xs
xsm
sm
md
lg

เอกชนจี้รัฐรับผิดชอบผลกระทบหลัง ครม.ฉลุยขึ้นค่าแรง 300 บาท/วันทั่วประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอกชนหมดหวังหลัง ครม.ฉลุยขึ้นค่าแรง 300 บาท/วันทั่วประเทศ จี้รัฐเร่งออกมาตรการเยียวยาหากเกิดผลกระทบต้องรับผิดชอบ ลั่นเตรียมรับมือราคาสินค้า เอสเอ็มอีเจ๊งแน่ แถมโรงงานจะหันมาตั้งในจังหวัดที่ใกล้ระบบขนส่งกระจุกตัวกรุงเทพฯ-ชลบุรี-ระยองมากขึ้น

นายสมมาต ขุนเศษฐ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า มติ ครม.วันที่ 20 พ.ย.ได้เห็นชอบการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท/วันทั่วประเทศ มีผล 1 ม.ค. 56 แล้ว ขณะที่มาตรการช่วยเหลือเยียวยาผลกระทบกลับยังไม่มี เอกชนคงต้องยอมรับแต่ก็ยังหวังว่าจะมีทางออกที่จะหารือร่วมกับภาครัฐบาลอีก

ทั้งนี้ คงต้องหาโอกาสที่จะหารือกับนายกรัฐมนตรีในเรื่องมาตรการเยียวยาเพราะสิ่งที่เป็นห่วงคือเอสเอ็มอีที่เฉลี่ยมีกำไรไม่เกิน 5% ของยอดขายแต่ค่าแรงที่ขึ้นมามากกว่ากำไรที่เอสเอ็มอีได้รับโอกาสจะทำให้ปิดกิจการจะมีมาก และอีกส่วนหนึ่งก็จะผลักภาระไปยังราคาสินค้า ที่สุดประชาชนจะเดือดร้อน ขณะเดียวกัน โรงงานต่อไปก็จะเลือกตั้งหรือย้ายเข้ามายังเขต กทม. ปริมณฑล ชลบุรี ระยอง เพราะอยู่ใกล้ระบบขนส่งซึ่งจะทำให้มีต้นทุนต่ำกว่าไปอยู่ต่างจังหวัด

นายวัลลภ วิตนากร รองประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า หากรัฐบาลไม่ช่วยเหลือ ไม่พิจารณาตามข้อเสนอของเอกชน หลังจากวันที่ 1 มกราคม 2556 รัฐบาลต้องรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น เชื่อว่าเอสเอ็มอีจะเกิดปัญหาหนี้เสียส่งผลกระทบต่อแรงงานทั้งระบบ

น.ส.เพชรรัตน์ เอกแสงกุล รองประธานสายงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า ได้หารือกับกลุ่มอุตฯ ส.อ.ท.ที่มาหารือ 39 กลุ่มจาก 42 กลุ่มเกี่ยวกับประเด็นขึ้นค่าแรง 300 บาท/วันทั่วประเทศ ซึ่งเห็นว่าคงจะไปเปลี่ยนนโยบายภาครัฐได้ยากแต่ต้องการให้รัฐบาลหันมาสนใจมาตรการเยียวยาที่จะลดผลกระทบ เพราะ 27 มาตรการที่รัฐเสนอมานั้นส่วนใหญ่ไม่ได้ผลในทางปฏิบัติหรือช่วยลดผลกระทบได้น้อยมาก จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนซึ่งจำเป็นต้องหารือร่วมกันกับภาครัฐ

“เรื่องนี้เป็นสามัญสำนึกที่รัฐบาลต้องเข้าใจว่าเดิมค่าแรงแต่ละจังหวัดไม่เท่ากัน เมื่อขึ้นให้เท่ากันทั่วประเทศยังไงก็ไม่เท่ากันอยู่ดี เพราะต่างจังหวัดจะรับภาระค่าขนส่งที่สูงขึ้น” น.ส.เพชรรัตน์กล่าว

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวหลังการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อนำเสนอแนวทางให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงงาน 300 บาททั่วประเทศว่า ที่ประชุมได้สรุปข้อเสนอต่อรัฐบาลนอกเหนือจากข้อเสนอที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ในการเยียวยาผลกระทบ เช่น ขอให้จัดตั้งกองทุนการจ่ายชดเชยส่วนต่างค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นให้ผู้ประกอบการ มาตรการลดภาระต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินสด คืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ให้เอสเอ็มอีทันที 3 ปี และลดภาษีที่ดิน ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีโรงเรือน 50% เป็นเวลา 3 ปี เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น