xs
xsm
sm
md
lg

ตัวแทนแรงงานเผยพอใจค่าแรง 300 แต่ค่าครองชีพพุ่ง วอนรัฐคุมราคาสินค้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจากแฟ้ม
การประชุม กมธ.แรงงาน ถกลูกจ้างปัญหาค่าแรง 300 บาท ปธ.สภาองค์กรลูกจ้างฯ เผยแรงงานพอใจ ร้องรัฐบาลสกัดต่างด้าวทะลัก พร้อมคุมราคาสินค้า ด้าน ปธ.คสรท.อ้างแรงงานใช้จ่ายคนละ 421 บาท เพิ่มขึ้นจากปี 54 เพียง 348 บาท เพราะค่าครองชีพสูงขึ้น วอนคุมราคาสินค้า เผยมีเรื่องร้องเรียนทั้งนายจ้างหยิบสวัสดิการมาคำนวณ ไม่ขึ้นค่าแรงพร้อมข่มขู่ลูกจ้าง ไม่จ่ายค่าชดเชยเมื่อโรงงานปิด

วันนี้ (30 ม.ค.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 13.30 น. มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) แรงงาน สภาผู้แทนราษฎร มีนายนิทัศน์ ศรีนนท์ ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย เป็นประธานในที่ประชุมมีการพิจารณาเรื่องมาตรการช่วยเหลือเยียวยาสถานประกอบการและกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ซึ่งได้รับผลกระทบการปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเป็น 300 บาท โดยเชิญนายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) มาชี้แจง

นายมนัสกล่าวว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท สร้างความพอใจให้กับแรงงาน แต่ขณะเดียวกันก็สร้างผลกระทบต่อผู้ประกอบการ ​ทั้งเรื่องการปิดตัวของโรงงาน แต่ไม่ใช่ผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงเพียงอย่างเดียว แต่มาจากผลกระทบจากน้ำท่วมปี 54 ไปจนถึงการไม่มีคำสั่งซื้อด้วย และยังส่งผลกระทบทำให้เกิดแรงงานต่างด้าวโดยเฉพาะกัมพูชา พม่า ลาว ทะลักเข้ามาในไทยเพิ่มขึ้น จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลมีมาตรการป้องกันไม่ให้แรงงานต่างด้าวทะลักเข้ามาในประเทศ นอกจากนี้ยังพบว่ามีบางโรงงานใช้วิธีลดค่ากะ ลดเบี้ยเลี้ยง เพื่อนำไปนับรวมเป็นค่าแรง 300 บาท ​ จึงอยากให้รัฐบาลควบคุมราคาสินค้าไม่ให้เพิ่มสูงขึ้น

ด้านนายชาลีกล่าวว่า ​ในปี 2554 เคยทำการสำรวจค่าใช้จ่ายของแรงงาน โดยเฉลี่ยจะอยู่คนละ 348 บาท ซึ่งการขึ้นค่าแรง 300 บาท แม้จะดีขึ้นแต่ก็ยังไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่แท้จริง เพราะค่าครองชีพสูงขึ้น ผลสำรวจล่าสุดพบว่าค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของแรงงานอยู่ที่ 421 บาท เพิ่มสูงขึ้น 32% ถามว่าพอใจหรือไม่ ก็ต้องบอกว่า “พอใจ” แต่ก็ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นด้วย จึงอยากให้รัฐบาลช่วยควบคุมดูแลราคาสินค้า โดยเฉพาะตัวแปรสำคัญ คือ ค่าแก๊สหุงต้ม และน้ำมันที่กระทบต่อราคาสินค้าอื่นๆ

นายชาลีกล่าวต่อว่า การขึ้นค่าแรงมีทั้งผลบวกและผลลบ ซึ่งหลังจากขึ้นค่าแรกล็อตแรก 7 จังหวัด ทำให้คนตกงานเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.5% เป็น 0.6% เพราะส่วนใหญ่เป็นจังหวัดที่มีบริษัทขนาดใหญ่ แต่ก็มีเรื่องร้องเรียนเข้ามายังคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย 83 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องนำสวัสดิการ ค่าอาหาร ค่ารถนำมาคำนวณเป็นค่าแรงใน 300 บาท และบางโรงงานก็ไม่ขึ้นค่าแรงตามที่กำหนด โดยข่มขู่ลูกจ้างไม่ให้ไปฟ้องร้อง ไม่เช่นนั้นจะถูกปลดออกจากงาน จึงอยากให้ไปสำรวจทุกบริษัทกว่า 4 แสนแห่งทั่วประเทศว่าขึ้นค่าแรง 300 บาทจริงหรือไม่

นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องลูกจ้างเข้าใหม่ 1 เดือนได้ค่าแรงเท่ากับลูกจ้างที่อยู่มาแล้ว 7-8 ปี บางทีคนเป็นหัวหน้าได้เงินน้อยกว่า หรือเท่ากับลูกจ้างเข้าใหม่ ที่สร้างปัญหาในการบริหารงาน ​หรือมีช่องว่าเรื่องพนักงานที่เหมาช่วงค่าแรง จะไม่ได้รับการปรับขึ้นค่าแรงในส่วนนี้ด้วย ในขณะที่โรงงานซึ่งปิดตัว บางครั้งก็ไม่ได้จ่ายค่าชดเชยให้ตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งอยากเรียกร้องให้กระทรวงแรงงานตั้งกองทุนขึ้นมา จ่ายเงินชดเชยให้กับแรงงานที่ไม่ได้รับค่าชดเชยก่อน หลังจากนั้นเมื่อทางโรงงงานจ่ายเงินมาแล้วก็นำไปใช้คืนกองทุน เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนของผู้ใช้แรงงงาน


กำลังโหลดความคิดเห็น