xs
xsm
sm
md
lg

“คลัง” ปรับเพิ่มจีดีพีปีนี้เป็น 5.7% การบริโภค-การลงทุนยังเป็นปัจจัยหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สศค. ปรับเพิ่มจีดีพีปีนี้เป็น 5.7% จากเดิม 5.5% ส่วนปีหน้าปรับลดลงเหลือ 5.0% โดยการบริโภค และการลงทุนยังเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แนะจับตาความเสี่ยงปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยุโรป รวมทั้งการชะตัวของของเศรษฐกิจจีน และอินเดีย

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) แถลงประมาณการเศรษฐกิจไทย ณ เดือนธันวาคม 2555 โดยคาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2555 จะสามารถขยายตัวได้ 5.7% ปรับเพิ่มขึ้นจากการประมาณการเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ 5.5% เนื่องจากมีปัจจัยเสริมจากการบริโภค และการลงทุนที่ขยายตัวได้สูงเกินคาด ส่งผลให้เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ของปีขยายตัวได้สูงถึง 15%

“ปีนี้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ดี ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะฐานการขยายตัวที่ต่ำในปีก่อนหน้า แต่ปัจจัยหลักๆ มาจากการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ทำให้เงินในกระเป๋าประชาชนมีเพิ่มขึ้น และทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ขณะเดียวกัน การเบิกจ่ายของรัฐบาล และการลงทุนของภาคเอกชนก็ดีขึ้น”

ทั้งนี้ เครื่องชี้หนึ่งที่สะท้อนการบริโภคที่ดีขึ้น คือ ยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ขยายตัวดีมากในเดือนพฤศจิกายนถึง 29.7% ยอดการจำหน่ายรถยนต์นั่งยังขยายตัวได้สูงถึง 509% และยอดจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ขยายตัวกว่า 400% ขณะเดียวกัน มูลค่าการส่งออกก็สามารถขยายตัวได้ดีขึ้นที่ 20.9% สูงสุดในปีนี้ และนับเป็นสัญญาณที่ดีต่อเนื่องในปีหน้า ส่วนภาคการท่องเที่ยวก็ถือว่าเป็นพระเอกสำหรับเศรษฐกิจไทยปีนี้เช่นกัน โดยคาดว่า ทั้งปีจำนวนนักท่องเที่ยวจะมีถึง 22 ล้านคน

“ภาพรวมการส่งออกในปีนี้ชะลอตัวลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ประกอบกับความล่าช้าในการฟื้นตัวของภาคการผลิตอุตสาหกรรมเพื่อส่งออกในบางสาขา โดย สศค.ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของการส่งออกในปีนี้เหลือ 3.9% จากเดิมคาดโต 4.5%”

ส่วนการขยายตัวเศรษฐกิจในปี 2556 นั้น สศค.ประเมินว่า จะสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง และจะสะท้อนศักยภาพของเศรษฐกิจไทย โดยคาดการณ์ว่า จะขยายตัวที่ 5% จากเดิม 5.2% ปัจจัยหลักที่ช่วยขับเคลื่อนยังเป็นการบริโภค และการลงทุนของภาคเอกชน โดยได้รับแรงหนุนจากมาตรการของรัฐบาล ทั้งจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ การปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคล และการลงทุนของรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดจากประเด็นความกังวลในการแก้ปัญหาหน้าผาทางการคลังของสหรัฐฯ (Fiscal Cliff) ปัญหาหนี้สาธารณะของกลุ่มประเทศยูโรโซน และการชะลอตัวของของเศรษฐกิจจีน และอินเดีย

นายบุญชัย จรัสแสงสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สศค. กล่าวว่า การบริโภค และการลงทุนภาคเอกชนยังคงขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง สะท้อนจากยอดจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ 0.6% เช่นเดียวกับการลงทุนภาคเอกชนที่ยังคงขยายตัวในเกณฑ์ดี สะท้อนจากภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ขยายตัว 8.9% ซึ่งปรับตัวดีขึ้นตามความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคมีแนวโน้มที่ฟื้นตัว

นอกจากนี้ การส่งออกขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นอยู่ที่ 3.1% โดยตลาดส่งออกหลักที่กลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน อาเซียน-9 และออสเตรเลีย โดยขยายตัว 2.4% 2.6% และ 11.2% ตามลำดับ เช่นเดียวกับภาคการผลิตอุตสาหกรรม มีสัญญาณของการขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนจากเดือนก่อนหน้า 8.0% โดยกลุ่มที่มีการขยายตัวได้ดี ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทแอร์ ตู้เย็น พัดลม ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีมากต่อทิศทางของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น