xs
xsm
sm
md
lg

ไฟดับทั่วใต้ ฉวยโอกาสสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เหตุการณ์ไฟดับทั่วภาคใต้ที่เกิดขึ้นคราวนี้ สะท้อนให้เห็นประสิทธิภาพในการบริหารจัดการท่ามกลางภาวะวิกฤตของนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.กระทรวงพลังงาน และนายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นอย่างดีว่ามีฝีมือกันขนาดไหนในการปล่อยให้ไฟฟ้าดับกว่า 4 ชั่วโมง ทำให้พื้นที่ภาคใต้ทั้งหมดมืดมิดทั้งที่คุยโม้มาตลอดว่าเรื่องทำนองนี้จะไม่มีทางเกิดขึ้น

อันดับแรกที่ควรพิจารณาคือ การแสดงความรับผิดชอบต่อกรณีที่เกิดขึ้น โดยมีเสียงเรียกร้องถึงขั้นให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและผู้ว่าฯ กฟผ.ลาออก แต่เชื่อขนมกินได้เลยว่า นอกจากจะไม่แสดงความรับผิดชอบใดๆ แล้ว พวกเขาจะยังฉวยโอกาสผลักดันสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ค้างเติ่งอยู่ในแผนมานานให้ได้ เพราะวิกฤตที่เกิดขึ้นคราวนี้ทำให้พวกเขามั่นใจว่าจะทำให้ประชาชนโดยเฉพาะคนที่คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้นซาบซึ้งแล้วว่าการไม่มีไฟฟ้าใช้นั้นมันเป็นเช่นใด ดังนั้นจงยอมรับโรงไฟฟ้าถ่านหินเสียแต่โดยดี

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ออกแถลงการณ์ว่า จากเหตุการณ์ไฟฟ้าดับในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ และอีกบางส่วนของจังหวัดเพชรบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นเวลานานหลายชั่วโมง ในระหว่างเวลา 18.55-23.45 น. ของวันที่ 21 พ.ค. 56 ที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนและผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมและบริการเป็นจำนวนมากได้รับความเดือดร้อนและเสียหายไปนับหมื่นล้านบาทนั้น

ตลอดเวลาที่ผ่านมามีการโฆษณาชวนเชื่อจากกระทรวงพลังงานและ กฟผ.มาโดยตลอดว่าประเทศไทยจะไม่มีเหตุการณ์ไฟฟ้าดับ หรือ BLACKOUT อย่างแน่นอน และหากจะมีก็สามารถใช้เวลาในการ BLACKSTART ได้ใหม่ไม่เกิน 10 นาที แต่พอเกิดเหตุการณ์ขึ้นจริงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรับผิดชอบกลับให้ข้อมูล ข้อเท็จจริงที่ไม่ตรงกัน เช่น บางหน่วยงานก็ว่าเกิดจากสถานีไฟฟ้าแรงสูงที่ลำภูรา จ.ตรัง บางหน่วยก็ว่าเกิดจากระบบท่อส่งไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าขนอม จ.นครศรีธรรมราช บางหน่วยก็ว่าเกิดฟ้าผ่าสายส่งที่เพชรบุรี

และล่าสุดแจ้งว่าเกิดจากสายส่งไฟฟ้าแรงสูงเชื่อมโยงจากภาคกลางไปสู่ภาคใต้ช่วงจอมบึง-บางสะพาน 2 ขัดข้อง ทำให้ กฟผ.ไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าจากภาคกลางสู่ภาคใต้ได้ บางหน่วยก็ว่าเพราะภาคใต้มีปริมาณการใช้ไฟฟ้ามากเกินกว่ากำลังการผลิตที่มีอยู่เพียง 1,600 เมกกะวัตต์ และพยายามเชื่อมโยงเพื่อสร้างความชอบธรรมในการผลักดันการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ จ.กระบี่ หรือ อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช ให้จงได้ ทั้งๆ ที่ในภาคใต้มีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่อยู่แล้วหลายโรง ทั้งโรงไฟฟ้าจะนะ จ.สงขลา โรงไฟฟ้าขนอม จ.นครศรีธรรมราช โรงไฟฟ้าลำภูรา จ.ตรัง โรงไฟฟ้าที่ยะลา เป็นต้น แต่พอสายส่งเกิดปัญหาขึ้นที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ กลับทำให้ภาคใต้ทั้งหมดไฟฟ้าดับไปพร้อมกันหมด

“เหตุการณ์ครั้งนี้อาจส่อไปในทางมิชอบเพื่อหวังผลสิ่งใดหรือไม่ ที่ผ่านมาไม่เคยมีหน่วยงานใดกล้าประกาศความรับผิดชอบที่เกิดขึ้น แต่กลับมีความพยายามบ่ายเบี่ยงความรับผิดชอบซึ่งกันและกันบนความสับสนของประชาชน
นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.กระทรวงพลังงาน
“เหตุการณ์ดังกล่าว หากผู้บริหารของกระทรวงพลังงานและ กฟผ.ยังจะพอมีมาตรฐานทางจริยธรรมอยู่บ้าง ควรที่จะถือสปิริต “ลาออก” จากจากตำแหน่งไปเสีย เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีศักยภาพที่เพียงพอได้ขึ้นมาบริหารแทน เพื่อสร้างบรรทัดฐานทางจริยธรรมใหม่ในแวดวงข้าราชการและนักการเมือง เหมือนดังประเทศอื่นที่เจริญแล้วเขารับผิดชอบกัน และเพื่อเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมไทย ในความผิดพลาดและล้มเหลวในการบริหารจัดการระบบสายส่ง และการบริหารจัดการภาวะฉุกเฉินที่ล้มเหลวในครั้งนี้” แถลงการณ์ของสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนระบุ

การตั้งข้อสังเกตว่าจะมีการฉวยจังหวะเพื่อหวังผลสิ่งใดหรือไม่ เป็นประเด็นคำถามที่ตรงเป้าที่สุด เพราะที่ผ่านมารัฐบาลและ กฟผ.ต่างหาเหตุผลต่างๆ นานามาอ้างความชอบธรรมเพื่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ในพื้นที่ต่างๆ รวมทั้งภาคใต้เป็นทุนเดิมอยู่ก่อนแล้ว ดังเช่น เหตุการณ์ระงับการจ่ายก๊าซฯ พม่ามาให้ ปตท.เพื่อส่งต่อให้โรงไฟฟ้าของ กฟผ.และเครือ นำมาผลิตไฟฟ้า คราวนั้นนายพงษ์ศักดิ์ก็ออกมาข่มขู่ประชาชนเพื่อหาเรื่องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินมาแล้ว

มาคราวนี้ เริ่มตั้งแต่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เองที่แบไต๋แล้วว่าภาคใต้มีความต้องการไฟสูงแต่กำลังการผลิตมีจำกัด ระยะยาวต้องมีการวางแผนรองรับ และแผนที่ว่านั้นก็คือ โรงไฟฟ้าถ่านหินนั่นเอง เมื่อพิจารณาจากการตอบคำถามของผู้สื่อข่าว ที่ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะเป็นการสร้างความชอบธรรมในเรื่องการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มหรือไม่

“เรื่องนี้เรียนว่าเราต้องขอความร่วมมือกันมากกว่า เพราะเราต้องมีเรื่องของพลังงาน เรื่องของไฟฟ้าที่จะเอามาใช้งาน จะเป็นวิธีไหนคงต้องช่วยกันดูว่าวิธีไหนที่จะมีผลกระทบน้อยที่สุด รวมถึงการไปดูแลชุมชนในบริเวณนั้น ระยะยาวคงต้องคุยตรงนี้ เพราะปริมาณเครื่องใช้ไฟฟ้า ในแง่ของการเจริญเติบโต การรองรับนักท่องเที่ยวก็จะสูงขึ้น ก็ต้องพูดคุยกันให้ไฟฟ้ากับปริมาณการใช้งานสัมพันธ์กัน ถ้าไม่วางแผนเลยโดยเฉพาะในพื้นที่ก็จะเกิดปัญหานี้” นายกรัฐมนตรีกล่าว
นายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
สอดประสานกับการออกมาให้สัมภาษณ์ของนายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ว่า ปัจจุบันความต้องการไฟฟ้าในภาคใต้เพิ่มขึ้นราว 6% ต่อปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดชายฝั่งอันดามัน ขณะที่ระบบผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ต้องพึ่งการส่งกระแสไฟฟ้าจากภาคกลางบางส่วน แต่ระบบส่งที่ส่งไฟฟ้าจากภาคกลางไปภาคใต้มีลักษณะเป็นคอขวดตามภูมิประเทศในช่วงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทำให้มีความเสี่ยงต่อระบบส่งไฟฟ้าค่อนข้างสูง

“ดังนั้น กฟผ.จึงมีแนวทางในการพัฒนาโรงไฟฟ้าหลักในพื้นที่ภาคใต้ และขยายระบบส่งเพิ่มขึ้น ได้แก่ การก่อสร้างโรงไฟฟ้าจะนะแห่งที่ 2 ที่กำลังก่อสร้างและจะจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบในปี 2557 และขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมโครงการขยายกำลังผลิตโรงไฟฟ้ากระบี่ ใช้เชื้อเพลิงถ่านหินนำเข้า รวมทั้งการปรับปรุงระบบส่งให้มีความมั่นคงยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นหลักประกันและลดความเสี่ยงต่อระบบไฟฟ้าให้แก่ภาคใต้ในระยะยาว” ผู้ว่าฯ กฟผ.เปิดเผยถึงแผนสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ในภาคใต้

แผนการที่วางไว้นั้นจะต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้ ดังที่นายวรพจน์ อินทร์ทอง ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการภาคใต้ กฟผ. กล่าวในโอกาสที่เป็นประธานในการประชุมผู้บริหารและผู้เกี่ยวข้องจาก กฟผ. และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 56 ที่ผ่านมา ที่โรงแรมเรือรัษฎา ถ.ตรัง-พัทลุง อ.เมือง จ.ตรัง เพื่อหารือวางมาตรการแก้ปัญหาพลังงานไฟฟ้า และศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดหาแหล่งพลังงานใหม่เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะ 5 ปีข้างหน้าหลังจากเกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าดับทั่วภาคใต้ว่า ปัจจุบันในพื้นที่ภาคใต้ใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 2,400 เมกะวัตต์ แต่สามารถผลิตอยู่ได้แค่ 2,100 เมกะวัตต์เท่านั้น ส่วนที่เหลือต้องซื้อมาจากภาคกลาง หรือประเทศมาเลเซีย โดยการใช้ไฟฟ้าในภาคใต้จะเติบโตประมาณปีละ 6-8% หรือในระยะอีก 5 ปีข้างหน้าจะต้องใช้ไฟฟ้าเป็น 3,000 เมกะวัตต์

“ดังนั้น เพื่อความมั่นคงด้านพลังงานจึงควรมีการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ในภาคใต้ให้ได้ ซึ่งมีการสำรวจขณะนี้คือ ในพื้นที่จังหวัดกระบี่ และตรัง โดยเป็นโรงไฟฟ้าขนาด 800 เมกะวัตต์ เพื่อจะนำเข้าสู่ระบบในปี 2562”

ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการภาคใต้ กฟผ.ยังให้ข้อมูลว่า ขณะนี้จังหวัดที่ใช้ไฟฟ้ามากที่สุดของภาคใต้ คือ สงขลา ภูเก็ต ซึ่งล้วนเป็นจังหวัดสำคัญด้านการท่องเที่ยว ดังนั้น ในพื้นที่จังหวัดกระบี่ หรือตรัง ภายในปี 2562 จะต้องมีโรงไฟฟ้าขนาด 800 เมกะวัตต์เกิดขึ้นในจังหวัดหนึ่งจังหวัดใดให้ได้ เพื่อความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าของภาคใต้

“จากการที่ไฟฟ้าดับเมื่อคืน (21) ที่ผ่านมา กลุ่มต่อต้านคงได้เห็นแล้วว่า การที่ไฟฟ้าดับเพียง 1-3 ชั่วโมงลูกหลานของกลุ่มต่อต้านก็คงจะเดือดร้อนด้วย เพราะหลายคนต้องดูทีวี หุงอาหาร และคงหมดยุคแล้วที่จะใช้ตะเกียง หรือขี้ไต้ จึงหวังที่จะให้กลุ่มคัดค้านเปลี่ยนความคิดและยอมรับความจริงที่กำลังเกิดขึ้นในเวลานี้” นายวรพจน์ได้โอกาสเรียกร้องต่อกลุ่มที่คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน

ต้องติดตามกันต่อไปว่า ระหว่างความต้องการผลักดันโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินของรัฐบาลและ กฟผ.เพื่อความมั่นคงทางด้านพลังงานดังที่ยกมากล่าวอ้าง กับความต้องการรักษาสภาพแวดล้อม วิถีชีวิตชุมชน เพื่อความมั่นคงในการดำรงชีวิตของชุมชนที่จะได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน สุดท้ายแล้วจะมีทางออกเช่นใด รัฐบาลและ กฟผ.จะมีวิสัยทัศน์และมีสติปัญญาในการแสวงหาหนทางอื่นๆ ที่จะสร้างความมั่งคงทางด้านพลังงานให้แก่ประเทศนอกเหนือไปจากการมุ่งมั่นสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่โดยใช้พลังงานจากฟอสซิลหรือไม่?
กำลังโหลดความคิดเห็น