xs
xsm
sm
md
lg

ส.อ.ท. เผย 7 แนวทางช่วยเอสเอ็มอีลดกระทบค่าแรง 300 บาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พยุงศักดิ์  ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
ส.อ.ท.เผยผลประชุม กกร.ลงมติ 7 แนวทางลดผลกระทบค่าแรง 300 บาท ชูแนวคิดหลักช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอันดับแรก

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เห็นชอบเสนอรัฐบาลพิจารณา 7 แนวทาง ลดผลกระทบจากการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ โดยเน้นช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเป็นหลัก

ทั้งนี้ 7 แนวทางลดผลกระทบการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ ประกอบด้วย 1. ลดส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ทั้งนายจ้าง ลูกจ้าง จากร้อยละ 5 เหลือร้อยละ 2.5 ระยะเวลา 3 ปี 2. ตั้งกองทุนชดเชยส่วนต่างค่าจ้างที่ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 300 บาท โดยขอให้รัฐบาลส่งสมทบเข้ากองทุนร้อยละ 75 นายจ้างร้อยละ 25 ในปี 2556 ปี 2557 นายจ้างร้อยละ 50 รัฐบาลร้อยละ 50 ปี 2558 นายจ้างร้อยละ 75 รัฐบาลร้อยละ 25 ในปีถัดไปนายจ้างจ่ายเงินเข้ากองทุนเต็มร้อยละ 100 เพื่อช่วยเหลือธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการใช้แรงงานจำนวนมาก 3. การปรับลดภาษีหัก ณ ที่จ่ายของธุรกิจรับเหมาช่วงจากร้อยละ 3 เหลือร้อยละ 0.1

4. การปรับลดค่าน้ำประปา ไฟฟ้า ลงร้อยละ 50 เป็นเวลา 3 ปี 5. ปรับลดค่าธรรมเนียมห้องพักสำหรับธุรกิจโรงแรม รีสอร์ต ที่มีจำนวนพนักงานไม่เกิน 200 คน ปรับลดค่าธรรมเนียมร้อยละ 50 เป็นเวลา 3 ปี 6. ขยายเวลาสินเชื่อเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต วงเงิน 20,000 ล้านบาท เพื่อให้เอสเอ็มอีใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพของกิจการ ลดผลกระทบจากการปรับค่าแรงเพื่อขยายเวลาสินเชื่อดังกล่าวออกไปอีก 3 ปีนับจากปี 2556 และ 7. ให้เอสเอ็มอีขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มระยะเวลา 3 ปี เพราะการลดภาระภาษีดังกล่าวจะทำให้มีทุนหมุนเวียนเพิ่ม

สำหรับแนวทางทั้งหมดทางภาครัฐและเอกชนจะหารือร่วมกันเพื่อให้ได้ข้อสรุปภายในสัปดาห์นี้ เพื่อให้ขั้นตอนทั้งหมดเริ่มใช้ได้ทันเดือนมกราคม 2556 และการขยายเวลามาตรการดังกล่าวเป็นระยะเวลา 3 ปี เพื่อให้ผู้ประกอบการปรับตัวได้ทันรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) และสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ
กำลังโหลดความคิดเห็น