอกด้วยเสียงหดหู่ใจว่า "ประเทศไทยเป็นประเทศที่คนทนรับกรรมเก่งที่สุดในโลกแล้ว" เห็นได้จากความแตกต่างของราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ถือว่า ราคาน้ำมันในไทยแพงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกเลยก็ว่าได้

นี่ยังไม่นับรวมค่าโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสที่เล็งจะปรับขึ้นค่าโดยสารอีกในเดือนเมษายนนี้ หลังต้นทุนค่าแรง-ค่าไฟฟ้าพุ่ง ปัจจุบันเริ่มต้นที่ 15-55 บาท และมีช่องว่างปรับขึ้นได้อีก 25 % ทำให้หลายฝ่ายไม่เพียงแต่ปวดใจอย่างเดียว ยังปวดร้าวจนไม่ค่อยเชื่อมั่นคำพูดขายฝันของรัฐบาลชุดนี้กันแล้ว

"รัฐบาล จะรับปากทำไม ว่าจะให้ BTS 20 บาทตลอดสาย ถ้าทำไม่ได้ ก็อย่าพูดหลอกคนไปวันๆ"

"ขึ้นจากเดิมที่บริษัทมีเพดานค่าโดยสารอยู่ที่ 45 บาท แต่นั่งสุดสาย 55 บาทมา 2-3 เดือนแล้วนะ"

"ประเทศไทยเก่งเรื่องสร้างข่าวมาก อยากจะขึ้นราคาอะไรก็สร้างกันเข้าไป น้ำมันประเทศไทยก็ส่งออก แต่ต่างประเทศใช้น้ำมันถูกกว่า ก็ประโคมข่าวเรื่องพลังงาน และก็หาเรื่องขึ้น ๆ หาเงินแบบนี้ง่ายดี"

"เดี๋ยวนี้ค่าอาหารแพงขึ้นทุกวัน ข้าวแกงเดี๋ยวนี้เริ่มต้น 30 บาท อาหารธรรมดาบางเจ้ายัง 30 บาท แต่ส่วนใหญ่ก็ 35 บาทแล้ว ส่วนพ่อค้าแม่ค้า แม้ว่างานจะหนักและเหนื่อย แต่ก็ได้กำไรดีมากมาย ปรับราคาตลอด น้ำมันขึ้น ค่าแก๊สขึ้น ค่าแรงขึ้น ก็ปรับตาม แล้วปรับทีนึง 5 บาทขั้นต่ำ ไม่รวยไม่รู้ว่าไง (แต่ต้องทำอร่อยถูกปากด้วยนะ)"

แล้วแบบนี้จะไม่ให้คนไทยตกอยู่ในสภาวะ "อ่วมอรทัย" กันได้อย่างไร?

เมื่อเจาะลึกลงไปถึงราคาสินค้าทุกวันนี้ ก็ยิ่งพบความปวดใจเข้าไปอีก เมื่อทีมข่าว ASTV ผู้จัดการ Live ได้สำรวจภาวะราคาสินค้าตลาดสดในกทม.ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.พ.56 หลายแห่ง พบว่า สินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพของประชาชนหลายอย่างนั้น "สูงขึ้น" ถ้วนหน้า และสูงกว่า "ราคาแนะนำ" ของกรมการค้าภายในเสียอีก ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องที่คิดกันไปเอง แต่ราคาสินค้าและบริการต่าง ๆ แพงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

อาทิ เนื้อสุกร เนื้อแดง (สะโพก-ไหล่) และหมูสามชั้น ปัจจุบันอยู่ที่กิโลกรัมละประมาณ 134 บาท ขณะที่ราคาในเดือนม.ค. 2556 อยู่ที่ กก.ละประมาณ 129 บาท ซึ่งเพิ่มขึ้นประมาณ 5 บาท เช่นเดียวกับเนื้อวัวที่แพงขึ้นเช่นกัน ขณะที่เนื้อควาย ปัจจุบันมีราคาสูงถึงกิโลกรัมละประมาณ 172 บาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมในเดือน ม.ค.56 ประมาณ 5 บาทเช่นกัน

ส่วนผักก็มีราคาเพิ่มขึ้น อาทิ ผักบุ้ง ปัจจุบันอยู่ที่กิโลกรัมละประมาณ 17 บาท เพิ่มขึ้นจากเดือนม.ค.ประมาณ 1 บาท เช่นเดียวกับราคามะนาวที่เพิ่มขึ้น 1 บาท จากเดือนม.ค.อยู่ที่ประมาณลูกละ 2 บาท ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 3 บาทเกือบ 4 บาท ส่วนผักกวางตุ้งมีราคาสูงกว่าผักชนิดอื่น ๆ ปัจจุบันอยู่ที่กิโลกรัมละประมาณ 18 บาท ขณะที่ในเดือนม.ค.อยู่ที่กิโลกกรัมละประมาณ 10 บาทเท่านั้น

ทางฟากราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ในภาคครัวเรือน ในเดือนเมษายนปีนี้ อาจจะมีการปรับขึ้นราคาอีก 8.03 บาท/กก. ปัจจุบันอยู่ที่ 18.13 อาจเพิ่มเป็น 26.164 บาท/กก. กล่าวคือ บ้านไหนใช้ถัง 15 กิโลกรัม ซึ่งปัจจุบันขายอยู่ที่ถังละประมาณ 290 บาทในอนาคตอาจจะตกอยู่ที่ราคาถังละประมาณ 390 บาทเลยทีเดียว

รายได้ดีขึ้น แต่พอใจชีวิตลดลง?

สถานการณ์ที่เกิดขึ้น คงจะชี้ชัดได้ดีจากการสำรวจระดับชาติอย่าง "คนไทย มอนิเตอร์ ปี 2555" หลังจากทำการสำรวจเก็บข้อมูลที่ครอบคลุมคนไทย 100,000 คน ทั่วทั้ง 77 จังหวัด ในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2555 พบว่า คนไทยเห็นว่าคุณภาพชีวิตของตัวเองด้อยลงทั้ง ๆ ที่พอใจมากขึ้นกับปัจจัยทางเศรษฐกิจ เช่น รายได้ โดยผลการสำรวจระบุว่า ความพึงพอใจต่อรายได้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 68 เป็นร้อยละ 68.29 ขณะที่ความพึงพอใจต่อคุณภาพชีวิตโดยรวมลดลงจากร้อยละ 78.1 เป็นร้อยละ 74.1

"นั่นแสดงให้เห็นว่า รายได้สูงขึ้น ก็ใช่ว่าจะมีความสุข เพราะค่าครองชีพ และความกดดันก็สูงขึ้นตามไปด้วย" ศ.ดร.สุภางค์ จันทวานิช ศาสตราจารย์เกียรติคุณ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผย และให้มุมมองต่อไปว่า นโยบายประชานิยมที่มุ่งตอบสนองความต้องการเชิงวัตถุของประชาชนได้ก่อให้เกิดผลบวกต่อรัฐบาลในแง่คะแนนนิยม และต่อภาคธุรกิจในแง่ผลกำไร แต่ไม่ได้เกิดผลบวกอย่างแท้จริงต่อประชาชนในระยะยาว

เห็นได้จาก ในรอบปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย และเกษตรกรหลายอย่าง เช่น การกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท การรับจำนำข้าว และประกันราคาพืชผลอื่น ๆ การขยายโอกาสในการเข้าถึงระบบประกันสังคมของรัฐ นโยบายเหล่านี้น่าจะช่วยทำให้ผู้ที่อยู่ชายขอบ ได้แก่ ผู้มีรายได้น้อย และประชาชนในกลุ่มอื่น ๆ ได้รับผลทางบวก มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีความพึงพอใจกับชีวิตมากขึ้น

แต่เมื่อได้มีการสำรวจออกมา กลับตรงข้าม เมื่อพบว่า คนไทยมีความพึงพอใจกับชีวิตในครอบครัวน้อยลง ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับระดับความพึงพอใจ โดยเฉพาะปัจจัยด้านเศรษฐกิจไม่ได้เติบโตไปในทิศทางที่จะทำให้เกิดความเป็นปึกแผ่นในครอบครัว รายได้ยังไม่เพียงพอกับรายจ่าย ไม่มีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม หนี้สินพอกพูน

ด้วยเหตุนี้ คนไทยจึงตกอยู่ในระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ที่ภาระรับผิดชอบตกอยู่บนบ่าของประชาชน โดยรัฐอ้างว่าได้ช่วยเหลือแล้ว

"สถานการณ์เช่นนี้ไม่ต่างจากสมัยที่นายกรัฐมนตรีมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ของอังกฤษใช้นโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ ประชาชนที่อยู่ภายใต้นโยบายเช่นนี้ จะรู้สึกว่าประเทศชาติดูมั่งคั่งขึ้น แต่ผู้คนกลับจนลง เพราะรัฐผ่องถ่ายภาระรับผิดชอบต่าง ๆ มาให้ครอบครัวดูแลตัวเอง"

ยิ่งไปกว่านั้น คนส่วนใหญ่ยังเห็นว่าผลงานของรัฐบาลเป็นปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตของตัวเองน้อยมาก แสดงว่า ประชาชนยังไม่มีความตระหนักเกี่ยวกับนโยบายและปฏิบัติการของรัฐที่จะส่งผลต่อชีวิตของตัวเอง หรือประชาชนไม่คาดหวังว่ารัฐบาลจะทำอะไรเพื่อช่วยตนเองได้

ยุคนี้ ต้อง "พอเพียง" ถึงจะรอด!

ด้าน ธานินทร์ ผะเอม รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ เสนอมุมมองจากผลสำรวจเพิ่มเติืมว่า สังคมไทยต้องประยุกต์ใช้ปรัชญาของหลักเศรษฐกิจพอเพียงในระดับที่ลึกขึ้น

"แนวโน้มที่ระบบเศรษฐกิจและสังคมไทยจะมีความเชื่อมโยงกับโลกภายนอกมีมากขึ้น นับเป็นโอกาสที่จะใช้ศักยภาพที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์ ในขณะเดียวกันก็ต้องระมัดระวังผลกระทบเชิงลบที่เกิดขึ้นจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ดังนั้น ความสามารถที่จะเรียนรู้ปัจจัยหลักที่จะช่วยเพิ่มความสามารถในการปรับตัวเองให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะหลักปรัชญาเศรษฐกิจของในหลวงที่ได้พระราชทานให้ตั้งแต่เมื่อครั้งเกิดวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งในปี 2540 ได้มีการขับเคลื่อนเพื่อนำมาสู่การปฏิบัติในวงกว้างมากขึ้น ได้รับการยอมรับปรับใช้จากคนไทยกลุ่มต่าง ๆ ในภาวะโลกที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและส่งผลกระทบอย่างรุนแรงมากขึ้นต่อการดำเนินชีวิตของคนไทยโดยรวม

แนวโน้มดังกล่าวนี้ถือเป็นสัญญาณที่ดี และกล่าวได้ว่า บทเรียนนี้สามารถสรุปได้จากวิกฤตการณ์ทางการเงินดังกล่าวในปี 2540 และวิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์ในช่วง 2551-2552 ที่ประเทศไทยสามารถปรับตัวโดยเน้นการพึ่งพาตัวเองมากขึ้น ทำให้สามารถรอดพ้นจากวิกฤตการณ์ที่ผ่านเข้ามาได้เป็นอย่างดี

เมื่อเป็นเช่นนี้ รัฐบาลควรสร้างกระบวนการตลอดจนมาตรการที่สามารถเชื่อมต่อเพื่อให้ความสนับสนุนกลไกที่มีอยู่แล้วของภาคีการพัฒนาทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อให้การประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมีผลในทางปฏิบัติที่หยั่งลึกลงไปในชีวิตประจำวัน ธรรมเนียมปฏิบัติของชุมชน และวัฒนธรรมขององค์กร ซึ่งจะส่งผลในการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่สังคมไทย และความยั่งยืนในการพัฒนา"

ถึงตอนนี้ แม้ว่าปลัดกระทรวงพาณิชย์อย่าง วัชรี วิมุกตายน ได้ออกมาเปิดเผยถึงภาพรวมราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคในปี 2556 ว่า ไม่ต่างจากปีที่ผ่านมามากนัก แต่ ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กลับมองถึงการปรับขึ้นราคาค่าแรง 300 บาทว่า จะทำให้ราคาสินค้าขยับขึ้นในช่วงปลายไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 (ประมาณเดือนมีนาคม) โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคพื้นฐาน เช่น อาหาร ข้าว เนื้อสัตว์ เป็นต้น เนื่องจากผู้บริโภคมีกำลังซื้อมากขึ้น

ทั้งนี้ คาดว่าสินค้าประเภท ข้าว ธัญพืช มันสำปะหลัง ข้าวโพด จะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3-5 ผัก ผลไม้ ต้นทุนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2 ส่วนเนื้อหมู และไข่ไก่ ต้นทุนจะเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1 ขณะที่ สมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย บอกไว้เลยว่า ผู้บริโภคต้องทำใจยอมรับกับราคาสินค้าที่อาจขยับตัวสูงขึ้น และอาจต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยเพื่อควบคุมรายจ่ายที่มากขึ้น

สุดท้ายแล้ว คนไทยก็ยังคงหนีสภาวะ "อ่วมอรทัย" กับราคาสินค้าที่แพงขึ้นไปไม่ได้ วิธีที่ดีที่สุดคือ ควบคุมเงินในกระเป๋าสตางค์ของตัวเองไม่ให้รั่วไหลให้มากที่สุด ยิ่งในยุคของแพงตบหน้าแบบนี้ด้วยแล้ว ต้องฉลาดในการเลือกซื้อสินค้า และบริการต่าง ๆ อะไรที่สามารถควบคุม หรือช่วยลดรายจ่ายได้ก็ควรรีบคว้าเอาไว้ก่อน เช่น โปรโมชั่นลดราคาอาหาร สินค้า หรือบัตรโดยสารรถประจำทาง และรถไฟฟ้าแบบสุดคุ้ม เป็นต้น

////////////////////

อยู่ให้รอดในยุค "ของแพง"

- หมั่นเป็นคนไวต่อข่าวสารโปรโมชัน เช่น Ensogo.com

- หารายได้จากสิ่งที่ถนัด เช่น พิมพ์งาน ถักโครเชต์ ประดิษฐ์ของทำมือ

- เปิดขายเสื้อผ้า/ของใช้ที่ไม่ใช้ในโลกออนไลน์ หรือตลาดมือสอง

- โดยสารรถประจำทางสุดคุ้มด้วยบัตรรายสัปดาห์-รายเดือน

- ปลูกผักสวนครัวในบริเวณบ้าน

- ขับรถยนต์ให้น้อยลง

- ห่อข้าวมากินที่ทำงาน

- ออกกำลังกายที่บ้านแทนการไปเล่นที่ฟิตเนส

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE







กำลังโหลดความคิดเห็น