xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ยุทธการ “ดับไฟใต้” ใต้เงา “มาบตาพุด 2”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตาราง 1
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์- ภายหลังจากที่เกิดปรากฏการณ์ “อังคารดับ” ขึ้นตลอดแผ่นดินด้านขวาน ตั้งแต่เวลาประมาณ 18.52 น. ของคืนวันที่ 21 พฤษภาคมที่ผ่านมา ผู้นำรัฐบาลและเครือข่ายก็ชักแถวออกมาให้ข้อมูลในท่วงทำนองเดียวกันว่า สาเหตุหลักๆ ที่เกิดไฟฟ้าดับอย่างทั่วถึงใน 14 จังหวัดภาคใต้ รวมทั้งบางส่วนของ จ.ประจวบคีรีขันธ์และ จ.ราชบุรี เป็นผลมาจากปริมาณการใช้ไฟฟ้ามีมากเกินกว่าที่ผลิตได้ในพื้นที่ ทำให้ต้องมีการส่งไฟฟ้าจากภาคกลางไปช่วยสนับสนุน แต่เมื่อสายส่งมีปัญหาจึงเกิดล่มไปทั้งระบบ

จากปรากฏการณ์นี้จึงเป็นเงื่อนไขว่า นับแต่นี้เป็นต้นไปรัฐบาลจึงจำเป็นต้องเร่งลัดผลักดันให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เดินหน้าก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ขึ้นในภาคใต้ตามแผนที่วางไว้ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาปริมาณไฟฟ้าไม่เพียงพอในพื้นที่ภาคใต้โดยเร็วที่สุด

แท้จริงแล้วเรื่องนี้ไม่น่าแปลกใจอะไรเลย เพราะรัฐบาลภายใต้ปีกโอบของระบอบทักษิณมีแผนเดินหน้าผลักดันให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ของภาคใต้มาโดยตลอด เคยมีการวางแผนไว้คร่าวๆ ว่าถ้าเป็นไปได้จะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 3-5 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน และโรงไฟฟ้าถ่านหินอีกอย่างน้อย 4-5 แห่งได้แก่ที่ จ.กระบี่ 1 แห่ง จ.ตรัง 1 แห่งที่ อ.กันตัง จ.สงขลา 1 แห่งที่ อ.สะบ้าย้อย และ จ.นครศรีธรรมราช 2 แห่งที่ อ.ท่าศาลา กับ อ.หัวไทร โดยยังไม่นับรวมที่กำลังเร่งก่อสร้างอยู่คือ โรงไฟฟ้าจากพลังงานก๊าซแห่งที่ 2 ที่ อ.จะนะ จ.สงขลา

แม้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีหุ้นเชิดของพี่ชายนักโทษหนีคุกทักษิณ ชินวัตร จะพยายามบ่ายเบี่ยงไม่ตอบคำถามผู้สื่อข่าวแบบตรงๆ ที่ถามว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะเป็นการสร้างความชอบธรรมในเรื่องการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มหรือไม่ โดยอ้อมไปพูดแบบหลบเลี่ยงการถูกต่อต้านแบบทำให้เข้าใจได้บ้าง ไม่ได้บ้างว่า ถ้าไม่ทำตามแผนที่วางไว้เลย โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ก็จะเกิดปัญหานี้ขึ้นได้อีก

“เรื่องนี้เรียนว่า เราต้องขอความร่วมมือกันมากกว่า เพราะเราต้องมีเรื่องของพลังงาน เรื่องของไฟฟ้าที่จะเอามาใช้งาน จะเป็นวิธีไหนคงต้องช่วยกันดูว่าวิธีไหนที่จะมีผลกระทบน้อยที่สุด ร่วมถึงการไปดูแลชุมชนในบริเวณนั้น ระยะยาวคงต้องคุยตรงนี้ เพราะปริมาณเครื่องใช้ไฟฟ้า ในแง่ของการเจริญเติบโต การรองรับนักท่องเที่ยวก็จะสูงขึ้น ก็ต้องพูดคุยกันให้ไฟฟ้ากับปริมาณการใช้งานสัมพันธ์กัน”นายกรัฐมนตรีแสดงความคิดเห็น

ขณะที่การออกมาชี้แจงของผู้ที่เกี่ยวข้องภายใต้การนำของนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน คนสนิทของนักโทษหนีคุกทักษิณ ชินวัตร ไล่เรียงไปตั้งแต่นายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) นายพงษ์ดิษฐ พจนา รองผู้ว่าฯ กฟผ. นายชนินทร์ เชาว์นิริติศัย ผู้ช่วยผู้ว่าการควบคุมระบบกำลังไฟฟ้า กฟผ. นายณัฐวุฒิ ผลประเสริฐ หัวหน้ากองวางแผนปฏิบัติการผลิตไฟฟ้า ฝ่ายควบคุมระบบกำลังไฟฟ้า กฟผ. และนายวรพจน์ อินทร์ทอง ผู้อำนวยการปฏิบัติการภาคใต้ ศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าภาคใต้ กฟผ. ทุกคนต่างให้ข้อมูลที่สอดรับและส่งเสริมซึ่งกันและกัน

“สาเหตุที่ไฟดับในพื้นที่ภาคใต้ 14จังหวัดเมื่อวันที่ 21 พ.ค.เมื่อเวลา 18.52 น. เนื่องจากสายส่งไฟฟ้าแรงสูงเชื่อมโยงจากภาคกลางไปสู่ภาคใต้ช่วงจอมบึง-บางสะพาน 2 ขัดข้องทำให้ไม่สามารถจ่ายไฟไปสู่ภาคใต้ได้ โดยสายส่งไปใต้มี 4 เส้นคือ แรงดัน 500 Kv 2 เส้น และ 230 Kv 2เส้น โดยเวลา 8.00 น.ของวันเกิดเหตุกฟผ.ไปปลดสายส่ง 500 Kv 1 เส้นเพื่อซ่อมบำรุง แต่เวลา 17.26 น.สายส่ง 500 Kv เส้นที่ 2 เกิดชำรุดเนื่องจากฟ้าผ่า ทำให้ไม่สามารถจ่ายไฟไปยังภาคใต้ได้ จึงจำเป็นต้องจ่ายไฟผ่านเส้น 230 Kv ซึ่งมีแรงดันต่ำและเล็กกว่าจึงทำให้สายส่งจ่ายไฟ เกินกำลังจึงทำให้สายส่งหลุดจากระบบ”

“ประกอบกับภาคใต้ไม่สามารถผลิตไฟได้เพียงพอกับความต้องการต้องส่งไปยังภาคกลางอยู่แล้ว โดยภาคใต้มีความต้องการสูงถึง 2,200 เมกะวัตต์ขณะที่โรงไฟฟ้าภาคใต้ขณะนั้นเดินเครื่องผลิตอยู่ 1,600 เมกะวัตต์ทำให้โรงไฟฟ้าอื่นในภาคใต้อาทิ โรงไฟฟ้าขนอม จะนะ เขื่อนรัชประภา ถูกปลดออกจากระบบโดยอัตโนมัติเพื่อความปลอดภัยของโรงไฟฟ้า”นายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าฯ กฟผ.อธิบายปัญหาที่เกิดขึ้น

ประเด็นที่ฝ่ายผู้นำรัฐบาลและ กฟผ.พยายามหยิบยกมาเป็นเรื่องหลักในการอธิบายปัญหาไฟฟ้าดับทั่วภาคใต้ ซึ่งประวัติศาสตร์ชาติไทยต้องจารจดไว้เป็นอีกเหตุการณ์สำคัญหนึ่ง นอกจากการพยายามปัดไปให้เป็นเรื่องฟ้าผ่าที่ไม่มีใครสามารถควบคุมได้ และอำนาจการตัดสินใจของที่ยังไม่ลงตัวและไม่เป็นเอกภาพแล้ว สิ่งที่ถูกให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษคือ ปัจจุบันโรงไฟฟ้าในภาคใต้ผลิตไฟได้เพียง 1,600 เมกะวัตต์ แต่ความต้องการใช้ไฟฟ้ามีถึง 2,200 เมกกะวัตต์ ที่ยังขาดอยู่จึงต้องพึ่งพาไฟฟ้าที่ส่งไปจากภาคกลางและจากมาเลเซียอีกบางส่วน ซึ่งนำไปสู่การสนับสนุนให้ต้องเร่งก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ในภาคใต้เพิ่มขึ้นนั่นเอง

พลันที่คำชี้แจงเหล่านี้ถูกเผยแพร่ก็ตามมาด้วยคำถามมากมาย รวมถึงมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ขรมทั้งจากนักการเมืองฝ่ายค้าน นักวิชาการ นักธุรกิจ นักลงทุน เอ็นจีโอ นักเคลื่อนไหว รวมถึงประชาชนกลุ่มที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าของ กฟผ.ในภาคใต้

“เหตุการณ์ไฟฟ้าดับทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้สร้างความเสียหายชนิดประเมินค่าไม่ได้แก่ภาคธุรกิจ การค้าและการลงทุนในพื้นที่ โดยเฉพาะทำให้นักท่องเที่ยวขาดความเชื่อมั่น มีประชาชนตั้งคำถามว่าโรงไฟฟ้าจะนะ จ.สงขลา โรงไฟฟ้าลิกไนต์ จ.กระบี่ โรงไฟฟ้าขนอม จ.นครศรีธรรมราช โรงไฟฟ้าเขื่อนรัชประภา จ.สุราษฎร์ธานี และโรงไฟฟ้าเขื่อนบางลาง จ.ยะลา ไม่ช่วยอะไรในภาวะวิกฤตได้เลยหรือ เรื่องนี้การไฟฟ้าต้องปรับโครงสร้างที่เป็นจุดอ่อน เพราะเกิดสายไฟขัดข้องที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์จุดเดียวไฟฟ้าดับทั้งภาคใต้” ดร.สุรชัย จิตภักดีบดินทร์ ประธานที่ปรึกษาหอการค้า จ.สงขลา ตั้งคำถามถึงผู้เกี่ยวข้อง

ข้อสังเกตดังกล่าวข้างต้นคือคำถามที่ กฟผ.ยังไม่สามารถอธิบายให้กระจ่างได้ว่า ทำไมในช่วงที่สายส่งแรงดันสูงมีปัญหา ทำไมโรงไฟฟ้าในภาคใต้เหล่านี้ถึงหยุดจ่ายไฟตามไปด้วย ทั้งๆ ที่ไม่ควรจะเป็นเช่นนั้น และการที่เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นก็ย่อมสะท้อนให้เห็นชัดจนว่า การทำงานของ กฟผ.มีปัญหาอย่างยิ่ง เพราะต้องไม่ลืมว่า ข้ออ้างที่ว่าภาคใต้ใช้ไฟเกินกำลังผลิตจนต้องดึงไฟจากราชบุรีมาใช้นั้น ความจริงแล้วเกินมาไม่มากนัก แต่กลับทำให้โรงงานไฟฟ้าต่างๆ ที่มีอยู่ในภาคใต้และเป็นโรงไฟฟ้าที่จ่ายไฟหลักให้ต้องปิดตัวตามไปด้วย

ปัญหาอยู่ที่ระบบหรือปัญหาอยู่ที่บุคลากรของ กฟผ.

และถ้าเป็นเช่นนั้น จะต้องมีผู้รับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานหรือกฟผ.
ด้านนายนิพนธ์ บุญญามณี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ให้ความเห็นว่า การที่ไฟฟ้าดับทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ เป็นเหตุการณ์ที่ไม่ธรรมดา สร้างความเสียหายให้แก่ธุรกิจการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมที่ประเมินความเสียหายไม่ได้ โดยเฉพาะความรู้สึกที่ไม่ดีที่ติดในใจไปนาน เพราะไฟฟ้าเกิดปัญหาที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์เพียงจุดเดียว การไฟฟ้าต้องมีการทบทวนและปรับปรุงแก้ไข แล้วโรงไฟฟ้าที่มีทั่วภาคใต้และจากมาเลเซียช่วยอะไรไม่ได้เลยหรือ ตนจะยื่นกระทู้สดถามรัฐบาล หากคิดจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ภาคใต้เพียงจุดเดียว

ขณะที่ ดร.เดชรัตน์ สุขกำเนิด นักวิชาการจากรั้วมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชี้ว่า ไฟฟ้าดับไม่ใช่เพราะไฟฟ้าขาด รัฐบาลนำข้อมูลจริงมาพูดกัน รัฐมนตรีพลังงานอย่าเบี่ยงประเด็น พร้อมให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันมีกำลังการผลิตไฟฟ้าในภาคใต้รวม 2,494 เมกะวัตต์ เมื่อเทียบกับความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในภาคใต้ประมาณ 2,400 เมกกะวัตต์ ถือว่าภาคใต้มีการผลิตที่เพียงพอและไม่ขาดแคลนแต่อย่างใด (ดูตาราง 1)

นอกจากนี้แล้วยังมีข้อมูลของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน ระบุในรายงาน “ไฟฟ้าประเทศไทยปี 2554” ด้วยว่า กำลังผลิตติดตั้งของทั้งประเทศ โดยแยกเป็นรายภาค พบว่า ตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา ภาคใต้มีกำลังผลิตติดตั้งของโรงไฟฟ้าเกินกว่า 2,400 เมกกะวัตต์ โดยในปี 2554 มีกำลังผลิตติดตั้งอยู่ที่ 2,429 เมกะวัตต์ แล้วเหตุไฉนในปี 2556 โรงไฟฟ้าจึงหายไปจากระบบถึง 800 เมกะวัตต์ และถูกใช้เป็นเหตุผลว่า ไฟใต้ดับทั่วทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ เป็นเพราะกำลังผลิตติดตั้งไม่พอเพียง (ดูตาราง 2)

ขณะที่ความเคลื่อนไหวของกลุ่มเอ็นจีโอ นักเคลื่อนไหว รวมถึงประชาชนในพื้นที่เป้าหมายสร้างโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ภายหลังเกิดเหตุก็ปรากฏเป็นภาพชัดเจนแล้วในหลายพื้นที่ของภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็นในนามมูลนิธิอันดามัน เครือข่าวรักษ์บ้านเกิดลุ่มน้ำปากพนัง เครือข่าย รักษ์บ้านเกิดท่าศาลา เป็นต้น อีกทั้งยังมีการร่อนหนังสือเปิดผนึกส่งถึงผู้นำรัฐบาลและผู้บริหาร กฟผ.เพื่อทวงถามข้อเท็จจริง 3 ข้อคือ

1. ภาคใต้มีการผลิตกระแสไฟฟ้าที่เพียงพอที่ใช้ในภาคใต้ และยังส่งต่อให้ภาคกลางบางส่วน และในช่วงเวลานี้ไม่มีเหตุการณ์ปิดซ่อม หรือหยุดจ่ายกระแสไฟฟ้าในภาคใต้แต่อย่างใด การออกมาบอกว่ากระแสไฟฟ้าไม่เพียงพอ มีข้อมูลหรือข้อเท็จจริงอย่างไร 2. จากข่าวที่ระบุว่า สายส่งไฟฟ้าจากภาคกลางมีปัญหาที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ส่งผลให้กระแสไฟฟ้าดับทั้งภาคใต้ คำถามคือว่า ภาคใต้ใช้ไฟฟ้าจากภาคกลางทั้งหมดหรืออย่างไร แค่สายไฟหลักจากภาคกลางเสียหาย ทำไมไฟฟ้าจึงดับทั้งภาคใต้ และ 3. เกิดอะไรขึ้นกับโรงไฟฟ้าที่ภาคใต้ จึงไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าได้เลย ทั้งที่ภาคใต้มีโรงงานไฟฟ้าอยู่แล้วจำนวนหลายโรง

คำถามและเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดขึ้นจะได้รับคำชี้แจงจากรัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องหรือไม่ นั่นไม่สำคัญเท่าเรื่องราวที่ทำให้ผู้คนคิดไปได้ว่า หากปล่อยให้โรงไฟฟ้าเกิดขึ้นในภาคใต้ได้ตามที่รัฐต้องการ นั่นย่อมหมายความว่าต่อไปจะมีพลังงานไฟฟ้ามากพอรองรับบรรดาเมกะโปรเจ็กต์ที่รัฐกำลังเร่งผลักดันให้ผุดขึ้นทั่วภาคใต้ตามมาได้อย่างง่ายดายนั่นเอง

โดยเฉพาะโครงการเซาเทิร์นซีบอร์ด ซึ่งประกอบด้วยท่าเรือน้ำลึกแห่งใหม่ทั้งฝั่งอ่าวไทย และอันดามัน แล้วเชื่อมต่อกันด้วยถนนและรถไฟ รวมถึงระบบท่อก๊าซและน้ำมัน อันจะเป็นโครงการพื้นฐานให้เกิดการพลิกภาคใต้ให้เป็นแหล่งอุตสาหกรรมแห่งใหม่ของประเทศ เวลานี้การขยายพื้นที่รองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเฟส 4 และเฟสต่อเนื่องไปในอีสต์เทิร์นซีบอร์ดหมดหนทางทำได้แล้ว มีแต่แผนดินภาคใต้เท่านั้นที่จะรองรับได้ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นก็ไม่ต่างอะไรจากพัฒนาภาคใต้ให้เดินไปตามโมเดล “มาบตาพุด 2” นั่นแหละ

หรือว่าปรากฏการณ์ไฟฟ้าดับตลอดแผ่นดินด้ามขวานครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งยุทธการ “ดับไฟใต้” ของรัฐบาลในระบอบทักษิณ ซึ่งไม่แค่เกี่ยวกับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น แต่รวมทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ อันเป็นภาคต่อเนื่องจากช่วงต้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมาที่มีการเขย่าขวัญคนทั้งประเทศด้วยปัญหาพลังงานขาดแคลน พม่าหยุดส่งก๊าซให้ไทย จนอาจจะส่งผลให้กำลังการผลิตไฟฟ้ารองรับช่วงที่มีความต้องการใช้สูงสุดในรอบปีสะดุดหยุดลง ซึ่งคราวนั้นก็มีการขู่ดับไฟไปรอบหนึ่งแล้วด้วยเช่นกัน


ตาราง 2
กำลังโหลดความคิดเห็น