สภาอุตฯ-หอฯ ฟันธงปี 56! อุตสาหกรรมยานยนต์-ชิ้นส่วนยานยนต์สดใส ผลจากอานิสงส์รถคันแรกแรงข้ามปี ด้านการค้าชายแดนคึกคักต่อเนื่อง ขณะที่เอกชนพร้อมใจอัดรัฐบาลไม่วางแผน “สร้างทักษะคนก่อนขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน” ปัดเป็นภาระภาคธุรกิจ SMEs ดิ้นไม่ทันเตรียมเจ๊ง! หวั่นสินค้าเกษตร-อาหารราคาสูง เหตุนำพืชไปใช้ด้านพลังงาน และขาดการวางแผนระยะยาว ด้านรองประธานหอฯ ชี้ “ผู้นำ” ต้องมีวิสัยทัศน์ จึงจะนำพาประเทศสู่เป้าหมายได้
ภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว และการส่งออกถือเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะการส่งออกที่ไทยมีอัตราการพึ่งพาอยู่ในระดับสูง เมื่อมองภาพรวมของเศรษฐกิจโลกปีที่ผ่านมา จะพบว่าเป็นช่วงผลัดใบ มีความผันผวนสูง อีกทั้งมีการเลือกตั้งและการเปลี่ยนผู้นำในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศคู่ค้า ซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจของโลก อย่างอเมริกา, ญี่ปุ่น, จีน ฯลฯ หรืออย่างสหภาพพม่าเองก็มีสัญญาณการเปลี่ยนแปลงประเทศ หลังจากที่ปิดมายาวนาน
ขณะที่ประเทศไทยอยู่ในช่วงของการฟื้นฟูหลังน้ำท่วม และการเปลี่ยนแปลงภายใต้นโยบายของเพื่อไทย โดยเฉพาะนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน
ดังนั้น ในปี 2556 สถานการณ์เศรษฐกิจมีแนวโน้มที่ชัดเจนขึ้น หลังจากรัฐบาลใหม่ของหลายประเทศเดินหน้านโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศอย่างเต็มรูปแบบ ประกอบกับการเริ่มฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในทิศทางที่ดีขึ้นของยุโรป และอเมริกา ย่อมส่งผลกระทบให้อุตสาหกรรมการส่งออกของไทยตามไปด้วย
คาดปี 56 ส่งออกโต GDP ขึ้น 5%
“การค้าชายแดน” คึกคัก
โดยกระทรวงพาณิชย์ของไทยออกมากำหนดเป้าหมายของการขยายตัวการส่งออกปี 2556 โตขึ้น 8-9% หรือมูลค่า 250,410 ล้านเหรียญสหรัฐ และในส่วนของภาคเอกชน ผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย นำโดย นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้คาดการณ์เศรษฐกิจปีหน้าว่าจะคึกคักเติบโตได้มากกว่า 5% เมื่อเทียบกับปี 2555 และมองว่าปัจจัยที่จะช่วยส่งเสริมให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวธุรกิจในกลุ่มก่อสร้างและวัสดุก่อสร้าง ซึ่งมีผลมาจากการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐ การขยายโรงงานของภาคธุรกิจ และการสร้างที่อยู่อาศัย เป็นหลัก
ด้าน นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย มองภาพรวมเศรษฐกิจในปีหน้าว่า การเติบโตยังเห็นเป้าหมายไม่ชัดเจน แต่คาดว่าอยู่ที่ประมาณ 4-5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP : Gross Domestic Product) จากปี 2555 ส่วนการค้าระหว่างประเทศจะค่อนข้างซึม การนำเข้า ส่งออกจะไม่หวือหวามาก ต่างจากการค้าชายแดนจะมีแนวโน้มที่ดีเหมือนช่วงที่ผ่านมา และคาดว่าจะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
อีกทั้งเป้าหมายการขยายตัวการส่งออกตามที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งไว้ในปี 2556 จะโตขึ้น 8-9% มีโอกาสเป็นไปได้ แต่ไม่ใช่จะโตในธุรกิจทุกตัว และควรจะมีการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ
อย่างไรก็ดี การคาดการณ์ของสภาหอการค้าไทยและสภาอุตฯ มองตรงกันว่า การเติบโตในปี 2556 จะมาจากการลงทุนของภาครัฐฯ โดยเฉพาะโครงการน้ำ รวมถึงการขยายการลงทุน หรือการปรับปรุงของภาคเอกชน หลังประสบปัญหาน้ำท่วมที่ผ่านมา ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการบริโภคในประเทศเพิ่มมากขึ้น
ขณะที่ นายเจน นำชัยศิริ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) มองภาพในประเทศระยะสั้นว่า ผลจากนโยบายรถคันแรก บ้านหลังแรก จะยังเป็นตัวกระตุ้นการบริโภคในประเทศพอสมควร รวมถึงราคาพืชผลทางการเกษตร อย่างการจำนำข้าว แต่ก็ไม่รู้ว่าจะยั่งยืนหรือไม่
ฟันธง! อุตฯยานยนต์-ชิ้นส่วนยานยนต์สดใส
อย่างไรก็ตาม ภาคอุตสาหกรรมของไทยที่มีแนวโน้มจะเติบโตสูงในปีหน้า รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) บอกว่า อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ยังคงโตในปี 2556 จากอานิสงส์นโยบายรถคันแรกของรัฐบาล อีกทั้งนโยบายด้านภาษีที่ต้องการให้ลดการใช้เชื้อเพลิง สอดคล้องกับการผลิตรถ ECO CAR และคาดว่าจะส่งผลให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถประเภทนี้ในที่สุด
โดยในช่วงระยะเวลาประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา ภาคเอกชนได้ผ่านช่วงวิกฤตมาเยอะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของน้ำท่วม วิกฤตเศรษฐกิจยุโรป อเมริกา จึงต้องปรับตัว และจากการที่ต้องพึ่งพาตัวเองเป็นส่วนใหญ่ ส่งผลให้มีภูมิคุ้มกัน มีความเข้มแข็งมากขึ้น และในอนาคตที่มีการแข่งขันรุนแรงระหว่างประเทศมากขึ้น ภาคการค้า และอุตสาหกรรมจึงต้องปรับตัว ด้วยการเน้นผลิตสินค้าที่มีความโดดเด่น ต่างจากคู่แข่ง เอาใจลูกค้า สร้างพันธมิตร-เครือข่าย จนสามารถเพิ่มมูลค่าให้ลูกค้าได้ถึงจะอยู่รอด และสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้
ทั้งนี้ มองว่าอุตสาหกรรมที่น่าเป็นห่วงต่างดิ้นรน ย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่มีแรงงานจำนวนมาก และราคาค่าแรงไม่สูง จึงส่งผลให้ภาพรวมในปี 2556 ไม่ต่างจากปี 2555 มากนัก เช่น อุตสาหกรรมเครื่องนุ่มห่ม ส่วนปัญหาในการลงทุนของผู้ประกอบการชาวไทยในต่างแดนมักจะติดเรื่องของภาษา กฎระเบียบ การบริหาร ฯลฯ ดังนั้น หน่วยงานภาครัฐควรจะเป็นผู้นำ และให้ข้อมูลแก่ผู้ประกอบการ
นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล แสดงความคิดเห็นในทิศทางเดียวกันว่า อุตสาหกรรมรถยนต์จะเติบโต และส่งผลถึงอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์โตควบคู่กันไป ด้านการท่องเที่ยวจะมีทิศทางที่ดี ส่วนอุตสาหกรรมไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าจะไม่โตเท่าที่ควร
อัดรัฐไม่วางแผน แนะ “สร้างคนก่อนขึ้นค่าจ้าง”
ขณะเดียวกันปัญหาในการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน เป็นข้อโต้แย้งที่สำคัญ และเป็นกระแสในภาคธุรกิจ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก จนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ออกมาเรียกร้องให้เลื่อนการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวันออกไป เนื่องจากค่าแรงถือเป็นต้นทุน 1 ใน 3 ของสินค้า อีกทั้งหลายฝ่ายต่างกังวลถึงผลกระทบด้านราคาสินค้าที่อาจจะพุ่งสูงขึ้น และเกิดการเสียเปรียบในด้านการแข่งขันของไทยในระดับอาเซียนด้วย
นายเจน นำชัยศิริ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) บอกด้วยว่า กลุ่มธุรกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) จะเป็นกลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อนมาก เนื่องจากบางแห่ง บางจังหวัดมีอัตราจ้างเพียง 160 บาทต่อวัน ถ้าต้องปรับขึ้น 300 บาทต่อวัน ถือว่าเพิ่มขึ้นถึง 80% แต่หากภาครัฐฯ มีนโยบายในการช่วยเหลือเยียวยาที่เหมาะสม ก็จะส่งผลให้เอสเอ็มอีปรับตัวได้ และทำให้ยังคงศักยภาพในการแข่งขันระดับประเทศได้พอสมควร
ดังนั้น แม้ปัจจุบันจะยังไม่ได้เป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) อย่างเต็มรูปแบบ แต่ธุรกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมก็ได้รับผลจากสินค้าจีนอยู่แล้ว รวมถึงด้านการแข่งขัน การขาดแคลนแรงงานฝีมือ การศึกษาที่ไม่รองรับการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นด้านวิทยาการ เทคนิค ภาษา ซึ่งถือเป็นปัญหาที่ไม่อาจมองข้ามได้ และควรหาทางแก้ไขอย่างเร่งด่วน
ขณะที่รองประธานกรรมการหอการค้าไทย มองว่าหากค่าแรงเพิ่มสูงขึ้น ย่อมเป็นต้นทุน ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น แต่หากประสิทธิภาพคนในการทำงานยังคงเท่าเดิม ไม่สอดคล้องกับค่าแรงที่ปรับขึ้น ก็ต้องแก้ปัญหาโดยการลดต้นทุน อาจจำกัดจำนวนคนให้ทำงานเพิ่มขึ้น และหาวิธีการลดต้นทุนในด้านอื่นๆ หรือผลิตสินค้าให้มากขึ้น มิฉะนั้นธุรกิจจะไม่สามารถอยู่รอดได้ เพราะหากขึ้นราคาสินค้าก็อาจไม่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งในตลาดได้
“ธุรกิจที่ไม่สามารถลดต้นทุนได้ และเกิดภาวะการแข่งขันที่รุนแรง ไม่สามารถดิ้นรนได้ในปีหน้าก็จะเห็นการปิดกิจการลงพอสมควร ส่วนบริษัทที่มีกำลังในการย้ายฐานก็อาจย้ายฐานการลงทุนไปยังประเทศที่มีค่าแรงถูก และมีวัตถุดิบ แต่การจะย้ายไปต่างประเทศก็ยังมีเรื่องของคนในระดับบริหารด้วยว่าจะพร้อมย้ายหรือไม่”
อย่างไรก็ดี รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เห็นว่าการเพิ่มค่าแรงควรเพิ่มขึ้นตามทักษะ ความสามารถ หรือประสิทธิภาพที่สูงขึ้น มากกว่าแนวทางการเพิ่มรายได้ให้ก่อนโดยไม่ได้เพิ่มทักษะให้แก่แรงงานแต่อย่างใด เหมือนที่เป็นอยู่ขณะนี้ หรืออาจมองว่าไม่มีแผนในการรองรับ
โอดรัฐต้องเป็นเจ้าภาพนำเอกชน
หวั่นวิกฤต “ลอจิสติกส์-ไฟฟ้า”
ผลจากการขึ้นค่าแรงทำให้ภาคอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก ต้องเคลื่อนย้ายไปตั้งฐานการผลิตยังประเทศเพื่อบ้าน ที่มีค่าแรงไม่สูงมากนัก นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย บอกอีกว่า การเคลื่อนย้ายทุนปี 2556 ยังไม่ชัดเจน แม้ที่ผ่านมาบริษัทขนาดใหญ่มีการไปลงทุนยังต่างประเทศแล้ว แต่ก็ไปแบบเอกชน ทั้งๆ ที่ไทยมีเทคโนโลยีเพียงพอ แต่ขาดการสนับสนุนอย่างจริงจัง จึงอาจเสียเปรียบด้านการแข่งขัน ในส่วนของธุรกิจขนาดกลางจึงควรจับมือกับคู่ค้าอื่น และอยากให้รัฐบาลเป็นผู้นำ ให้ระดับรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี เป็นเจ้าภาพโครงการ ไม่ใช่ต่างคนต่างทำเหมือนที่ผ่านมา และควรวางแผน ดำเนินการร่วมกับเอกชน จึงจะทราบถึงปัญหาในการขับเคลื่อนอย่างแท้จริง และจะต้องเป็นการวางแผนแต่ละด้านแบบชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นด้านการเกษตร, พยาบาล, ท่องเที่ยว, การขนส่งทางรถ, การท่องเที่ยวทางรถ ฯลฯ เช่น จะมีการร่วมเดินทางไปพม่า 3 ครั้งในปีหน้า ในด้านการเกษตร เป็นต้น
“การย้ายฐานการลงทุน จะดูที่การผลิต เพื่อขายในประเทศ หรือผลิตส่งกลับมาประเทศไทย และส่งออกขายในหลายประเทศ”
รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุถึงปัญหาใหญ่ที่จะส่งผลให้ไทยเสียเปรียบในการแข่งขันระหว่างประเทศ ก็คือในเรื่องของต้นทุนด้านลอจิสติกส์ที่สูงกว่าประเทศอื่น และควรพัฒนาด้านการขนส่งทางราง และทางน้ำให้มีประสิทธิภาพ และต้นทุนที่ต่ำลง อีกหนึ่งปัจจัยที่มีความกังวลต่อภาคการค้า อุตสาหกรรมก็คือ เรื่องของไฟฟ้า หากไม่มีแนวทางในการวางแผนเรื่องพลังงาน อีก 2-3 ปีข้างหน้า หากยังไม่สามารถสร้างโรงไฟฟ้า หรือหาพลังงานเพื่อเตรียมรองรับ ก็อาจเกิดความไม่มั่นคงได้ ซึ่งประเทศไทยไม่ควรพึ่งพาเพื่อนบ้านมากเกินไป เพราะจะเป็นการลดขีดความสามารถของประเทศไทยลงไปทันที
หวั่นสินค้าเกษตรราคาสูง! รัฐฯไม่มีแผนรองรับ
นายพรศิลป์ระบุว่า รัฐควรวางแผนระยะยาวในภาคสินค้าทางการเกษตร และภาคการเกษตรทั้งระบบ เนื่องจากประเทศไทยมีศักยภาพ และมีพื้นที่ที่สามารถเพาะปลูกได้ แต่ขาดการวางแผน การพัฒนาที่ดี ควรทำในระดับนโยบาย วางเป้าหมายระดับประเทศอย่างเป็นระบบ ให้ความชัดเจนว่าจะปลูกพืชอะไรในอัตราส่วนเท่าไร เพื่อใช้ทำอะไร เช่น ปลูกพืช เพื่อนำไปใช้ด้านพลังงานเท่าไร พืชอะไรใช้เป็นอาหาร ควรปลูกมากน้อยแค่ไหน ฯลฯ
นอกจากนี้ควรเน้นการพัฒนากระบวนการผลิต ด้านเทคโนโลยี การวิจัย การพัฒนา การให้ความรู้ การผลิตที่มองถึงตลาด ฯลฯ และขับเคลื่อนให้ภาคการเกษตรออกมาในทิศทางเดียวกัน ให้มีประสิทธิภาพในการผลิตที่สูงขึ้น และต้องไม่ปล่อยให้เป็นเหมือนปัจจุบันที่ภาคการเกษตรกรรมของไทยทำการเพาะปลูกไปตามธรรมชาติ เมื่อชาวบ้านเห็นราคาพืชอะไรสูงก็หันไปปลูก ไม่มีการวางแผนในระดับนโยบาย เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดอย่างแท้จริง หลายครั้งจึงพบว่าพืชผลที่ผลิตออกมาล้นตลาด ต้องนำมาขายในราคาที่ขาดทุน ภาครัฐส่วนใหญ่จะแก้ปัญหาโดยการอุดหนุนเรื่องราคา ซึ่งอาจเป็นการแก้ไขเมื่อเกิดปัญหาขึ้นแล้ว แต่ไม่เป็นการวางแผนตั้งแต่ต้นทาง
“ขณะนี้ยังไม่เห็นนโยบายพลังงานที่ชัดเจน รวมถึงเรื่องของพืชเพื่อเป็นอาหาร และพืชที่ปลูกเพื่อนำไปใช้เป็นพลังงานทดแทน รัฐควรวางแผนระยะยาว 5-10 ปี กำหนดสัดส่วนในการปลูกว่าควรปลูกอะไร ในปริมาณเท่าไร ซึ่งหากปล่อยไปอย่างนี้จะเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก”
ดังนั้น จากการที่ประเทศไทยยังไม่มีการวางแผนด้านการผลิตทางการเกษตรอย่างแท้จริง จึงทำให้แนวโน้มราคาสินค้าไม่ถูกลงจากปีนี้ โดยเฉพาะสินค้าทางการเกษตรจะมีราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีการนำพืชผลที่ใช้เป็นอาหารไปใช้ในภาคพลังงาน อันเนื่องมาจากภาวะน้ำมันแพง และภาวะโลกร้อน
ทั้งนี้ หากไม่มีการวางแผนระดับนโยบายจะส่งผลให้การปลูกพืชเพื่อเป็นอาหารน้อยลง และนำไปใช้ด้านพลังงานมากขึ้น
ผู้นำประเทศต้องมีวิสัยทัศน์
นายพรศิลป์กล่าวทิ้งท้ายว่า แนวทางการขับเคลื่อนประเทศนั้น สิ่งสำคัญคือผู้นำจะต้องมองเห็นอนาคตของประเทศไทยให้ชัดว่า ในอีก 20 ปีจะเป็นอย่างไรในตลาดโลก ต้องมีวิสัยทัศน์จึงจะสามารถวางแผนระยะยาว เพื่อขับเคลื่อนประเทศให้ถึงเป้าหมายที่วางไว้ได้ ทั้งนี้ หากมองเป้าหมายได้ชัดเจนก็จะสามารถเดินได้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน ครบทั้งวงจร ตั้งแต่การผลิตบัณฑิต ระบบการศึกษา เพื่อรองรับตลาด ซึ่งจะไม่พบปัญหาที่ว่าเรียนมาไม่ตรงสายงาน หรือขาดแคลนแรงงาน, สินค้าล้นตลาด ขายไม่ได้, การกระจุกตัวของแรงงานในกรุงเทพฯ เป็นต้น ไม่อยากให้รัฐบาลทำงานเพื่อแก้ปัญหา แต่อยากให้วางแผนเดินหน้าประเทศ
“การขับเคลื่อนประเทศให้เดินหน้าต้องเกิดจากการพูดคุยถึงแนวทาง และปัญหา ทั้งภาคเอกชน และ NGO โดยให้ภาครัฐเป็นตัวเชื่อม ในการหาทางออก วางแผนประเทศ เพื่อช่วยกันขับเคลื่อนประเทศ ไม่ใช่ต่างคนต่างค้าน หรือเถียงกัน รวมถึงภาพรวมของประเทศในการทำงานควรพูดคุยไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ” นายพรศิลป์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ระบุ
สำหรับหอการค้าไทยในปี 2556 จะยึด 3 อย่าง ประกอบด้วย 1. การผลิตปลอดภัย มั่นคง คือ การผลิตที่มองถึงความมั่นคงของประเทศ 2. ยั่งยืน โดยการใส่ใจสิ่งแวดล้อม ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อความยั่งยืน ในมาตรฐานที่ดี 3.ปราบปรามคอร์รัปชัน โดยการดำเนินงานภายใต้ภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบ